AREA แถลง ฉบับที่ 81/2557: 20 มิถุนายน 2557
การช่วยเหลือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในนครนิวยอร์ก
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
การจัดหาที่อยู่อาศัยอย่างถาวรให้ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเป็นหนทางในการช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างยั่งยืนที่สุด ทั้งนี้เป็นประสบการณ์สำคัญที่เรียนรู้จากกรณีมหานครนิวยอร์ก
เมื่อเวลา 16:00 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2557 หรือเทียบกับเวลาไทยคือ 03:00 น. ของเช้าวันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน 2557 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าทรัพย์สินไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิอิสรชน ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ช่วยเหลือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในประเทศไทย พร้อมด้วย คุณวิไลพรรณ หลวงยา รองประธานมูลนิธิ และคุณเมธินี คุณวิศาล อาสาสมัครมูลนิธิ ได้เข้าพบนายเดวิด เบียร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และนายเจฟ ชูเออร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ของมูลนิธิคอมมอนกราวน์ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนดำเนินการด้านการช่วยเหลือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ณ สำนักงานใหญ่บนถนนสายแปด มหานครนิวยอร์ก เพื่อศึกษาประสบการณ์ของมูลนิธิแห่งนี้
มูลนิธิคอมมอนกราวน์ มีคติว่า “Ending homelessness in New York” หรือทำให้การไร้ที่อยู่อาศัยหมดไปในนครนิวยอร์ก มูลนิธินี้เคยได้รับรางวัลดีเด่นของสหประชาชาติด้านการจัดหาที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อย สามารถช่วยผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้ราว 5,000 คน จากจำนวนผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะทั้งหมดทั่วนครนิวยอร์กประมาณ 50,000 คนในขณะนี้ ตัวเลขผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะลดลงอย่างต่อเนื่องก่อนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2551 แต่หลังจากนั้นกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจมีผลสำคัญต่อการเกิดสภาพไร้บ้าน
ในปัจจุบันมูลนิธิคอมมอนกราวน์สามารถจัดหาที่อยู่อาศัยได้ประมาณ 3,200 หน่วย ในโครงการที่อยู่อาศัยประมาณ 13 โครงการ นอกจากนั้น ยังมีพื้นที่ๆ ช่วยบำบัดความต้องการเฉพาะหน้าแก่ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะอีก 120 แห่ง ห้องทั่วไปมีขนาด 30 ตารางเมตร โดยมีต้นทุนค่าก่อสร้างสูงถึง 9 ล้านบาท (คิดอัตราแลกเปลี่ยนคร่าว ๆ 30 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ) แต่ก็มีห้องขนาดเล็ก ๆ เพียง 15 ตารางเมตร ทางมูลนิธิคิดค่าเช่าประมาณ 6,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ค่าเช่าตลาดคือ 21,000 บาทต่อเดือน มูลนิธิคัดเลือกผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมาเช่าได้อย่างโปร่งใส ไม่ใช่หาใครมาสวมสิทธิ์ หรือเช่าช่วง และปรากฏว่าผู้เช่า เต็มใจที่จะเช่า ณ ค่าเช่าราคาถูกนี้ โดยแทบไม่มีใครถูกไล่ออกเพราะไม่สามารถจ่ายค่าเช่าได้
ผู้ที่เช่าอยู่ในโครงการที่อยู่อาศัยที่จัดหาให้นี้มักเป็นผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมีอาการป่วยทางจิตถึงราว 40% แต่ไม่ได้อยู่ในระดับรุนแรง นอกนั้นเป็นกลุ่มอื่นๆ แต่ส่วนมากเป็นปัจเจกบุคคล ไม่ได้เป็นครอบครัว การจัดหาที่อยู่อาศัยให้ จะทำให้เขาสามารถกลับเข้าสู่สังคมปกติอย่างมีศักดิ์ศรี ส่วนที่อาบน้ำ อาหาร การรักษาพยาบาลเบื้องต้น ตลอดจนการจัดหางานทำให้กับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเหล่านี้
มูลนิธินี้เกิดขึ้นมา 25 ปีแล้ว และมีความเป็นไปได้ทางการเงินในการดำรงอยู่ โดยรัฐบาลให้เงินสนับสนุนส่วนหนึ่ง เพราะการสร้างที่อยู่อาศัยโดยภาครัฐแพงกว่า เสียค่ารักษาพยาบาลแพงกว่าที่จะจัดหาที่อยู่อาศัยแบบนี้ อีกส่วนหนึ่งก็คือผู้บริจาค หรืออาจเรียกว่าผู้ลงทุนยินดีบริจาคเงิน 0.8 เหรียญสหรัฐ แต่สามารถนำไปหักภาษีได้ถึง 1 เหรียญสหรัฐ เป็นระยะเวลา 10 ปี ทำให้มีเงินมากเพียงพอกับการดำเนินการ รายได้ของมูลนิธิตกปีละ 1,620 ล้านบาท มีลูกจ้าง 400 คน โดยสามในสี่เป็นผู้ดูแลอาคารต่าง ๆ ที่เหลืออยู่ในสำนักงานใหญ่ ในอนาคตอันใกล้นี้ ยังจะจัดสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มอีก 700 หน่วย
ในอนาคต มูลนิธิอิสรชนอาจได้พยายามนำประสบการณ์ดีๆ จากมหานครนิวยอร์กนี้มาใช้ในกรุงเทพมหานคร และพื้นที่อื่นบ้าง
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน
|