AREA แถลง ฉบับที่ 68/2557: 27 พฤษภาคม 2557
การใช้ที่ดินบางกระเจ้าที่พึงทบทวน
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
บางกระเจ้า ได้ถูกกำหนดให้เป็น "ปอดของคนกรุงเทพ" มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ปัจจุบัน ได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่บางประการ ผลจะเป็นอย่างไร และควรเป็นอย่างไรจึงจะเหมาะสม
ตามผังเมืองใหม่จังหวัดสมุทรปราการที่ประกาศใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ปรากฏว่า ในข้อ 23 กำหนดให้ที่ดินประเภท ก.1 (ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือที่ดินบางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ) ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การอนุรักษ์และรักษาสภาพแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่ โดยยังระบุว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่น ให้ใช้ได้ไม่เกินร้อยละสิบของที่ดินประเภทนี้ในแต่ละบริเวณ
ที่ดินประเภทนี้ ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้
1. โรงงานทุกจำพวกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่โรงงานตามประเภท ชนิด และจำพวกที่กำหนดให้ดำเนินการได้ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวงนี้
2. คลังน้ำมันเชื้อเพลิงและสถานที่ที่ใช้ในการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ไม่ใช่ก๊าซปิโตรเลียมเหลวและก๊าซธรรมชาติ เพื่อจำหน่ายที่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง เว้นแต่เป็นสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะที่มีขนาดเขตทางไม่น้อยกว่า 12 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางไม่น้อยกว่า 12 เมตร
3. สถานที่บรรจุก๊าซ สถานที่เก็บก๊าซ และห้องบรรจุก๊าซ สำหรับก๊าซปิโตรเลียมเหลวและสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง เว้นแต่เป็นสถานีบริการก๊าซธรรมชาติที่ตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะที่มีขนาดเขตทางไม่น้อยกว่า ๑๒ เมตร ยาวต่อเนื่องกัน โดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางไม่น้อยกว่า ๑๒ เมตร ร้านจำหน่ายก๊าซ สถานที่ใช้ก๊าซและสถานที่จำหน่ายอาหารที่ใช้ก๊าซ
4. โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมประเภทอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่
5. โรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารประเภทอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่
6. การจัดสรรที่ดินทุกประเภท เว้นแต่การจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวหรือการจัดสรรที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
7. การอยู่อาศัยประเภทอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่
8. การประกอบพาณิชยกรรมประเภทอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่
9. คลังสินค้าประเภทอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่
10. สถานีขนส่งสินค้า
11. ศูนย์ประชุม
12. อาคารแสดงสินค้าประเภทอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่
13. สวนสนุกหรือสวนสัตว์
14. กำจัดมูลฝอยหรือสิ่งปฏิกูล เว้นแต่เป็นกิจการที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของราชการส่วนท้องถิ่นหรือได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
15. กำจัดวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย เว้นแต่เป็นการดำเนินการที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม
การใช้ประโยชน์ที่ดินริมฝั่งลำคลองหรือแหล่งน้ำสาธารณะ ให้มีที่ว่างตามแนวขนานริมฝั่งตามสภาพธรรมชาติของลำคลองหรือแหล่งน้ำสาธารณะไม่น้อยกว่า ๖ เมตร เว้นแต่เป็นการก่อสร้างเพื่อการคมนาคมทางน้ำหรือการสาธารณูปโภค
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง ชี้ให้เห็นว่า หากจะรักษาให้พื้นที่นี้เป็น "ปอดของคนกรุงเทพฯ" การที่อนุญาตตามข้อ 6 ข้างต้น ให้สามารถ "จัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวหรือการจัดสรรที่ดินเพื่อเกษตรกรรม" ก็จะทำให้ที่ดินบริเวณเหล่านี้เปลี่ยนสภาพไปจากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม จะมีการจัดสรรที่ดินกันมากขึ้น แนวคิดเดิมเรื่องการอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมก็จะหมดไป
ยิ่งกว่านั้นที่ระบุว่าให้สามารถ "ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่น ให้ใช้ได้ไม่เกินร้อยละสิบของที่ดินประเภทนี้ในแต่ละบริเวณ" ก็เป็นข้อกำหนดที่กำกวม ในระยะเวลาที่ผ่านมาในเขตเมืองต่าง ๆ ก็ไม่เคยมีการสำรวจไว้ชัดเจนว่าได้มีการใช้เกินร้อยละสิบหรือยัง การกำหนดไว้เช่นนี้ อาจสร้างความสับสน และทำให้เกิดช่องโหว่ในทางกฎหมายได้
แต่ประเด็นสำคัญในเชิงหลักการก็คือ การ "เพ้อฝัน" ให้พื้นที่บางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่ "ปอดของคนกรุงเทพฯ" นั้น เป็นแนวคิดที่ผิดมาแต่ต้น ทำไมที่ดินของคนบางกระเจ้า ต้องมา "บูชายัญ" เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น โดยตนเองไม่ได้รับประโยชน์
ตัวอย่างเช่น ในฝั่งยานนาวากรุงเทพมหานคร สามารถปลูกสร้างอาคารชุดพักอาศัยได้ ราคาที่ดินตกเป็นเงินไร่ละ 60 ล้านบาท (ตารางวาละ 150,000 บาท) หากให้ฝั่งบางกระเจ้าสามารถสร้างห้องชุดได้ ราคาที่ดินคงขึ้นไปถึง 40 ล้านบาท (ตารางวาละ 120,000 บาท) หรือราว 60% ของฝั่งกรุงเทพมหานคร เพราะเดินทางเข้าถึงได้ยากกว่า ถนนแคบกว่า เป็นต้น แต่โดยที่ไม่สามารถก่อสร้างอาคารเช่นนั้นได้ สามารถสร้างได้แต่อาคารขนาดเล็ก ๆ ราคาที่ดินอาจตกเป็นเงินเพียง เป็นเงินเพียงไร่ละ 24 ล้านบาท (ตารางวาละ 60,000 บาท) ดังนั้น หากจะให้พื้นที่นี้เป็น "ปอดของคนกรุงเทพฯ" ก็ควรให้กรุงเทพมหานครซื้อสิทธิหรือจ่ายค่าทดแทนไปให้กับชาวบ้านบางกระเจ้าไร่ละ 16 ล้านบาท (40 - 24 ล้านบาท) เพื่อคงพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่สีเขียวถาวร
แต่การที่ไม่มีการจ่ายค่าทดแทน และทำให้ชาวบ้านเสียเปรียบในการใช้ที่ดิน และมีการดิ้นรนหาทางออกด้วยกรผ่อนกฎให้สร้างได้แต่บ้านเดี่ยวเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ทำให้ "ปอดของคนกรุงเทพฯ" ไม่เหลือสภาพอีกต่อไปในอนาคต เป็นการแก้ไขปัญหาแบบไม่สิ้นสุด กลายเป็นวงจรที่หาทางออกที่ชัดเจนไม่ได้
การคงพื้นที่ให้เป็น "ปอดของคนกรุงเทพฯ" ยังอาจต้องทบทวนในอีกแง่หนึ่ง เช่น ในกรณีนครเซี่ยงไฮ้ ก็มีพื้นที่ขนาดใหญ่เช่นนี้ คือ "ผู่ท่ง" ซึ่งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำกับ "ผู่ซี" หรือเขตนครเซี่ยงไฮ้เดิม ทางการจีนได้เวนคืนที่ดินที่เป็นเขตชนบทนี้มาพัฒนาเป็นมหานครเซี่ยงไฮ้ใหม่ กลายเป็นศูนย์ธุรกิจใหม่ในทันที ขณะนี้ที่นครโฮจิมินห์ซิตี้ก็กำลังทำแบบเดียวกันในพื้นที่อำเภอที่ 2 หรือ "ถูเทียม" ซึ่งอยู่ตรงข้ามใจกลางเมืองเดิม
สำหรับการรักษาพื้นที่สีเขียวนั้น ทั้งเซี่ยงไฮ้ และโฮจิมินห์ซิตี้มองว่านครก็ตั้งอยู่ใกล้ทะเลอยู่แล้ว เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร ความจำเป็นเรื่อง "ปอด" คงเป็นเรื่อง "หลง" ไปมากกว่า แต่ในนครทั้งสองต่างก็ปลูกต้นไม้กันมากมาย จากที่ว่างขนาดใหญ่ที่จัดวางไว้ตามผังเมืองใหม่ และสร้างเมืองในแนวดิ่ง ประหยัดพื้นที่โดยไม่ต้องกลัวแออัด แนวคิดเช่นนี้ก็ได้ดำเนินการในสิงคโปร์ จนกลายเป็น "City in the Garden" หรือ "Garden City" ที่เน้นการสร้างอาคารสูงรายรอบด้วยพื้นที่สีเขียว
การวางผังเมืองของกรุงเทพมหานครจึงควรยืนบนฐานความคิดที่เป็นจริง ไม่ใช่แนวคิดแบบ "ดรามา" ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงแต่อย่างใด
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน
|