อ่าน 6,234 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 70/2557: 2 มิถุนายน 2557
ทบทวนรถไฟฟ้า 10 สาย

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          เห็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) จะปัดฝุ่นการลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาท ดร.โสภณ จึงเสนอให้ทบทวนโครงการบางโครงการโดยเฉพาะในส่วนรถไฟฟ้า 10 สายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
          รถไฟฟ้า 10 สายสำคัญมีดังนี้:
          1. รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม (ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต – มหาชัย) 80.8 กิโลเมตร เชื่อมการเดินทางพื้นที่ชานเมืองเข้าสู่กรุงเทพมหานครในแนวเหนือ – ใต้
          2. รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (ศาลายา – หัวหมาก) 54 กิโลเมตร เชื่อมการเดินทางพื้นที่ชานเมืองเข้าสู่กรุงเทพฯ ในแนวตะวันตก-ตะวันออก ยกเลิกช่วงบางบำหรุ-มักกะสัน 10.5 กม. เพิ่มเติมช่วงตลิ่งชัน-รพ.ศิริราช 6 กม.
          3. Airport Rail Link (สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ) 50.3 กิโลเมตร เชื่อมต่อการเดินทางระหว่าง 2 สนามบิน
          4. รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (ลำลูกกา-บางปู) 66.5 กิโลเมตร เชื่อมการเดินทางทิศเหนือ-ตะวันออก แนวถนนพหลโยธินและถนนสุขุมวิท
          5. รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน (ยศเส-บางหว้า) 15.5 กิโลเมตร โครงการภายใต้ความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร
          6. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-ท่าพระ, บางซื่อ-พุทธมณฑล สาย4) 55 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับสายเฉลิมรัชมงคลในลักษณะวงแหวนเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน
          7. รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่ – ราษฎร์บูรณะ) 42.8 กิโลเมตร เส้นทางหลักเชื่อมทิศเหนือ-ใต้
          8. รถไฟฟ้าสายสีส้ม (จรัญสนิทวงศ์-มีนบุรี) 32.5 กิโลเมตร เส้นทางหลักเชื่อมทิศตะวันออก-ตะวันตกของกรุงเทพมหานคร
          9. รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) 36 กิโลเมตร เชื่อมทิศเหนือ-ตะวันออก และศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ
          10. รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) 30.4 กิโลเมตร เชื่อมถนนลาดพร้าวและทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร
          อาจกล่าวได้ว่าโครงการที่พึงดำเนินการมากที่สุดได้แก่โครงการที่ 3. Airport Rail Link (สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ) 50.3 เชื่อมต่อการเดินทางระหว่าง 2 สนามบิน เพราะการติดต่อระหว่างกันทำได้จำกัดในเวลานี้  รวมทั้งโครงการที่ 5 รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน (ยศเส-บางหว้า) และโครงการที่ 6 รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-ท่าพระ, บางซื่อ-พุทธมณฑล สาย4) ซึ่งเชื่อมต่อกับสายเฉลิมรัชมงคลในลักษณะวงแหวนเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน

          โดยหลักการแล้ว หลายเส้นไม่พึงทำ เพราะมีจำนวนประชากรอาจมีน้อยเกินไป และที่สำคัญทำให้เมืองขยายออกไปข้างนอกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้สาธารณูปโภคต้องขยายตัวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และสิ้นเปลืองงบประมาณอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
          ส่วนรถไฟฟ้าสายที่ไม่ควรสร้างได้แก่ สายที่ 4 รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงสะพานใหม่-คูคต โครงการที่ 8 รถไฟฟ้าสายสีส้ม (จรัญสนิทวงศ์-มีนบุรี โดยเฉพาะช่วงจากบางกะปิไปมีนบุรี) และโครงการที่ 9 รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) เชื่อมทิศเหนือ-ตะวันออก และศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ เพราะน่าจะมีประชากรน้อย
          บริเวณชานเมือง หากมีรถไฟรางคู่ที่มีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้การขนส่งสินค้าและคนทำงาน เดินทางเข้าเมืองได้อย่างสะดวกไม่ต้องใช้รถไฟฟ้าแต่อย่างใด ดังเช่น รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม (ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต – มหาชัย) 80.8 เชื่อมการเดินทางพื้นที่ชานเมืองเข้าสู่กรุงเทพมหานครในแนวเหนือ – ใต้
          สิ่งที่กรุงเทพมหานครพึงมีที่สุดในขณะนี้ก็คือรถไฟฟ้ามวลเบา โดยพื้นที่ ๆ ควรดำเนินการได้แก่:
          1. บริเวณถนนเจริญกรุง (ถนนตก) ถนนจันทน์ ถนนเซ็นต์หลุยส์ ถนนนราธิวาส ถนนนางลิ้นจี่ ถนนงามดูพลี ออกถนนพระรามที่ 4 ซึ่งเป็นการเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าหลักสาทร สุรศักดิ์ และสถานีลุมพินีของรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (MRT)
          2. บริเวณถนนอุดมสุข ออกสวนหลวง ร.9 วกออกสถานีอ่อนสุช
          3. ประดิพัทธ์-ซอยอารี ประดิพัทธ์-วิภาวดีรังสิต
          4. อินทามระ-ห้วยขวาง
          5. พระรามที่ 1-บรรทัดทอง-พระรามที่ 1
          6. คลองเตย-พระรามที่ 4-พระโขนง ฯลฯ
          การทำรถไฟฟ้ามวลเบา จะทำให้เปิดทำเลใหม่ๆ ในการพัฒนาเมือง นอกจากนั้นยังควรสร้างรถไฟฟ้าแบบ BTS บนเกาะกลางถนนของถนนอีกหลายสายในเขตกรุงเทพมหานคร เช่น ถนนลาดพร้าว ถนนสามเสน และอื่นๆ เป็นต้น แต่ไม่ควรสร้างรถ BRT อีกต่อไป เพราะกีดขวางการจราจร โครงการ BRT บนถนนนราธิวาส-พระรามที่ 3 ควรเปลี่ยนใหม่เป็นรถไฟฟ้า
          การพัฒนารถไฟฟ้าควรดำเนินการในใจกลางเมือง และอนุญาตให้ใจกลางเมืองสร้างอาคารได้สูง ๆ โดยกำหนดอัตราส่วนพื้นที่ก่อสร้างต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio: FAR) เป็น 20 เท่าต่อ 1 แต่ให้คิดภาษีการก่อสร้างเพิ่มเติม เพื่อนำเงินมาพัฒนาระบบรถไฟฟ้า ทุกวันนี้อาคารต่าง ๆ จำเป็นที่ต้องมีที่จอดรถประมาณ 20-30% ของพื้นทื่อาคารเพื่อการจอดรถ ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ แต่หากพัฒนาระบบรถไฟฟ้าที่ดี ก็ให้ก่อสร้างที่จอดรถน้อยลงได้ อากาศก็จะดีขึ้นด้วย
          อย่างไรก็ตามการพัฒนาเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในโครงการ 2.2 ล้านล้านบาท รัฐบาลน่าจะจัดการประมูลให้เอกชนดำเนินการเช่นกรณี BTS แต่ต้องทำสัญญาให้รัดกุมเพื่อจะไม่ 'เสียค่าโง่' เช่นที่ผ่าน ๆ มา และให้แต่ละระบบสามารถประสานงานร่วมกันได้ด้วย
          แต่ทั้งนี้การลงทุนขนาดใหญ่นี้ อาจมีข้อครหาถึงความโปร่งใสต่าง ๆ คณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งมีภารกิจหลักในการรักษาความสงบเป็นสำคัญ จึงไม่ควรดำเนินการเอง แต่เมื่อรักษาความสงบแล้ว ก็ควรจัดการเลือกตั้งใหม่โดยเร็วที่สุด ภายใน 1-2 เดือนนี้ โดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเลือกตั้งเสร็จ ก็ให้จัดให้มีการเลือก สสร. จากประชาชนมาปฏิรูปการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นต่อไป แล้วจัดการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งภายในกำหนด 6 เดือน เพื่อให้ได้รัฐบาลที่ชอบธรรมมาบริหารประเทศ และดำเนินโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ต่อไป


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved