เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) ขอยกย่องผู้ใช้แรงงาน และนำเสนอถึงหนทางการพัฒนาเพื่อนร่วมงานของ AREA เพื่อเป็นกรณีศึกษา
วิสาหกิจทั้งหลายมักจะบอกว่าพนักงานเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าที่สุดของวิสาหกิจตน ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์สเชื่อว่า คำกล่าวดังกล่าวเป็นเพียงคำหวานเสียมากกว่า วิสาหกิจประเภทโรงงาน ปัจจัยการผลิตหลัก ไม่ใช่พนักงาน แต่เป็นเครื่องจักรกลต่างหาก ถ้าเป็นสถาบันการเงิน ปัจจัยการผลิตหลักก็คือ เงิน (ต่อเงิน) พนักงานเป็นเพียงฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่จะ "จ้างออก” เมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเป็นบริษัทพัฒนาที่ดิน ปัจจัยการผลิตหลักอยู่ที่อสังหาริมทรัพย์ พนักงานเป็นเพียงปัจจัยเล็ก ๆ เช่นกัน
แต่สำหรับวิสาหกิจในสาขาบริการ พนักงานเป็นปัจจัยการผลิตหลักที่แท้จริง AREA จึงต้องจัดฝึกอบรมเพื่อนร่วมงานทั้งองค์กรปีละ 2 ครั้ง จัดอบรม-สอบสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ส่งไปเรียนนอก ส่งไปเรียนโท ส่งไปฝึกอบรม ฯลฯ เพื่อเคี่ยวเข็ญให้มีความสามารถเพิ่มขึ้น เราจึงไม่มีเพื่อนร่วมงานประเภท "แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน” ดร.โสภณมักบอกเพื่อนร่วมงานว่า หนทางที่ AREA จะเจริญได้ ก็คือการ "เกาะใบบุญ” ตามการพัฒนาของพวกเขานั่นเอง
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ดร.โสภณ จึงขออนุญาตแจกแจงให้เห็นว่า AREA ได้ลงทุนอะไรกับเพื่อนร่วมงานบ้าง เช่น
เงินฝากให้พนักงาน (3% ของเงินเดือน) ปีละประมาณ 648,000 บาท
บริการเครื่องดื่มและเครื่องสันทนาการ ปีละประมาณ 240,000 บาท
เงินช่วยเหลือคลอดบุตร แต่งงาน บวช (คนละ 4,000 บาท) ปีละประมาณ 60,000 บาท
ทุนการศึกษาบุตรเพื่อนร่วมงาน (คนละ 5,000 บาท) ปีละประมาณ 150,000 บาท
การจัดงานวันเกิด ปีละประมาณ 96,000 บาท
การจัดท่องเที่ยวที่ AREA จ่ายให้ ปีละประมาณ 250,000 บาท
การสัมมนาประจำปี (2 ครั้งต่อปี) ปีละประมาณ 500,000 บาท
การศึกษา ดูงานทั้งใน-ต่างประเทศ ปีละประมาณ 400,000 บาท
รางวัลพนักงานดีเด่นรายเดือนและปี ปีละประมาณ 64,000 บาท
การประชุม 2 สัปดาห์ต่อครั้งตลอดปี ปีละประมาณ 325,000 บาท
งบประมาณสนับสนุนการท่องเที่ยว ปีละประมาณ 150,000 บาท
เงินจำนวนประมาณ 2.8 ล้านบาทที่จ่ายไปนี้ นอกจากทำให้เกิดความรู้สึกดีที่ได้ให้แล้ว ยังถือเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลให้เพื่อนร่วมงานของเราแตกต่างและทำให้ ดร.โสภณสามารถ "ฝากผีฝากไข้” กับพวกเขาได้อีกด้วย ดร.โสภณไม่เคยคิดที่จะพูดว่า "ทำดีโดยไม่หวังผลตอบแทน” ซึ่ง ดร.โสภณเชื่อว่าเป็นคำพูด "เล่นลิ้น” มากกว่า
ท่านทราบหรือไม่ มีการศึกษาพบว่า สมองมนุษย์จะปลอดโปร่งขึ้นเมื่อได้เป็นผู้ให้ และระบบเส้นประสาทที่เรียกว่า Vagus คือสาเหตุที่ทำให้เราอยากช่วยเหลือผู้อื่น อยากให้และอยากเสียสละ ทั้งนี้เป็นเพราะมีสารเคมีชนิดหนึ่งคือ oxytocin อยู่ ในเส้นประสาท หากคน ๆ หนึ่งได้รับสารนี้พร้อมกับเงินจำนวนหนึ่ง คนๆ นั้นก็จะมอบเงินให้กับคนแปลกหน้าจนเกือบไม่เหลือติดตัวเลยทีเดียว {1}
อาจกล่าวได้ว่า CSR กับพนักงานนั้น หัวใจสำคัญไม่ใช่อยู่ที่การชวนพนักงานไปบำเพ็ญประโยชน์ แต่อยู่ที่การทำนุบำรุงพวกเขาให้เติบใหญ่อย่างยั่งยืนไปพร้อมกับวิสาหกิจของเรา การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในส่วนที่เกี่ยวกับพนักงานในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญนั้น จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ หากพนักงานของวิสาหกิจใดยังย่ำอยู่กับที่ทั้งที่ทำงานโดยสุจริตและไม่สุรุ่ยสุร่ายหรือโชคร้ายมา 10-20 ปีแล้ว ต่ในขณะเดียวกันวิสาหกิจนั้นกลับเติบใหญ่ไพศาล ก็อาจอนุมานได้ว่าวิสาหกิจนั้นยังขาด CSR นั่นเอง
หมายเหตุ
{1} โปรดอ่านเพิ่มเติมที่ “รายงานสุขภาพเรื่องสมอง และระบบประสาท กับหลักการพื้นฐานด้านชีววิทยา” ของสถานีวิทยุ Voice of America: http://www.voanews.com/thai/2009-04-01-voa1.cfm