อ่าน 1,288 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 87/2557: 30 มิถุนายน 2557
ประเด็นการแก้ไขปัญหาที่ คสช. พึงพิจารณา

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ดร.โสภณ ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการดำเนินงานของ คสช. จากประสบการณ์สำรวจวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรพัย์ ในเรื่องการพนัน ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า น้ำท่วมและโฉนดชุมชน
          จากคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) ในวันที่ 27 มิถุนายน 2557 นั้น มีหลายประเด็นที่ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ขออนุญาตนำเสนอข้อมูลเพื่อประกอบการดำเนินการ
          1. การพนัน
          จากประสบการณ์ที่ ดร.โสภณ เคยไปประเมินค่าทรัพย์สินที่ดินเพื่อการก่อสร้างสถานกาสิโน และได้สำรวจสถานกาสิโนในประเทศเพื่อนบ้าน ดร.โสภณ เห็นว่าประเทศไทยควรเปิดให้มีสถานกาสิโน เพราะผู้ใช้บริการหลักของสถานกาสิโนประเทศเพื่อนบ้าน ล้วนเป็นคนไทย ไทยจึงไม่ควรเสียรายได้ให้กับต่างชาติ ควรจัดเก็บภาษีนำมาพัฒนาประเทศเช่นประเทศสิงคโปร์
          เรื่องง่าย ๆ แค่นี้ทำไมผู้ปกครองไทยจึงไม่ทำ คำตอบก็คือ ที่ไม่ทำนั้นเป็นเพราะผู้ปกครองไทยยกเอาคุณธรรมขึ้นมาบังหน้า บอกว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ไม่ควรมีบ่อนการพนัน (ให้เป็นเสนียดแก่แผ่นดิน) หรือการมีบ่อนทำให้คนติดการพนันมากขึ้น ฯลฯ แต่เรากลับปล่อยให้ชาติอื่นมาเปิดบ่อนอยู่รอบรั้วบ้านรวมกันนับสิบ ๆ บ่อน ดูดเงินจากประเทศไทยไป ภายในประเทศเอง ก็มีบ่อนผิดกฎหมายอยู่มากมาย โดยทุกคนก็แกล้งทำเป็นตาบอดมองไม่เห็น การจับบ่อนที่มีขึ้นเป็นครั้งคราวก็มักเป็นแค่ “เล่นปาหี่”
          การมีบ่อนถูกกฎหมายนั้นไม่ใช่การทำลายชาติ ดูอย่างมาเลเซียเมืองมุสลิมแท้ ๆ ก็ยังมีบ่อนเกนติ้ง มาหลายสิบปีแล้ว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ไปมาเลเซียก็ต้องมาที่บ่อนนี้ ตอนนี้สิงคโปร์ก็กำลังวางแผนเปิดบ่อนที่ 3 แล้ว ประชาชนในเมือง หรือในประเทศที่มีบ่อนการพนันก็ใช่ว่าจะติดการพนัน หรือมีความเป็นอยู่ย่ำแย่กว่าประเทศที่ไม่มีแต่อย่างใด ในความเป็นจริง มีข้อมูล หลักฐาน และกรณีศึกษามากมายที่ชี้ให้เห็นถึงผลดีของการมีบ่อนการพนันในประเทศไทย ซึ่งหากมีโอกาสถกกันให้ชัด ๆ ผู้มืดบอดย่อมตาสว่างได้อย่างไม่ต้องสงสัย
          การมีบ่อนที่ถูกต้องตามกฎหมายจึงปิดโอกาสการทำมาหากินโดยมิชอบของบริวารของผู้ปกครอง อันจะส่งผลกระทบต่อผู้ปกครองเอง พวกผู้ปกครองจึงต้องเอาหูไปนาตาไปไร่ แต่ปากก็ท่องคัมภีร์และทำตัวเป็นคนดีมีคุณธรรมจอมปลอม ด้วยเหตุนี้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจึงไม่อาจแก้ปัญหาของชาติได้ ความเจริญ ความมั่งคั่งจึงไม่มาสู่ประเทศชาติและประชาชน แต่ถูกกักเก็บไว้โดยพวกผู้ปกครองและบริวาร

          2. ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า
          ตามข้อมูลปี 2533 ประเทศไทยมีป่าไม้อยู่ทั้งสิ้น 87,488,536 ไร่ หรือคิดเป็น 27.3% ของพื้นที่ประเทศไทย แต่ ณ ปี 2542 ป่าไม้เหลืออยู่เพียง 80,610,219 ไร่ หรือคิดเป็น 25.1% ของพื้นที่ประเทศไทย พื้นที่ป่าไม้หายไปถึง 6,878,317 ไร่ หรือเท่ากับ 7 เท่าของขนาดของกรุงเทพมหานคร และ ณ ปี 2551 พื้นที่ป่าไม้ลดลงเหลือเพียง 24% ของพื้นที่ประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ป่าไม้ของไทยลดลงไปถึง 578,121 ไร่ต่อปี
          การปลูกป่าในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานั้น รัฐบาลลงทุนไปปีละ 500 - 600 ล้านบาท แต่สามารถปลูกป่าทดแทนเพิ่มได้เพียง 10,000 ไร่ต่อปี ขณะที่สัดส่วนการหายไปของพื้นที่ป่ามีนับแสนไร่ต่อปี และเชื่อว่า ป่าที่ปลูกอย่างเป็นแฟชั่นนั้น อาจปลูกไม่รอดอีกไม่รู้จำนวนเท่าไหร่ ดังนั้นการปลูกป่าจึงอาจไม่ใช่แนวทางที่จะสืบทอดเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ของคุณสืบ
          ในการแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่านั้น รัฐบาลควรเน้นการปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าด้วยมาตรการทางกฎหมายเป็นสำคัญ ไม่ใช่การให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการปลูกป่า หากฉุกคิดกันสักนิด การส่งเสริมการปลูกป่าอาจเท่ากับเป็นการบิดเบือนประเด็น ทำให้สังคมส่วนรวมไม่มีโอกาสตระหนักถึงความจริงที่ทรัพยากรของประเทศถูกทำลายลงไปทุกวันเพราะหลงนึกว่าป่าสามารถปลูกเสริมแทนพอกัน

          3. น้ำท่วมและผังเมือง
          น้ำท่วมเพราะขาดผังเมือง  ปี 2554 เราเคยหวาดวิตกเรื่องน้ำท่วม หลายคนยังหวาดผวาอยู่ แต่ในผังเมืองกรุงเทพมหานครที่วางแผนกันตั้งแต่ ปี 2500 นั้นจะมีการขุดคลองใหญ่ในทำนองแม่น้ำเจ้าพระยาสองจากปากเกร็ดผ่านสะพานสูง บางกะปิ ลงใต้แถวบางพลี ถ้าได้ทำตามนั้น เมืองก็ไม่ขยายจนล้นขอบเขต  น้ำก็ได้รับการระบาย การป้องกันน้ำท่วมกรุงก็จะมีประสิทธิภาพสูง
          แต่ผังเมืองใหม่ฉบับปี 2556 แตะเรื่องน้ำท่วมน้อยมากเลย นี่ถ้าน้ำท่วมอีก กรุงเทพมหานครของเราก็คงไม่รอด ก็จริงอยู่ที่ปัญหาน้ำท่วมเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายแห่ง แต่การที่แทบไม่มีอะไรเขียนไว้ในผังเมืองเลย ก็แสดงให้เห็นว่าความร่วมมือกันในการวางแผนมีน้อยมาก ผังเมือง (แทบ) ไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วมซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2554 ในของเขตแทบทุกจังหวัด ผังเมืองก็ยังมักพยายามส่งเสริมให้มีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยนอกเขตเมืองทั้งหลาย ทำให้เมืองกระจายอย่างไร้ของเขต มักไม่มีการวางแผนการใช้ที่ดินล่วงหน้า
          สิ่งที่ควรดำเนินการก็คือการรื้อผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครใหม่ตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่รอจนหมดอายุ แล้วให้มีบูรณาการกับผังเมืองโดยรอบเป็นผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และกำหนดให้พื้นที่เกษตรกรรมรอบนอกห้ามสร้างโรงงาน และให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สร้างนิคมอุตสาหกรรมให้เพียงพอ ขาย ณ ราคาต่ำกว่าทุน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม และจัดระเบียบโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด

          4. โฉนดชุมชน
          หลายคนเข้าใจผิดว่าโฉนดชุมชนเป็นแนวทางการช่วยเหลือคนจน หรือเป็นนวัตกรรมการบริหารรัฐกิจที่สวยหรู แต่แท้จริงกลับตรงข้าม คนที่ได้รับความช่วยเหลือไม่ใช่คนจน แต่เป็นอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยที่ได้โอกาสเอาสมบัติส่วนรวมของชาติไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน นอกจากนี้โฉนดชุมชนยังถือเป็นการปลูกฝังพิษร้ายอนาธิปไตย เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างน่าอันตราย
          โฉนดชุมชนถือเป็นกลอุบายที่อ้างความจนมาเอาสมบัติของชาติไป ในกรณีปกติ กว่าประชาชนทั่วไปจะมีบ้านเป็นของตนเองได้ ต่างจะต้องเก็บหอมรอมริบ ถ้าจะซื้อที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้ใจกลางเมืองก็จะซื้อได้แค่ห้องชุดขนาดเท่าแมวดิ้นตาย ถ้าจะซื้อทาวน์เฮาส์หรือบ้านเดี่ยวก็ต้องออกไปไกลถึงชานเมือง จะไปทำงาน ก็ต้องออกจากบ้านแต่เช้ามืด กว่าจะกลับถึงบ้านแสนรักที่ลงทุนทั้งชีวิตซื้อไว้ ก็มืดค่ำ รุ่งขึ้นก็ต้องออกจากบ้านแต่เช้ามืดอีก วนเวียนยากลำบากอยู่อย่างนี้
          แต่สำหรับชุมชนแออัดที่รัฐบาลจะนำมาเข้าโครงการโฉนดชุมชนนั้น เป็นชุมชนบุกรุกผิดกฎหมายที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองที่สามารถเดินทางสะดวกด้วยระบบรถไฟฟ้า เจ้าของบ้านในชุมชนเหล่านี้อยู่โดยไม่ต้องเสียค่าเช่ามาหลายสิบปี ประหยัดเงินส่วนตัวไปได้หลายแสนบาท ราวหนึ่งในสามยังเก็บกินประโยชน์จากการให้เช่าบ้านราคาดี เดิมทีหากชุมชนเหล่านี้สามารถเช่าที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมาย พวกเขาก็ดีใจหายแล้ว แต่พวกเขากลับจะโชคดีดั่งถูกรางวัล จะได้สมบัติของแผ่นดินไปในนามโฉนดชุมชน
          ป่าเขา แม่น้ำ หนอง บึง ชายทะเลหรือทรัพยากรธรรมชาติ เป็นของทุกคนในชาติโดยไม่แบ่งแยก ไม่ใช่ของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ถ้าแต่ละชุมชนอ้างสิทธิ์เฉพาะตน ชุมชนอื่นและประชาชนไทยโดยรวมก็เข้าไม่ถึงทรัพยากร ของหลวงคือสมบัติของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ให้ใครอยู่ใกล้ทรัพยากร ก็มือใครยาว สาวได้สาวเอา จนไม่เหลือหรอไว้ให้ลูกหลานในอนาคต เราต้องคิดเสียใหม่ว่า ของที่ไม่ใช่ของเรา ไม่ควรถือครอง ไม่ว่าตนจะเป็นคนรวยหรือคนจน ของส่วนรวม ของหลวงก็คือสมบัติของประชาชนไทยที่ต้องรักษาไว้เพื่อทุกคน
          โฉนดชุมชนนี้ยังทำลายหลักการออกโฉนดที่ดินที่ออกโดยพระพุทธเจ้าหลวงตั้งแต่ พ.ศ. 2444 หรือร้อยกว่าปีก่อน และเป็นระบบโฉนดที่ดินที่พัฒนาเรื่อยมา จนกระทั่งประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีระบบโฉนดที่ดินที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โฉนดที่ดินเป็นการให้กรรมสิทธิ์สมบูรณ์แก่ผู้ถือครองเพื่อให้ไว้เป็นทุนทรัพย์ สามารถจำนอง จำหน่ายจ่ายโอนได้ในยามจำเป็น หรือหากมีฐานะดีขึ้นก็สามารถที่จะซื้อที่ดินเพิ่มเติมได้
          โฉนดชุมชนยังถือเป็นการสร้างความไร้ขื่อแปของการจัดการที่ดิน แทนที่ชาวบ้านจะสามารถซื้อที่ดินเป็นทุนของตนเองแบบโฉนดทั่วไปเช่นคนอื่น กลับได้โฉนดชุมชนกำมะลอนี้ขึ้น ในกรณีคลองโยง เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เลิกทำนา ที่ดินดังกล่าวก็คงมีสภาพเป็นนาร้าง หรือผู้ครอบครองแต่ละรายอาจเช่าให้ผู้อื่นมาใช้ประโยชน์ในทางอื่น ซึ่งคงเหลือผู้คัดค้านเพียงน้อยรายที่ยังอาจทำการเกษตรอยู่
          การอ้างสิทธิชุมชนลอย ๆ เป็นอนาธิปไตย สร้างความไร้ขื่อแป เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย เป็นการสร้างความไร้ขื่อแป เอากฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าอนาธิปไตย เป็นการหักล้างระบอบประชาธิปไตยโดยคนส่วนใหญ่ แต่กลับไปติดสินบนคนส่วนน้อย เพื่อหาเสียง เพื่อให้คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เข้าใจว่าเป็นการช่วยประชาชน แต่แท้จริงเป็นการช่วยเฉพาะกลุ่มกฎหมู่ที่ไม่ใช่คนจนเป็นสำคัญ
          ในระบอบประชาธิปไตยนั้นที่ถือมติของคนส่วนใหญ่ ก็ใช่ว่าคนส่วนใหญ่จะบีฑาคนส่วนน้อย ทุกคนมีศักดิ์ สิทธิ์และประโยชน์ของตนโดยเท่าเทียมกัน ประเทศสามารถให้ความอนุเคราะห์พิเศษแก่คนส่วนน้อยในฐานะที่เป็นผู้ขาดแคลน เช่น กรณีพิบัติภัย หรือกรณีคนส่วนน้อยที่เป็นคนยากจนและจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ แต่สำหรับโฉนดชุมชน เรากลับจะให้อภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยที่ไม่ได้มีฐานะยากจน มาฉวยทรัพยากรของชาติและประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

อ้างอิง
คำต่อคำ: พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รายการคืนความสุขให้คนในชาติ 27 มิถุนายน 2557 http://goo.gl/6IX7FD หรือชมที่ www.youtube.com/watch?v=E8n2d_4kMzY


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved