ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเข้าใจผิดกับยกใหญ่ว่าจะมีคน (บังอาจ) เวนคืนวังสระปทุม กรณีนี้ถือเป็นอุทาหรณ์สำคัญของเจ้าหน้าที่ในการกำหนดแนวเวนคืนที่ทำให้ชาวบ้านชาวเมืองเดือดร้อน ที่ดินในพื้นที่ถูก "แช่แข็ง" ไปโดยไม่รู้ตัว เราลองมาทำความเข้าใจกัน
ม.จ.จุลเจิมจุดพลุ
สืบเนื่องจากข่าว 'ท่านใหม่' หรือ พล.ต. ม.จ.จุลเจิม ยุคล พระโอรสลำดับที่ 4 ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ กับหม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา ได้ทวีตข้อความผ่านทวีตเตอร์ไขปมรับสั่ง'พระเทพฯ' แฉหลักฐานเหตุ'เขาไม่ให้อยู่วัง' {1} เมื่อวันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน 2557 โดยระบุถึงแนวเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางด่วนตามแนวคลองแสนแสบผ่านวังสระปทุมนั่นเอง
กรณีนี้เป็นความเข้าใจผิดของ ม.จ.จุลเจิม เพราะไม่เคยมีความพยายามในการเวนคืนวังสระปทุมแต่อย่างใด ทั้งนี้นายอัยยณัฐ ถินอถัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย "ชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่ประการใด เพราะแนวสายทางของทางพิเศษฯ อยู่ฝั่งตรงข้ามกับวังสระปทุม คนละฝั่งคลอง จึงไม่มีความจำเป็นต้องเวนคืนวังสระปทุม อีกทั้งหลักการของการทางฯ ในการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างทางพิเศษในทุกโครงการจะต้องหลีกเลี่ยงสถานที่สำคัญ เช่น พระราชวัง วัด โรงเรียน โรงพยาบาล รวมถึงโบราณสถานที่สำคัญ เป็นต้น" {2}
เป็น พรฎ. เดิมตั้งแต่สมัยป๋าเปรม
การเวนคืนที่ดินบริเวณนี้ เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเดิมที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2530 ซึ่งฉบับแรกลงนามโดย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ในฐานะนายกรัฐมนตรี โดยในครั้งนั้นเป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2530 {3} เพื่อสร้างทางด่วนขั้นที่สอง (บางโคล่ - แจ้งวัฒนะ)
ปกติพระราชกฤษฎีกาจะมีอายุ 4 ปี ในเมื่อการเวนคืนก่อสร้างทางด่วนขั้นที่สองยังไม่แล้วเสร็จ จึงมีพระราชกฤษฎีฉบับ พ.ศ.2534 ซึ่งถือเป็นฉบับที่ 2 ลงนามโดย พล.ต.อ.เภา สารสิน รองนายกรัฐมนตรี พอถึงปี 2538 ซึ่งยังไม่อาจเวนคืนแล้วเสร็จบางส่วน จึงตราพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ซึ่งถือเป็นฉบับที่ 3 แทนฉบับเดิมที่หมดอายุไป โดยในฉบับนี้ลงนามโดยนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี และต่อเมื่อปี 2542 เหลือที่ยังไม่ได้ก่อสร้างเฉพาะบริเวณทางด่วนที่อยู่ตามแนวคลองแสนแสบ จึงได้มีพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 4 เมื่อปี 2542 ครั้งนี้ลงนามโดยนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี และต่อมาฉบับที่ 5 (ปี 2546) ฉบับที่ 6 (ปี 2550) และฉบับที่ 7 (ปี 2554) ลงนามโดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามลำดับ
ทางด่วนส่วนที่เป็นปัญหา
ยามที่เราอยู่บนทางด่วน หากเราสังเกต จะมีป้ายทางลง "ราชดำริ" ติดไว้หลายต่อหลายป้าย แต่ถูกบังให้ไม่เห็นชัด พระราชกฤษฎีกาเวนคืนนี้เองที่จะสร้างทางด่วนส่วนนี้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่บริเวณทางด่วนขั้นที่สองบริเวณยมราช/อุรุพงษ์ โดยหวังจะสร้างเชื่อมต่อไปถึงบริเวณถนนราชประสงค์ที่เซ็นทรัลเวิลด์เพื่อออกราชดำริ และต่อไปเชื่อมกับทางด่วนขั้นที่ 1 บริเวณถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งเป็นโครงการสำคัญยิ่งในการระบายการจราจร
อย่างไรก็ตามทางด่วนส่วนนี้ไม่ได้ก่อสร้าง ทั้งนี้มีการต่อต้านโดยชุมชนชาวบ้านครัว {4} ซึ่งเป็นพี่น้องมุสลิม แนวทางด่วนนี้มีบางส่วนอาจกระทบต่อมัสยิด แต่เมื่อทางการทางพิเศษฯ จะขยับเวนคืนที่ดินของชาวบ้านแทนที่จะถูกมัสยิด ชาวบ้านก็ไม่ยินดีเช่นกัน สาเหตุที่ชาวบ้านไม่ยินดีนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการเวนคืนในสมัยก่อนจ่ายค่าทดแทนแบบ "ต่ำช้า" คือจ่ายต่ำ และช้า ๆ ทำให้ชาวบ้านต่อต้าน ประกอบกับไม่คิดจะก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยแนวสูงเพื่อให้ชาวบ้านสามารถอยู่อาศัยในละแวกเดิม ไม่ต้องได้รับผลกระทบจากการย้ายถิ่นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการงาน โรงเรียนของบุตรหลาน เป็นต้น แม้จะไม่ใช่เป็นบ้านแนวราบดังเดิมก็ตาม
บทเรียนการขีดเส้นส่งเดช
กรณีการออกมาแสดงความเห็นของ ม.จ.จุลเจิม อาจพุ่งเป้าในทางการเมืองไปยังนายกรัฐมนตรีคนล่าสุด ซึ่งเป็นเรื่องการเมือง ซึ่งผมคงไม่ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง แต่กรณีนี้ก็เป็นการจุดประกายให้เห็นอย่างหนึ่งถึง "นิสัย" การขีดเส้นแนวเวนคืนที่กว้าง ๆ ตีขลุม ถนนบางเส้นจะมีเขตทาง ซึ่งหมายถึงตัวผิวจราจร เกาะกลางถนน และบาทวิถีทั้งสองฝั่งที่เป็นทางสาธารณะรวมกันไม่เกิน 100 เมตร แต่แนวที่จะสำรวจเพื่อการเวนคืนที่ตราไว้ในพระราชกฤษฎีกา อาจกว้างถึง 500 - 1,000 เมตร
ข้อเสียสำคัญของการนี้ก็คือ วังสระปทุมถูกผนวกอยู่ในแนวเวนคืนโดยไม่ได้ตั้งใจด้วย เพราะในความเป็นจริง คงไม่มีนักการเมือง ข้าราชการประจำ หรือหน่วยงานใด กล้าแม้แต่จะคิดเวนคืนวังอย่างแน่นอน ยกเว้นครั้งหนึ่งเดียวที่ผมเคยได้พบก็คือการเวนคืนพื้นที่บางส่วนของวังสุโขทัย ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมการสร้างสะพานคู่ขนาดสะพานกรุงธนบุรี แต่โครงการนี้ก็พับเก็บไปอย่างถาวรแล้ว
แต่ข้อเสียสำคัญของการขีดแนวสำรวจเพื่อการเวนคืนกว้างขวางเผื่อไว้ถึง 500 - 1,000 เมตรเช่นนี้ ทำให้ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของที่ดินในเขตพระราชกฤษฎีกาเวนคืนได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส เพราะไม่รู้แน่ชัดว่าจะถูกเวนคืนหรือไม่ หากเดือดร้อนเรื่องเงิน จะขายที่ก็อาจไม่มีคนกล้าซื้อ หรืออาจขายได้ในราคาต่ำเกินจริง สุขภาพจิตของเจ้าของบ้านและที่ดินที่อยู่ในแนวเวนคืนก็เสียไปด้วย อันที่จริงทางราชการน่าจะสามารถศึกษาให้ละเอียดถี่ถ้วนเพื่อกำหนดแนวเวนคืนให้ชัดเจนก่อนที่จะประกาศออกมาเป็นพระราชกฤษฎีกา จะได้ลดทอนความเดือดร้อนของชาวบ้าน
แล้วจะเอาไงดีกับแนวทางด่วนนี้
ผมเองก็ยังมองว่าต้องสร้างทางด่วนสายคลองแสนแสบนี้เพื่อแบ่งเบาการจราจรบริเวณเซ็นทรัลเวิลด์ - ประตูน้ำ - เพชรบุรีตัดใหม่ ที่แสนสาหัสเหลือเกินในแต่ละวัน อย่างไรก็ตามหากสร้างตามแนวเดิมก็คงได้รับการต่อต้าน ผมจึงขอเสนอแนวทางการพัฒนาดังนี้:
1. ให้ก่อสร้างทางด่วนนี้เป็นอุโมงค์มุดลงใต้คลองแสนแสบ เพื่อลดทอนผลกระทบจากการเวนคืนทั้งปวง ยังคงการจราจรทางน้ำคือเรือด่วนไว้ได้ แล้วค่อยโผล่พ้นน้ำขึ้นมาบริเวณใกล้เซ็นทรัลเวิลด์ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การก่อสร้างนี้น่าจะไม่สิ้นเปลืองงบประมาณมากนัก
2. การจ่ายค่าทดแทนต้องได้รับการจ่ายที่สมเหตุสมผล ไม่ต่ำกว่าราคาตลาด ไม่ใช่ราคาประเมินของทางราชการ ตลอดจนได้รับการทดแทนค่าเสียหายที่เกี่ยวเนื่องอื่นด้วย เช่น การย้ายกิจการ การด้อยค่าของทรัพย์ที่เหลืออยู่ เป็นต้น
3. ในกรณีที่ต้องมีการเวนคืนบางส่วน ก็ทำการจัดหาที่อยู่อาศัยให้ผู้ถูกเวนคืนที่ไม่ประสงค์จะรับค่าทดแทน ได้ไปอยู่อาศัยในอาคารชุดพักอาศัยบริเวณใกล้เคียง การอยู่อาศัยแบบนี้อาจไม่เหมือนการอยู่อาศัยแนวราบ แต่ก็สามารถทำให้ชาวบ้านไม่เดือดร้อนจากการเปลี่ยนโรงเรียน แหล่งงาน หรือยังอยู่ใกล้ญาติพี่น้องในบริเวณเดิมได้
กรณีทางด่วนนี้จึงเป็นข้อคิดเพื่อชาติในการเวนคืนทรัพย์สิน การเวนคืนมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อชาติ ประชาชนก็ควรยอมรับ ผมเคยจัดประกวดเรียงความชิงโล่พระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และจัดทำหนังสือ "ถูกเวนคืน อย่าเสียใจ" โดยผมเป็นบรรณาธิการ ท่านสามารถ download ได้ฟรี ๆ ที่ ถูก www.thaiappraisal.org/thai/journal/order.php?p=publicationb12.php ลองดูนะครับ
อ้างอิง
{1} 'ท่านใหม่'ไขปมรับสั่ง'พระเทพฯ' แฉหลักฐานเหตุ'เขาไม่ให้อยู่วัง' http://goo.gl/u91kBt
{2} กทพ.ยืนยันวังสระปทุมไม่ถูกเวนคืน อยู่คนละฝั่งทางด่วนบางโคล่ C/D Road http://goo.gl/9H54DI
{3} พระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 1-7 เป็นดังนี้
ฉบับที่ 1 ราชกิจจา ฉ.104-275ก ฉบับพิเศษ-31-12-30-เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2530/A/275/1.PDF
ฉบับที่ 2 ราชกิจจาฉ.108-245ก ฉบับพิเศษ-31-12-34-เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2534/A/245/93.PDF
ฉบับที่ 3 ราชกิจจา ฉ.112-58ก-31-12-38-เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2538/A/058/63.PDF
ฉบับที่ 4 ราชกิจจา ฉ.116-138ก-31-12-42-เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2542/A/138/4.PDF
ฉบับที่ 5 ราชกิจจา ฉ.120-126ก-24-12-46-เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00135145.PDF
ฉบับที่ 6 ราชกิจจา ฉ.125-03ก-07-01-51-เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/A/003/19.PDF
ฉบับที่ 7 ราชกิจจา ฉ.128-96ก-30-12-54-เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/A/096/13.PDF
{4} งานวิจัยประวัติศาสตร์บ้านครัวและการต่อต้านทางด่วนซีดีโรดของชาวชุมชน www.sac.or.th/databases/ethnicredb/research_detail_print.php?id=604
ภาพที่ 1: พระราชกฤษฎีกาเวนคืนสร้างทางด่วนขั้นที่ 2 ตั้งแต่สมัยนายกฯ เปรม (พ.ศ.2530)
ภาพที่ 2: ป้ายทางลงราชดำริ ซึ่งยังไม่ได้ก่อสร้าง
ภาพที่ 3: บริเวณคลองแสนแสบใกล้เซ็นทรัลเวิลด์ที่ทางด่วนน่าจะพาดผ่าน
ภาพที่ 4: แนวทางที่เป็นไปได้ก็คือการก่อสร้างใต้คลองแสนแสบโดยให้กระทบชาวบ้านน้อยที่สุด