หลายคนส่ายหัวที่จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะกลัวว่าหากระเบิดเถิดเทิงขึ้นมา คงตายกันหมด ถ้าเรากลัวอย่างนั้นจริงๆ เราต้องไม่กล้าไปเที่ยวญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส ยุโรปและอเมริกา เพราะที่เหล่านั้นเต็มไปด้วยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์!
ข้อมูลของ World-Nuclear.org ที่ล่าสุดถึงเดือนสิงหาคม 2566 พบว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เครื่องแรกมีตั้งแต่ในยุค 2493-2503 แล้ว ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์มีสัดส่วนเป็น 10% ของปริมาณไฟฟ้าทั้งหมด พลังงานนิวเคลียร์ถือเป็นพลังงานสะอาด (ไม่ได้ใช้คาร์บอน) ในขณะนี้มีเตานิวเคลียร์ใน 50 ประเทศ และยังใช้เพื่อการแพทย์และอื่นๆ ด้วย และใน 13 ประเทศที่ใช้ไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ผลิตไฟฟ้าได้ถึงหนึ่งในสี่ของความต้องการ เฉพาะฝรั่งเศสผลิตได้ถึง 70% ของความต้องการ (ถ้าใครกลัวนิวเคลียร์ต้องไม่ไปฝรั่งเศส) ส่วนเยอรมนีก็ยังมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และถึงแม้อาจไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่ม แต่ซื้อไฟฟ้าที่ผลิตด้วยนิวเคลียร์จากฝรั่งเศสแทน!
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีต้นทุนเชื้อเพลิงมีราคาถูกเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการผลิต จากข้อมูลของ IAEA ณ วันที่ 23 เมษายน 2557 มีเครื่องปฏิกรณ์ทำงานอยู่ 435 เครื่องใน 31 ประเทศทั่วโลก รวมแล้วผลิตกำลังไฟฟ้าเป็น 1 ใน 6 ส่วนของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในโลก โดยสหรัฐอเมริกามีจำนวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากที่สุด ตามมาด้วย ฝรั่งเศส แต่ในขณะนี้จีนและอินเดียกำลัง “มาแรง” เป็นอย่างยิ่ง
จากรายงานข่าวกล่าวว่า “การผลิตไฟฟ้าน้ำมันดีเซลเป็นประเภทที่ต้นทุนสูงสุดที่ 13.65 บาท/กิโลวัตต์ และต้นทุนผันผวนตามราคาน้ำมันในตลาดโลก การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มีต้นทุน 12.50 บาท/กิโลวัตต์ พลังงานลม 5.20 บาท/กิโลวัตต์ พลังงานความร้อนร่วม 4.34 บาท/ กิโลวัตต์ พลังงานขยะ 35 บาท/กิโลวัตต์ ส่วนพลังงานชีวมวลที่มีต้นทุนผลิตอยู่ที่ 33.50 บาท/กิโลวัตต์ แม้จะถูกกว่าการผลิตโดยก๊าซธรรมชาติ แต่ก็มีข้อจำกัดคือปริมาณสำรองที่ไม่แน่นอน ทำให้บริหารจัดการยากและราคาชีวมวลแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและนิวเคลียร์มีต้นทุนต่ำที่สุด โดยการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 2.74 บาท/กิโลวัตต์ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีต้นทุน 2.79 บาท/กิโลวัตต์” ดังนั้นอนาคตของถ่านหินและนิวเคลียร์จึงถูกและมั่นคงกว่ามาก
อาจกล่าวได้ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มักจะมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูง แต่ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงโดยตรงต่ำ เช่นเดียวกันอาคารเขียวที่มักต้องลงทุนแพงกว่าปกติในช่วงต้น แต่ประหยัดค่าใช้จ่ายและคุ้มค่ามากในระยะยาวนั่นเอง นอกจากนี้มาตรการเพื่อลดภาวะโลกร้อน เช่น ภาษีคาร์บอนหรือการซื้อขายการปลดปล่อยคาร์บอน ยิ่งเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของพลังงานนิวเคลียร์ ประสิทธิภาพที่ก้าวหน้าถูกคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จผ่านการออกแบบเครื่องปฏิกรณ์ขั้นสูงยิ่งขึ้น เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่ๆ มีประสิทธิภาพด้านเชื้อเพลิงมากขึ้นและมีค่าใช้จ่ายเงินทุนลดลงและไม่เกิดกากนิวเคลียร์
ในแง่หนึ่งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ก็กลายเป็นเป้าหมายที่นิยมในช่วงความขัดแย้งทางทหาร (และไม่เฉพาะแต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ยังรวมถึงโรงไฟฟ้าทั่วไป โรงงานผลิตน้ำประปา สะพาน เขื่อน ฯลฯ ที่อาจถูกโจมตีซ้ำแล้วซ้ำอีกในทางอากาศ ในการเข้าครอบครอง และในการรุกรานในดินแดนต่าง ๆ ในความเป็นจริงนั้นเป็นไปไม่ได้สำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เชิงพาณิชย์ที่จะระเบิดเหมือนกับระเบิดนิวเคลียร์เนื่องจากเชื้อเพลิงที่ไม่มีสมรรถนะเพียงพอสำหรับทำให้เกิดขึ้นอย่างนั้น เพื่อให้ทุกคนเบาใจลง ก็มีตัวอย่างให้เห็น เช่น
- ในเดือนกันยายนปี 2523 อิหร่านโจมตีด้วยระเบิดที่ศูนย์นิวเคลียร์ Al Tuwaitha ในอิรัก
- ในเดือนมิถุนายนปี 2524 โจมตีทางอากาศของอิสราเอลได้ทำลายสถานที่วิจัยนิวเคลียร์ของอิรัก
- ระหว่างปี 2527-2530 อิรักโจมตีด้วยระเบิดที่โรงงานนิวเคลียร์ Bushehr ของอิหร่านหกครั้ง
- ในปี 2534 สหรัฐฯทิ้งระเบิดสามเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในอิรัก
- ในปี 1991 อิรักยิงขีปนาวุธเข้าไปที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Dimona ของอิสราเอล แต่ไม่เคยมีปัญหาการระเบิด
หลายท่านอาจวิตกกับอุบัติเหตุนิวเคลียร์ Fukushima เมื่อปี 2554 นั้น เกิดจากความประมาทโดยแท้ เพราะขาดการบำรุงรักษาอย่างเหมาะสมเป็นเวลาหลายปี (ญี่ปุ่นก็ “ชุ่ย” เป็นเหมือนกัน) พีรวุฒิ บุญสุวรรณ และอนิรุทธ์ ทรงจักรแก้ว สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้สรุปไว้ในรายงานฉบับสมบูรณ์ “หกทศวรรษของอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ การเยียวยาความเสียหาย และปัญหาการจัดการกากกัมมันตรังสี” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ว่า “มีเพียงอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่เกาะทรีไมล์เท่านั้นที่เกิดจากการเดินเครื่องใช้งานอย่างแท้จริง ซึ่งอาจบ่งชี้ว่าการใช้งานโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มีความปลอดภัยสูง ในปัจจุบันเทคโนโลยีความปลอดภัยได้พัฒนาไปอย่างมาก จนถึงขั้นที่โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจนถึงขั้นแกนปฏิกรณ์หลอมเหลวไม่มีนัยสำคัญ”
ยิ่งกว่านั้นในระหว่างปี 2566 – 2573 ยังจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มขึ้นอีก 56 แห่งทั่วโลก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือว่าอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” โดยจะอยู่ในจีน 24 แห่ง อินเดีย 8 แห่ง ตุรกี 4 แห่ง อียิปต์ เกาหลีใต้ รัสเซีย ประเทศละ 3 แห่ง บังคลาเทศและอังกฤษ ประเทศละ 2 แห่ง นอกจากนี้ยังจะมีที่สโลวะเกีย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อาร์เจนตินา อินเดีย อิหร่านและอียิปต์ ประเทศละ 1 แห่ง
ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้เมียนมากำลังคุยกับรัสเซียเพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เมื่อปี 2564 กัมพูชาก็ลงนามข้อตกลงกับรัสเซียและจีนให้ช่วยพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เช่นกัน ถ้าเมียนมาและกัมพูชามีโรงไฟฟ้า คนที่กลัวนิวเคลียร์จน “__ขึ้นสมอง” คงต้องย้ายออกจากประเทศไทยแล้ว ยิ่งกว่านั้นอินโดนีเซียก็ยังมีแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ภายในปี 2482 (16 ปีนากปี 2566) เพื่อให้ประเทศหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงิน หากโรงไฟฟ้าโรงหนึ่งต้องลงทุนเป็นเงินประมาณ 400,000 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนโดยรวมจาก IAEA. Preparation of a Feasibility Study for New Nuclear Power Projects จะอยู่ที่ 10% ซึ่งรวมค่าดูแลรักษา ความเสี่ยงต่างๆ แล้ว ดังนั้นจึงต้องขายไฟฟ้าให้มีรายได้สุทธิประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี หรือพอๆ กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตามไฟฟ้านิวเคลียร์ในฐานะ “พระเอก” ได้ถูก “ป้ายสี” ให้เป็น “ผู้ร้าย” โดยพวกผู้ผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันและก๊าซ รวมทั้งพวก NGOs ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมืออีกต่อหนึ่ง จึงทำให้ไม่สามารถก่อสร้างได้ในขณะนี้ ต่อเมื่อก๊าซและน้ำมันร่อยหรอลง และการผลิตไฟฟ้าจากสายลมและแสงแดด ก็ยังมีราคาที่แพงกว่าไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ก็จะทำให้ “พระเอก” กลับมามีที่ยืน
แต่หลายคนก็อาจบอกว่าถ้านิวเคลียร์ดีจริง มีใครกล้าให้สร้างโรงไฟฟ้าอยู่หลังบ้านไหม ปรากฏว่าที่ Gravelines Nuclear Power Station ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสก็ตั้งอยู่ห่างจากบ้านชาวบ้านทั่วไปแค่ 2 กิโลเมตรเท่านั้น ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ตั้งอยู่ในญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Kashiwazaki-Kariwa Nuclear Power Plant ก็ตั้งอยู่ห่างจากย่านชุมชนเพียงแค่ 1 กิโลเมตร และห่างจากรุงโตเกียวไม่ถึง 200 กิโลเมตรเท่านั้น
ดังนั้นเราไม่พึงกลัวนิวเคลียร์ ยิ่งนานวัน ยิ่งมีเทคโนโลยีที่ปลอดภัย ถ้าประเทศไทยเรามีโรงไฟฟ้า ก็คงทำให้ประชาชนไทยมีไฟฟ้าราคาถูกมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม