อ่าน 1,580 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 95/2557: 14 กรกฎาคม 2557
เวนคืน เมืองนอกทำอย่างไรจึงแฮปปี้

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          การเวนคืนเป็นงาน "ต่ำช้า"!
          ข้าราชการไทยที่ทำงานด้านการเวนคืนเป็นคนบอกผมเองครับ! อันนี้หมายความว่า (แต่เดิม) การเวนคืนในประเทศไทย เรามักจ่ายค่าทดแทนแก่ประชาชนต่ำ ๆ และจ่ายช้า ๆ ทางข้าราชการที่ผมรู้จัก ท่านจึงเย้าเล่นกับงานที่ตนเองทำไว้เช่นนี้ครับ ชาวบ้านจึงเข็ดขี้อ่อนขี้แก่กับการถูกเวนคืนเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหลีกเลี่ยงได้ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีมาก ผมเคยมีคนรู้จักอยู่ครอบครัวหนึ่ง ย้ายไป 3 ที่ก็ถูกตามไปเวนคืนทั้ง 3 ที่ ในแง่หนึ่งอาจถือเป็น "ดวงซวย" แต่ในอีกแง่หนึ่งแสดงว่าข่าวสารด้านการเวนคืนบ้านเราอาจจะไม่ชัดเจนพอ ชาวบ้านจึงไม่อาจทราบล่วงหน้าได้ หาไม่คงไม่ไปซื้อให้ "ซวย" เล่นเช่นนั้น
          ที่ประเทศจีน เขาเวนคืนกันอย่างหนักและสร้างเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นมากมาย ดูอย่างในภาพ ถนนในนครต้าสี ก็สร้างไว้โดยมีบ้านหลังหนึ่งอยู่ตรงกลาง ไม่สามารถรื้อถอนได้ อย่างไรก็ตามเมื่อปลายปี 2555 อาคารหลังนี้ก็ถูกรื้อทิ้งไปในที่สุด เพราะทางราชการได้จ่ายค่าทดแทนให้เหมาะสมแล้วนั่นเอง แต่กว่าจะรื้อถอนได้ ก็กินเวลานาน และชาวบ้านในเว็บบอร์ดชื่อดังของประเทศจีนต่างก็เชียร์ให้คงสภาพบ้านนี้ไว้ "ประจาน" การเวนคืนที่จ่ายแบบ "ต่ำช้า"
          นอกจากนี้ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่นครฉงชิง ที่มีบ้านหลังหนึ่งถูกขุดดินโดยรอบจนกระทั่งเป็นเหมือนประหนึ่งบ้านอยู่บนเนิน แต่บ้านหลังนี้ก็ยังทรนงหรืออหังการอยู่ต่อไป แม้แต่ต้องลากถังแก๊สขึ้นบ้านแบบขึ้นจากหุบเหวก็ตาม จนกลายเป็นข่าวลือลั่นในหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ของประเทศจีนเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน และไม่ใช่มีเฉพาะที่นครแห่งนี้ ยังมีที่นครอื่นเช่นกัน แต่สุดท้ายทางเจ้าหน้าที่ราชการเองก็ถูก "เด้ง" เซ่นการเวนคืนที่ไม่มีประสิทธิภาพ และ "รังแก" ประชาชนในที่สุด
          ในสมัยที่ผู้เขียนทำงานเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงการคลัง เวียดนาม ณ กรุงฮานอยเมื่อหลายปีก่อน ปรากฏว่า มีประชาชนมานั่งประท้วงหน่วยงานเวนคืนของกระทรวงการคลัง ของรัฐบาลเวียดนามนานนับเดือนเช่นกัน เพราะพวกเขาถูกเวนคืนโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้รับค่าทดแทนต่ำ ๆ และช้า ๆ ผมเดินผ่านคนกลุ่มนี้ทุกวันเช้าเย็น ก็รู้สึกให้สงสารพวกเขาเช่นกัน
          ทั้งในกรณีของจีน เวียดนาม และที่อื่น ๆ โดยเฉพาะในกรณีประเทศไทย ก็คงมีเรื่องเศร้าสลดกับการเวนคืน บางแห่งถูกเจ้าหน้าที่ทุบตี บางแห่งเสียชีวิต บางคนถึงขั้นฆ่าตัวตายเพราะถูกเวนคืนก็มี เชื่อว่าในอีกหลายประเทศก็คงมีชะตากรรมไม่แพ้กัน แล้วเราจะทำอย่างไรดี
          ในอีกแง่หนึ่ง บางครั้งชาวบ้านก็มี "เล่ห์" เช่นกัน เช่นในประเทศอินโดนีเซีย พอทางราชการมีแผนที่จะมาเวนคืนที่ดินทำถนน ชาวบ้าน (รวยๆ) ก็จะสร้างศาสนสถานขึ้นมา ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้าเวนคืน ต้องเลี่ยงถนนไปในแนวอื่นก็มีบ้าง ในบางกรณีอาจพบผู้มีอิทธิพล หรือ "ตอ" เข้าให้ก็ได้
          แต่การเวนคืนเป็นสิ่งจำเป็น ไม่มีใครอยากจะเวนคืน แต่ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องดำเนินการตามที่เห็นสมควร เช่น ในกรณีประเทศไทย ก็เคยมี เช่นการย้ายวัด สุสาน เจดีย์ หรืออื่น ๆ มาแล้วเช่นกัน แต่ระยะหลัง การเวนคืนกระทำได้ยาก ทำให้อะไร ๆ ติดขัดไปหมด
          เรามาดูในประเทศอารยะบ้าง ในระหว่างวันที่ 22-25 มิถุนายน 2557 ผู้เขียนได้ไปประชุมสมาคมเขตทางนานาชาติ (International Right of Way Association) ซึ่งเป็นสมาคมของผู้เกี่ยวข้องกับการซื้อ/เวนคืนเขตทางเพื่อการก่อสร้างถนน ท่อแก๊ส สายไฟฟ้า อุโมงค์ ฯลฯ และก่อตั้งมาสมาคมแห่งนี้มา 80 ปีแล้ว เลยมีการจัดฉลองกันใหญ่โต ผมได้มีโอกาสไปประชุมและบรรยายในการประชุมประจำปีของสมาคมนี้แทบทุกปี แนวคิดการเวนคืนของประเทศนี้รวมทั้งในแคนาดา ยุโรปตะวันตก ออสเตรเลียได้เปลี่ยนไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว เขาไม่เวนคืนกันแล้ว
          ถ้าไม่เวนคืนเขาทำอย่างไรกัน เขาทำการจัดซื้อที่ดินจากภาคอกชนโดยตรง ให้ราคาดี คือได้เท่ากับราคาตลาด และในกรณีที่มีความเสียหายอื่นเกิดขึ้น ก็ต้องทดแทนกันไป เช่น ความเสียหายจากการถูกเวนคืน ทำให้บริษัทต้องย้ายสถานที่ ทำให้การปศุสัตว์ที่ดำเนินการอยู่เสียหาย หรือทรัพย์สินที่เหลืออยู่ไม่อาจใช้สอยประโยชน์ได้ดีดังเดิมภายหลังการเวนคืน ก็ต้องได้รับค่าทดแทนเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีค่าขนย้าย หรือแม้แต่สังหาริมทรัพย์ที่จะเสียไป หรือด้อยค่าไปจากการเวนคืน และอื่น ๆ ตามที่สมควร
          เมื่อพูดกันรู้เรื่องการที่ต้องบังคับเวนคืนจึงไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นน้อยกว่าแต่ก่อนมาก ทำให้การเวนคืนกลางเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ หรือเรียกว่า "Win - Win" นั่นเอง ดังนั้นการขยายสาธารณูปโภค (ไม่ว่าจะเป็นการสร้างทางรถไฟ ท่อแก๊ส ปักเสาพาดสายไฟฟ้า ฯลฯ) จึงไม่ติดขัด หรือติดขัดน้อย  ทั้งนี้เขาค่อนข้างจะให้เกียรติประชาชนเจ้าของประเทศ ว่าควรคุยกันโดยละมุนละม่อมนั่นเอง
          การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อการนี้ในสหรัฐอเมริกา และประเทศตะวันตก มักได้มาจากาการเจรจาต่อรองกับเจ้าของทรัพย์สิน จะเลือกใช้วิธีการเวนคืนน้อยมากหรือแทบจะไม่มี และเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ที่สุดก็ยอมรับการที่จะขายที่ดินไปเพื่อการพัฒนาสาธารณูปโภค การเจรจาต่อรองจึงมีความสำคัญมากที่จะทำให้การพัฒนาสาธารณูปโภคประสบความสำเร็จในที่สุด ดังนั้นในช่วงวันที่ 17-18 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมาผู้เขียนจึงไปเข้ารับการอบรมหลักสูตรการเจรจาต่อรองด้านอสังหาริมทรัพย์ Course 200: Principles of Real Estate Negotiation ของสมาคมเขตทางนานาชาติ ณ นครบิงแฮมตัน มลรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
          การเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินของภาครัฐ จึงควรจะดำเนินการด้วยดี โดยเฉพาะกรมชลประทาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กสทช. การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ฯลฯ ตลอดจนเทศบาลและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ต้องมีการก่อสร้างสาธารณูปโภค ศิลปะ กลยุทธ์ แนวทางในการเจรจาต่อรอง จึงต้องมีความเป็นมืออาชีพ เพราะที่สหรัฐอเมริกา เขาพัฒนามาถึง 80 ปีแล้ว
          ในกรณีประเทศไทย เราก็สามารถเวนคืนในแนวคิดใหม่ที่ไม่ใช่ "ต่ำช้า" แต่รวดเร็ว ราคาเป็นธรรม และดูแลผู้ถูกเวนคืนเสมือนการเยียวยาแก่ญาติมิตร ผู้เขียนเองก็พยายามส่งเสริมแนวคิดการเวนคืนที่เป็นธรรม และการเยียวยาที่เหมาะสม เช่นต่อไปคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) จะจัดการเวนคืนสร้างถนนริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อป้องกันน้ำท่วมเช่นกรณีกรุงโซล ก็ควรจะเวนคืนเพิ่มเติมเพื่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยให้ผู้ถูกเวนคืนได้อยู่บริเวณใกล้เคียงที่เดิม จะได้ไม่เดือดร้อนแก่บุตรหลานในเรื่องสถานศึกษา หรือยังอยู่ใกล้ญาติมิตรเดิม เป็นต้น
          เมื่อปี 2550 ผู้เขียนได้จัดประกวดเรียงความชิงโล่รางวัลพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “ประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืนเพื่อพัฒนาชาติ” เพื่อส่งเสริมแนวคิดที่ทันสมัยในการเวนคืน ท่านใดสนใจรายละเอียดสามารถอ่านได้ฟรีที่ www.thaiappraisal.org/thai/essay/essay50.htm
          ถ้าเราคำนึงถึงประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจริงๆ แล้วดูแลเขาให้ดี การเวนคืนก็แทบไม่ต้องใช้ หนทางแบบ "Win Win" ยังมีอยู่อย่างแน่นอน

บรรยากาศที่ประชุมสมาคมเขตทางนานาชาติ

บ้านอหังการในนครต้าสี ในมณฑลเจ้อเจียง แต่สุดท้ายก็ต้องรื้อถอนไป

บ้านอหังการแห่งนครฉงชิง ซึ่งสุดท้ายเจ้าหน้าที่ถูกสอบเรื่องรับสินบนบริษัทพัฒนาที่ดิน

บ้านที่ไม่ยอมย้ายในกรุงเทพมหานครก็มี แต่ในกรณีนี้เป็นเรื่องการจัดซื้อที่ดินภาคเอกชน


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved