หน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการทำไม้ในประเทศไทยก็คือองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ที่มีสวนป่ารวมกันถึง 1.03 ล้านไร่
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในนามของประธานมูลนิธิประเมินค่า-นายหน้าแห่งประเทศไทย ได้สัมภาษณ์ คุณประสิทธิ์ เกิดโต รองผู้อำนวยการองค์การ อ.อ.ป. ท่านจบปริญญาตรีและโทจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทำงานที่ อ.อ.ป. มาตั้งแต่จบการศึกษา อ.อ.ป. ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตไม้รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งในการประเมินค่าไม้จำเป็นต้องเรียนรู้จากการทำไม้ของ อ.อ.ป.
อ.อ.ป. ริเริ่มขึ้นในปี 2490 แต่ได้เริ่มดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาในปี 2499 ปัจจุบันมีมูลค่าสินทรัพย์ประมาณ 5,643 ล้านบาท นอกจาก อ.อ.ป. ทำธุรกิจสร้างรายได้ใหักับรัฐแล้ว ยังสนองนโยบายรัฐบาลด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูป่าเสื่อมโทร ป่าต้นน้ำลำธาร การส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ การอนุรักษ์และบริบาลช้าง การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น อ.อ.ป. มีพนักงานประมาณ 1,400 คน แต่หากรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการปลูกป่า กรีดยาง อาจมีจำนวนหลายหมื่นคน
ทั้งนี้ อ.อ.ป. มีสวนป่าทั้งหมดรวม 1.083 ล้านไร่ หรือ 1,732.8 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าขนาดของกรุงเทพมหานครที่ 1,568 ตารางกิโลเมตรเสียอีก มีสวนป่าจำนวน 238 แห่ง มีพื้นที่ให้ผลผลิต 721,497 ไร่ หรือ 67% ของพื้นที่ทั้งหมด และยังมีพื้นที่รอการพัฒนาอีก 79,186 ไร่ เป็นพื้นที่ระหว่างการแก้ไขปัญหา 112,109 ไร่ พื้นที่อนุรักษ์ในเขตสวนป่า 106,375 ไร่ พื้นที่อนุรักษ์ 23,566 ไร่ และอื่นๆ อีก 39,906 ไร่ ผลผลิตส่วนใหญ่ของ อ.อ.ป. คือไม้สัก 489,531 ไร่ (68%) หรือราวสองในสามของผลผลิตทั้งหมด เป็นไม้โตเร็ว 111,429 ไร่ (15%) เป็นไม้ยางพารา 77,702 ไร่ (11%) และไม้อื่นๆ 42,834 ไร่ (6%)
อ.อ.ป. ยังมีโรงเลื่อยอยู่ 6 แห่ง ได้แก่ โรงเลื่อยอยุธยา โรงงานผลิตภัณฑ์ไม้บางโพ ซึ่งได้ย้ายไปอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว โรงเลื่อยแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โรงเลื่อยร้องกวาง จังหวัดแพร่ โรงเลื่อยวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโรงเลื่อยอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ จึงถือได้ว่าเป็นองค์กรด้านการทำไม้ที่สมบูรณ์แบบที่มีทั้งสวนป่าและโรงเลื่อยเป็นของตนเอง
ไม้ที่ อ.อ.ป. ปลูกมีทั้ง
1. ไม้สัก ซึ่งถือเป็นไม้โตช้า โดยใช้เวลา 30 ปีจึงจะตัดได้ แต่ก็อาจมีบางส่วนที่ตัดสางไม้ขนาดเล็กออกใช้ก่อนคงเหลือไม้ไว้ที่ครบรอบตัดฟันสุดท้ายไม้เส้นรอบวงกว่า 120 เซนติเมตรขึ้นไป ซึ่งอย่างน้อยต้องมีอายุราว 20 ปี ไม้สักถือเป็นอุตสาหกรรมไม้หลักของ อ.อ.ป.
2. ไม้โตเร็ว โดยสามารถตัดฟันได้ภายในเวลา 4-5 ปี เช่น ยูคาลิปตัส ไม้สกุลอะเคเซีย (Acacia species) ซึ่งสามารถนำไม้เหล่านี้มาใช้ประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นใช้ในการก่อสร้าง ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ และใช้ในอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ เนื่องจากเป็นไม้ที่สามารถไสและขัดให้เรียบได้ง่าย และยังเป็นวัตถุดิบในการทำเยื่อกระดาษ
3. ยางพารา ซึ่งมีรอบตัดฟันที่ 25 ปี มีทั้งที่ อ.อ.ป. ปลูกเองหรืออาจแบ่งผลประโยชน์กับชาวบ้าน เช่น หากปลูกในที่ราบ การกรีดยางได้ก็จะแบ่งผลประโยชน์ให้ชาวบ้าน 40% บนเขาสูงก็อาจแบ่งประโยชน์ให้ชาวบ้าน 50% หรือหากชาวบ้านลงทุนปลูกเองบนที่ดินของ อ.อ.ป. ก็จะได้ประโยชน์ 70% เป็นต้น
ในการปลูกไม้สัก จะปลูกในระยะ 4 x 4 เมตร หรือประมาณ 100 ต้นต่อไร่ มีการตัดสาง(Thinning) ถึง 3 รอบในระยะเวลา 20-30 ปี ส่วนใหญ่ปลูกทางภาคเหนือและภาคตะวันตก เช่น ไทรโยค ทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดเลย รวมทั้งที่ฉะเชิงเทราและภาคใต้แถวนครศรีธรรมราช ปัญหาของไม้สักก็คือมีรูด้วงซึ้งเกิดจากหนอนผีเสื้อเจอะไม้สัก(Teak Beehole Borer) ซึ่งพบในบางพื้นที่ทางเหนือ ไม้ที่มีตำหนิเป็นรูด้วง ราคาจะต่ำกว่าปกติประมาณ 30% การมีรูด้วงหรือไม่ ก็สังเกตได้ เช่น
1. ตามพื้นที่ โดยในพื้นที่อำเภอแม่ลี้ จำหวัดลำพูน หรือ อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ มักจะมีรูด้วงเจอะไม้สัก
2. สำรวจก่อนตัด โดยการสังเกตุรอบๆโคนต้น ว่ามีร่องรอยการเจาะหรือมีขุยซึ่งแสดงว่าในเนื้อไม้มีรูหรือไม่(ในการลงทุนปลูกเชิงเศรษฐกิจถ้าพบรูด้วงตั้งแต่ไม้อายุ 1-3 ปีควรตัดทำลายให้ไม้แตกหน่อหรือปลูกใหม่)
ในกรณีไม้ยางพารา ซึ่ง อ.อ.ป. มีในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมกัน 45,000 ไร่ และภาคใต้อีก 40,000 ไร่ นั้นการปลูกจะมีระยะห่าง 3 x 8 เมตร หรือไร่ละ 60-70 ต้น เมื่อครบรอบตัดฟันที่ 25 ปีแล้ว ก็ยังสามารถขายไม้ยางพาราเพื่อการทำเฟอร์นิเจอร์หรืออื่นๆ ได้ โดยในพื้นที่สวนยางที่มีต้นยางที่มีคุณภาพดีก็อาจขายได้ไร่ละ 30,000 – 40,000 บาท แต่ถ้าสวนยางที่มีการกรีดยางที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ไม้ยางมีบาดแผลลึก เกิดเชื้อราเข้าทำลายเนื้อไม้ ก็อาจมีราคาต่ำกว่านี้
คุณประสิทธิ์มีแนวคิดในการอนุรักษ์ป่าไม้ที่ทันสมัยหลายประการ เช่น
1. ในกรณีที่ภาคประชาสังคมต้องการอนุรักษ์ไม้ใหญ่หายากที่มีคุณค่าทางจิตรใจหรือในพื้นที่เอกชนใดๆ ควรที่จะร่วมกันออกเงินซื้อที่ดินนั้นๆ หรือจ่ายค่าชดเชยเพื่อให้เจ้าของต้นไม้ให้ต้นไม้นั้นๆคงอยู่คู่ชุมชน ได้โดยไม่ตัดโค่น แต่ไม่ควรห้ามไม่ให้เจ้าของที่ดินตัดต้นไม้เพื่อพัฒนาที่ดินโดยไม่มีการชดเชย
2. ในพื้นที่ “เขาหัวโล้น” เช่น จังหวัดน่าน อ.อ.ป. ก็สามารถเข้าไปช่วยปลูกต้นไม้ได้ เพราะสภาพภูมิอากาศเหมาะสม มีสภาพกึ่งปรับสภาพดินเรียบร้อยแล้ว การเตรียมกล้าก็ไม่ยาก โอกาสตายก็น้อยมาก อย่างไรก็ตามก็อาจเข้าไปดำเนินการได้ยาก เพราะมีประชาชนบุกรุกอยู่ การปลูกป่าให้มีประสิทธิผลเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก เพียงแต่ปลูกในห้วงเวลาที่เหมาะสม (เช่น ต้นฤดูฝน) และต้นไม้ป่าเหล่านี้ก็แทบไม่ต้องดูแล (ต่างจากไม้ผลที่ต้องดูแลมากเป็นพิเศษ)
3. การให้เช่าที่ดินทำสวนป่าเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าโดยภาคเอกชนๆได้ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ (ได้เนื้อไม้และคาร์บอนเครดิต)รัฐได้พื้นป่าและสิ่งแวดล้อมโดยไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐ อายุการเช่าอยู่ที่ประมาณ 30 ปีซึ่งไม้ก็สามารถตัดฟันมาใช้ประโยชน์ได้พอดี และยังสามารถต่ออายุการเช่าได้อีกด้วย ค่าเช่าก็ไม่สูงมากนัก แต่ก็อาจมีปัญหาที่สวนปาล์มบางแห่งในภาคใต้หรือพื้นที่เช่าบางแห่งเมื่อหมดสัญญาแล้ว ก็ยังไม่คืนที่ดินกับทางราชการและอาจมีผู้ถือวิสาสะบุกรุกเข้าไปครอบครอง ซึ่งต้องมีการจัดการที่เหมาะสม
4. การให้เช่าพื้นที่บางแห่ง เช่น แถววังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถือเป็น “สวิตเซอร์แลนด์แดนอีสาน” ด้วยความที่อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี และถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีโอโซนมากเป็นอันดับ 7 ของโลกนั้น ทางราชการอาจพิจารณาให้เช่าในราคาเหมาะสม เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และบำรุงรักษาป่าในเวลาเดียวกันเพราะถือเป็นจุดขายสำคัญ และรัฐก็มีรายได้มาบำรุงป่าได้มากขึ้น
นอกจากการทำสวนป่าแล้ว อ.อ.ป. ยังมี อ.อ.ป. กับการพัฒนาสวนป่าเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) โดยมีบริการบ้านพักหลากหลายรูปแบบ ทั้งบ้านพักควาญช้าง บ้านพักแบบโฮมสเตย์ บ้านพักสมัยใหม่ ลานกางเต็นท์พักแรม โรงแรมป่าสน ที่พักศูนย์การเรียนรู้ช้างไทย นอกจากนี้ยังมีห้องประชุมสัมมนา บริการร้านอาหาร พร้อมมีการจัดกิจกรรมเชิงความรู้เรื่องสวนป่า เช่น การเพาะกล้าไม้ การปลูกป่า การดูแล การเก็บเกี่ยวผลผลิต การชักลากไม้ เป็นต้น
อนึ่ง อ.อ.ป. มีสวนป่าเพื่อการท่องเที่ยว 9 แห่ง ได้แก่ 1. สวนป่าดอยบ่อหลวง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ 2. โครงการบ้านวัดจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ 3. สวนป่าแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ 4. สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง 5. สวนป่าแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก 6. สวนป่าเขากระยาง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก 7. สวนป่าคลองท่อม อ.คลองท่อม จ.กระบี่ 8. สวนป่ากะเปอร์ อ.กะเปอร์ จ.ระนอง และ 9. สวนป่าสาละวิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน (https://bit.ly/3AfBzpU)
ที่มา: https://siamrath.co.th/n/387744