จากการประมาณการของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า
โครงการที่อยู่อาศัยในปี พ.ศ.2557 นี้น่าจะชะลอลงกว่าปี พ.ศ.2556 ประมาณ 23% โดยคาดว่าตลอดทั้งปีนี้จะมีโครงการเกิดใหม่ที่มีมูลค่ารวมกัน 295,168 ล้านบาท ลดลงกว่าปี พ.ศ.2557 ซึ่งมีมูลค่า 35,447 ล้านบาท และถือว่าจะมีมูลค่าใกล้เคียงกับปี พ.ศ.2555 ที่มีมูลค่ารวม 298,829 ล้านบาท ส่วนในแง่จำนวนหน่วย น่าจะมีหน่วยขายรวมกันเพียง 103,380 หน่วย ซึ่งน้อยกว่าปี 2556 ซึ่งมีจำนวน 131,645 หน่วย อยู่ 22% ดังนั้นจำนวนหน่วยขายในปี พ.ศ.2557 จึงน่าจะมีจำนวนพอ ๆ กับปี พ.ศ.2555 สำหรับระดับราคาขาย น่าจะลดลงเหลือเพียงหน่วยละ 2.856 ล้านบาท ลดลงกว่าค่าเฉลี่ย พ.ศ.2555-2556 เล็กน้อย
ณ สิ้นปี พ.ศ.2557 จะมีหน่วยขายเหลือไปขายในปี พ.ศ.2558 จำนวนประมาณ 170,000 หน่วยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนหน่วยนี้จะมีสัดส่วนเป็นประมาณ 3.6% ของจำนวนบ้านทั้งหมดที่มีอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้ในห้วงปี พ.ศ.2540-2542 มีหน่วยขายรอการขายประมาณ 150,000 หน่วยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของหน่วยที่อยู่อาศัยรวมทั้งหมดประมาณ 3.1 ล้านหน่วย อาจกล่าวได้ว่าในขณะที่มีอุปทานรอการขาย 5% นั้น ภาวะตลาดค่อนข้างตกต่ำ ส่วนสัดส่วน ณ 3.6% ก็เริ่มจะใกล้เคียง 5% แล้ว ดังนั้นภาวะวิกฤติจึงอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตามภาวะวิกฤติในแง่ของการล้นตลาดนั้นได้ชะลอตัวไป คาดว่าตลอดปี พ.ศ.2557 จะมีหน่วยขายๆ ได้ประมาณ 95,000 หน่วย น้อยกว่าปี พ.ศ.2556 เนื่องจากการชะลอตัวลง โดยภาวะล้นตลาดยังไม่เกิดขึ้น ด้วยปัจจัยสำคัญๆ ดังนี้:
1. การเมือง ซึ่งยืดเยื้อนี้ ทำให้การเปิดตัวโครงการใหม่ ๆ ลดลง เป็นการช่วยลดอุปทาน
2. น้ำท่วมในช่วงปี พ.ศ.2554 ก็ช่วยลดอุปทานเช่นกัน
3. การเพิ่มขึ้นของค่าแรงในช่วงก่อนหน้านี้ก็ทำให้ลดทอนการก่อสร้างลงเช่นกัน
4. สถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการอำนวยสินเชื่อมากขึ้น โอกาสเกิดฟองสบู่ และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ จึงมีลดน้อยลงตามลำดับ
อย่างไรก็ตามการเมืองในภาวะปัจจุบัน ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในประเทศเช่นกัน โดยเฉพาะโครงการสาธารณูปโภค ที่ชะลอตัวไปอันเกี่ยวเนื่องกับการเมือง การนี้ทำให้จุดขายของอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัดลดลง ภาวะถดถอยของตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่างจังหวัด จึงจะเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2557 เช่นกัน แต่ทั้งนี้ยกเว้นเมืองชายแดน เมืองท่องเที่ยว หรือเมืองอุตสาหกรรม ซึ่งมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจคึกคักด้วยตัวเองโดยไม่ได้พึ่งอานิสงส์จากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
กราฟประกอบบทความ: