วันนี้ผมจะพาท่านมาชมสังคมอารยะในมหานครโตรอนโต ประเทศแคนาดา ที่เขา ‘เห็นหัว’ ประชาชนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่ ‘ยกหาง’ อภิสิทธิ์ชน
เมื่อเร็วๆ นี้ ผมไปมหานครแห่งนี้ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงทางเศรษฐกิจของแคนาดา เพื่อประชุมองค์กรควบคุมการประเมินค่าทรัพย์สินสหรัฐอเมริกาที่ผมเป็นที่ปรึกษาแต่ไปจัดประชุมที่มหานครแห่งนี้ ผมได้เห็นในมุมมองที่น่าสนใจ จึงมานำเสนอเผื่อจะได้นำมาพัฒนาบ้านเมืองของเราบ้าง ผมไม่ได้ ‘เห็นขี้ฝรั่งหอม’ แต่บางอย่างเราควร ‘เอาเยี่ยงกา’ แต่ไม่ได้ ‘เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง’ นะครับ
กฎหมายที่นี่เคร่งครัดนัก
ในขณะที่ผมกำลังเดินเล่นอยู่ในใจกลางเมือง พบตำรวจกำลังแปะใบสั่งรถยนต์คันหนึ่ง คล้อยหลังไปไม่กี่วินาที เจ้าของรถวิ่งออกมาจากตึก ตะโกนเรียกตำรวจให้หยุดก่อน แต่ตำรวจก็ขี่จักรยานสองล้อออกไปไม่เหลียวหลังแต่อย่างใด สนนราคาค่าปรับที่นี่ถือว่าแพงมาก คิดเป็นเงินไทยคงหลายพันบาท จึงทำให้ผู้คนเข็ดหลาบ ไม่กล้ากระทำการผิดกฎหมาย โทษต่อผู้รับสินบนคงยิ่งหนัก จึงเกิดความโปร่งใส
การทำให้กฎหมายเป็นกฎหมายนั้น ยังอยู่ที่การสอดส่องให้ปฏิบัติตามกฎหมายอีกด้วย อย่างในกรณีใบสั่งนี้ มีตำรวจลาดตระเวนอยู่เป็นระยะ ๆ การจอดรถผิดที่ผิดทาง หรือไม่จ่ายค่าที่จอดรถที่ให้ผู้ขับรถรับผิดชอบหยอดเหรียญ จะได้รับการลงโทษด้วยค่าปรับอย่างหนัก ยิ่งกว่านั้นการกระทำผิดยังมีผลต่อการต่อใบอนุญาตขับรถอีกด้วย
ใบอนุญาตขายอาหาร
แม้แต่ตู้ขายอาหารริมทาง ก็ยังต้องได้รับใบอนุญาต จะค้าขายส่งเดชแบบบ้านเราไม่ได้ เพราะหากผู้บริโภคทานอาหารของเราแล้ว เกิดไม่สบายขึ้นมา ผู้ค้าต้องรับผิดชอบอานไปเลย ใบอนุญาตก็มีการออกใหม่ทุกๆ ปี ไม่ใช่มีใบอนุญาตแบบตลอดชีพ แถมยังเซ้งให้คนอื่นขายของต่อได้อีก อย่างในกรณีหาบเร่แผงลอยริมถนนในกรุงเทพมหานคร ที่เช่าจาก กทม. วันละ 20 บาท แต่เซ้งต่อกันเดือนละ 4,000 บาท เป็นต้น
ยิ่งหากเป็นร้านอาหาร จะมีป้ายบอกไว้หน้าร้านชัดเจนเลยว่า ร้านนี้ผ่านการตรวจเรื่องสุขลักษณะในวันใด และผลการตรวจใสรอบ 1 ปีก่อนหน้านี้ เป็นอย่างไร ซึ่งแยกเป็นผ่าน ผ่านอย่างมีเงื่อนไข หรือไม่ผ่าน เป็นต้น ทำอย่างนี้ลูกค้าผู้ใช้บริการก็สบายใจได้ว่า ราชการให้การคุ้มครองผลประโยชน์ของพวกเขา ไม่ใช่ราชการไป ‘ซูเอี๋ย’ กับพ่อค้าแม่ค้า จ่ายใต้โต๊ะกันหลังร้านโดยผู้บริโภครับความเสี่ยงเอง
ยิ่งกว่านั้น ในร้านอาหาร เรือ ห้องประชุม ยังระบุชัดว่าจุคนได้สูงสุดกี่คน ผู้ที่อยู่ในนั้นจะได้รู้ว่าขณะนี้เกินที่กำหนดปลอดภัยหรือยัง หาไม่จะเป็นเช่นกรณีที่เกิดขึ้นใน ‘ซานติกา’ ผับ ซอยทองหล่อ หรือโป๊ะเรือข้ามฟากของไทย ที่เคยล่มเนื่องจากให้คนยืนอยู่มากเกินไปนั่นเอง และอย่าลืมว่าการกำหนดเหล่านี้ไม่ใช่แค่ ‘เขียนเสือให้วัวกลัว’ แต่มีการตรวจสอบเป็นระยะ ๆ อีกด้วย ไม่ได้ทำแบบ ‘ผักชีโรยหน้า’ แบบบ้านเรา
ห้ามถือเอาสมบัติของแผ่นดิน
ในประเทศของเรา มีข่าวคนรวยและคนจนต่างบุกรุกป่าเขา แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ทะเลสาบแม่น้ำ ใครอยู่ใกล้ที่ไหน ก็บุกรุกที่นั่น เข้าทำนอง ‘สิบเบี้ยใกล้มือ’ หรือ ‘มือใครยาว สาวได้สาวเอา’ เท่ากับเป็นการปล้นชิงสมบัติของส่วนรวมไปใช้สำหรับส่วนตัวอย่างขาดหิริ โอตัปปะอย่างรุนแรงทั้งที่ไทยเป็นเมืองพุทธ ซึ่งทำให้ทรัพยากรของชาติเสียหาย ป่าไม้สูญหายไปมากมาย
แต่ในนครโตรอนโตและประเทศตะวันตกที่มีอารยธรรมนั้น แม้แต่จะตกปลา ก็ไม่ใช่ว่าจะถือเบ็ดไปตกปลาในแม่น้ำ หนอง บึงกันส่งเดชได้ จะต้องมีใบอนุญาต เสียค่าธรรมเนียม และถือปฏิบัติว่าจะตกได้กี่ตัวต่อครั้ง ไม่ใช่กอบโกยเอาสมบัติของแผ่นดินหรือของประชาชนทุกคนไปเป็นของส่วนตัว น่าแปลกไหมครับ เมืองคริสต์ประชาชนส่วนใหญ่กลับถือปฏิบัติหิริโอตัปปะกันอย่างเคร่งครัด
รักสิ่งแวดล้อมที่เป็นจริง
ผมในฐานะที่ปรึกษาของหน่วยงานใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เขาก็อุตส่าห์จัดที่พักให้ ณ โรงแรม 5 ดาวริมฝั่งทะเลสาบออนทาริโอ ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าทะเลสาบใหญ่หรือ the Great Lakes ของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าที่ตั้งของโรงแรมนี้เป็นทะเลสาบมาก่อน เพิ่งถมที่ออกมาสร้างโรงแรม ศูนย์การค้า อาคารชุดพักอาศัยและอื่น ๆ ในช่วง 20 ปีมานี้เอง การรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีนั้น ใช่ว่าจะไม่สามารถดัดแปลงธรรมชาติได้ การถมทะเล จัดระเบียบที่ดินใหม่ เป็นสิ่งที่ทำได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว
น้ำในทะเลสาบนี้ไม่เน่าเสียแม้มีสภาพเป็นทะเลสาบปิด (แต่มีช่องออกทะเล) เนื่องจากเขาไม่อนุญาตให้ใครปล่อยน้ำเสียจากครัวเรือน โรงงานหรืออื่นใดลงสู่ทะเลสาบหรือแม่น้ำลำคลองอย่างเด็ดขาด ที่โตรอนโต นอกจากน้ำจะสะอาดแล้ว ฝุ่นก็ไม่มี ต่างจากในกรุงปักกิ่งที่ฝุ่นควันมาก (กว่าไทย) เพราะโรงงานปล่อยสารพิษออกมามากมาย (เช่นที่เคยเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นเมื่อ 50 ปีก่อน) สภาพแวดล้อมที่ดูดีนี้ย่อมเกิดขึ้นจากความเคร่งครัดของกฎหมายนั่นเอง
พัฒนาเมืองอย่างมีสติ
ในเขตใจกลางเมือง มีอาคารโบราณเก่าแก่อยู่จำนวนหนึ่ง เราก็อนุรักษ์เอาไว้ โดยสร้างอาคารใหม่ ๆ คร่อมอยู่บนอาคารนั้นเลยเลย คืออาคารเก่าก็เก็บรักษาไว้ ส่วนอาคารใหม่ เพื่อการพัฒนาเมืองในรูปแบบใหม่ ๆ ก็สามารถเกิดขึ้น อาคารเดิมก็สามารถนำมารับใช้กับปัจจุบัน เช่น บางอาคารก็จัดให้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ฮอกกี้ ซึ่งเป็นกีฬายอดฮิตของแคนาดา เป็นต้น
ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือในเขตใจกลางเมือง ที่ดินมีราคาแพงมาก ทางการจึงอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารสูงชะลูด โดยไม่ได้เว้นรอบอาคาร หรือเว้นแต่น้อยมาก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของการใช้ที่ดินใจกลางเมือง เพราะหากให้สร้างได้แต่น้อย ราคาหรือค่าเช่าก็จะแพงจนเช่าหรือซื้อกันไม่ไหว กระทบต่อผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้เช่า ๆ ก็อาจขึ้นราคาสินค้าและบริการกับผู้บริโภคในที่สุด ถือได้ว่าส่งผลเสียต่อส่วนรวม
ในกรณีประเทศไทย เราไปเรียนรู้มาจากประเทศตะวันตกเหล่านี้ แต่อาจจะค่อนข้างไป ‘เลียน’ มา ไม่ได้ร่ำเรียนให้แตก เช่น เห็นในชานเมืองเขาสร้างบ้านมีการเว้นระยะร่นต่าง ๆ เพื่อความโปร่งสบาย ก็นำมาใช้ในประเทศไทยโดยไม่ได้คำนึงถึงทำเลที่แตกต่างกัน เลยทำให้ใจกลางเมืองของไทยค่อนข้าง ‘หลวม’ ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่สมดุล การให้สร้างตึกสูง ๆ ใจกลางเมืองเพื่อให้เกิดการรวมศูนย์อย่างเป็นระบบนั้น ทำให้เกิดการใช้ที่ดินที่มีประสิทธิภาพ เอื้อประโยชน์ต่อส่วนรวม
ทั้งหมดนี้คือสิ่งละอันพันละน้อยที่พบในมหานครโตรอนโต ซึ่งเมืองไทยควรจะดัดแปลงนำมาใช้บ้าง ใช่ว่าผมจะเห็นต่างชาติดีกว่าไทย หรือเอาแต่ตำหนิไทย ยกเว้นตำหนิข้าราชการขี้ฉ้อที่หวัง ‘กินใต้โต๊ะ’ หรือภาคเอกชนที่เห็นแก่ได้จนเกินงาม แต่ผมหวังให้ประเทศไทยของเรามีการพัฒนาที่ดีกว่านี้นั่นเอง
ทำไมเขา ‘เห็นหัว’ ประชาชนของเขารู้ไหมครับ คำตอบก็คือ เพราะประชาชนของเขาเป็นใหญ่ในแผ่นดินอย่างแท้จริงนั่นเอง
การอนุรักษ์อาคารเก่า (ด้านหน้าอาคาร)
การอนุรักษ์อาคารเก่า (ด้านหลังอาคาร)
การคุ้มครองผู้บริโภคโดยการตรวจสอบร้านอาหาร
ใจกลางนครโตรอนโต สร้างตึกสูงได้เต็มที่
การทำให้อาคารเก่า-ใหม่อยู่ร่วมกัน
ทะเลสาบออนทาริโอที่ใสสะอาด
เก่าใหม่อยู่ด้วยกัน : สร้างอาคารคร่อมอาคารโบราณสถาน