ตามที่มีข่าวว่า “สิริกัญญา” ในฐานะ “ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” มีดำริให้เปิดธนาคารเพิ่ม ดร.โสภณในฐานะนักวิชาการที่แท้จริง (มีผลงานประจักษ์เสมอ ไม่ใช่มีแค่ ดร.ไว้ประดับ) ในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สินให้ธนาคารทั้งหลาย และในฐานะนายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์สากล (FIABCI-Thai) ขอสนับสนุนอย่างเต็มที่
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ให้ความเห็นว่าควรให้มีการเปิดธนาคารเพิ่มขึ้นโดยคุณสิริกัญญา ตันสกุล “ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” ของพรรคก้าวไกลว่า ดูอย่างประเทศในอาเซียน มีเพียงบรูไนที่เป็นประเทศเล็กๆ มีประชากรแค่ 4 แสนคนเท่านั้นที่มีจำนวนสถาบันการเงินน้อยกว่าไทย นอกนั้นมีมากกว่าเราทั้งนั้น นี่คือการป้องกันการผูกขาดนั่นเอง ไทยจึงควรทบทวนความจริงได้แล้ว อย่าได้ย่ำอยู่กับที่
การเปิดธนาคารเพิ่มจะช่วยลดช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมาจากข้อมูลที่เคยสอบถามเดิมในปี 2561 ซึ่งคงไม่แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก พบดังนี้
จะเห็นได้ว่าความแตกต่างในกรณีประเทศไทยสูงมาก หากมีสถาบันการเงินมาก การผูกขาดก็จะลดลง ดร.โสภณเคยไปพบผู้รู้จากทั้งอาเซียน ในปี 2561 เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ประเทศในอนุทวีป คือ อินเดีย เนปาล ตลอดจนประเทศในทวีปอื่น อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา โปแลนด์ ไอร์แลนด์ ปรากฏว่าประเทศไทย มีช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากสูงสุดถึงประมาณ 5% หรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากถึงราว 3 เท่าเศษ (333%) ในจำนวนเงิน 100 บาท ธนาคารได้กำไรประมาณ 5 บาท หรือราว 1 ใน 20 ของต้นทุนทางการเงิน ซึ่งถือว่าสูงมาก สูงกว่าค่านายหน้าอสังหาริมทรัพย์ที่ 3% เสียอีก
ในประเทศเนปาล ก็มีช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากที่ 5% เช่นกัน แต่ดอกเบี้ยเงินกู้ของเขาคือ 14% ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากคือ 9% แสดงว่าดอกเบี้ยเงินกู้มีส่วนล้ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากราว 56% ในขณะที่ไทยอยู่ที่ 333% ปกติธนาคารต่างๆ ก็มีรายได้จากค่าธรรมเนียมและอื่นๆ มหาศาลอยู่แล้ว การให้ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงลิ่วเช่นนี้ ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ ขาดจรรยาบรรณหรือไม่ ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) หรือไม่ หรือไม่พึงกล่าวถึง เพราะธนาคารทั้งหลายก็ล้วนแต่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของผมทั้งนั้น
ประเทศที่มีช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากค่อนข้างสูงอีก 2 ประเทศก็คือ โปแลนด์ 3.1% และไอร์แลนด์ 2.5% แต่ก็ปรากฏว่าความแตกต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากก็ต่างกันเพียง 1 เท่าตัวเศษๆ (124% และ 125%) เท่านั้น ไม่ได้แตกต่างกันมากมายอะไรนัก จะเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโปแลนด์และไอร์แลนด์ ที่ 4.5% และ 4.5% ยังต่ำกว่าของไทยที่ 6.5% ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของ 2 ประเทศนี้ ก็สูงถึง 2.0% และ 2.5% ในขณะที่ไทยกลับมีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำกว่าคือราว 1.5% เท่านั้น
ที่น่าสนใจมากก็คือ ประเทศที่พัฒนามากแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมทั้งอินเดียที่แม้จะเจริญช้ากว่าไทย แต่ความแตกต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ต่างกันเพียง 1.25% ในกรณีมาเลเซีย 1.4% ในกรณีอินเดีย และราว 1.5% ในกรณีสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา นี่แสดงว่าอันที่จริงช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝากไม่น่าจะเกินกว่า 2% เท่านั้น ก็เพียงพอที่จะทำให้ธนาคารสามารถให้บริการสังคมอย่างเป็นธรรมได้แล้ว
ทำไมประเทศอื่นๆ จึงสามารถอำนวยสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยที่ธนาคารมีรายได้จากดอกเบี้ยเพียงไม่เกิน 2% เท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะในแต่ละประเทศ มีธนาคารและสถาบันการเงินที่อำนวยสินเชื่อให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก บางประเทศมีเป็นร้อยแห่งที่แข่งกันอำนวยสินเชื่อ ในต่างประเทศจึงมีการแข่งขันที่ค่อนข้างเสรี แต่กิจการธนาคารของไทยมีลักษณะกึ่งผูกขาด มีไม่ถึง 20 แห่งอย่าง ทำให้ไม่ต้องมีการแข่งขันกันเอาใจลูกค้าที่ถือเสมือนเป็น "พระเจ้า" ลูกค้าธนาคารไทยจึงถือเสมือนเป็น "หมูในอวย" มากกว่า หรืออาจเป็นเพียง "ลูกไก่ในกำมือ" ที่ "จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด"
การที่ประเทศไทยมีช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝากห่างกันถึง 5% ซึ่งสูงกว่าค่านายหน้าอสังหาริมทรัพย์ที่ใช่จะได้กันง่ายๆ ที่ 3% นั้น จึงถือว่าสูงเกินความเป็นจริงเป็นอย่างมาก ถ้าว่าตามหลักแล้ว หากธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถเจรจากับธนาคารสิบกว่าแห่งของไทยให้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาสัก 1% ก็จะเป็นอานิสงส์อย่างมากที่จะทำให้ภาระการผ่อนชำระลดลงเป็นอย่างมาก เศรษฐกิจไทยก็จะฟื้นคืนได้อย่างรวดเร็ว ธนาคารก็ไม่เจ๊ง เพราะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงไปนิดเดียว ในขณะนี้ธนาคารก็ได้กำไรมหาศาลในแต่ละปีอยู่แล้ว และยิ่งจะทำให้มีคนมาขอกู้เงินมากขึ้น เพราะดอกเบี้ยถูกลง ธนาคารจะได้เลือกสรรและอำนวยสินเชื่อได้มากขึ้นกว่าเดิมอีกมหาศาล เรียกได้ว่ามีแต่ได้กับได้ต่อสถาบันการเงินและสังคมโดยรวม
จะเห็นได้ว่า ณ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 6.5% เงินผ่อนชำระ 1 ล้านบาทในระยะเวลา 20 ปี จะเป็นเงินปีละประมาณ 90,756 บาท หรือเท่ากับ = 6.5% / [1-{1/(1+6.5%)^20}] แต่ถ้าผ่อนชำระในระยะเวลาเดียวกัน ณ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 5.5% (ลดลง 1%) ก็จะเป็นเงิน 83,679 บาท หรือลดลง 8% เลยทีเดียว การลดภาระการผ่อนชำระนี้ได้ ก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจที่คล่องตัวขึ้น มีผู้มาขอกู้มากขึ้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยเจรจากับสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารต่าง ๆ ในการลดดอกเบี้ยเงินกู้ไม่สำเร็จ ผมขอเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาให้บริการสินเชื่อมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก็จะลดลงทันตาเห็น ดีไม่ดีจะลดลงมากกว่า 1% ด้วยซ้ำไป ประเทศก็จะเจริญ มีเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
การบิดเบือนสิ่งที่คุณสิริกัญญาพูด เป็นการปกป้องการผูกขาด เพื่อไม่ให้ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ได้ประโยชน์หรือไม่
ดร.โสภณเชียร์ ‘สิริกัญญา’ เปิดธนาคารเพิ่ม https://fb.watch/lC4FOV_UbE/ .
ดร.โสภณเชียร์ ‘สิริกัญญา’ เปิดธนาคารเพิ่ม https://vt.tiktok.com/ZSLDKx6uh/ .
ดร.โสภณเชียร์ ‘สิริกัญญา’ เปิดธนาคารเพิ่ม https://youtu.be/SHWdVf-DxjU .