สร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อคน ป่าและสัตว์ป่าเถอะ
  AREA แถลง ฉบับที่ 708/2566: วันอังคารที่ 29 สิงหาคม 2566

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

            ทุกวันนี้มีการตัดไม้ทำลายป่าปีละประมาณ 1 ล้านไร่ หรือเท่ากับขนาดของกรุงเทพมหานคร แต่พวก NGOs ชั่วร้าย ไม่ออกมาพูดอะไรสักแอะ แต่กลับมีผู้ถามว่าถ้าสร้างเขื่อนแม่วงก์แล้ว จะเอาต้นไม้ในพื้นที่สร้างเขื่อนเนื้อที่ 12,350 ไร่ ไปไว้ที่ไหนครับ ฟังดูแล้วไม่รู้จะคุ้มหรือไม่ที่จะสร้างเขื่อน
 

            คำตอบง่าย ๆ ชัด ๆ ตรงๆ ก็คือ ตัดต้นไม้เสียครับ มูลค่าต้นไม้เหล่านี้มีค่าประมาณ 1,073 ล้านบาท {1} ค่าสร้างเขื่อนเป็นเงินถึง 13,000 ล้านบาท มากกว่าตั้งมากมาย แสดงว่าเราเสียไปนิดเดียว ที่สำคัญก็คืออย่าคิดแต่ในแง่ที่เสียไปนะครับ ต้องมองในแง่ที่ได้มาบ้างว่ามันคุ้มอย่างไรบ้าง
 

            1. จะทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำแม่วงก์เพิ่มขึ้น โดยมีปริมาตรเก็บกักประมาณ 258 ล้านลบ.ม. เพื่อใช้เป็นน้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การประมงน้ำจืด รวมทั้งเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น

            2. สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่รับประโยชน์ท้ายอ่าง 10,000 ไร่ และพื้นที่ชลประทาน 291,900 ไร่ (ฤดูฝน) และในฤดูแล้ง 116,545 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 127 หมู่บ้าน 23 ตำบล 6 อำเภอ 3 จังหวัด

            3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทีดินด้านการเกษตรกรรม (Cropping Intensity : CI) เพิ่มขึ้น 40%

            4. การยกระดับรายได้ของเกษตร ซึ่งเกษตรสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวในฤดูฝน และเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกรวมทั้งผลผลิตพืชฤดูแล้ง

            5. เพิ่มผลผลิตด้านสัตว์น้ำและการประมงน้ำจืด ประมาณปีละ 165 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งหมดปีละ 7.13 ล้านบาท รวมทั้งทำให้นิเวศน์ด้านท้ายน้ำในลำน้ำแม่วงก์มีความสมบูรณ์มากขึ้น

            6. อ่างเก็บน้ำสามารถเป็นแหล่งน้ำเพื่อการดับไฟป่าที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โดยในปี พ.ศ.2542 มีไฟป่าเกิดขึ้นถึง 108 ครั้ง พื้นที่เสียหาย 3,327 ไร่

            7. ทำให้สมบัติของดินโดยรอบอ่างเก็บน้ำและในพื้นที่ชลประทานมีความชุ่มชื้นเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในฤดูแล้ง เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของพืชพรรณธรรมชาติรวมทั้งพืชเกษตรกรรม

            8. สัตว์ป่าจะได้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำในด้านการเป็นแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร

            9. มีน้ำใช้เพื่อการชลประทานและการอุปโภคบริโภคสำหรับประชาชน รวมทั้งกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว

            10. ทำให้สภาพทางสาธารณสุขและภาวะโภชนาการมีแนวโน้มดีขึ้น
 

            ถ้าได้สร้างเขื่อนแม่วงก์เมื่อปี พ.ศ.2525 ด้วยเงินเพียง 3,761 ล้านบาท ป่านนี้คุ้มทุนไปแล้ว ถ้าในอีก 30 ปีข้างหน้าถึงจะสร้าง จะต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นถึง 43,128 ล้านบาท
 

            ในส่วนต่อไปนี้เป็นการคำนวณทางการเงินเพื่อความเข้าใจอย่างง่าย ๆ ถึงการสูญเสียโอกาสในการไม่ได้ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในอดีต และในอนาคตจะยิ่งมีต้นทุนสูงขึ้น
 

            1. ค่าก่อสร้างเขื่อนที่ประมาณการไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2525 เป็นเงินเพียง 3,761 ล้านบาท แต่มาในปี พ.ศ.2556 เพิ่มขึ้นเป็น 13,000 ล้านบาทตามข้อมูลของกรมชลประทาน {2}

            2. ในระยะเวลา 31 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของค่าก่อสร้างนี้ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.08% ตามสูตร =((13,000/3,761)^(1/31))-1 ซึ่งถือว่าค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นไม่มากนักในช่วง 31 ปีที่ผ่านมา

            3. หากขณะนั้นกู้เงินมาทำโครงการด้วยเงิน 3,761 ล้านบาท ณ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 8% เป็นระยะเวลา 15 ปี ก็เท่ากับผ่อนชำระคืนเพียงปีละ 419 ล้านบาท หรือเดือนละ 37 ล้านบาท หรือ =8%/(1-(1/(1+8%)^15))*3,761 และตอนนี้ก็ผ่อนหมดไปแล้ว 16 ปี

            4. หากยิ่ง "ซื้อเวลา" ออกไป และหากสร้างในอีก 30 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2586) ค่าก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 43,128 ล้านบาท หรือ = (((1+4.08%)^30)*13,000)หรือแพงขึ้นเป็น 3.32 เท่า (332%) ทั้งนี้โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเดิมคือ 4.08% ยิ่งปล่อยนานวันไป ประเทศชาติจะยิ่งเสียหาย

            5. ถ้าต้องมีเงิน 43,128 ล้านบาท ในการก่อสร้างเขื่อนในอีก 30 ปีข้างหน้า นับแต่วันนี้ไปอีก 30 ปี รัฐบาลต้องเริ่มสะสมเงินปีละ 759 ล้านบาท หรือเดือนละ 63 ล้านบาท ณ อัตราดอกเบี้ย 4.08% ต่อปี หรือ = 4.08%/(((1+4.08%)^30)-1)*43,128 จึงจะได้เงินจำนวนดังกล่าว  นี่คือความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการ "เตะถ่วง" โครงการอย่างไม่สิ้นสุด

            6. หากสมมติให้ผลตอบแทนจากเขื่อนเป็นเงิน 5% ของ 3,761 ล้านบาทหรือ 188 ล้านบาทต่อปี และเก็บกินมาได้แล้ว 23 ปี (31 ปีที่ผ่านมาลบด้วย 8 ปีในการก่อสร้าง) ก็จะได้เม็ดเงิน ณ อัตราดอกเบี้ย 4.08% เป็นเงินถึง 6,952 ล้านบาท หรือ = ((((1+4.08%)^23)-1)/4.08%)*(3,761*0.05) นี่คือโอกาสที่สูญเสียไปจากการไม่ได้สร้างเขื่อนแม่วงก์

            7. ถ้าเขื่อนแม่วงก์สามารถสร้างผลตอบแทนสุทธิได้ 10% ต่อปีเท่า ๆ กันโดยไม่มีการเติบโตของผลตอบแทนเลย (ปกติควรมี) และนำผลตอบแทนนี้มาคิดด้วยอัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจากการเพิ่มค่าก่อสร้างของเขื่อน ณ 4.08% ต่อปี ซึ่งค่อนข้างสูงกว่าความเป็นจริง ก็จะพบว่า การลงทุนก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์จะคุ้มทุนในปีที่ 14 ของการดำเนินงาน และหากคิดถึงปัจจุบัน คงได้กำไรไปเป็นอันมากแล้ว

            ที่ผ่านมามีการ "เตะถ่วง" โครงการมาโดยตลอด เช่น พอจะสร้างเขื่อนในปี พ.ศ.2525 ก็ปรากฏว่า

            พ.ศ.2532 ให้ไปศึกษา EIA

            พ.ศ.2537 ให้ไปศึกษาทางเลือกพื้นอื่น เช่น เขาชนกัน

            พ.ศ.2541 ให้ทำประชาพิจารณ์

            พ.ศ.2546 ให้ศึกษาการจัดการลุ่มน้ำแทนการสร้างเขื่อน

            พ.ศ.2556 ก็อ้างว่าต้นไม้ในป่าเสื่อมโทรมแม่วงก์ที่จะเอามาสร้างเขื่อน ที่ทั้งปลูกทั้งฟื้นฟูมามีอายุ 5-18 ปีแล้ว ไม่ได้มีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมที่เคยมีชาวเขา 200 กว่าครัวเรือนอยู่แล้ว ห้ามสร้างเขื่อนอีก {3}
 

            การตัดสินใจอย่างรวดเร็วและชัดเจน ฝ่ามายาคติ จะเป็นสิ่งสำคัญต่อประเทศชาติโดยรวม นี่เราก็ช้าไปเรื่อย ซื้อเวลาไปเรื่อย ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเลย

 


 

ปล. แจกฟรีหนังสือ “สร้างเขื่อนแม่วงก์เถอะนะ เพื่อชีวิตสัตว์ ป่าและมนุษย์” โปรดคลิก Link นี้เพื่อดาวน์โหลดหนังสือ https://bit.ly/3gTCD7i

อ่าน 1,420 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved