ทำไมห้องชุดรอบๆ ธรรมศาสตร์รังสิตจึงขายดี
  AREA แถลง ฉบับที่ 753/2566: วันอังคารที่ 12 กันยายน 2566

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เปิดเผยผลการสำรวจห้องชุดในบริเวณรอบๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต พบว่าห้องชุดเกิดขึ้นมากเป็นพิเศษ และกว่าครึ่งเป็นห้องชุดปล่อยเช่า ตลาดนี้ยังจะเติบโตต่อไป แต่ใช่ว่าจะเป็นในทุกมหาวิทยาลัย

            ในครึ่งแรกของปี 2566 มีโครงการที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นรอบๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต จำนวน 2,593 หน่วย โดยส่วนมากเป็นห้องชุดถึง 2,316 หน่วย หรือ 89% ส่วนที่เหลือเป็นที่อยู่อาศัยอื่น เช่น บ้านแฝด 22 หน่วยที่ขายในระดับราคา 3-5 ล้านบาท และทาวน์เฮาส์ 255 หน่วยที่ขายในราคา 2-3 ล้านบาทเช่นกัน  ส่วนห้องชุดที่เพิ่งเปิดขายในปีนี้ เป็นห้องชุดที่ขายในราคา 2-3 ล้านบาท

            หากคิดรวมทั้งสินค้าเก่าและใหม่ที่อยู่ในมือผู้ประกอบการและยังเหลือขายมาจนถึงกลางปี 2566 นั้นพบว่า ยังมีสินค้ารอการขายอยู่ 2,633 หน่วย โดยกลุ่มใหญ่สุดกลับเป็นทาวน์เฮาส์ที่ขายอยู่ 1,522 หน่วย หรือประมาณ 58% ของทั้งหมด ส่วนห้องชุดมีเหลือขายอยู่ 506 หน่วย หรือ 19% เท่านั้น นอกนั้นเป็นบ้านเดี่ยวเหลือขายอยู่ 185 หน่วย บ้านแฝดเหลือขายอยู่ 27 หน่วย ตึกแถวเหลือขายอยู่ 386 หน่วย

            จะสังเกตได้ว่าในกลุ่มห้องชุดที่ยังเหลือขายอยู่ ณ กลางปี 2566 มีขายในราคา 1-2 ล้าน 272 หน่วย ขายในราคา 2-3 ล้าน 221 หน่วย และมีขายในราคาสูงกว่าคือ 3-5 ล้าน จำนวนเพียง 13 หน่วยเท่านั้น แสดงว่าสินค้าห้องชุดในพื้นที่นี้ ขายในราคาปานกลางค่อนข้างถูกคือ ไม่เกิน 3 ล้านบาทเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะกลุ่มเป้าหมายก็คือ นักศึกษา บุคลากรในมหาวิทยาลัย และคนทำงานในบริเวณใกล้เคียงนั่นเอง

            จะสังเกตได้ว่าห้องชุดที่มีผู้ซื้อไว้ส่วนมากถึงประมาณ 50% เป็นห้องชุดที่มีผู้เช่าอยู่เป็นหลัก ที่ซื้อไว้และอยู่อาศัยเองมีเพียงประมาณ 30% ที่เหลือประมาณ 20% ยังปล่อยว่างอยู่ (อาจรอขายหรือปล่อยเช่า หรืออาจมาอยู่เองในภายหลังก็ได้ ดังนั้นสินค้าห้องชุดในพื้นที่นี้จึงไม่ได้มีไว้เพื่อผู้ซื้ออยู่เองเป็นสำคัญ ซึ่งแตกต่างในพื้นที่อื่นที่ไม่มีมหาวิทยาลัยที่ผู้ซื้ออยู่เองอาจมีถึง 50-60% ของห้องชุดในโครงการหนึ่งๆ

            นักศึกษาและบุคลากรที่เกี่ยวข้องนิยมอยู่ห้องชุดมากกว่าอะพาร์ตเมนต์ให้เช่า ทั้งนี้เพราะโครงการอาคารชุดมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เช่น สระว่ายน้ำ และยิ่งในปัจจุบันก็ยิ่งมีพื้นที่สันทนาการมากขึ้น เช่น พื้นที่รับแขก พื้นที่ปิกนิก ห้องทำงานร่วมกันแบบ co-working spaces เป็นต้น จึงทำให้ผู้เช่านิยมอยู่ในโครงการอาคารชุดมากกว่าจะเช่าอะพาร์ตเมนต์ทั่วไป

            อย่างไรก็ตามก็ใช่ว่าในแทบทุกมหาวิทยาลัยชานเมืองจะมีการสร้างอาคารชุดมากมายเช่นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต บริเวณรอบๆ มหาวิทยาลัยอื่นที่มีการพัฒนามากก็เช่น รอบๆ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รังสิต มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา แต่ในมหาวิทยาลัยเอกชนในชานเมืองทั่วไปที่รับนักศึกษาไม่มากนัก ก็ยังไม่มีการสร้างโครงการอาคารชุดมากนัก

            การพัฒนาอาคารชุดพักอาศัยรอบๆ มหาวิทยาลัย จึงต้องแยกแยะให้เห็นถึงกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน

 

 

อ่าน 2,043 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved