Gen Z กับการซื้อที่อยู่อาศัย
  AREA แถลง ฉบับที่ 752/2566: วันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

            มีการวิเคราะห์กันว่าชาว Gen Z เขาไม่ซื้อบ้านกันแล้ว เขาเน้นการเช่าบ้านแทน เพราะอาจเปลี่ยนงานบ่อยๆ ข้อนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง อาจทำให้การวางแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยผิดไป

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่าประชากร Gen Z หรือถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ (ยุคนี้-ต่อไปก็เป็นคนยุคเก่า) เป็นผู้ที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2538–2552 อายุระหว่าง 14-28 ปี ประชากรกลุ่มนี้เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายรายล้อมตัว ว่ากันว่าประชากรกลุ่มนี้เรียนรู้ไว และกล้าตัดสินใจรวดเร็ว ในมุมมองของการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ประชากรกลุ่มนี้จะศึกษาข้อมูล ดูรีวิวต่างๆ จากโลกออนไลน์ด้วยตัวเอง และในแง่กำลังซื้อแล้ว นักการตลาดมองว่า กลุ่มคน Gen Z ยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อการซื้อหากสินค้าและบริการนั้นๆ บ่งบอกถึงตัวตน บุคลิกภาพ หรือเป็นประเด็นที่พวกเขาสนใจ

            TCP (https://t.ly/TtxeK) ระบุว่า ประชากร Gen Z คือขุมพลังสำคัญในการขับเคลื่อนโลกยุคใหม่ในเวลานี้ เพราะพวกเขามีวิถีการใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาดและกระตือรือร้นที่จะแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ชอบแสวงหาไอเดียหรือวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด รวมถึงเลือกใช้ชีวิตแบบ Work-Life Integration ที่เรื่องเรียน งาน เล่น หลอมรวมเป็นเรื่องเดียวกัน สิ่งที่คน Gen Z ต่างจากคนอื่นๆ คือพวกเขาไม่ลังเลที่จะแตกต่าง มีความเป็นตัวเองสูง และแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เพื่อการเปลี่ยนแปลง

            นักการตลาดบางคนที่เห็นว่าตลาดที่อยู่อาศัยในขณะนี้ขายค่อนข้างฝืดก็ตีขลุมว่าเป็นเพราะประชากร Gen Z นี้ไม่ซื้อบ้านกันแล้ว เน้นการเช่าบ้านแทน ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด  ดร.โสภณ จึงให้ข้อคิดไว้ดังนี้:

            1. การที่การซื้อขายที่อยู่อาศัยหดตัวลงบ้างในครึ่งแรกของปี 2566 เป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี และประชาชนมีหนี้ครัวเรือนสูงมากเป็นพิเศษต่างหาก จึงทำให้ดูเหมือนเกิดการชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัย

            2. ประชากรกลุ่มนี้เพิ่งจบการศึกษามา จึงยังไม่มีเงินพอที่จะซื้อบ้าน และปกติก่อนที่คนจะซื้อบ้าน ก็ต้องเก็บเงินออมไว้ระยะหนึ่งก่อน และรอภาวะที่มีครอบครัวเสียก่อน จึงจะซื้อบ้าน

            3. ก่อนหน้านี้มีที่คนหนุ่มสาวซื้อบ้าน ส่วนหนึ่งเพราะถูก “ปั่นหัว” โดยพวกโค้ช (ซึ่งคงเป็นกระบอกเสียงของผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน) ที่ส่งเสริมให้คนซื้อบ้านและห้องชุดกันมากๆ เพื่อประโยชน์ในการขาย โดยโฆษณาว่าจะได้เกิดมูลค่าเพิ่ม (Capital Gain) และสามารถปล่อยเช่าทำกำไร (Return on Investment) แต่ในขณะนี้อัตราผลตอบแทนต่ำมาก หากประชากรใน Gen Z ที่พอมีเงินบ้าง จึงไม่ซื้อ เพราะไม่สามารถทำกำไรได้ดีเท่าที่ควรแล้วในขณะนี้

            4. ปกติประชากรคนหนุ่มสาวซึ่งก็คือ Gen Z ในขณะนี้ หรือ Gen อื่นๆ ที่อยู่ในช่วงวัยหนุ่มสาว ก็มักจะซื้อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ก่อน เช่น โทรศัพท์มือถือ นาฬิกา เสื้อผ้าแพงๆ หรือเครื่องประดับต่างๆ ก่อนที่จะซื้ออสังหาริมทรัพย์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ประชากร Gen Z จะยังไม่ซื้อบ้านหรือห้องชุด

            5. ปกติในวัยนี้ ประชากร Gen Z ส่วนมากยังไม่มีครอบครัว มักอาศัยอยู่กับพ่อแม่ จึงยังไม่ซื้อบ้าน แต่สำหรับผู้ที่เช่าบ้าน ก็คงเป็นเพราะทำงานอยู่ไกลบ้าน จึงเช่าบ้านไว้ต่างหาก หรืออยากออกมาอยู่นอกบ้านบ้างเพื่อความเป็นอิสระ ซึ่งก็เป็นธรรมชาติเช่นนี้เช่นเดียวกับ Gen อื่นๆ ในช่วงที่ยังเป็นคนหนุ่มสาวอยู่นั่นเอง

            6. พฤติกรรมการเช่าบ้านของคนหนุ่มสาวก็มักเช่าอยู่ไม่ไกลจากใจกลางกรุงมากนัก เพราะสะดวกกับการเดินทาง ส่วนมากก็คงเช่าจากอะพาร์ตเมนท์ต่างๆ ที่มีราคาไม่แพงนัก เช่น 5,000 – 8,000 บาท หรืออาจเช่าจากห้องชุดมือสองในโครงการอาคารชุดมือสองใจกลางเมือง

            สำหรับข้อแนะนำในการเช่าห้องชุดหรืออะพาร์ตเมนท์ในเมืองก็ได้แก่

            1. สุขุมวิทช่วงตั้งแต่ซอยเอกมัยจนถึงบางนา-ตราดหรืออาจเลยไปถึงสำโรงและปากน้ำ เพราะสามารถเดินทางเข้าเมืองด้วยรถไฟฟ้าสายสีเขียว (รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา)

            2. พหลโยธินตั้งแต่ช่วงต้นถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

            3. ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล) ผ่านแถวเขตห้วยขวาง เขตจตุจักร

            4. ถนนกรุงธนบุรี ถนนตากสิน รวมไปจนถึงเขตบางพลัด ซึ่งสามารถเข้าเมืองได้ด้วยรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีน้ำเงิน

            5. บริเวณเขตยานนาวา สาทร ซึ่งยังมีห้องชุด อะพาร์ตเมนต์ราคาไม่แพงให้เช่าอยู่เป็นอันมาก (เดือนละ 6,000 บาทขึ้นไป) เป็นต้น

            เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ในการซื้อบ้านยุคใหม่นี้ ผู้ซื้อก็อาจเริ่มต้นที่ห้องชุดสำหรับผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปและห้องชุดเป็นที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ถึงราว 55% ของสินค้าทั้งหมดที่เปิดขายในแต่ละปี  ส่วนผู้ที่มีอายุมากขึ้น เช่น 40 ปีขึ้นไป ก็อาจซื้อทาวน์เฮาส์หรือบ้านเดี่ยวแทน  ที่อยู่อาศัยจึงพลวัตร (Dynamic) ไปตามอายุและฐานะทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเป็นประชากรใน Gen ใดโดยเฉพาะ

            โดยสรุปแล้วพฤติกรรมการซื้อที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงตามวัยและความพร้อมทางเศรษฐกิจ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตาม Gen

 

 

หมายเหตุ: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 28 สิงหาคม 2566

https://www.matichon.co.th/economy/news_4150187

อ่าน 5,463 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved