นิราศครั้งนี้นับว่าเป็นกรณี “ชีพจรลงเท้า” จริงๆ ทรหดน่าดูยิ่งกว่ากว่าที่เคยนิราศมา โดยเฉพาะสำหรับชายวัย 65 ปี
นิราศนี้เกิดจากการที่ผมต้องเดินทางไปถึงสามประเทศ สามทิศทางในห้วงเวลาครึ่งหลังของเดือนกันยายน 2566 เรียกว่าแทบจะไม่ได้หยุดพักเลย แต่พอดีจำเป็นเนื่องจากไม่สามารถเลื่อนกำหนดการได้ จึงต้องไปอย่างทรหดอดทนสักหน่อยสำหรับผู้บริหารและผู้สูงวัยเช่นผม ซึ่งโดยมากมักไม่ยินดีทำเช่นนี้ แต่ผมคิดว่าตนเองยังพอไหว ไม่เป็นการฝืนสังขารจนเกินไปและเพื่องานการจึงขอ “ลุย”
จาการ์ตา: ไปดูงานและบรรยาย
งานนี้เริ่มขึ้นในวันเสาร์ที่ 16 กันยายน 2566 เช้าวันนั้นผมออกเดินทางไปยังกรุงจาการ์ตาประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของกรุงเทพมหานครโดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ เพื่อไปร่วมกิจกรรมดูงานอสังหาริมทรัพย์และผมยังได้รับเชิญให้ไปบรรยายเกี่ยวกับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของคนต่างชาติ
ผมพักอยู่โรงแรมเล็กๆ แห่งหนึ่งโดยมีสนนราคาประมาณ 1,500 บาทต่อคืน โดยจองไว้ 3 คืน แต่ปรากฏว่าเจ้าภาพใจดีเห็นผมเป็นวิทยากรจึงมอบห้องนอนอย่างดี ในโรงแรมระดับหกดาวให้ผมสองคืน ซึ่งปกติคิดราคาคืนละ 10,000 บาทเศษ ผมจึงจำต้องรับไว้ด้วยความยินดี และทิ้งห้องในโรงแรมเล็กๆ ที่จ่ายเงินไปแล้ว
ในฐานะนายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์สากล (FIABCI-Thai) ผมมีคิวต้องไปร่วมงานนี้และไปประชุมคณะกรรมการ FIABCI สากลด้วย โดยปีหนึ่งมีการประชุมคณะกรรมการ 4 ครั้งในประเทศต่างๆ ทั่วโลก การเป็นสมาชิกของสมาคมแห่งนี้เป็นการเปิดโอกาสได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกและนำมาเผยแพร่เชื่อมต่อกับประเทศไทย
งานนี้แล้วเสร็จในค่ำวันที่ 19 กันยายนโดยมีงานเลี้ยงอำลาพอเสร็จประมาณ 22:00 น. ผมก็เดินทางกลับเพราะเครื่องบินออกเวลาประมาณ 02:30 ของเช้าวันพุธที่ 20 กันยายนและเดินทางถึงกรุงเทพมหานครในเวลาประมาณ 06:00 น. ของวันดังกล่าว กล่าวได้ว่าในคืนวันที่ 19 นั้นเมื่อเดินทางถึงสนามบินผมก็พยายามนอนแบบเก็บเล็กผสมน้อยเดี๋ยวตอนอยู่บนเครื่องบินก็พยายามนอนให้ได้มากที่สุดเพื่อจะได้ตื่นมาอย่างสดชื่นในวันต่อมา
เมื่อถึงกรุงเทพมหานคร และออกมาถึงที่เรียกรถแท็กซี่ในสนามบินในเวลา 06:45 ผมรีบบอกแท็กซี่ให้ขึ้นทั้งทางด่วนโทรเวย์ที่แสนแพงและทางด่วนขั้นที่หนึ่งเพื่อเดินทางมาที่สำนักงานของผมใกล้สำนักงานเขตยานนาวา ทั้งนี้เพราะในเวลา 08:30 น. ผมมีประชุมต่อเรื่องการเขียนแบบจำลองประเมินค่าเซ้งและค่าผ่อนชำระให้ลูกค้า
จากนั้นเวลา 13:00 น. ก็ต่อด้วยการบรรยายอีกประมาณ 1 ชั่วโมง จนได้งีบสักพัก และกลับมาทำงานต่ออีกทีช่วง 18:00 น. ต่อจากนั้นก็เป็นงานราษฎร์ คือเป่าเค้กอวยพรวันเกิดหลานสาวคนที่สองที่อายุครบสองขวบ แล้วเวลา 20:00 น. ก็รีบเผ่นไปเยี่ยมคุณแม่ที่ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล (ตอนนี้หายป่ายแล้ว) เสร็จจากหยอกล้อกับคุณแม่ก็ต้องไปสนามบินเพื่อเดินทางไปกรุงธากา โดยเครื่องบินออกเวลาก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อย พอเครื่องบินออกผมก็พยายามนอนให้ได้มากที่สุดไม่รับอาหารใดๆ (เพราะ “เล่น” มาแล้วในระหว่างรอที่เลาจน์)
ธากา: ไปประเมินค่าทรัพย์สิน
ในเช้าวันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน 2566 ผมก็เดินทางไปถึงกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ ในเวลาประมาณ 03:00 น. ก็ตรงเข้าโรงแรม ถึงโรงแรมก็ “ชักคะเย่อ” กับแท็กซี่อยู่พักหนึ่งเพราะเขาจะเก็บ 1,000 เหรีญของเขาทั้งที่ตกลงกันแค่ 800 แต่สุดท้ายเขาก็ยอมจากไปแต่โดยดี หลังจากนั้นผมก็พยายามนอนหลับให้ได้มากที่สุดเพราะมีนัดกับเจ้าหน้าที่สถานทูตของประเทศหนึ่งในเวลา 10:00 น.
วันนั้นผมก็ออกสำรวจในสถานทูตถึงราวเที่ยง จึงออกมาสำรวจอสังหาริมทรัพย์ข้างนอกจนถึงบ่าย และยังให้การต้อนรับคณะกรรมการสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินของบังกลาเทศ จนถึงช่วงค่ำ และในคืนนี้แหละที่ผมได้นอนยาวตลอด จึงได้พักผ่อนอย่างเต็มที่และไม่มีปัญหา Jet lag แต่อย่างใดเพราะเวลาห่างกันเพียงแค่ 1 ชั่วโมงคือในขณะที่กรุงเทพ 06:00 น. ที่กรุงธากาก็เป็นเวลา 05:00 น. เป็นต้น
ครึ่งเช้าวันศุกร์ที่ 22 กันยายนเป็นวันหยุดของประเทศบังกลาเทศโดยประเทศนี้รวมทั้ง หลายประเทศในเอเชียใต้ จะหยุดประจำสัปดาห์ในวันศุกร์และวันเสาร์โดยเริ่มต้นทำงานใหม่ในวันอาทิตย์ วันนี้ผมก็ยังออกสำรวจเหมือนเดิมและช่วงบ่ายก็ได้ไปอยู่วัดพุทธแห่งแรกของประเทศบังกลาเทศซึ่งตั้งอยู่ในกรุงธากา แล้วค่อยกลับมาพักผ่อนตามปกติ
วันส่งท้ายในกรุงธากาก็คือ วันเสาร์ที่ 23 กันยายน ผมก็ออกสำรวจเก็บข้อมูลเช่นเดิมจนถึงเวลาเที่ยงค่อยกลับมาเก็บข้าวของและเช็กเอาท์ออกในเวลา 13:00 น. จากนั้นก็ออกสำรวจและไปเยี่ยมบริษัทประเมินค่าทรัพย์สินแห่งหนึ่ง ก่อนเดินทางไปที่สนามบินเพื่อพยายามหลับให้ได้มากที่สุดอีกเช่นกัน ทั้งนี้เพราะเครื่องบินออกในเช้าวันรุ่งขึ้น
เวลาประมาณ 04:00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน ก็เดินทางกลับกรุงเทพมหานคร ผมหลับบนเครื่องบินมาโดยตลอด ในเวลาประมาณ 06:00 น. ก็ถึง ผมก็รีบนั่งแท็กซี่กลับไปยังโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย บรรยายเวลา 08:30 น. จนถึง 11:00 น. โดยประมาณ หลังจากเสร็จงานแล้วก็ทำงานราษเช่นเคย คือไปเยี่ยมแม่ผมและแม่ยายผม รวมทั้งหยอกเย้ากับหลานๆ และนอนหลับอย่างมีความสุขที่บ้าน
มะนิลา: ไปบรรยายและสัมมนา
ในวันจันทร์ที่ 25 กันยายน ผมก็นั่งทบทวนเอกสารประกอบการบรรยายที่ผมต้องไปบรรยายที่กรุงมะนิลา รวมทั้งการทำงานตามปกติ ซึ่งก็มีงานมากหน่อยเพราะเป็นวันแรกของสัปดาห์ รวมทั้งการประชุมสั่งงานและอื่นๆ อีกหลายรายการในวันดังกล่าวนี้ พอถึงช่วงค่ำก็เตรียมตัวออกเดินทางไปกรุงมะนิลา ซึ่งเจ้าภาพออกค่าเครื่องบินและที่พักโรงแรมห้าดาวคือโรงแรมฮิลตันมะนิลา และเช่นเคยผมก็พยายามหลับก่อนขึ้นเครื่องให้ได้มากที่สุดและหลับบนเครื่องให้ได้มากที่สุดก่อนงานใหญ่มาถึง
เจ้าภาพก็คือรัฐบาลฟิลิปปินส์ โดยมี 2 หน่วยงานคือ คณะกรรมการควบคุมวิชาชีพบริการอสังหาริมทรัพย์ (the Professional Regulatory Boards of Real Estate Service: PRBRES) และคณะกรรมการกำกับวิชาชีพ (ทั้งหลายในประเทศฟิลิปปินส์) (Professional Regulation Commission: PRC) ผมจึงเดินทางไปคำเชิญของรัฐบาล
ผมไปถึงกรุงมะนิลาในเวลา 03:30 ของวันอังคารที่ 26 กันยายน อันที่จริงพึงมาถึงก่อนหน้านี้หนึ่งวันเพราะมีงานเลี้ยงต้อนรับ แต่ผมเห็นว่าไม่จำเป็นและติดขัดงานที่กรุงธากาก็เลยเลื่อนมาเป็นวันนี้ โดยในวันแรกของการประชุม เจ้าภาพเลื่อนให้ผมบรรยายในวันแรกนี้เลย จากที่แต่เดิมเป็นวันถัดมา แต่ก็ไม่เป็น ผมได้เตรียมเอกสารและส่งไปให้เจ้าภาพแล้ว จึงบรรยายเกี่ยวกับการควบคุมวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์อันได้แก่ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน นายหน้า และอื่นๆ ในประเทศไทย โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซักถามอีก 1 ชั่วโมง การบรรยายผ่านไปได้ด้วยดี เป็นที่ชอบอกชอบใจของผู้เข้าร่วม
วันพุธที่ 27 กันยายน ผมไม่มีคิวพูด แต่ก็ช่วยแสดงความคิดเห็นต่างๆ เป็นระยะๆ ประกอบกับlสมาคมอสังหาริมทรัพย์และนักพัฒนาที่ดินฟิลิปปินส์ (Chamber of Real Estate & Builders' Associations: CREBA) ซึ่งเป็นสมาคมของนักพัฒนาที่ดินและนายหน้าที่ใหญ่ที่สุดฟิลิปปินส์ เชิญผมให้ไปบรรยายในเวลา 14:00 น. ที่ SMX Mall โรงแรมคอนราด ผมก็เลยนั่งแท็กซี่ไปบรรยาย สนนราคาค่าแท็กซี่ก็แค่ 100 บาท เพราะไม่ไกลมาก โดยไปบรรยายเรื่องเกี่ยวกับอาคารเขียว ว่าการก่อสร้างอาคารเขียว ประหยัดต้นทุนกับผู้ประกอบการในระยะยาวกว่าอย่างไร โดยวิเคราะห์จากการประเมินค่าทรัพย์สิน แล้วก็กลับมาประชุมใหม่
พอถึงวันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน ผมก็ขอกลับก่อนเพราะหมดคิวพูดและให้ความเห็นแล้ว ทางเจ้าภาพเน้นคุยกันเองภายในประเทศ และคงพูดกันในภาษาท้องถิ่น (ตากาล็อก) โชคดีที่ตั๋วเครื่องบินเป็นฟิลิปปินส์แอร์ไลน์ ไม่ใช่ตั๋วราคาถูกจึงเลื่อนได้ ผมจึงกลับมาถึงเย็นวันดังกล่าว และพักผ่อนรวมแล้ว และมาทำงานต่อในวันศุกร์ที่ 29 กันยายน สิริรวมแล้วใช้เวลาประมาณ 12 วันสำหรับสามประเทศคืออินโดนีเซีย บังกลาเทศ และฟิลิปปินส์
ผมก็ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อนำมาเผยแพร่ต่ออะไรประเทศไทยเพื่อพัฒนาวงการวิชาชีพในประเทศไทยต่อไป
ภาพประกอบ