ไปสิงคโปร์ด้วยเครื่องบิน แต่ขึ้นรถบัสจากสิงคโปร์ไปกรุงกัวลาลัมเปอร์ในวันเดียวกัน ทำได้อย่างไร มาดูกัน (เผื่อใครอยากไปแบบนี้บ้าง)
ผมได้รับเชิญให้ไปประชุมที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียในระหว่างวันที่ 9-11 มีนาคม 2566 ก็เลยซื้อตั๋วเครื่องบินเดินทางไป แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน ก็มีคำเชิญจากสิงคโปร์ให้ไปบรรยายในเช้าวันที่ 9 ก่อน ผมชั่งใจดูแล้ว เห็นว่าการประชุมในกรุงกัวลาลัมเปอร์ จะมีในช่วงบ่ายสามโมง จึงให้ภริยาที่เดินทางไปด้วย ไปประชุมแทน เพราะเธอก็เป็นกรรมการคนหนึ่งเหมือนกัน ส่วนผมเห็นว่าการไปบรรยายที่สิงคโปร์ น่าจะเป็นประโยชน์ ผมก็เลยซื้อตั๋วเครื่องบินไปสิงคโปร์เที่ยวเดียว และทิ้งตั๋วไปกรุงกัวลาลัมเปอร์
ผมเดินทางไปสิงคโปร์ในคืนวันพุธที่ 8 มีนาคม 2566 เวลาประมาณ 21:30 น. กว่าจะถึงสิงคโปร์ก็ราว 00:30 น.ของวันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม 2566 อันที่จริงบินแค่ 2 ชั่วโมง แต่เวลาที่สิงคโปร์เร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง นัยว่าสิงคโปร์และมาเลเซียตั้งใจจะให้เวลาเทียบเคียงกับฮ่องกง ไต้หวัน ปักกิ่ง จะได้ทำธุรกรรมต่างๆ ในเวลาเดียวกัน แต่ไทย ลาว เขมร เวียดนาม และอินโดนีเซีย ใช้เวลาเดียวกันตามสภาพความเป็นจริง เพราะที่สิงคโปร์ กว่าจะเห็นแสงสว่าง ก็ปาเข้าไปราว 7 โมงเช้าแล้ว
ผมไปถึงที่สิงคโปร์ก็ไม่ได้เข้าไปพักในโรงแรมใดๆ ผมพักที่เลาจน์ของ Priority Pass ซึ่งมีที่นั่งกึ่งนอนอย่างดี พร้อมอาหาร แต่ผมก็พยายามจะไม่ทานเพราะกลัวอ้วน (ไปกว่านี้) และเผื่อจะได้ไม่ท้องเสียในระหว่างเดินทาง (ปกติก็ไม่เคยท้องเสีย แต่เผื่อไว้) เน้นนอนเป็นหลัก เพราะในเช้าวันดังกล่าวต้องบรรยาย ผมตื่นขึ้นมาตอนราว 05:00 น. แล้วก็ได้อาบน้ำในเลาจน์ ซึ่งก็ฟรีอีกเช่นกัน จากนั้นก็ขึ้นรถไฟเข้าเมือง
รถไฟเข้าเมืองก็เป็นเงินเพียง 250 บาท ซึ่งถือว่าถูกมากตามมาตรฐานค่าเงินในสิงคโปร์ ผมออกเวลาประมาณ 06:00 น. ก่อนเวลาบรรยายเวลา ผมก็เลยไปเที่ยว Merlion หรือรูปปั้นหัวสิงโตแต่ตัวเป็นปลาในย่านใจกลางเมือง Marina Bay ใกล้ปากน้ำสิงคโปร์ เดินถ่ายรูป ถ่ายคลิปได้พักใหญ่ ก็ค่อยเดินทางไปถ่ายคลิปที่อื่นต่อ จากนั้นก็ไปที่สถานที่บรรยาย ซึ่งก็คือศูนย์กลางของการเคหะแห่งชาติสิงคโปร์ (HDB Hub)
ผมบรรยายเวลา 09:15 น. รอบหนึ่งสำหรับกลุ่มนายหน้าอสังหาริมทรัพย์สิงคโปร์ และอีกรอบเวลา 10:45-12:00 น. สำหรับกลุ่มนักลงทุนสิงคโปร์ ในเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย และลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย งานนี้จัดขึ้นโดย Real Center Network (RCN) ที่ก่อตั้งโดย Mr.Ken Lim ซึ่งเป็นสถาบันสอนอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในสิงคโปร์
หลังจากรับประทานอาหารกลางวันเสร็จเรียบร้อย ก็เดินทางไปนั่งรถบัสไปกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีหลายสายมาก แต่ผมเลือกสายที่เดินทางไปจอดที่โรงแรม Berjaya ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมของผม ค่ารถก็ถูกมาก เพียงราว 1,800 บาท ซึ่งย่อมถูกกว่าค่าเครื่องบิน แต่รถใช้เวลานานกว่า คือราว 6 ชั่วโมง ซึ่งรวมเวลาจอดพัก 30 นาทีไว้แล้วด้วย แต่ถ้านั่งบเครื่องบิน ผมต้องนั่งรถไปสนามบิน 1 ชั่วโมง นั่งรอ 2 ชั่วโมง บิน 1 ชั่วโมง และนั่งรถจากสนามบินไปที่ประชุมอีก 1 ชั่วโมง ซึ่งก็พอๆ กัน แถมสนนราคาค่าตั๋วก็ยังแพงกว่านั่งรถประจำทาง
การนั่งรถประจำทางก็คล้ายๆ เรานั่งจากไทยไปกัมพูชา หรือจากนครโฮจิมินห์ซิตี้ไปกรุงพนมเปญ ต้องลงมาตรวจที่ด่านฝั่งสิงคโปร์รอบหนึ่ง แล้วพอถึงฝั่งมาเลเซียก็ต้องตรวจกันอีกรอบ ต้องนำข้าวของสัมภาระทั้งหลายลงจากรถด้วย แต่โชคดีผมมีกระเป๋าเล็กๆ แค่ใบเดียว เสียดายบนรถไม่มี Wifi เหมือนรถบัสของเขมรหรือเวียดนาม ระหว่างทางที่มีจอดให้ยืดเส้นยืดสาย 30 นาทีนั้น ต่างคนต่างก็ซื้ออาหารรับประทานเองได้ตามอัธยาศัย
รถมาถึงสถานีขนส่งของเขาก่อน แล้วก็มาสิ้นสุดที่โรงแรมดังกล่าวในย่านใจกลางเมือง ผมเดินทางมาถึงเวลา 20:00 น. ซึ่งก็ยังทันรับประทานอาหารค่ำแบบโต๊ะจีนกับบรรดาคณะกรรมการทั้งหลายซึ่งเป็นสมาคมอสังหาริมทรัพย์จาก 8 ประเทศในอาเซียน กว่าจะเสร็จสิ้นอาหารค่ำก็เป็นเวลาราว 22:00 น. จากนั้นก็แยกย้ายกันกลับ โดยเดินจากโรงแรมมาเลย ใช้เวลาเพียง 8 นาทีเท่านั้น
พอถึงวันที่ 10 มีนาคม ก็มีการสัมมนาประจำปีของสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์มาเลเซีย มีการบรรยายให้ความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์และแนวโน้มใหม่ๆ ในอนาคตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งนับว่าน่าสนใจเป็นอย่างมาก ผมเองก็ได้รับความรู้กันตามสมควร เสร็จแล้วในเวลาค่ำก็ยังมีงานเลี้ยงอาหารอีกรอบ นับว่าวันนั้นอิ่มไปทั้งวัน
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ผมและภริยาก็เดินทางกลับไทยแต่เช้า โดยขึ้นเครื่องรอบ 10:00 น. และเดินทางถึงไทยเวลาประมาณ 11:00 น. เศษๆ ที่ต้องรีบเดินทางกลับทั้งที่เขามีสัมมนาให้ความรู้ 2 วัน ก็เพราะที่ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ของผมมีจัดอบรมเพื่อนร่วมงานประจำปีครั้งที่ 1/2566 จึงต้องกลับมาร่วมงานให้กำลังใจเพื่อนร่วมงานทุกคน
ถึงแม้ผมจะพอมีฐานะบ้าง แต่ผมไม่นิยมนั่งเครื่องบินปกติ ยิ่งไม่นั่งชั้นธุรกิจ นั่งแต่สายการบินราคาประหยัด ไปไหนมาไหนก็ใช้แท็กซี่ ประหยัดเงิน ประหยัดพลังงาน ประหยัดคน ที่สำคัญก็คือไม่เป็นพวกศักดินา เป็นนายคน ที่ต้องมีคนคอยตามแห่ ตามรับใช้ ถือเป็นความสิ้นเปลืองทรัพยากร และเป็นการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น
ดังนั้นที่ผมต้องตุปัดตุเป๋เดินทางไปแบบนี้ ก็เพื่อการสร้างเครือข่าย (Connection) ไม่เป็นแบบพวกศักดินาที่ต้องสะดวกสบาย และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นการพิสูจน์ตัวเองว่าตัวเองในวัย 65 ยังไม่แก่ (เกินไป) ยังสู้ชีวิตได้!