หลายคนกังวลเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ เพราะ “โลกร้อน” เลยคิดจะย้ายเมืองหลวง ทำได้จริงหรือ อันที่จริงทำได้ และเคยทำกันมาแล้ว แต่จะทำจริงหรือ และควรทำหรือไม่ โดยเฉพาะสำหรับกรุงเทพมหานคร
การย้ายเมืองหลวงในอดีต ทำกันมามากมาย เช่น ในจีน ก็ทำมาแล้ว เราคงเคยได้ยินเมืองหลวงเก่าๆ ของจีน เช่น ไคฟง ลั่วหยาง นางกิง ซีอาน หรือเฉิงตู เป็นต้น ในญี่ปุ่นก็มีนครหลวงเก่าอย่างนารา และเกียวโต สาเหตุสำคัญของการย้ายเมืองหลวงได้สำเร็จก็เป็นเหตุผลทางการเมืองนั่นเอง แม้แต่ไทยก็ย้ายจากกรุงสุโขทัย มาอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงเทพมหานคร แล้วทำไมจะย้ายอีกไม่ได้
อีกเหตุผลหนึ่งที่ย้ายเมืองหลวงทั้งเมืองได้ก็เพราะการย้ายประชากร อย่างเช่นในสมัยสามก๊ก เมืองหลวงก็ได้แก่เมืองลกเอี๋ยง ต่อมาตั๋งโต๊ะสั่งย้ายไปเมืองเตียงอัน และโจโฉสั่งย้ายไปเมืองฮูโต๋ การย้ายแต่ละครั้งก็มักกวาดต้อนประชาชนและเอาสมบัติต่างๆ จากเมืองเก่าไปด้วย แม้แต่กรุงเวียงจันทน์ของลาว หรือนครธมของกัมพูชา ก็ถูกไทยบุกยึดมาแล้ว พม่าก็ยึดกรุงศรีอยุธยาพร้อมกวาดต้อนผู้คนไป
สำหรับกรุงเวียงจันทน์ก็เคยถูกเผาร้างมาเช่นกัน ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี และในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีกรณีกบฏอนุวงศ์ ในแต่ละครั้งกรุงเวียงจันทน์ก็ร้างไป มีการอพยพผู้คนชาวลาวมาอยู่ในเขตไทย เช่น สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม และทางตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือใกล้กับกัมพูชา เพื่อว่าคนเหล่านี้จะได้ไม่มีโอกาสกลับไปยังกรุงเวียงจันทน์อีก ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงได้จะต้องย้ายประชากรไปด้วย แต่ในยุคสมัยใหม่คงเป็นไปได้ยากที่จะย้ายประชากรออกนอกเมืองไป
ในประเทศต่างๆ ก็มีการแยกเมืองหลวงที่เป็นเมืองบริหารออกจากเมืองหลวงทางเศรษฐกิจ เช่น
- แคนาดา: ออตโตวา กับ โตรอนโต
- ไนจีเรีย: อาบูจา กับ ลากอส
- บราซิล: บราซิเลีย กับ เซาเปาโล
- ปากีสถาน: อิสลามาบัด กับการาจี
- ฟิลิปปินส์: เกซอนซิตี้ กับ มะนิลา
- มาเลเซีย: ปุตราจายา กับ กัวลาลัมเปอร์
- เมียนมา: เนปยีดอ กับ ย่างกุ้ง
- สหรัฐอเมริกา: วอชิงตันดีซี กับ นิวยอร์ก
- ออสเตรเลีย: แคนเบอร์รา กับ ซิดนีย์ เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่าเมืองหลวงราชการย้ายได้ แต่เมืองหลวงทางเศรษฐกิจคงย้ายไม่ได้ ยิ่งในกรณีการย้ายกรุงเทพมหานคร มีความเป็นไปไม่ได้อยู่ 2 ประการก็คือ
1. ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีข้าราชการส่วนกลางอยู่ราว ๆ 1.2 ล้านคน การย้ายเมืองหลวงที่ต้องย้ายข้าราชการเหล่านี้ไป คงเป็นเรื่องยาก เพราะหากคูณด้วย 5 (รวมลูกเมียและผู้ที่ไปให้บริการค้าขายด้วย) ก็จะเป็นเมืองขนาด 6 ล้านคน การสร้างเมืองขนาดนี้จึงยากที่จะเป็นไปได้ ในกรณีเมืองนูซันตาราซึ่งเป็นนครหลวงใหม่ของอินโดนีเซียนั้น จะมีการย้ายข้าราชการส่วนกลางไปเพียง 4 แสนคน ทั้งนี้คงเป็นเพราะข้าราชการส่วนใหญ่เป็นส่วนท้องถิ่น แต่ของไทยหนึ่งในสามของข้าราชการอยู่ในส่วนกลาง จึงย้ายได้ยากมาก
2. กรุงเทพมหานครเป็นเมืองโตเดี่ยว (Primate City) ไม่มีเมืองอื่นที่จะมาทดแทนได้ ชัยภูมิก็อยู่กึ่งกลาง บรรดาเมืองในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคใต้ ก็ไม่อาจเป็นศูนย์กลางของประเทศไทย ทั้งนี้ต่างจากประเทศอื่นที่มีเมืองขนาดใหญ่หลายเมือง เช่น อินโดนีเซีย มีเมืองที่มีประชากรเกินล้านถึง 14 เมือง ฟิลิปปินส์ก็มีเมืองขนาดใหญ่หลายแห่ง
ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีผู้แย้งได้ว่า กรุงเทพมหานครต้องย้ายแน่ๆ อสังหาริมทรัพย์คงพังพินาศหมด เพราะระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยจะเพิ่มขึ้นจนกรุงเทพมหานครอยู่ไม่ได้อีกต่อไป มีผลการศึกษาบอกว่าหากน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ละลาย รวมทั้งเหล่าธารน้ำแข็งทั่วโลกละลายหมด จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นถึง 70 เมตร (https://on.doi.gov/41VtCTx) อย่างไรก็ตามการคาดการณ์ (ส่งเดช) แบบพูดความจริงบางส่วน ให้ผู้คนตกใจแบบนี้ ก็มีผู้คัดค้านมากมายเช่นกัน เพราะมีผลการศึกษาระบุชัดว่า
1. ภายในปี 2593 องค์การนาซาคาดการณ์ว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น 12 นิ้ว หรือ 0.3 เมตรเท่านั้น (https://go.nasa.gov/3Ji8W0C)
2. ภายในปี 2643 น้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.3-1.6 เมตรจากปัจจุบัน (https://bit.ly/3F64i3b)
3. ภายในปี 3543 (เกือบพันปีข้างหน้า) ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น 4 เมตร (https://bit.ly/2pFEjs3)
ประเทศสิงคโปร์คาดการณ์ว่าน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.32-1.01 เมตรเท่านั้น ณ ปี 2643 (https://bit.ly/3JmJVkI) แสดงว่าในอ่าวไทย และประเทศไทย น้ำทะเลก็คงเพิ่มขึ้นในระดับที่ใกล้เคียงกัน จึงไม่ต้องห่วงใยหรือ “บ้าจี้” ตามพวก “โลกร้อน” จน “ขี้ขึ้นสมอง” นัก
ในขณะนี้มีเมืองริมทะเลที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และยังอยู่ได้ เพราะการสร้างเขื่อนกันไว้ ซึ่งไทยก็อาจเลียนแบบได้เช่นกัน เมืองเหล่านี้ ได้แก่:
- Lammefjord เดนมาร์ก อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 7 เมตร
- Zuidplaspolder เนเธอร์แลนด์ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 7 เมตร
- Haarlemmermeer เนเธอร์แลนด์ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 5 เมตร
- Amsterdam เนเธอร์แลนด์ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 2 เมตร เป็นต้น
การย้ายเมืองหลวง (ราชการ) หลายแห่งก็ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ปุตราจายาของมาเลเซีย ก็มีประชากรไปอยู่น้อยมาก ประมาณ 1 แสน ในขณะที่กรุงกัวลาลัมเปอร์อยู่กันล้านกว่าคน กรุงเนปยีดอก็แทบร้าง ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซียน่าจะล้มเหลว และต้องเสียเงินมหาศาลในการสร้าง สู้นำเงินไปพัฒนาประเทศในทางอื่นจะดีกว่า ยิ่งกว่านั้นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปติดต่อเมืองหลวงใหม่จากทั่วประเทศก็จะเพิ่มขึ้นอีก นับเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตามการย้ายเมืองหลวงที่ประสบความสำเร็จ พึงดำเนินการดังนี้:
1. ต้องเป็น Smart City มีการวางผังเมืองทุกกระเบียดนิ้ว และเป็นเมืองในแนวตั้ง เช่น สิงคโปร์ มีประชากรประมาณ 8,000 คนต่อตารางกิโลเมตร เช่น ถ้าเราจะสร้างเมืองใหม่ขนาด 6 ล้านคน ก็ไม่ควรใช้พื้นที่เกิน 750 ตารางกิโลเมตร เป็นต้น แต่การสร้างเมืองหลวงใหม่มักสร้างสถานที่ราชการแบบสุดอลังการ ทำให้ความเป็นไปได้มีจำกัด
2. ต้องเป็นเมืองปิด เพื่อไม่ให้เติบโตแบบไร้ทิศผิดทาง (Urban Sprawl) โดยมี “กำแพงเมืองจีน” ในลักษณะที่เป็นพื้นที่กันชนสีเขียว (Green Belt) ซึ่งต้องเวนคืนที่โดยรอบไว้ ห้ามการก่อสร้างใดๆ
3. ต้องมีทางเชื่อมเข้าเมืองหลวงใหม่ผ่านรถไฟ ทางด่วนยกระดับจากเมืองท่าริมทะเลหรือสนามบินนานาชาติของเมือง โดยไม่ให้เกิดการเชื่อมทางเพื่อป้องกันการเติบโตแบบไร้ทิศผิดทางนั่นเอง
สำหรับเมืองหลวงปัจจุบันอย่างกรุงเทพมหานครและกรุงจาการ์ตา ก็ยังต้องพัฒนาต่อไป โดยนอกจากจะมีกำแพงกันน้ำทะเลอย่างในยุโรปแล้ว ยังต้องมีการสร้างรถไฟฟ้าในเขตเมืองกันอย่างขนานใหญ่ ห้ามการสร้างตามชานเมือง เน้นการสร้างแนวสูง จัดผังเมืองใหม่ (Rezoning) แบบในประเทศจีนหลายเมืองที่พอชาวบ้านจากบ้านไปสักปีครึ่งปีก็จำทางเข้าบ้านแทบไม่ได้แล้ว เพราะการจัดผังเมืองใหม่ รวมทั้งการนำพื้นที่การพัฒนาแนวราบ เช่น ชุมชนแออัดมาพัฒนาใหม่ ให้คนได้อยู่ร่วมกันในเมือง แทนการออกนอกเมืองอย่างสะเปะสะปะ
จะย้ายเมืองหลวงใหม่หรือไม่ก็ตาม เมืองก็ต้อง “ยกเครื่อง” ตลอดเวลา จะปล่อยไปตามยถากรรมไม่ได้