นับเป็นเวลา 1 ปีแล้วนับแต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จนขณะนี้ท่านได้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว แต่การบริหารกรุงเทพมหานครยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย จึงขอนำเสนอนโยบายที่ทำได้จริงตามกรอบเวลา (Timeline) ดังนี้
ระยะเวลาการทำงานและสิ่งที่ต้องทำก่อน-หลัง
ปีที่ 1เดือนที่ 1: ถ่ายทอดสดผู้ว่าฯ 24 ชั่วโมง เพื่อความโปร่งใสผู้ว่าฯ พึงจะทำ TV ถ่ายทอดสด 24 ชั่วโมง ยกเว้นภาพและเสียงในกรณีส่วนตัวหรือความลับทางราชการ เพื่อให้ทุกฝ่ายติดตามการทำงานของผู้ว่าฯ ได้ตลอด โดยทำเป็น Internet TV ที่แทบไม่เสียค่าใช้จ่าย (ไม่ได้หาทางทำโครงการเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋า)
เดือนที่ 3:แก้ไขปัญหาเฉพาะเดือดร้อนทั่วกรุงที่เป็นที่เห็นตำตาชาว กทม. อยู่ทุกวันโดยไม่มีใครแก้ไข เช่น ป้ายรถประจำทางผุพัง ถนนตรอกซอกซอยน้ำท่วมขัง เสียหาย ฯลฯ โดยประกาศให้ชาว กทม. เสนอปัญหาเร่งด่วนเหล่านี้และส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วแก้ไข บำบัดความทุกข์ของชาวบ้าน
จัดการมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า ซึ่งอาจก่ออาชญากรรม และรบกวนคนเดินถนน โดยร่วมมือกับตำรวจ เทศกิจและอาสาสมัครชุมชน ตักเตือน จับ ปรับและให้การศึกษาอย่างต่อเนื่อง
เดือนที่ 6:สถานพังพิงหมา-แมว ใน กทม. มีหมา-แมวที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมากมาย หรือที่เจ้าของไม่ต้องการเลี้ยง ซึ่งไม่ควรปล่อยให้แพร่พันธุ์ ในเบื้องต้นจะหาครอบครัวอุปการะ ตอนและสร้างสถานพักพิงให้อยู่ชั่วชีวิต เชื่อว่าจะมีหน่วยราชการให้ความร่วมมือและมีผู้ใจบุญบริจาคเงิน-แรงมาทำให้สำเร็จได้
สงเคราะห์ขอทาน ไม่ควรให้มีขอทานทั้งเขมร-ไทยเกลื่อนเมือง การมีขอทานมากเท่ากับสังคมกำลังป่วยไข้ ส่งเสริมการทำบุญแบบมักง่าย ให้ท้ายอาชญากรรมค้ามนุษย์ ขายหน้านักท่องเที่ยว บ้านเมืองขาดการวางแผน มีการโกงกินจึงมีปรากฏการณ์นี้ กทม ควรตั้งสถานสงเคราะห์เพื่อคืนคนสู่สังคมปกติ คืนคนต่างชาติกลับประเทศ หรือประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวต้องตรวจตราแก้ไข
เดือนที่ 12:โครงการอาสาตำรวจบ้าน: จัดให้มีการฝึกอบรมอาสาตำรวจบ้านเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในแต่ละแขวง ด้วยการลาดตระเวนตรวจตราเป็นระยะ ๆ ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
โครงการจักรยานยนต์ไฟฟ้าคันแรก: เฉกเช่นในนานาอารยประเทศยุคใหม่ การใช้รถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศและเสียง ดังนั้นเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร ผมจึงจะส่งเสริมการซื้อจักรยานยนต์ไฟฟ้าคันแรกเพื่อขี่ไปทำงาน โดยมีราคาถูก (ถูกกว่ารถจักรยานคันเท่ๆ ของคนชอบจักรยานเสียอีก) ไม่เปลืองที่จอดรถ ปลอดภัยกว่าขี่จักรยาน
สงเคราะห์ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หรือคนเร่ร่อน ซึ่งเปิดโอกาสให้พวกเขากลับเข้าสู่สังคมปกติสุขอย่างมีศักดิ์ศรีและเพื่อการจัดสวัสดิการสังคม และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาว กทม. โดยจัดสถานพักพิงรายวันในพื้นที่สำคัญ ฝึกอาชีพ การคัดกรองส่งสถานสงเคราะห์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ หรือสร้างสถานสงเคราะห์ขึ้นใหม่แยกตามกลุ่มเด็ก ผู้ให้บริการทางเพศ คนชรา และครอบครัวยากจน เป็นต้น
ปีที่ 2: การจัดระเบียบการค้าริมทางเท้า เป็นการช่วยให้ชาว กทม. สามารถใช้ทางเท้าได้อย่างเป็นระเบียบ ด้วยการจัดระบบการเก็บค่าใช้ทางเท้าเพื่อการพาณิชย์ใหม่ เพราะปัจจุบันหลายที่ให้เช่าช่วงกันตารางเมตรละ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน (ราคาสูงพอ ๆ กับค่าเช่าที่ในศูนย์การค้าสยามพารากอน หรือมาบุญครองเสียอีก) การให้เช่าตรงกับ กทม. ทำให้ผู้ค้าเสียค่าใช้จ่ายต่ำลง ทำให้ราคาสินค้าถูกลง กทม. ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อนำมาพัฒนา จัดระเบียบต่อไป รวมทั้งการจัดจุดขายที่เป็นระเบียบ รวมทั้งการรณรงค์ให้การศึกษา ตักเตือน จับ ปรับ ต่อผู้ซื้อและผู้ขายอย่างต่อเนื่อง เป็นธรรมและจริงจัง
ศูนย์ส่งเสริมการทำดีให้ถูกทาง: โดยที่โอกาสการทำดีเพื่อส่วนรวมมีจำกัด ชาวบ้านจึงเพียงไปทำบุญตักบาตรกับนักบวช ซึ่งไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่ตามตลาด หรือให้เงินขอทานที่มักเป็นขบวนการค้ามนุษย์ แต่หากชาวบ้านหรือวิสาหกิจเอกชนเห็นการแก้ไขปัญหาที่เป็นกุศลที่แท้ เช่น การสร้างสถานสงเคราะห์ขอทาน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ฯลฯ ก็จะร่วมกันบริจาคเพื่อระดมเงินมาเพื่อพัฒนากรุงเทพมหานครได้อีกทางหนึ่ง
การจัดระเบียบสถานบริการ: โดยมีการจัดพื้นที่ให้ชัดเจนเป็น Zoning จะให้ตั้งส่งเดชไม่ได้ ผู้ที่จะเข้าไปใช้บริการในสถานที่เหล่านี้ต้องมีการตรวจอาวุธ เพื่อสวัสดิภาพต่อทุกฝ่าย
การส่งเสริมการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร โดยการสร้างความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การร่วมกับภาครัฐ เอกชน ชุมชน พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม เชิงนิเวศน์ หรืออื่นๆ ตามแนวทางพัฒนาของมหานครทั่วโลก
การสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงาน กทม. ด้วยการให้สวัสดิการที่สมควรเมื่อเทียบกับหน่วยราชการอื่น โดยเฉพาะพนักงานระดับล่างที่เป็นคนเก็บขยะ ครูช่วยสอน ฯลฯ แต่ความภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าหน้าที่ กทม. ก็คือการได้ทำดี โปร่งใส ตรวจสอบได้อย่างต่อเนื่อง และยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อรับใช้ประชาชน
ปีที่ 3: เปลี่ยน BRT เป็นรถไฟฟ้า ผมจะพัฒนาระบบรถ BRT ให้เป็นรถไฟฟ้า BTS หรือ Light Rail โดยร่วมมือกับรัฐบาล ทั้งนี้เพราะผมไปทำงานที่กรุงจาการ์ตามานับสิบปีโดยได้รับเชิญทั้งจากรัฐบาลอินโดนีเซียและธนาคารโลก ฯลฯ รBRT เป็นระบบที่ไม่ดีพอ มีประโยชน์เพียงระดับ “กำ__ดีกว่ากำ__” ดังนั้น กทม. ต้องวางแผนให้ยั่งยืน โดยเฉพาะบน ถ.นราธิวาสฯ และถ.พระราม 3 ก็มีคลองอยู่ตรงกลางอยู่แล้ว ทำรถไฟฟ้าได้ทันที แล้วคืนหนึ่งช่องจราจรคืนให้รถอื่นโดยเฉพาะรถจักรยาน รถจักรยานยนต์ (ไฟฟ้า) เป็นต้น
ที่ปรึกษาแขวง เขต
โครงการฟื้นนคร (City Renewal / Redevelopment) โดยการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในแนวสูงแทนการพัฒนาในแนวราบ ผู้ได้ประโยชน์จากการพัฒนาในแนวสูงและสร้างสวนสาธารณะโดยรอบจะได้รับการยกเว้นภาษี หรือการให้โอกาสพัฒนาในแนวสูงเพื่อไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมที่มักเกิดจากการพัฒนาในชานเมือง กรุงเทพมหานครต้องเน้นความหนาแน่น (High Density) เช่น สิงคโปร์ ที่ขึ้นแนวสูงและเป็นเมืองในสวน แต่ไม่แออัด (Overcrowded) นั่นเอง
โครงการจัดการที่ดินว่าง โดยการขอนำมาใช้เป็นสวนสาธารณะ การเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมการใช้ที่ดินใจกลางเมืองให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่มีทางด่วน รถไฟฟ้าผ่านมากมาย เจ้าของก็นิ่งเฉย เพียงเก็บไว้เพื่อครอบครัวเฉพาะตน
การกำจัดขยะ: โดยมีเตาเผาขยะหรือกำจัดขยะระบบใหม่ที่ไม่ก่อมลพิษตามมาตรฐานทั่วโลก ในทั่วทุกเขตชั้นกลางและชั้นนอก จะได้ไม่เสียค่าขนย้ายขยะในราคาแพง
ปีที่ 4: การสร้างเมืองชี้นำสี่มุมเมือง: ในย่านชานเมือง เช่น หนองจอกโดยการร่วมมือกับเจ้าของที่ดิน หน่วยราชการ และจังหวัดปริมณฑล ผ่านกระบวนการจัดรูปที่ดิน เพื่อนำที่ดินมาพัฒนาใหม่ให้เป็น Zone ชุมชน ศูนย์การค้า และสาธารณูปการ และให้มีระบบทางด่วนและรถไฟฟ้า เชื่อมต่อเข้าเมือง แต่ไม่ให้เกิดการเติบโตอย่างไร้ทิศทางโดยรอบ กลายเป็นการพัฒนาแบบแพร่ระบาดไป
การพัฒนาสีลม 2, 3 และ/หรือ 4 เป็นการสร้างศูนย์ธุรกิจใจกลางศูนย์ธุรกิจของกรุงเทพมหานครอีกต่อหนึ่ง เช่นการเจรจากับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องนำที่ดินใจกลางเมืองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาทำเป็นศูนย์ธุรกิจเพื่อเชิญชวนวิสาหกิจขนาดใหญ่ทั้งไทยและเทศ มาร่วมพัฒนากรุงเทพมหานคร
การพัฒนาระบบรถไฟฟ้า: โดยเฉพาะระบบรถไฟฟ้ามวลเบา (Light Rail) เชื่อมพื้นที่ปิดล้อม เช่น ถนนตก-จันทน์-เซ็นต์หลุยส์ ซอยกลาง-ทองหล่อ-เอกมัย ประดิพัทธิ์-อารีย์-สะพานควาย ฯลฯ รวมทั้งระบบรถไฟฟ้าในพื้นที่แออัด เช่น ลาดพร้าว พระรามที่เก้า พระรามสี่ สามเสน
การจัดทำผังเมืองแนวใหม่ เป็นผังภาคมหานคร ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานอื่น โดยให้ผังเมืองกรุงเทพมหานคร และผังภาคมหานคร เป็นเสมือนแผนแม่บทสำหรับหน่วยงานสาธารณูปโภคทุกแห่ง เพื่อให้ผังที่วางไว้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจริง ไม่ใช่เพียงการวางผังตามการใช้ที่ดินหรือตามการนึกฝัน นอกจากนี้ยังจะมีการให้ความรู้ประชาชนเรื่องการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองระยะยาว
อนึ่ง ดร. โสภณเคยสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่มุ่งหวังเผยแพร่แนวคิดการพัฒนาเมืองข้างต้นเป็นหลัก ไม่ได้มุ่งผลประโยชน์ทางการเมืองใด
ที่มา : http://sopon4.housingyellow.com/