การมีสวนป่าภาคเอกชน จะมีประโยชน์หลายสถาน ทั้งในแง่ธุรกิจ ในแง่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในแง่คาร์บอนเครดิต และอื่นๆ รัฐบาลจึงควรส่งเสริมการพัฒนาสวนป่าภาคเอกชนให้สนองการพัฒนาประเทศยิ่งขึ้น
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้สัมภาษณ์ คุณยิ่งลักษณ์ ปฏิภาณเทวา อดีตประธานสหกรณ์สวนป่าภาคเอกชนแห่งประเทศไทยและปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการทำสวนป่าท่านหนึ่งในประเทศไทย ทั้งที่ท่านจบปริญญาตรีวิชาชีพพยาบาล แต่สนใจและศึกษาการทำสวนป่าเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
การปลูกสวนป่ามีพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.2535 และมีแก้ไขเพิ่มเติมเป็นพระราชบัญญัติสวนป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 ทั้งนี้ “สวนป่า” หมายความว่า ที่ดินที่ได้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 5 เพื่อทำการปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ที่เป็นไม้หวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (https://bit.ly/41TvCuL) ดังนี้:
การปลูกสวนป่าก็คล้ายกับการปลูกไม้ล้อมโดยในพื้นที่ 1 ไร่ หรือ 1,600 ตารางเมตร อาจปลูกได้ 1,600 ต้น แต่ในระยะต่อมา ก็ค่อยๆ ล้อม (ขุดต้นมา) ขาย และบางต้นที่ต้องโค่นทิ้ง ก็อาจเป็นต้นที่เล็กแกรนจนเกินไปอีกด้วย ทำให้เกิดพื้นที่ว่างสำหรับต้นที่โตมากขึ้น จนสุดท้ายในระยะ 20 ปี ในพื้นที่ 1 ไร่ อาจมีต้นไม้ใหญ่เพียง 30 ต้น และในพื้นที่ว่างของต้นไม้ เรายังสามารถปลูกพืชขนาดเล็ก เช่น กาแฟ โกโก้ ลำไย สมุนไพร ฯลฯ แซมไว้เพื่อหารายได้ได้อีกต่างหาก
ในการหาพันธุ์ไม้มาปลูก ไม่ว่าจะเป็นสัก ยางพารา พยุง ก็อาจขอจากศูนย์เพาะชำกล้าไม้ หรือสถานีเพาะชำกล้าไม้ของกรมป่าไม้ซึ่งจะได้โดยไม่คิดมูลค่า ส่วนค่าใช้จ่ายในการปลูกก็ไม่สูงนักโดยมีผู้รับจ้างปลูกโดยต้องมีการดูแลในระยะแรก ที่สำคัญการดูแลต่างๆ มีน้อยมากเมื่อเทียบกับไม้ผล เช่น เงาะ ทุเรียน ฯลฯ ที่ต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่องและมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดูแลอย่างต่อเนื่องเป็นอย่างมาก เช่น ค่าปุ๋ย ยิ่งกว่านั้นยังต้องมีระบบรดน้ำสำหรับไม้ผลอีกด้วย สำหรับค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ดูแล ก็อาจจะมี 2 คนสำหรับสวนป่าขนาด 100 ไร่
จำนวนสวนป่าภาคเอกชนแทบทุกจังหวัด มี 57,899 แปลง รวมพื้นที่ 714,769-0-6.63 ไร่ หรือหากนับตามจังหวัด จะมีพื้นที่รวม 740,405-0-.53 ไร่ หรือประมาณ 1,185 ตารางกิโลเมตร หรือราวๆ 76% ของขนาดของกรุงเทพมหานคร (1,568 ตารางกิโลเมตร) ซึ่งก็ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดประเทศไทยที่มีพื้นที่ 513,120 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ผู้ทำสวนป่าได้รวมตัวกันเป็นสหกรณ์สวนป่าในแต่ละจังหวัดโดยมีรายละเอียดตามนี้:
ในด้านความเห็นต่อนโยบายภาครัฐเกี่ยวกับสวนป่าภาคเอกชนก็คือ
1. ควรให้ป่าชุมชนหรือป่าเศรษฐกิจต่างๆ มาอยู่ในสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อให้กิจการนี้มีลักษณะในเชิงพาณิชย์มากกว่าการที่อยู่กับกรมป่าไม้หรือส่วนราชการอื่นในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหน่วยงานเชิงอนุรักษ์มากกว่าที่จะส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกรรม
2. ควรมีเงินกองทุนหมุนเวียนเพื่อการปลูกพืชเศรษฐกิจและให้กองทุนมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้มากขึ้น
3. รัฐพึงสนับสนุนการจำนองต้นไม้เพื่อให้เกิดทุนหมุนเวียนแก่เกษตรกรโดยเฉพาะสวนป่าภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้กิจการปลูกสวนป่าขยายตัวได้มากขึ้น
4. มาตรการด้านการงดเว้นภาษีในการส่งออกหรือนำเข้าไม้หรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไม้รวมทั้งเครื่องจักรต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านกิจการพืชเศรษฐกิจ
5. รัฐควรตั้งโรงเรียนอาชีวะผลิตแรงงานมีฝีมือด้านต้นไม้ หรือป่าไม้เพื่อป้อนตลาดให้เพียงพอ และให้ประชาชนมีความรู้ด้านการปลูกพืชเศรษฐกิจมากขึ้น
6. รัฐควรพัฒนาพันธุ์ไม้โตเร็วให้มากขึ้นเพื่อที่จะร่นระยะเวลาในการปลูก และสามารถนำไม้ที่ปลูกไว้ไปใช้ประโยชน์ได้รวดเร็วขึ้น
ในการประเมินค่าทรัพย์สินของสวนป่าที่มีความหลากหลายของต้นไม้ จึงต้องดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบ ต้องมีการตรวจนับจำนวนต้นไม้ ขนาดและสภาพของต้นไม้ในแปลงตัวอย่าง