จากการเสวนาวิชาการของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยเมื่อวันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2557 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ข้อมูลหลายท่าน ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิ จึงขอสรุปแนวคิดการสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพื่อทุกฝ่ายได้ร่วมกันพิจารณาให้เกิด "สังคมอุดมปัญญา" และหาแนวทางการสร้างเขื่อนแม่วงก์ต่อไป
ค้านเขื่อนแม่วงก์ด้วยความเข้าใจผิด
ที่ผ่านมามีการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ด้วยความเข้าใจผิดหลายประการ เช่น
1. ระบบนิเวศทั้งหมดจะถูกคุกคาม มีการทำลายป่าต้นน้ำ ความจริง: บริเวณสร้างเขื่อนไม่ใช่ป่าต้นน้ำ ไม่ใช่ป่าดงดิบ แต่ส่วนใหญ่เป็นป่าเสื่อมโทรม เป็นที่ ๆ เคยมีผู้อยู่อาศัยมาก่อนด้วยซ้ำไป ที่สำคัญ คือ ตั้งอยู่ชายขอบของป่า
2. ทำลายโอกาสการฟื้นฟูของอุทยาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อป่ามรดกโลก "ห้วยขาแข้ง" ความจริง: เมื่อมีเขื่อน ป่ายิ่งจะได้รับการฟื้นฟู เพราะมีน้ำหล่อเลี้ยงมากขึ้น และมีน้ำเพียงพอสำหรับการดับไฟป่าที่มักเกิดขึ้นนับร้อยครั้งต่อปีโดยไม่มีน้ำดับในหน้าแล้งที่น้ำในลำคลองแห้งขอด
3. ทำให้ป่าไม้ลดลง ความจริง: ป่าไม้จะมีเพิ่มขึ้นต่างหาก ส่วนที่ถูกตัดไป ทางราชการก็ต้องจัดการตัดให้โปร่งใส เอาเงินมาชดเชยส่วนที่เสียหรือปลูกป่าใหม่ NGOs ก็พึงมีบทบาทในการตรวจสอบการตัดไม้อย่างใกล้ชิด
4. การสูญเสียพื้นที่อ่างเก็บน้ำมหาศาล ความจริง: สูญเสียไปเพียง 1 ใน 1,000 ของผืนป่าตะวันตก ที่สำคัญไม่ได้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ แต่มักเอ่อไปตามลำคลองเดิม
5. ทำให้สัตว์ได้รับผลกระทบรุนแรง สูญพันธุ์ ความจริง: สัตว์จะมีมากขึ้น เพราะมีแหล่งน้ำมากขึ้น สามารถดื่มกินได้ทั่วไป แม้ฝรั่งจะศึกษาพบว่าหนูบางชนิดลดน้อยลงที่เขื่อนรัชช-ประภา แต่สัตว์สำคัญ ๆ ทั้งหลายกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพราะมีน้ำอุดมสมบูรณ์
6. สัตว์จะจมน้ำตายเช่นกรณีเขื่อนรัชชประภา ความจริง: เขื่อนแม่วงก์ จะไม่มีเกาะแก่งจึงไม่ต้องอพยพสัตว์เช่นเขื่อนรัชชประภากรณีนี้ก็จำเป็นต้องให้สูญเสียน้อยที่สุด เพื่อประโยชน์อเนกอนันต์ของเขื่อนที่ผลิตไฟฟ้า ชลประทาน ฯลฯ ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา
7. ป่าเก็บน้ำได้ดีกว่าเขื่อน ความจริง: มักไม่มีการสร้างเขื่อนในป่าดงดิบอยู่แล้ว เขื่อนมักสร้างในป่าเสื่อมโทรมหรือเป็นที่ราบที่มีต้นไม้น้อย การมีป่ามากมายไม่ได้เป็นหลักประกันว่าน้ำจะไม่ท่วม เช่นในปี พ.ศ.2485 ยังเกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพมหานคร
8. เขื่อนแม่วงก์มีขนาดเล็ก ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ความจริง: จากผลการศึกษา EIA ก็พบว่ามีอัตราผลตอบแทนที่สูง และให้บริการได้นับแสนไร่ เพิ่มประสิทธิภาพดิน ยกระดับรายได้เกษตรกร เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ สาธารณสุขและสุขภาวะจะดีขึ้น
9. อาจเกิดการลักลอบตัดไม้ริมอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก เร่งให้สัตว์ป่า เช่น นกยูง และเสือโคร่ง ต้องสูญพันธุ์ และคนเข้าไปลักลอบล่าสัตว์ป่าได้ง่าย ความจริง: ข้อนี้เป็นเหตุผลครอบจักรวาล แต่ในความเป็นจริง ทั้งภาครัฐและ NGOs สามารถส่งอาสาสมัครเข้าสังเกตการณ์ ทำงานแบบ "ปิดทองหลังพระ" ได้ (แต่อาจไม่ดัง)
10. เขื่อนไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมได้ ความจริง: ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่มั่นใจว่าแก้ไขได้ เพราะประสบภัยน้ำท่วม และน้ำแล้งทุกปีจนกระทั่งมีความรู้และประสบการณ์ ที่ผ่านมาพอน้ำท่วม ก็ต้องเกี่ยวข้าวมาขายเกวียนละ 4,000 บาท เพื่อหนีน้ำ
11. มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ระบุว่าเขื่อนแม่วงก็จะมีน้ำไม่เพียงพอในการใช้สอย ความจริง: ผลการศึกษา EIA พบว่าจะบริการประชาชนได้ถึง 127 หมู่บ้านใน 3 จังหวัด รวม 50,000 คน
12. ไม่ได้ช่วยแก้น้ำท่วมกรุงเทพมหานครเพราะรับน้ำได้เพียง 1% ของน้ำที่มาในปี 2554 ความจริง: ปริมาณน้ำในปี 2554 ซึ่งมากขนาดนั้น แม้แต่ 10 เขื่อนภูมิพลก็ยังเอาไม่อยู่ เขื่อนนี้มีหน้าที่เพื่อประชาชนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ ไม่ควรนำเอาสองเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกันมาอ้าง
13. น่าจะสร้างเขื่อนในบริเวณทางเลือกอื่น ความจริง: มีการศึกษาบริเวณที่อื่น ๆ มาแล้ว จึงได้ข้อสรุปให้สร้างที่นี่ เนื่องจากไม่ต้องเวนคืนที่ดินชาวบ้านนับพัน ๆ ครอบครัว
14. ควรสร้างคูคลองมากกว่าสร้างเขื่อน ความจริง: การจัดการน้ำก็ต้องทำไปพร้อม ๆ กัน การสร้างเขื่อนนี้ไม่ได้มีแค่การสร้างอ่างเก็บน้ำ แต่ยังรวมถึงการปรับปรุงระบบคูคลองเพื่อการระบายน้ำและการชลประทานด้วย แต่จะมีคูคลองโดยไม่มีเขื่อนเก็บน้ำไม่ได้
15. บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้น ยังมีเขื่อนอีกหลายแห่ง ความจริง: แต่ละเขื่อนก็ทำหน้าที่แตกต่างไป ประเทศไทยยังมีเขื่อนน้อยเกินไป ยังมีการจัดการน้ำไม่ดีพอ จึงควรสร้างเขื่อนเพิ่ม
16. การเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม ประชาชนจะเดือดร้อน ความจริง: การสร้างเขื่อนจำเป็นต้องเวนคืนพื้นที่เพื่อขยายแนวเขตคูคลอง แต่อยู่ที่การจัดที่ทำกินใหม่และการจ่ายค่าทดแทนให้สมเหตุสมผล คงอ้างการเวนคืนเป็นเหตุผลคัดค้านเขื่อนไม่ได้
17. หลังจากการสร้างเขื่อน อาจเกิดปัญหาชาวบ้านแย่งชิงสูบน้ำเข้าที่นา ฯลฯ ความจริง: ในการชลประทาน ทุกคนก็ต้องสูบน้ำ และต้องจัดสรรน้ำอย่างเป็นธรรมอยู่แล้ว อย่าอ้างความกลัวเรื่องที่แก้ไขกันอยู่เป็นปกติแล้ว
18. ควรให้งบประมาณแก่ 23 ตำบล ตำบลละ 200 ล้านบาท แล้วหาทางพัฒนาแหล่งน้ำโดยให้ชาวบ้านดำเนินการเอง ความจริง: การแก้ไขปัญหาต้องทำแบบองค์รวม ไม่ใช่แก้ไขในแต่ละหมู่บ้าน เพราะไม่ได้มีแต่ปัญหาน้ำแล้ง ยังมีน้ำไหลมาจากที่อื่น ที่ต้องกักเก็บไว้ใช้ร่วมกันด้วย
19. การทำลายพื้นที่ท่องเที่ยวปัจจุบัน เช่น แก่งลานนกยูง ความจริง: เมื่อมีเขื่อนแม่วงก์ ก็จะทำให้มีแก่งใหม่ มีชายหาด มีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย สวยกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งจะหมดสภาพท่องเที่ยวเมื่อเข้าหน้าแล้งเพราะไม่มีน้ำ
20. ทั่วโลกเขาไม่เอาเขื่อนกันแล้ว ความจริง: สหรัฐอเมริกาทุบเขื่อนเก่านับร้อยปี เพราะซ่อมไม่คุ้ม รวมทั้งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังมีโครงการสร้างเขื่อนใหม่ๆ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศเล็กกว่าไทยก็ยังมีเขื่อนมากกว่า แถมทั้งสองประเทศยังมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ไทยไม่มี เร็ว ๆ นี้ ธนาคารโลกประกาศนโยบายเน้นสร้างเขื่อนขนาดเล็กเพื่อผลิตไฟฟ้าเพื่อลดโลกร้อนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเสียอีก
ประเมินผลดี/เสียของการสร้างเขื่อนแม่วงก์
ก่อนที่จะสร้างเขื่อน พวก NGOs ก็ค้านเสมอ และเสนอให้ไปศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อน แต่เมื่อผลการศึกษาออกมาว่าควรสร้าง พวก NGOs ก็กลับไม่ยอมอีก ตามรายงานผลการศึกษาฉบับเดือนกรกฎาคม 2555 ระบุข้อดีของการสร้างเขื่อนแม่วงก์ไว้ดังนี้:
1. จะทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำแม่วงก์เพิ่มขึ้น โดยมีปริมาตรเก็บกักประมาณ 258 ล้านลบ.ม. เพื่อใช้เป็นน้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การประมงน้ำจืด รวมทั้งเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น
2. สามารถส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์ท้ายอ่าง 10,000 ไร่ และพื้นที่ชลประทาน 291,900 ไร่ (ฤดูฝน) และในฤดูแล้ง 116,545 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 127 หมู่บ้าน 23 ตำบล 6 อำเภอ 3 จังหวัด
3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทีดินด้านการเกษตรกรรม (Cropping Intensity : CI) เพิ่มขึ้น 40%
4. การยกระดับรายได้ของเกษตร เกษตรสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวในฤดูฝน เพิ่มพื้นที่เพาะปลูก และเพิ่มผลผลิตพืชได้ในฤดูแล้ง
5. เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำจากการประมงน้ำจืด ประมาณปีละ 165 ตัน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งหมดปีละ 7.13 ล้านบาท รวมทั้งทำให้นิเวศน์ด้านท้ายน้ำของลำน้ำแม่วงก์มีความสมบูรณ์
6. อ่างเก็บน้ำสามารถเป็นแหล่งน้ำเพื่อการดับไฟป่าที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ใน พ.ศ.2542 มีไฟป่าเกิดขึ้นถึง 108 ครั้ง พื้นที่เสียหาย 3,327 ไร่
7. ทำให้สมบัติของดินโดยรอบอ่างเก็บน้ำและในพื้นที่ชลประทานมีความชุ่มชื้นมากขึ้นโดยเฉพาะในฤดูแล้ง เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของพืชพรรณธรรมชาติรวมทั้งพืชเกษตรกรรม
8. สัตว์ป่าจะได้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำในด้านการเป็นแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร
9. มีน้ำใช้เพื่อการชลประทานและการอุปโภคบริโภคสำหรับประชาชน รวมทั้งกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว
10. ทำให้สภาพทางสาธารณสุขและภาวะโภชนาการมีแนวโน้ม ดีขึ้น
ส่วนข้อเสีย มีดังนี้
1. กระทบต่อพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ประมาณ 12,300 ไร่
2. กระทบต่อที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ มว.4 (แม่เรวา) และหน่วยรักษาต้นน้ำขุนน้ำเย็น
3. กระทบไม้ใหญ่ 677,922 ต้น มูลค่าไม้ทั้งหมดประมาณ 1,073 ล้านบาท ปริมาณธาตุอาหารพืช 11.71 ล้านบาท/ปี
4. กระทบต่อแหล่งโบราณคดี 6 จุด (ในอ่างเก็บน้ำ)
5. กระทบต่อแหล่งท่องเที่ยว คือ แก่งลานนกยูง แก่งท่าตาแสง และแก่งท่าตาไท
6. เงินชดเชยค่าที่ดินและทรัพย์สิน เช่น ระบบคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำในพื้นที่ชลประทานรวม 15,742 ไร่ โดยมีผู้ถือครองที่ดินคิดเป็นมูลค่าชดเชยรวมทั้งสิ้น 801.08 ล้านบาท
ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงสรุปได้ว่า การสร้างเขื่อนมีข้อดีมากกว่าข้อเสียหลายประการ แต่สิ่งที่พึงระวังก็คือจะมีแนวทางการจัดการข้อเสียอย่างไรบ้าง เช่น
1. ในข้อที่เสียป่า 12,300 ไร่นั้นเป็น 2.2% ของอุทยานฯ หรือ 0.1% ของผืนป่าตะวันตกทั้งหมด คงไม่สามารถเรียกกลับคืนได้ แต่ก็ส่งผลให้เกิดแหล่งน้ำสำหรับสัตว์เพิ่มขึ้น เพิ่มความชุ่มชื้น อาจทำให้ป่าไม้โดยรอบหนาแน่นกว่าเดิม ชดเชยส่วนที่เสียไปได้ ทั้งประชาชนราว 50,000 คนจะได้ประโยชน์
2. ในส่วนของอาคารที่ทำการ ที่เป็นไม้ก็รื้อไปสร้างใหม่ได้ ส่วนที่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กก็คงต้องสูญเสียไป แต่มีมูลค่าน้อย
3. ในส่วนของต้นไม้ ซึ่งก็คงซ้ำซ้อนกับข้อแรก และต้องโปร่งใส นำไม้ที่ตัดได้มาขายเพื่อลดต้นทุนให้โครงการ และระมัดระวังไม่ให้เงินรั่วไหล หรือมีการตัดไม้เกินจำเป็น ทางราชการต้องตรวจสอบอย่างเคร่งครัด และเป็นช่องทางเชิงสร้างสรรค์ของ NGOs ที่จะทำงาน "ปิดทองหลังพระ" ส่งอาสาสมัครเข้าตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง
4. แหล่งโบราณคดี 6 แห่ง ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีได้อย่างไรในพื้นที่ป่าแห่งนี้ แต่ในอดีต เมื่อก่อสร้างทางหลวง ก็เคยมีการยกย้ายเจดีย์เดิมออกไปแล้วสร้างใหม่นอกบริเวณหรือนอกเขตทาง
5. แก่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเดิม ที่จะหายไปคงไม่เป็นปัญหานัก เพราะเมื่อมีเขื่อน ก็จะเกิดแก่ง หาดทราย และแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม ใหม่ ๆ มากกว่าเดิม
6. ในการชดเชย ทางราชการก็คงรวมค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไว้แล้วในต้นทุนของโครงการ โดยพิจารณาแล้ว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
บทสรุปที่ควรสร้างเขื่อนแม่วงก์
การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ต่างหากที่จะเป็นทางออกที่ดีสำหรับ
1. ป่าไม้ที่จะช่วยรักษาป่าไม้ไว้ได้อย่างถาวร เพื่อให้ป่าไม้ถูกกันจากการบุกรุกถากถางเพิ่มเติม และเพื่อให้มีน้ำในเขื่อนปริมาณมหาศาล ไว้ให้ต้นไม้ให้รับความชุ่มชื้น ป่าไม้จะได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนช่วยดับไฟป่าที่เกิดขึ้นนับร้อยๆ ครั้งในแต่ละปี
2. สัตว์ป่าที่จะได้รับการบำรุงและเพิ่มพูนชีวิต ด้วยน้ำท่าที่อุดมสมบูรณ์เพื่อการดื่มกิน และมีเขื่อนไว้เป็นแนวไว้ป้องกันการเข้ามาไล่ล่าสัตว์ป่าที่มักเกิดขึ้นในผืนป่าตะวันตก สัตว์ป่าจะได้ขยายพันธุ์ได้อย่างราบรื่นไม่ถูกรบกวน
3. มนุษย์ โดยเฉพาะประชาชนคนเล็กคนน้อย และชุมชน จะได้มีเขื่อนไว้สำหรับป้องกันน้ำท่วม การชลประทาน การไฟฟ้า และยังจะมีผลพลอยได้จากการประมงโดยเลี้ยงปลาและสัตว์น้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อน ตลอดจนการท่องเที่ยว เป็นต้น
บางคนอาจเกรงว่า การสร้างเขื่อนจะกระทบต่อป่าไม้ แต่ก็ในวงแคบๆ ขนาดเพียงแค่ 2 เท่าของเขตสาทร เขตกระจิริดของกรุงเทพมหานคร และเป็นพื้นที่ที่เป็นป่าเสื่อมโทรมในอดีต ไม่ใช่ป่าดงดิบดังการสร้างภาพ ซึ่งมีการสร้างภาพถึงขนาดนำนกยูงมาเลี้ยงและปล่อยไว้เพื่อให้คนเข้าใจว่าที่นี่มีนกยูงธรรมชาติ เป็นต้น
สร้างเขื่อนแม่วงก์เถอะนะ
ภาพดรามาของการค้านการสร้างเขื่อน
ภาพที่ 1: ยอดเขาโมโกจู ซึ่งอยู่ห่างไกลต้องเดินไปกลับ 7 วัน มีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ แต่ไม่ใช่ที่บริเวณจะสร้างเขื่อน
ภาพที่ 2: นกยูงที่แก่งลานนกยูง เป็นการสร้างภาพ เอานกยูงมาเลี้ยง ไม่ใช่ของธรรมชาติ
ภาพที่ 3: เสือที่พบ ดูตามสภาพน่าจะเป็นเสืออายุยังน้อย ไม่น่าเดินมาเองได้