เมื่อเร็วๆ นี้ คณะผู้ประเมินค่าทรัพย์สินภายใต้การกำกับของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้เดินทางไปสำรวจและประเมินมูลค่าของไม้กฤษณา ณ จังหวัดตราด หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจหรือบริษัทใดสนใจประเมินค่าไม้กฤษณา โปรดติดต่อคุณสัญชัย โทร. 02 295 3905 ต่อ 114
ในเว็บไซต์ disthai.com ได้มีบทความเรื่อง “กฤษณา งานวิจัยและสรรพคุณ” (https://t.ly/oSPxm) ได้กล่าวถึงไม้กฤษณาไว้ดังนี้:
ชื่อสมุนไพร กฤษณา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ปอห้า(ภาคเหนือ), ไม้หอม (ภาคตะวันออก), ไม้พวงมะพร้าว (ภาคใต้), สีเสียดน้ำ (บุรีรัมย์), ตะเกราน้ำ (จันทบุรี), กายูการู, กายูกาฮู, กายูดึงปู(ปัตตานี,มาเลเซีย) ซควอเซ ซควอสะ(กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ติ่มเฮียง(จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กฤษณา เป็นน้ำมันหรือยางที่สร้างขึ้นในเนื้อไม้ของพืชในสกุล Aquilaria ซึ่งมีอยู่ประมาณ 15 ชนิด แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงแต่ชนิดที่พบได้ในประเทศไทยเท่านั้น โดยใน ประเทศไทยสามารถพบได้ 4 ชนิด คือ Aquilaria baillonil, Aquilaria crassna Pierre, Aquilaria malaccensis Lamk. (ชื่อพฤกษศาสตร์พ้อง Aquilaria agallocha Roxb.) และ Aquilaria subintegra Ding Hau
ชื่อสามัญ Eagle wood, Aglia,Lignum aloes, Calambac, Akyaw, Aloewood, Calambour,
วงศ์ THYMELAEACEAE
ถิ่นกำเนิดกฤษณา
กฤษณาที่ถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียเขตร้อน และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการกระจายพันธุ์ไปใน อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา ทิเบต ภูฐาน พม่า จีน ตลอดแหลมมลายู เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียวและฟิลิปปินส์ สำหรับในประเทศไทยจะมีกฤษณาอยู่ด้วยกัน 4ชนิด แต่ที่พบมากมี 3 ชนิด คือ
1. Aquilaria crassna Pierre. พบได้ในป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้งทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
2. Aquilaria malaccensis Lamk. (ชื่อพ้อง Aquilaria agallocha Roxb.) พบได้ในเฉพาะทางภาคใต้ที่มีความชุ่มชื้น
3. Aquilaria subintegra Ding Hau จะพบได้เฉพาะทางภาคตะวันออก
ประโยชน์และสรรพคุณกฤษณา
ไม้กฤษณา นำไปใช้ผสมเข้าเครื่องหอมทุกชนิด เช่น น้ำอบไทย น้ำมันหอมระเหย ธูปหอม ยาหอม ชาวอาหรับ นิยมใช้ไม้หอมของต้นกฤษณามาเผาไฟเพื่อใช้อบห้องให้มีกลิ่นหอม ส่วนชาวฮินดูจะนิยมนำมาใช้จุดไฟ เพื่อให้กลิ่นหอมในโบสถ์ ส่วนประโยชน์ของไม้กฤษณาทั่วไปที่มีมีน้ำมัน สามารถนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ใช้ในงานก่อสร้างต่างๆ เปลือกต้น นำมาใช้ทำเป็นเชือก กระดาษ เสื้อผ้า ย่าม ใช้สานหมวก ถุง และที่นอน เปลือกใช้ทำเป็นยากันยุงได้ ทำเป็นเครื่องจักสาน ใช่ทอผ้าและเชือกป่าน
ลักษณะทั่วไปกฤษณา
กฤษณาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 18-30 เมตร วัดขนาดรอบลำต้นได้ความยาวประมาณ 1.5-1.8 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นเรียบมีสีเทาอมขาว เปลือกมีความหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร เมื่ออายุมาก ๆ เปลือกนอกจะแตกเป็นร่องยาวตื้น ๆ ส่วนเปลือกด้านในจะมีสีขาวอมเหลือง ต้นมีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนอยู่ทั่วไป ตามกิ่งอ่อนจะมีขนสีขาวปกคลุมอยู่ เมื่อต้นมีอายุมากๆมักจะมีพูพอนที่โคนต้น
ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี มีความกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-11 เซนติเมตร ปลายใบเป็นติ่งแหลม ส่วนโคนใบมน ใบเป็นสีเขียว ขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เรียบและเกลี้ยง มีขนขึ้นประปรายอยู่ตามเส้นใบด้านล่าง ก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.7 เซนติเมตร
ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกมีสีเขียวอมเหลือง กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น 5 แฉก ติดทน กลีบดอก 5 กลีบ เกสรเพศผู้มี 10 อัน
ผลเป็นรูปกลมรี ผลยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีเส้นแคบตามยาวของผล ผิวของผลมีลักษณะขรุขระเป็นลายสีเขียว และมีขนละเอียดสั้น ๆ คล้ายกำมะหยี่ขึ้น ผลเมื่อแก่จะแตกและอ้าออก ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด มีสีน้ำตาลเข้ม ลักษณะกลมรี ขนาดประมาณ 5-6 มิลลิเมตร มีหางเมล็ดสีส้มหรือสีแดง ปกคลุมไปด้วยขนสั้นนิ่มสีแดงอมน้ำตาล
ไม้กฤษณาจะมีทั้งแบบเนื้อไม้ปกติและแบบเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา โดยเนื้อไม้ปกติจะมีสีขาวนวลเมื่อตัดใหม่ ๆ และต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้เป็นเสี้ยนตรง หยาบปานกลาง เลื่อยได้ง่าย ขัดเงาได้ไม่ดี ไม่ค่อยทนทานนัก เมื่อนำมาแปรรูปเสร็จก็ควรรีบกองผึ่งให้แห้งโดยเร็ว ส่วนเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันจะมีสีดำ หนักและจมน้ำได้ ซึ่งคุณภาพของเนื้อไม้ชนิดนี้จะขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำมันภายในเซลล์ต่าง ๆ ของเนื้อไม้ นอกจากนี้คุณภาพของไม้กฤษณายังที่มีน้ำมันสามารถแบ่งออกเป็น 4 เกรด ได้แก่
เกรด 1 หรือที่เรียกว่า "ไม้ลูกแก่น" ส่วนต่างประเทศจะเรียกว่า "True agaru" เกรดนี้จะมีน้ำมันสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วเนื้อไม้ ทำให้เนื้อไม้มีสีดำ มีน้ำหนักเป็น 1.01 เท่าของน้ำหรือหนักกว่าจึงทำให้จมน้ำได้ มีกลิ่นหอมคล้ายกับกลิ่นจันทน์หิมาลัยและอำพันขี้ปลา เมื่อนำมาเผาไฟจะให้เปลวไฟโชติช่วงและมีกลิ่นหอม (ราคา 15,000-20,000 บาท/กิโลกรัม)
เกรด 2 เกรดนี้จะมีน้ำมันและกลิ่นหอมรองลงมา โดยเนื้อไม้สีจะจางออกทางน้ำตาล ต่างประเทศจะเรียกว่า "Dhum"โดยสีเนื้อไม้จะจางออกน้ำตาล และมีน้ำหนักเบากว่าน้ำ มีกลิ่นหอมเหมือนน้ำมันดอกยี่สุ่น ซึ่งเมื่อนำมากลั้นจะได้น้ำมันหอมระเหยที่เรียกว่า agarattar
เกรด 3 มีน้ำมันและกลิ่นหอมรองลงมา มีน้ำหนักเบากว่าน้ำ หรือมีน้ำหนักเป็น 0.62 เท่าของน้ำ จึงทำให้ลอยน้ำ
เกรด 4 เกรดนี้จะมีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมอยู่น้อย มีน้ำหนักเป็น 0.39 เท่าของน้ำ จึงทำให้ลอยน้ำ