AREA แถลง ฉบับที่ 69/2557: 29 พฤษภาคม 2557
อาเซียนกับ AEC
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนายหน้าในอาเซียนมองเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ในอาเซียนอย่างไร
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ไปประชุมสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งอาเซียน ณ นครยาจาง ประเทศเวียดนาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้สัมภาษณ์ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์เพื่อประมวลความคิดเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคนี้
ผลการศึกษาพบว่า
1. ภาวะเศรษฐกิจ พ.ศ.2557 เมื่อเทียบกับ พ.ศ.2555 ปรากฏว่าแต่ละประเทศต่างมีความเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าเมื่อ 2 ปี ก่อน โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.22 โดยในกรณีที่ดีขึ้นมีค่ากับ 1 กรณีที่แย่ลงมีค่าเท่ากับ -1 และกรณีที่เหมือนเดิมมีค่าเท่ากับ 0 ประเทศที่ดูว่าภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างเด่นชัดคือประเทศมาเลเซีย (1.0) ประเทศบรูไน (0.75) และประเทศอินโดนีเซีย (0.67) สำหรับประเทศไทย ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนายหน้าไทยกลับเห็นว่าเศรษฐกิจแย่ลงกว่าเมื่อ 2 ปีก่อน (-0.75)
2. ความคาดหวังต่อภาวะเศรษฐกิจ พ.ศ.2559 เมื่อเทียบกับปัจจุบัน (พ.ศ.2557) ผลการสำรวจพบว่าเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นด้วยคะแนน 0.42 โดยทุกประเทศต่างคาดหวังว่าภาวะเศรษฐกิจน่าจะเป็นไปในทางบวก โดยประเทศที่มองในแง่บวกมากที่สุดคือประเทศกัมพูชา (0.75) ต่อด้วยประเทศไทย (0.67) ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่าเศรษฐกิจไทยเกิดภาวะชะงักงันในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นจึงอาจเติบโตแบบก้าวกระโดดในอีก 2 ข้างหน้า หลังจากอั้นไว้ระยะหนึ่ง
3. ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ใน พ.ศ. 2557 เมื่อเทียบกับ พ.ศ.2555 พบว่าสถานการณ์ดีขึ้นด้วยคะแนน 0.18 โดยประเทศที่มีการเติบโตสูงสุดได้แก่ประเทศกัมพูชา (0.75) ซึ่งคงเป็นเพราะไม่ได้รับผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมามากนัก รองลงมาคือประเทศมาเลเซีย (0.67) สำหรับกรณีประเทศไทยผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนายหน้าไทยมองว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลงในระหว่าง พ.ศ.2555 - พ.ศ.2557 ด้วยคะแนน -0.33 ซึ่งล้อไปตามความเห็นต่อภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง
4. ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในพ.ศ.2559 ทุกประเทศเห็นว่าน่าจะดีกว่าพ.ศ.2557 ด้วยคะแนน 0.42 ทั้งนี้ประเทศที่มองในแง่บวกมากที่สุดยังคงเป็นกัมพูชา (0.75) ตามด้วยประเทศเวียดนาม (0.50) และประเทศมาเลเซีย (0.50) สำหรับประเทศไทยได้คะแนน 0.42 แสดงว่าผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนายหน้าไทยมองตลาดอสังหาริมทรัพย์ในแง่บวก
5. สำหรับอนาคตของการเปิดประชาคมอาเซียนทุกประเทศต่างมองในแง่บวกโดยได้คะแนนเฉลี่ย 0.58 โดยประเทศที่มองในแง่บวกมากที่สุดคือประเทศไทย และประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้คะแนนเท่ากัน (0.83) ประเทศที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือประเทศมาเลเซีย (0.17)
6. สำหรับความพร้อมต่อการเปิดประชาคมอาเซียน โดยเฉลี่ยแล้วมีความพร้อมถึง 72% โดยประเทศที่พร้อมมากที่สุดคือประเทศเวียดนาม (84%) รองลงมาคือประเทศอินโดนีเซีย (74%) ประเทศที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือประเทศบรูไน (50%)
7. ความน่าเชื่อถือต่อนักวิชาชีพผู้ประเมินค่าทรัพย์สินโดยเทียบกับวิชาชีพแพทย์ ซึ่งสมมติว่ามีความน่าเชื่อถือเท่ากับ 100% วิชาชีพผู้ประเมินค่าทรัพย์มีความน่าเชื่อถือเฉลี่ย 69% โดยประเทศที่ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินมีความน่าเชื่อถือสูงสุดคือประเทศมาเลเซีย (80%) ส่วนที่กลุ่มอื่นได้คะแนนเฉลี่ย 82% นั้นเพราะว่าเป็นประเทศตะวันตกซึ่งน่าจะมีพัฒนาการทางวิชาชีพสูงกว่าประเทศในอาเซียน ส่วนประเทศไทยได้คะแนน 67% โดยประเทศที่ได้คะแนนต่ำสุดคือกัมพูชา 59% ซึ่งยังมีพัฒนาการทางวิชาชีพที่สั้นกว่า
ภูมิภาคนี้ยังมีอนาคตที่ดี น่าจะสามารถเติบโตได้อีกมาก ยิ่งหากไทยมีความพร้อมน่าจะมีโอกาสเติบโตมากขึ้นในอนาคต
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน
|