ESG กับมูลค่าของหุ้น แบรนด์และอสังหาริมทรัพย์
  AREA แถลง ฉบับที่ 1054/2566: วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม 2566

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

             ตอนนี้คำว่า ESG กำลังดังเป็นอย่างมาก พูดกันทั่วทุกหัวระแหง ทั้งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทในตลาดหลักสี่ บริษัทมหาชน บริษัทมหานาค แม้แต่ในวงหน่วยงานสหประชาชาติทุกแห่งก็พูดถึงไปทางเดียวกัน รวมทั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์จากทั่วโลกก็พูดถึง ESG แล้วมันเกี่ยวข้องกับมูลค่าหุ้น แบรนด์และอสังหาริมทรัพย์อย่างไร

            ESG ย่อมาจาก Environmental Social and Governance โดยถือเป็นคำพูดสุดฮิต ที่เมื่อก่อนก็เรียกว่า Corporate Governance (CG) ต่อมาก็มาใช้คำว่า Corporate Social Responsibility (CSR) มาถึง Global Reporting Initiative (GRI) ตามมาด้วย United Nations Global Compact (UNGC) ล่าสุดก็มา ESG ในวงการประเมินค่าทรัพย์สิน the International Valuations Standards Committee (IVSC) ก็ว่าจะเอา ESG มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการประเมินค่าทรัพย์สิน โดยเฉพาะการประเมินธุรกิจ หรือ Business Valuation ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องแบรนด์

            จะสังเกตได้ว่าในแต่ละปีหรือสองปี เมื่อมีคำใหม่ๆ พวกหน่วยงานต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ก็เอาเรื่องฮิตของแต่ละยุคสมัยมาเล่น ทำอย่างกับว่าไม่มีอะไรอื่นทำ หากินกับศัพท์แสงหรือภาษาเฉพาะวงวิชาชีพ (Jargon) คำใหม่ๆ ไปวันๆ อย่างไรก็ตามในอนาคตก็อาจมีคำอื่นๆ โผล่ออกมาอีก อีก ทีนี้ IVSC และหน่วยงานต่างๆ คงปวดหัวกันพิลึกว่าจะยึดอะไรดีกันแน่สำหรับการทำธุรกิจให้ยั่งยืน (Sustainability)

            อันที่จริงเพื่อให้ไม่งง และในฐานะที่ผู้เขียนเคยสอนเรื่อง CSR และเรื่อง Soft Laws ในคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ก็ขอบอกกล่าวให้ชัดเจนว่า การมี ESG ก็คือการสร้างแบรนด์นั่นเอง  ถ้าเราทำธุรกิจแบบไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มุ่งแต่หวังผลกำไรเฉพาะหน้า ก็จะทำให้ธุรกิจไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร ส่งผลต่อการขาย และอาจทำให้ธุรกิจดังกล่าวไม่ยั่งยืน ไม่ได้มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งที่ทำให้สามารถสร้างรายได้เหนือคู่แข่งที่ไม่มีแบรนด์หรือมีแบรนด์ที่ด้อยกว่านั่นเอง

            การมี ESG นั้นคือการมีพันธกิจต่อผู้มีส่วนได้เสียกับวิสาหกิจ กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึง ผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) นั้นหมายถึงตั้งแต่ผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง ลูกค้า คู่ค้า (supplier) ชุมชนที่วิสาหกิจนั้นตั้งอยู่ ตลอดจนสังคมโดยรวม อย่างไรก็ตามวิสาหกิจทั่วไปมักนึกถึงผู้ถือหุ้นเป็นอันดับแรกโดยไม่คำนึงถึงกลุ่มอื่น ซึ่งแสดงว่าขาด ESG นั่นเอง และก่อให้เกิดปัญหาต่อสังคม      การที่เราจะมี ESG ย่อมหมายถึงการเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเหมาะสมโดยไม่ไปเบียดเบียนฝ่ายใด วิสาหกิจที่มี ESG ย่อมไม่ขูดรีดแรงงานลูกจ้าง ไม่ฉ้อโกงลูกค้า ไม่เอาเปรียบคู่ค้า ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือทำร้ายชุมชนโดยรอบที่ตั้งของวิสาหกิจด้วยการก่อมลพิษ วิสาหกิจที่ขาด ESG ย่อมสะท้อนถึงการขาดซึ่งความโปร่งใส ผู้บริหารในแทบทุกระดับมักหาผลประโยชน์เข้าตัวเองหรือฉ้อโกง

            แท้จริงแล้ว การมี ESG เป็นการทำธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย (แต่ถ้าใครจะทำให้ดีเกินมาตรฐานกฎหมายหรือจะบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมเพิ่มเติมก็อีกเรื่องหนึ่ง) หรืออีกนัยหนึ่งคือการไม่ทำผิด หมิ่นเหม่หรือหลบเลี่ยงกฎหมายแรงงาน กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญาในกรณีต่าง ๆ         ที่ผ่านมาเราเคยเห็นเจ้าของธนาคารโกงธนาคารตัวเองจนร่ำรวย บ้างก็ขโมยความคิดทางธุรกิจของลูกค้ามาทำเสียเองหรือปล่อยกู้ให้เครือญาติอย่างหละหลวม เห็นเจ้าของธุรกิจใหญ่โตล้มบนฟูก เห็นผู้บริหารวิสาหกิจมหาชนใช้จ่ายดั่งเจ้าสัวหรือไม่ก็ใช้ตำแหน่งหน้าที่ตั้งวิสาหกิจลูกขึ้นมาเหมาช่วงงานไปแบบผูกขาด แต่ทุกวันนี้คนเหล่านี้ก็ยังอยู่หลอกลวงสังคมในภาพลักษณ์ของคนดูดี ยังชูคอท่องมนต์ ESG อยู่อย่างไม่กระดากปาก อย่างนี้ไม่ได้สร้างแบรนด์อะไร

            โปรดสังเกตว่าวิสาหกิจที่มีโอกาสทำลายสิ่งแวดล้อม (หากไม่จัดการตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด) มักจะชูธง ESG เป็นพิเศษ เช่น วิสาหกิจวัสดุก่อสร้าง พลังงาน แร่ธาตุ เป็นต้น  วิสาหกิจเหล่านี้อาจจัดกิจกรรมเพื่อสังคมที่ดูคล้ายการให้เปล่าด้วยความใจกว้าง แต่ความจริงถือเป็นการลงทุนเพียงน้อยนิดที่คุ้มค่ายิ่งในการสร้างภาพพจน์ซึ่งจะช่วยให้วิสาหกิจนั้นสามารถประกอบการได้โดยสะดวกราบรื่น และที่สำคัญหากวันหลังเกิดพลาดพลั้งทำลายชีวิตและสิ่งแวดล้อม ก็อาจได้รับความปรานี “ผ่อนหนักเป็นเบา” ไม่ถูกชุมชนและสังคมลงโทษรุนแรงนั่นเอง

            บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มาเอาเปรียบใช้แรงงานราคาถูกในประเทศกำลังพัฒนา บริษัทค้าอาวุธ หรือบริษัทใหญ่โตในแต่ละประเทศเองที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากมาย มักชอบตั้งสำนักงานในอาคารเขียวที่รักษาสิ่งแวดล้อม อาคารเหล่านี้คิดค่าเช่าแพงกว่า แต่ก็มีคนเช่า เพราะเช่าอยู่แล้ว “ได้หน้า” ว่ารักษาสิ่งแวดล้อม บริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้ ก็ “ขนหน้าแข้งไม่ร่วง” ยินดีจ่ายเพื่อทำ ESG แบบลูบหน้าปะจมูก  พวกที่ปรึกษาหรือลูกจ้างของบริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้ก็จ้างที่ปรึกษามาเขียนรายงานหรูๆ ว่าตนได้ปฏิบัติตามหลัก ESG อย่างเคร่งครัด

            วิสาหกิจหลายแห่งเอาเปรียบคู่ค้าโดยขาดจริยธรรมอย่างเด่นชัด เช่น การยัดเยียดขายพ่วงสินค้า หรือการที่ห้างสรรพสินค้าบังคับให้วิสาหกิจสินค้าอุปโภคบริโภคแปะยี่ห้อของห้าง (house brand) แทนการให้โอกาสวิสาหกิจเหล่านั้นแจ้งเกิดยี่ห้อของเขา นอกจากนี้ยังมีการบีบคู่ค้าให้จัดหาสินค้า-บริการแก่ตนในราคาที่ต่ำสุดเพื่อเพิ่มโอกาสการเอาชนะในสงครามราคาเพื่อการครอบงำตลาดในอนาคต  จริยธรรมเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งเลื่อนลอยที่จะร้องขอความเมตตาจากวิสาหกิจรายใหญ่ที่ยืนอยู่ฐานะที่ได้เปรียบ แต่เป็นประเด็นความไม่เป็นธรรมที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยกฎหมายเพื่อประโยชน์ของวิสาหกิจส่วนใหญ่และโดยเฉพาะเพื่อประชาชนโดยรวม เช่น การออกกฎหมายป้องกันการผูกขาด กฎหมายป้องกันการทุ่มตลาด กฎหมายผังเมืองที่ห้ามการตั้งห้าง/ร้านค้าปลีกส่งเดช กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ห้ามการก่อสร้างอาคารที่ขาดซึ่งมาตรการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น เป็นต้น

            วิสาหกิจหลายแห่งที่ชู ESG กันหราอยู่นี้ไม่ได้ช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานเลยเพราะมักว่าจ้างกันตามค่าแรงขั้นต่ำที่แทบไม่เคยขยับเป็นหลัก (บางแห่งอาจ “ใจดี” จ้างสูงกว่าเล็กน้อยเพื่อดึงดูดแรงงานและลดความปวดห้วในการจ้างคนใหม่บ่อย ๆ) ถ้าคิดจะช่วยผู้ใช้แรงงานจริง ค่าแรงขั้นต่ำก็ต้องเพิ่มตามภาวะเงินเฟ้อ หาไม่ผู้ใช้แรงงานจะไม่มีวัน “ได้ผุดได้เกิด” แต่สำหรับนายจ้างและผู้ถือหุ้น แม้จะถูกกีดกันทางการค้าอย่างไร ก็ยังรวยขึ้นทุกวัน ดังนั้นวิสาหกิจใดที่ผู้ใช้แรงงานไม่ได้มีชีวิตที่ดีขึ้นทั้งที่ทำงานมาชั่วชีวิต (ถ้าไม่ใช่เพราะข้อจำกัดหรือความโชคร้ายของตัวเอง) วิสาหกิจนั้นย่อมไม่อาจถือได้ว่ามี ESG จริง

            การทำ ESG ที่แท้ต้องสะท้อนจากการสร้างแบรนด์ ลองพิจารณาธนาคารต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งมีแค่ 10 กว่าแห่ง ก็จะเห็นได้ว่าไม่มีธนาคารไหนมีแบรนด์ที่ดีเด่นกว่ากันมากนักเพราะเป็นธุรกิจกึ่งผูกขาด การสร้างแบรนด์จึงเป็นแค่การโฆษณามากกว่าหรือไม่ ถ้าไม่มีมูลค่าแบรนด์เท่าที่ควร ก็แสดงว่ายังไมได้ปฏิบัติตาม ESG อย่างจริงจังนั่นเอง ทุกวันนี้บริษัทพัฒนาที่ดิน 10 อันดับแรกก็ครองส่วนแบ่งในตลาดถึงครึ่งหนึ่ง แต่ก็ใช่ว่าบริษัทเหล่านี้จะมีแบรนด์ที่น่าเชื่อถือว่าบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์เสมอไป เพราะยังไม่มีการปฏิบัติตาม พรบ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา ที่คุ้มครองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง

            มี ESG จริงจะต้องสามารถวัดค่าได้เป็นตัวเงิน ไม่ใช่แค่การโฆษณาชวนเชื่อ

 

 

อ่าน 2,692 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved