อ่าน 3,709 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 117/2557: 19 สิงหาคม 2557
คสช. กรุณารับพิจารณาเรื่องเขื่อนแม่วงก์

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ตามที่ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานก่อตั้งมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) เพื่อนำเสนอผลการสำรวจความต้องการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 คสช. ได้ทำหนังสือตอบ ดร.โสภณ มาแล้วเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 ว่าได้ประสานไปยังกรมชลประทานพิจารณาและให้แจ้งผลให้ ดร.โสภณ ได้ทราบโดยตรงต่อไป

และต่อไปนี้เป็นผลการศึกษาที่นำเสนอ คสช. ดังนี้:

เกี่ยวกับการสำรวจ
          การสำรวจความเห็นของประชาชนได้ดำเนินการในระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2557 ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดคือวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ซึ่งน่าจะมีประชาชนพักผ่อนอยู่ที่บ้านเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในวันธรรมดา อาจต้องออกไปทำนาหรือทำงานอื่นแต่เช้า การสำรวจนี้กระทำโดยการพบปะกับประชาชนทั้งชายและหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปโดยประมาณ ซึ่งทุกคนต่างทราบข่าวเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ (ไม่มีใครไม่ทราบหรือไม่เคยได้ยินเลย) ประชาชนเหล่านี้พบในบริเวณต่าง ๆ ตามที่แสดงไว้ในแผนที่ เพื่อให้กลุ่มตัวอย่างมีการกระจายตัว โดยครอบคลุมถึง 5 อำเภอ โดยไม่ได้สำรวจในอำเภอโกรกพระ ซึ่งครอบคลุมในการสำรวจครั้งก่อนเพราะห่างไกลออกไปจากบริเวณที่จะสร้างเขื่อนเป็นอันมาก โดยแยกเป็นพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้:
          1. อำเภอแม่วงก์ (ไม่แยกเขตเทศบาลหรือนอกเขตเทศบาลเพราะเป็นอำเภอขนาดเล็ก)
          2. อำเภอชุมตาบง (ไม่แยกเขตเทศบาลหรือนอกเขตเทศบาลเพราะเป็นอำเภอขนาดเล็ก)
          3. อำเภอบ้านเปิน (ไม่แยกเขตเทศบาลหรือนอกเขตเทศบาลเพราะเป็นอำเภอขนาดเล็ก)
          4. เทศบาลตำบลลาดยาว (เป็นเทศบาลที่มีขนาดใหญ่พอสมควร)
          5. อำเภอลาดยาว (นอกเขตเทศบาล)
          6. เทศบาลนครนครสวรรค์
          7. อำเภอเมืองนครสวรรค์ (นอกเขตเทศบาล)
          สำหรับสาระในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนนี้ ก็คือความเห็นต่อการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งจะก่อสร้าง ณ บริเวณเขาสบกก ตำบลแม่เล่ย์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ว่าประชาชนมีความเห็นอย่างไร โดยแยกความเห็นออกเป็น
          1. เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ณ บริเวณดังกล่าว
          2. ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ณ บริเวณดังกล่าว หรือ
          3. ยังไม่แสดงความเห็น ซึ่งคงเป็นเพราะยังไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัดจึงยังไม่ได้ตัดสินใจ หรือตัดสินใจแล้วแต่ยังสงวนท่าทีไม่แสดงความเห็น
          จำนวนผู้ที่ได้สัมภาษณ์ทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 1,200 คน แต่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ทั้งหมด 1,086 คน

ผลการสำรวจความคิดเห็น

          ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน สามารถประมวลได้ดังนี้:
          1. ในเบื้องต้นพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 57% ต้องการให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ 16% ยังไม่ได้ตัดสินใจ และ 27% ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อน
          2. อย่างไรก็ตามสำหรับกลุ่มที่ยังไม่แสดงความเห็นนั้น ส่วนหนึ่งตัดสินใจแล้วแต่ยังสงวนท่าที ไม่แสดงความเห็น แต่ส่วนหนึ่งยังไม่ได้ตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่ง หากต้องตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่ง ก็คงต้องเลือกในที่สุด แต่ในเบื้องต้นนี้ หากตัดกลุ่มที่ยังไม่ได้แสดงความเห็นออก ให้เหลือเฉพาะกลุ่มที่ต้องการและไม่ต้องการเขื่อนแม่วงก์ สัดส่วนจะเป็น 69% และ 31%ตามลำดับ หรือมีสัดส่วนเท่ากับ 2:1 หรืออีกนัยหนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่าประชาชนประมาณสองในสามเห็นควรสร้างเขื่อนแม่วงก์
          โดยรวมแล้วประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ต้องการให้มีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะสังเกตได้ว่ามีประชากรอยู่จำนวนหนึ่งที่ไม่ตอบว่าให้ควรให้สร้างเขื่อนหรือไม่ กลุ่มนี้แม้มีจำนวนน้อยแต่ก็แสดงให้เห็นถึงการสงวนท่าทีในการตอบแบบสอบถาม ซึ่งคงเป็นผลจากความขัดแย้งในเรื่องนี้ที่ยังไม่ได้ข้อยุติโดยเร็ว อย่างไรก็ตามกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจก็ลดน้อยลงจากเดิม
          ข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือประชาชนในเขตเมืองอันได้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลมักไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน เพราะตนเองไม่ได้รับประโยชน์ด้วยโดยตรง แม้แต่ประชาชนในเขตชนบทแต่ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ประกอบอาชีพอื่น ก็มีเป็นจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน แต่ก็มีผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกร แต่เห็นใจเกษตรกร และเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนในจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

          จากตารางที่ 2 ข้างต้น ได้นำผลการสำรวจไปเทียบเคียงกับประชากรทั้งหมดในพื้นที่ศึกษาของจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งครอบคลุมประชากรประมาณ 422,868 คน แต่เป็นประชากรที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป 317,714 คน (75.1%) เมื่อนับร้อยละโดยแยกให้เด็ดขาดเป็นกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน จะพบว่าผลการสำรวจครั้งก่อน หากมีการลงประชามติ จะมีผู้เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน 219,871 คน ส่วนที่ไม่เห็นด้วยมี 97,843 คน หรือมีสัดส่วนเท่ากับ 69% ต่อ 31%
          ผลการสำรวจครั้งล่าสุดก็ออกมาในทำนองเดียวกัน โดยยังสมมติใช้จำนวนประชากรรวมตามเดิมเพื่อการเทียบเคียง ก็พบว่า จำนวนผู้เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ได้เพิ่มขึ้นเป็น 226,993 คน ส่วนที่ไม่เห็นด้วยได้ลดลงเหลือ 90,721 คน เทียบเป็นสัดส่วนเท่ากับ 71% ต่อ 29% นั่นเอง การที่มีประชาชนเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน อาจเป็นเพราะกระแสต้านเขื่อนลดลง

เสียงสะท้อนของประชาชน
          เกษตรกรหลายรายในเขตอำเภอลาดยาวแสดงความคิดเห็นว่าเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำซากทุกปีทำให้พื้นที่การเกษตรเสียหายมาก อย่างเช่นในปีล่าสุดนี้เมื่อน้ำป่าเริ่มไหลหลากมา เกษตรกรจำนวนมากก็ต้องเกี่ยวข้าวขึ้นมาก่อนเวลาอันสมควร และขายได้ในราคาเกวียนละเพียง 3,000 - 4,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ราคาประกันเป็นเงินเกวียนละ 13,000 บาท นับเป็นการขาดทุนและความสูญเสียของเกษตรกรเหล่านี้
          ในกรณีเขื่อนแม่วงก์นี้ประชาชนได้สรุปบทเรียนมานับ สิบ ๆ ปีแล้วว่าเขื่อนแม่วงก์จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้งได้ ก็ควรที่จะสร้าง เพราะได้ประโยชน์ต่อประชาชนถึง 127 หมู่บ้านใน 3 จังหวัด ซึ่งก็เป็นเฉกเช่นการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมให้กับนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ หาไม่บริษัทต่างชาติจะย้ายหนี ทำให้เศรษฐกิจชาติเสียหาย หรือนำเงินไปช่วยเยียวยาในกรณีประสบเภทภัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น

ข้อเสนอแนะ
          ปกติสังคมควรให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชน แต่ในกรณีเขื่อนแม่วงก์กลับไม่ให้ประชาชนในท้องถิ่นควรเป็นผู้ชี้ขาด กลับเห็นว่าประชาชนไม่รู้จริง/ฟังแต่นักการเมือง ซึ่งไมเป็นความจริง ประชาชนเรียนรู้ประสบการณ์ด้วยตนเอง บางคนบอกว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ต้องถามคนที่อื่นก่อน เพราะทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากร ถ้าเป็นเช่นนี้การที่ราชการใช้ภาษีมหาศาลสร้างสาธารณูปโภคมากมายกระจุกให้กับชาวกรุงเทพฯ ก็ต้องถามประชาชนจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เลย ยะลา ฯลฯ ด้วยเช่นกัน ในความเป็นจริง หากเป็นกรณีความเดือดร้อนของประชาชน ราชการก็สามารถนำเงินส่วนรวมมาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้
          ข้อเสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหานี้ก็คือให้ทุกฝ่ายนำเสนอข้อมูลเพื่อให้ประชาชนเข้าใจอย่างชัดเจน ไม่ใช่ต่างคนต่างให้ข้อมูล นอกจากนี้ ควรจัดการลงประชามติในหมู่ประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดใกล้เคียงที่การก่อสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทางราชการควรจัดประชุมประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเชิญทั้งเอ็นจีโอและหน่วยงานอื่น ๆ ให้เข้าร่วมประชุม และสื่อสารกับประชาชนโดยตรง จะได้ไม่ต้องฟังผ่านสื่อต่าง ๆ


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2025 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved