AREA แถลง ฉบับที่ 58/2557: 7 พฤษภาคม 2557
มาตรฐานการประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ในระหว่างวันที่ 1-8 พฤษภาคม 2557 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้รับเชิญจาก the Appraisal Foundation ซึ่งเป็นองค์กรจัดทำมาตรฐานการประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ไปประชุม the Valuation Global Forum หรือคณะที่ปรึกษานานาชาติเกี่ยวกับมาตรฐานการประเมินค่าทรัพย์สิน ณ นครโตรอนโต ประเทศแคนาดา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการประเมินค่าทรัพย์สินในภาคพื้นเอเซีย
ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุป แต่จากการระดมสมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาตินั้น ดร.โสภณ มีข้อสังเกตว่า
1. มาตรฐานสากลของการประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาตินั้นร่างขึ้นโดยนักบัญชี 4 บริษัทใหญ่และบริษัทประเมินผสมนายหน้า 4 บริษัทใหญ่ของโลก และนำมาใช้สำหรับองค์กรแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า International Valuation Standards Committee (IVSC) ซึ่งแม้ไทยจะมีสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทยเป็นสมาชิก แต่สมาคมอื่น ๆ ก็ไม่ได้เป็นสมาชิก ในหลายประเทศไม่มีสมาชิก หรือมีสมาชิกก็เป็นเพียงสมาคมเล็ก ๆ IVSC จึงไม่ใช่เป็นองค์กรที่เป็นทางการในการกำหนดมาตรฐานนานาชาติ แต่โดยที่ในโลกนี้ยังไม่มีใครกำหนดมาตรฐาน จึงมีการนำมาใช้โดยอนุโลม ซึ่งควรต้องเร่งจัดทำมาตรฐานนานาชาติที่แท้จริง
2. มาตรฐานนานาชาติ เป็นการนำหลักการและวิธีการประเมินค่าทรัพย์สินซึ่งเป็นระบบสหศาสตร์ (Interdisciplinary Approach) มาจัดทำเป็นมาตรฐานขึ้นมา และแม้ต่อไปจะมีมาตรฐานนานาชาติในการประเมินค่าทรัพย์สิน แต่ก็ควรมีมาตรฐานระดับประเทศเช่นกัน เพราะกฎหมาย และสิ่งแวดล้อมในแต่ละประเทศแตกต่างกัน ดังนั้นมาตรฐานนานาชาติจึงเป็นสิ่งที่ควรรักษาไว้
3. โดยรวมๆ แล้ว มาตรฐานระดับประเทศคงรวมมาตรฐานนานาชาติไว้ด้วยแล้ว แต่ในบางกรณีก็อาจมีความแตกต่าง แต่จะเป็นเพียงในรายละเอียด และเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป เช่นในแคนาดา ก็มีมาตรฐานระดับท้องถิ่นสำหรับกลุ่มที่พูดภาษาฝรั่งเศสโดยเฉพาะ มาตรฐานระดับประเทศ และใช้มาตรฐานของสหรัฐอเมริกาซึ่งถือเป็นมาตรฐานระดับภูมิภาคด้วยเช่นกัน
4. นอกเหนือจากการมีมาตรฐานแล้ว อยู่ที่การควบคุมการนำมาตรฐานไปใช้อย่างจริงจัง การตรวจสอบการปฏิบัติงาน และการมีบทลงโทษที่ชัดเจน ตลอดจนการประกันภัยทางวิชาชีพ หาไม่ก็จะเป็นมาตรฐานที่เขียนไว้บนหิ้งเท่านั้น ไม่ได้นำไปปฏิบัติ มีข้อสังเกตว่า การนำไปปฏิบัติจริงและการประกันภัยทางวิชาชีพเช่นในสหรัฐอเมริกาและประเทศในตะวันตกหลายแห่งนั้น เป็นการมุ่งให้ความสำคัญต่อผู้บริโภค ในสังคมที่ผู้บริโภคหรือประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินจริงๆ ผู้บริโภคจะต้องได้รับการคุ้มครอง จะให้นักวิชาชีพมาอยู่เหนือประชาชนโดยรวมไม่ได้
5. การประกันทางวิชาชีพในกรณีประเทศไทย บริษัทหนึ่งๆ จ่ายเบี้ยประกันประมาณ 100,000 บาทต่อปี ครอบคลุมค่าเสียหาย 40,000,000 บาท แต่มีเพียงไม่กี่บริษัทที่ทำประกัน แต่ในกรณีแคนาดา ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินคนหนึ่ง ๆ จ่ายเบี้ยประกันสูงถึงเกือบ 200,000 บาท แต่ครอบคลุมค่าเสียหายถึง 90 ล้านบาท การมีการประกันทางวิชาชีพ จะทำให้ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิชาชีพต่าง ๆ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ได้รับความเชื่อถือจากสังคมมากขึ้น
สำหรับในกรณีประเทศไทย ทุกฝ่ายควรผลักดันให้มีมาตรฐานระดับประเทศเสียที เพื่อประโยชน์ของวิชาชีพและของผู้บริโภคตั้งแต่รายใหญ่เช่นสถาบันการเงิน บริษัทมหาชน ตลอดจนผู้ซื้อบ้าน เราควรเริ่ม ‘เห็นหัว’ ประชาชนบ้าง
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน
|