อ่าน 1,420 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 74/2557: 9 มิถุนายน 2557
           สภาปฏิรูป วุฒิสภาควรมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ตัวแทนองค์กรวิชาชีพ

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาประเภทสรรหา ได้กล่าวถึงการตั้งสภาปฏิรูปประเทศกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่า สูตรดังกล่าวก็คงจะคล้ายของเดิม . . . คงจะประกอบไปด้วยกลุ่มวิชาชีพต่างๆ โดยไม่มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง . . . (และสำหรับวุฒิสภา) รูปแบบที่มีสมาชิก (กลุ่ม 40 สว.) เสนอก็คือ การเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งเลือกตั้งจากสภาวิชาชีพต่างๆ ก็จะทำให้สอดคล้องกับประชาชนได้" {1}
          การสรรหา จากกลุ่มวิชาชีพนั้นไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม แม้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จะเป็นประธาน กรรมการ ที่ปรึกษาขององค์กรเหล่านี้ แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้
          ในปัจจุบัน ดร.โสภณ มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรวิชาชีพต่าง ๆ เกือบ 20 แห่ง โดยเป็นนายกสมาคมผู้ประกอบกิจการประเมินค่าทรัพย์สิน, ประธานมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย, ประธานมูลนิธิอิสรชน, รองประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย, รองประธาน สมาคมอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ, สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ สมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย, กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต, กรรมการคณะกรรมการเศรษฐกิจพอเพียง, กรรมการคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์, กรรมการชมรมจรรยาบรรณ หอการค้าไทย, กรรมการสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ในพระบรมราชูปถัมภ์, ที่ปรึกษาสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย, ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร, ที่ปรึกษาสมาคมนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์, ที่ปรึกษาสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย, ที่ปรึกษาสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย, ที่ปรึกษาสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย, ที่ปรึกษาสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการสมาคมในระดับนานาชาติอีกหลายแห่ง
          สาเหตุที่องค์กรวิชาชีพไม่สามารถมาแทนสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า:
          1. องค์กรวิชาชีพที่มีอยู่ไม่ได้ครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพ ดังนั้นจึงจะเกิดความลักลั่น ได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างองค์กรวิชาชีพ ถ้าคิดเป็นจำนวน ตัวแทนของประชาชนในแต่ละหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ไม่ได้สัดส่วนกับองค์กรวิชาชีพที่มีมากมาย แต่เป็นตัวแทนของคนส่วนน้อยนิด
          2. องค์กรวิชาชีพไม่อาจเป็นตัวแทนของประชาชน ทั้งนี้แต่ละองค์กรตั้งขึ้นมาเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของกลุ่มกรรมการหรืออย่างมากก็เฉพาะของวิชาชีพเป็นสำคัญ
          3. บางองค์กรก็ตั้งขึ้นมาเพื่อการกุศลหรือการบำเพ็ญประโยชน์ ไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นตัวแทนใครเช่นกัน
          4. บางองค์กรก็ตั้งขึ้นมาเพื่อการสังสรรค์ ออกจะเป็นองค์กร Nominee สมาคมโต๊ะสนุกเกอร์ หรืออื่นใด ซึ่งไม่สามารถใช้แทนปวงชนชาวไทยได้
          5. การได้มาซึ่งประธาน กรรมการขององค์กรวิชาชีพหลายแห่งก็ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นแบบพวกมากลากไป มีหลายครั้งที่แม้แต่ในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่สำคัญ ๆ ของประเทศ ก็มีเรื่องฉาวโฉ่ในการซื้อตำแหน่งบริหารองค์กรอยู่เป็นระยะ ๆ ดังนั้นขนาดว่าภายในองค์กรวิชาชีพ ก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ยังเป็นเผด็จการแล้วจะมาเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยได้อย่างไร
          6. กรรมการหลายคนในหลายองค์กรก็เข้ามาเพื่อแสวงหาโอกาส เครือข่าย เพื่อความได้เปรียบทางธุรกิจเหนือคู่แข่งอื่น หลายคนมารับ ไม่ได้มาให้สังคมอย่างแท้จริง
          7. ที่สำคัญที่สุดประชาชนน่าจะเป็นผู้แทนของพวกเขาเองโดยตรง ไม่ใช่ผ่าน "ร่างทรง" ซึ่งอาจไม่ตรงใจตรงความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา
          ดร.โสภณ จึงมีความเห็นว่า ในกรณีสภาปฏิรูป สภาร่างรัฐธรรมนูญ ควรกำหนดให้ผู้ร่างมาจาการเลือกตั้งของประชาชน โดยอาจกำหนดให้มีสมาชิกเลือกตั้งจากประชาชนไม่ 500,000 คน จังหวัดใดที่มีประชากรน้อยกว่านี้ ก็ให้มีสมาชิก 1 คนเป็นอย่างน้อย และทำการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้แล้วเสร็จใน 1 ปี สมาชิกสภานี้รวมทั้งบุพการี คู่สมรส บุตร และพี่น้องท้องเดียวกัน จะไม่อาจเล่นการเมืองในทุกระดับได้ภายในระยะเวลา 5 ปี เป็นต้น
          ส่วนข้อวิตกว่าจะมีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ข้อนี้ไม่ควรมีอคติกับนักการเมืองแบบเหมารวมอย่างนี้ คนที่เป็นสรรหาตามกระบวนการที่ผ่านก็ ก็ใช่ว่าจะน่าเชื่อถือจริงตามที่อ้างข้างต้น ที่สำคัญมักมีการเล่นพรรคเล่นพวก แม้มีการเสนอชื่อสรรหามากมาย แต่อยู่ที่คณะกรรมการสรรหาอีกทอดหนึ่ง โอกาสที่ฝ่ายที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจจะหลุดรอดเข้ามาคงเป็นไปได้น้อยมาก กรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอดีตก็เช่น "ร้อง"กกต." สรรหาส.ว.3ราย "สัก กอแสงเรือง-วีรวิท คงศักดิ์-วงกต มณีรินทร์"ส่อไม่ชอบด้วยกฎหมาย" {2}
          ในอดีตที่ผ่านมาเมื่อครั้งร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ก็ยังอนุญาตให้ประชาชนได้เลือกตัวแทนของตนมาร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นในครั้งนี้ไทยจึงไม่ควร "ถอยหลังเข้าคลอง" แต่ควรกำหนดคุณสมบัติให้ชัดเจนถึงความรู้ความสามารถในการเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูป เป็นต้น ประเด็นที่น่าสนใจหนึ่งก็คือ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ลงสมัครด้วย แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง {3}  อย่างไรก็ตามหลักการสำคัญที่พึงยึดถือก็คือควรให้ประชาชนเจ้าของประเทศ เจ้าของอำนาจอธิปไตย ใช้วิจารณญาณพิจารณา

อ้างอิง
{1} www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1402132795
{2} http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1305793451&grpid=01&catid=00
{3} เปรียบเทียบที่มารธน.2540-รธน.2555 http://bit.ly/tj8tQy


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved