ปัญญาชนต้องไม่อวดหรือแสดงภูมิ แต่ในสังคมกลับตรงกันข้าม แม้แต่อาจารย์ก็ยังชอบแสดงภูมิ ผมจำนิทานเรื่องหนึ่งที่ยายผมซึ่งเป็นคนจีนอพยพมาจากแผ่นดินใหญ่เล่าให้ฟังว่า มีอยู่วันหนึ่งอาจารย์กับลูกศิษย์คู่หนึ่งเดินไปด้วยกันตามทาง ระหว่างทางลูกศิษย์เห็นกองอะไรดูคล้ายงูอยู่เบื้องหน้า จึงบอกอาจารย์ว่า “อาจารย์ครับ ข้างหน้ามีงู” อาจารย์รีบตอบสวนกลับมาว่า “มิน่าล่ะ อาจารย์จึงได้ยินเสียงมันเลื้อย”
ต่อมาลูกศิษย์เดินไปดูใกล้ๆ และใช้ไม้เขี่ยดู เห็นไม่ไหวติง จึงตะโกนมาบอกอาจารย์ว่า “อาจารย์ครับ งูมันตายแล้ว” อาจารย์ก็หลับหูหลับตาตอบกลับมาว่า “มิน่าล่ะ อาจารย์ถึงได้กลิ่นอะไรเหม็นๆ”
และเมื่อลูกศิษย์ได้ตรวจดูอย่างละเอียดกลับพบว่าเป็นแค่เชือกขดหนึ่ง จึงบอกความจริงแก่อาจารย์ อาจารย์กลับตอบหน้าตาเรียบเฉยว่า “อาจารย์ว่าแล้วไหมล่ะว่ามันไม่น่าจะมีเรื่องเช่นนี้ เธอ (ลูกศิษย์) เข้าใจผิดไปเอง”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อาจารย์หลายคนชอบทำตัว “แสนรู้” ให้สมฐานะอยู่เสมอๆ แต่ความจริงอาจารย์จำนวนมาก “กร่างแต่กลวง” ไม่รู้จริง แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้าเราจะเป็นปัญญาชน เราพึงศึกษาให้กระจ่าง ยิ่งลูกศิษย์ศึกษาใกล้ชิดมากขึ้นก็จะรู้ความจริงว่าอะไรคืออะไร จะทึกทักเอาแบบอาจารย์ข้างต้นคงไม่ได้
นิทานเรื่องอาจารย์กับงู (สำหรับนักวิเคราะห์วิจัย) https://vt.tiktok.com/ZSLREyTVC/ .
นิทานเรื่องอาจารย์กับงู (สำหรับนักวิเคราะห์วิจัย) https://fb.watch/kLNBMHcG8G/ .
นิทานเรื่องอาจารย์กับงู (สำหรับนักวิเคราะห์วิจัย) https://youtu.be/XPuLxlsDrfg .