กรณีศึกษาประเมินค่าต้นสมพง
  AREA แถลง ฉบับที่ 411/2566: วันอังคารที่ 30 พฤษภาคม 2566

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

 

            ต้นสมพงอายุนับร้อยปีที่อยู่ใจกลาเมืองในโรงแรม 5 ดาว มีมูลค่าเท่าไหร่ นี่เป็นกรณีศึกษาการประเมินค่าต้นไม้ใหญ่ในเมือง

            จากประสบการณ์ของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ต้นสมพงซึ่งเป็นต้นไม้ใหญ่ใจกลางเมือง พึงมีมูลค่าเท่าไหร่ เราจะมีวิธีการในรายละเอียดในการประเมินค่าทรัพย์สินอย่างไร เราจะประเมินค่าทรัพย์สินที่เป็นต้นสมพงอายุนับร้อยปีได้ ก็จำเป็นต้องมีหลักคิดที่สอดคล้องกับความเป็นจริงนั่นเอง

 

ว่าด้วยต้นสมพง

ชื่อวิทยาศาสตร์   : Tetrameles nudiflora R.Br..
ชื่อวงศ์               :  TETRAMELACEAE
ชื่ออื่น                :  ขี้พร้า (ยะลา) โป่งสาว (ปัตตานี) กะปุง กะพง (ภาคกลาง ภาคใต้)

            ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ต้น

            ลำต้น สูงประมาณ 20 – 40 เมตร เปลาตรง โคนเป็นพูพอนขนาดใหญ่ อาจสูงถึงประมาณ 2 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง เปลือกสีเทาอมชมพู เรียบเป็นมัน หนามาก เปลือกในสีน้ำตาลอมชมพูไม่มีแก่น กิ่งอ่อนมีรอยแผลใบปรากฏชัด

            ใบ ใบเดี่ยว ลักษณะป้อม รูปหัวใจ หรือรูปข้อเหลี่ยมกลายๆ ขนาด 9-10 x 9-12 ซม.โคนใบกว้างและหยักเว้า 3 แฉก ขอบหยักถี่ เนื้อค่อนข้างบาง หลังใบมีขนสาก หลังใบแก่เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ท้องใบมีขนนุ่ม
 

ต้นสมพงยักษ์ ต.บ้านไร่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี 7 สิงหาคม 2564

 

            ดอก สีเขียวอ่อน หรือเหลืองอ่อน ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่ง ช่อดอกมีแขนงมาก กลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 4 แฉก เกสรผู้มี 4 อัน อยู่ตรงข้ามกับแฉก ดอกเพศเมียออกเป็นช่อยาวๆ ตามปลายกิ่งห้อยย้อยลงไม่แตกแขนง ช่อดอกยาว 15-30 ซม. กลีบรองกลีบดอกมี 4 กลีบ ไม่มีกลีบดอก รังไข่มี 1 ช่อง และมีไข่อ่อนมาก

            ผล มีขนาดเล็ก ผิวแข็ง ปลายยังคงมีกลีบรองกลับดอกปรากฏอยู่ เมื่อแก่จัดตอนปลายจะแตกออกจากกัน

            การขยายพันธุ์ เมล็ด

            ช่วงการออกดอกและติดผล ออกดอกระหว่างเดือนธันวาคม ถึงมกราคม และเป็นผลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม

            แหล่งที่พบ/บริเวณที่พบ พบตามป่าดิบชื้น เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกฮาลาซะห์ หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9

            การใช้ประโยชน์ ใช้สอย  เนื้อไม้ใช้ในการสร้างบ้าน ใช้ทำแบบหล่อคอนกรีต เรือขุด หีบใสของ ไม้ขีดไฟ ไม้จิ้มฟัน ไม้บาง ไม้อัด เยื่อกระดาษ หีบศพ เครื่องเรือน และของเด็กเล่น

 

ต้นสมพงที่ประเมิน

            ต้นสมพงต้นนี้เคยได้รับรางวัลต้นไม้ที่สูงสุดในกรุงเทพมหานครโดยได้รองชนะเลิศอันดับที่ 2  ทั้งนี้มีความสูง 30.03 เมตร อยู่ในโรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ (ปัจจุบันคือ โรงแรมเมอเวนพิค บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท กรุงเทพ) ถนนวิทยุ

            ขณะสำรวจประเมินค่าเมื่อปี 2563 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 73.21 ซ.ม. มีเส้นรอบวง 230 ซ.ม. และวัดความสูงได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 33 เมตร มีใบสีเขียวราว 80% จากการประเมินสภาพโดยรวมโดยผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับต้นไม้พบว่ามีสุขภาพของต้นไม้ที่ค่อนข้างดี สามารถประเมินค่าได้
 

จาก Google Earth

 

หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน

            หลักการประเมินค่าทรัพย์สินใช้ตามมาตรฐานจรรยาบรรณของสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพการประเมินมูลค่าทรัพย์สินในประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งมาตรฐานและข้อแนะนำอื่น ๆ ดังนี้:

            1. The Valuation of Tress for Amenity and Related Non-Timbers Uses, RICS Guidance Note

            2. Placing a Value on tree from the TREE CITY USA Bulletin

            3. Tree Valuation in the City of Greater Bedigo

            4. Guide for Plant Appraisal, 9th Edition, the Council of Tree and Land Scape Appraisers (CTLA)

            5. อื่นๆ
 

สภาพต้นสมพงในช่วงที่ประเมินค่า พ.ศ.2563

 

แนวทางการประเมินค่า

            มูลค่าของต้นไม้หนึ่งๆ ขึ้นอยู่กับสูตรนี้

            มูลค่าต้นไม้

            =

            ราคาฐาน (Base Price) x

            ค่าสายพันธุ์ (Species) x

            ค่าสถานที่ตั้ง (Location) x

            ค่าสภาพต้นไม้ (Tree Condition) x

            ค่าความพิเศษ (Special)

            สิ่งที่เป็นราคาฐาน ค่าสายพันธุ์ ค่าสภาพต้นไม้ ต้องอาศัยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต้นไม้โดยตรง ผู้ประเมินพึงปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ค่าสถานที่ตั้งและโดยเฉพาะค่าความพิเศษ เป็นสิ่งที่ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินต้องวิจัยเพื่อหาค่าสัมประสิทธิ์นี้

 

ค่าความพิเศษ

            ค่าความพิเศษหมายถึงกรณีที่ราคาของต้นไม้นี้แตกต่างจากต้นไม้ทั่วไปอย่างไรบ้าง ในที่นี้ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินพิจารณาจาก

            1. ธนบัตรเก่า

            2. เหรียญกษาปณ์โบราณ

            3. ทะเบียนรถยนต์

            ตัวอย่างเช่น ราคาธนบัตรปัจจุบัน 100 บาท ก็มีค่า 100 บาท แต่หากเป็นธนบัตรเก่า เป็นธนบัตรที่มีเลขตอง ก็จะมีราคาสูงกว่า กรณีพิเศษเหล่านี้ราคาจะสูงกว่าปกติ เช่น อาจจะสูงกว่าปกติประมาณ 20, 50 หรือ 100 เท่า เป็นต้น  กรณีนี้จะเป็นที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นชัดว่าราคาสูงกว่าปกติเป็นเงินเท่าไหร่ จะได้สามารถประเมินค่าได้อย่างถูกต้อง

            อย่างไรก็ตามในที่นี้คงไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ในรายละเอียด และไม่สามารถที่จะระบุมูลค่าของต้นไม้ต้นนี้ที่ชัดเจน เพราะจะกลายเป็นการเปิดเผยความลับขอบลูกค้าได้

 

การสร้างรายได้

            ในหลายกรณีการมีต้นไม้ขนาดใหญ่ในพื้นที่หนึ่ง อาจก่อให้เกิดการท่องเที่ยว เป็นการสร้างรายได้ได้ทางหนึ่ง เช่น

            1. ต้นสมพง ที่ต.บ้านไร่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี หรือ

            2. ต้นจามจุรียักษ์ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ฯลฯ

            ซึ่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีประชาชนไปเยี่ยมชมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดร้านค้าต่างๆ ขึ้น สร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบต่อไป (ทั้งนี้ยกเว้นในช่วงโควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564 ที่การท่องเที่ยวหยุดลง)
 

ต้นสมพงยักษ์ ต.บ้านไร่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ที่ทำให้เกิดร้านค้าโดยรอบ

ที่มา: https://travel.trueid.net/detail/EyNplrARZLV8
 

ต้นจามจุรียักษ์ จ.กาญจนบุรี ก็มีร้านค้าโดยรอบสามารถสร้างรายได้ได้เช่นกัน

ที่มา: http://google map https://bit.ly/3NHHwUv

 

อ่าน 1,331 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved