ช่วงนี้ชีพจรลงเท้า เมื่อวันที่ 27-31 ตุลาคม 2566 ผมเดินทางไปกรุงนิวเดลี ได้ไปบรรยาย ไปประชุมและยังได้มีโอกาสท่องเที่ยวตามประสาบ้าง
สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและองค์กรรับรองผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศอินเดียเชิญผมไปบรรยายในงาน V20 Valuation Summit and Conference ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ผมก็ยินดีไปร่วมงานและไปบรรยายตามคำเชิญ ผมเคยไปนิวเดลีหลายครั้งแล้ว แต่ก็อยากไป Update เช่นกันว่าตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว จากที่ไปครั้งแรกๆ เมื่อยี่สิบปีก่อนที่มีวัวเดินกันเพ่นพ่านเต็มไปหมด
ผมไปด้วยสายการบิน ปรากฏ SpiceJet ว่าเครื่องบินล่าช้าไปชั่วโมงกว่ากว่าจะได้ออก ช่วงเวลาที่ออกก็น่าทรมานเสียด้วย เพราะเป็นเวลาราวตี 4 ทำให้คืนนั้นแทบไม่ได้นอน พอไปถึงสนามบินสุวรรณภูมิ แถวก็ยาว ผมบอกว่าไม่มีกระเป๋าสัมภาระ มีแต่กระเป๋าขึ้นเครื่องใบเล็กๆ เขาบอกยังไงก็ต้องต่อแถว ผมก็ไม่ว่าอะไร แต่เจ้าหน้าที่ยังเสนอว่า ถ้าอยากได้เร็ว อยากเช็คอินทันที ก็ต้องจ่ายเป็นเงิน 1,500 บาท นี่มันเข้าข่ายปล้นจี้หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ผมก็ยอมยืนรอ และรอนานเป็นชั่วโมงในช่วงตี 1 เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์ของเขาขัดข้องเสียอีก
อันที่จริงผมควรไปก่อนหน้านี้สัก 1 วัน แต่นี่ผมไปเช้าวันที่ 27 ตุลาคมที่มีงานเลย เพราะผมก็มีงานการต้องทำมากมายก่อนเดินทางเช่นกัน หรือถ้าไปการบินไทย ก็คงสบายกว่านี้มาก แต่ผมต้องการประหยัด และงานนี้เขาก็ไม่ได้ออกค่าเครื่องบินให้เสียด้วย ก็เลยยอมลำบากหน่อย บางทีเดินทางไกลๆ ประมาณ 18-20 ชั่วโมงไปสหรัฐอเมริกา ผมก็นั่งชั้นประหยัด แม้จะแก่แล้วก็ตาม ไม่ใช่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้นั่งชั้นธุรกิจหรือชั้น 1 ด้วยเงินภาษีประชาชนนะครับ ผมยังนึกอยู่ในใจว่าถ้ามีตั๋วยืน ราคา 10,000 บาท ประหยัดได้สัก 50,000 บาทต่อเที่ยว ผมก็ยินดียืน เพราะค่าตัวผมตอนไปบรรยายให้องค์การระหว่างประเทศ ก็ได้ประมาณ 50,000 ต่อวัน จึงนับว่าคุ้มมากที่จะยืน! (แต่เขาไม่มีตั๋วยืน)
เมื่อไปถึง เจ้าหน้าที่ก็มารับที่สนามบิน ต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี นอนโรงแรมอย่างดี และการบรรยายต่างๆ ก็ผ่านไปด้วยดี ผมก็ได้บรรยาย ได้ทำความรู้จัก ได้เรียนรู้จากผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจากหน่วยงานต่างๆ มากมายจากหลายประเทศ ก็นับว่าคุ้มที่ได้มางานนี้ อันที่จริงผมเสียท่าตรงที่ทำวีซ่า เขาแนะนำให้ทำวีซ่าแบบมาสัมมนา ซึ่งผมมาทราบในภายหลังว่าเขาให้เข้าออกได้ครั้งเดียว แต่ถ้าผมทำวีซ่าแบบท่องเที่ยวก็คงสามารถเข้าออกได้หลายครั้ง แถมค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้แพงกว่ากัน ทั้งนี้เพราะในช่วงวั้นที่ 24-27 พฤศจิกายน 2566 ผมต้องไปมุมไบ บรรยายในงานประชุมระดับโลกอีกคำรบหนึ่ง
ผมไปทั้งทีก็อยากท่องเที่ยว ก็เลยอยู่เลยไปอีก 1 วัน ก็เลยต้องออกค่าที่พักเอง จากโรงแรมอย่างที่เขาให้พักคืนละ 5,000 บาท ผมก็มาจองโรงแรมเล็กๆ ใกล้ๆ กับโรงแรมจัดงาน สนนราคาเพียง 1,000 บาทเท่านั้น ซึ่งก็โอเค เพราะแค่พักอีก 1 คืน เวลากลางวันผมก็เดินทางไปดูโน่นนี่ ไม่ค่อยได้อยู่พักในโรงแรมอยู่แล้ว ในวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม ผมก็ตะลอนเที่ยวทั่วกรุงนิวเดลี โดยนั่งรถไฟฟ้าไป ต่อด้วยการเดินเท้าและนั่งรถสามล้อเป็นช่วงๆ ไป สรุปรวมแล้วในวันดังกล่าว ผมเดินไปถึงประมาณ 18 กิโลเมตรเลยทีเดียว
ท่านอาจไม่ทราบว่า ผมเดินทางไปโดยใส่สูทไปด้วย เพราะอากาศไม่ร้อนมากนัก ช่วงบ่ายอุณหภูมิประมาณ 33 องศา แต่ไม่มีความชื้น จึงไม่มีเหงื่อ การใส่สูทไป ทำให้สามารถเก็บพาสปอร์ต แบตเตอรี่ เงิน ในเสื้อสูทและกระเป๋ากางเกงได้ การใส่สูทอาจเตะตาโจรขโมยบ้าง แต่ไม่พบเลย และเขาอาจเห็นแต่งตัวดี ก็เลยไม่กล้าจู่โจมก็เป็นไปได้เช่นกัน ผมเลยรอด และถ่ายรูปกับสถานที่สวยๆ ด้วยการใส่สูท
พอถึงวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2566 ผมก็ออกท่องเที่ยวเหมือนเดิม คราวนี้ ผมไม่ได้ใส่สูท เอาสูทใสกระเป๋า และยังมีกระเป๋าอีกใบที่เขาแจกมา ข้างในใส่ของที่ระลึก ผมก็สะพายเป้ กระเป๋าถือ/สะพายอีกหนึ่งอัน ไปท่องเที่ยว คนก็คงนึกว่าผมมาทำงานอยู่ใกล้ๆ แถวนั้น เพราะคงไม่มีนักท่องเที่ยวที่ถือของเล็กๆ น้อยๆ เช่นผม ผมไม่นิยมถือสิ่งของรุงรัง เป็น Light Traveller โดยจำได้ว่าขาไปอินเดีย กระเป๋าสะพายหนักแค่ 4 กิโลกรัมเท่านั้น
ช่วง 4 โมงเย็นของวันจันที่ 30 ตุลาคม ผมยังไปพบสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย เพื่อแสวงหาความร่วมมือกัน และร่วมกันจัดกิจกรรมในหมู่ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจากทั่วโลกในอนาคต โดยให้มูลนิธิประเมินค่า-นายหน้าแห่งประเทศไทยที่ผมเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารอยู่ในขณะนี้ เป็นเจ้าภาพ ร่วมกับสมาคมจากชาติอื่นๆ นับสิบๆ แห่ง หลังจากประชุม ทางสมาคมดังกล่าว ก็พาขึ้นรถส่งไปสนามบิน
เครื่องบิน SpiceJet ที่มีกำหนดบินออกเดินทางในเวลา 3 ทุ่ม มีอันต้องเลื่อนแล้ว เลื่อนอีก โดยออกจริงในเวลาเที่ยงคืน หรือตี 1 ครึ่งในประเทศไทย และเดินทางมาถึงไทยในเวลาตี 5 ครึ่ง ผมก็นัดแม่ผมไว้ว่าจะไปทานอาหารเช้าที่บ้านของน้องชายที่แม่ผมพักอยู่ ก็เลยไปช้ากว่าปกติ แต่ก็ยังพอได้ทานข้าวและสนทนากับแม่ รวมทั้งยังได้ไปประชุมคณะเพื่อนร่วมงาน (พนักงาน) ของบริษัทรายปักษ์ จนถึงเวลา 09:00 จึงได้งีบเพราะตลอดคืนวันที่ 30 ตุลาคมต่อเนื่องมาถึง 31 ตุลาคม ก็แทบไม่ได้นอน ยกเว้นได้มีโอกาสนอนบนเครื่องบิน ซึ่งปรากฏว่าคนไม่แน่น ผมจึงได้นอนยาว 3 เก้าอี้ (โดยไม่มีพระนำ!!!)
ข้อน่าสังเกตประการหนึ่งก็คือ รถไฟฟ้าในกรุงนิวเดลี สนนราคาแพงสุด 50 รูปี (ไกลสุด) หรือประมาณ 22 บาทเท่านั้น ถ้าใกล้ๆ ก็แค่ 8 บาท เป็นต้น ทำให้รถไฟฟ้าบ้านเขาสามารถรับใช้ประชาชนได้แทบทุกระดับ ต่างจากรถไฟฟ้าบ้านเรา ถ้าเป็นคนจนๆ คงขึ้นได้ยาก แถมขบวนรถไฟฟ้าของเขายาวมาก ไม่ใช่แค่ 4-5 ตู้แบบในกรุงเทพมหานคร โดยในทางไกลๆ นั้น นั่งประมาณเกือบ 1 ชั่วโมงเลย อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ TikTok ถูกแบนในอินเดีย รัฐบาลอินเดียสั่งห้าม เพราะเกรงจีนจะ “ล้วงตับ” ข้อมูลของประชาชนอินเดีย อาจทำให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงได้
นี่แหละครับ สิ้งละอันพันละน้อยที่ได้พบเห็นในนิราศอินเดียนี้