AREA แถลงฉบับที่ 111/2557 ผมเขียนเรื่องการ "กดความเจริญ กทม. แบบผิดๆ" ซึ่งทำให้กรุงเทพมหานครขยายตัวไปในแนวราบอย่างไร้ทิศผิดทาง ผมจึงเสนอทำเมืองให้มีความหนาแน่น (High Density) แต่ไม่แออัด (Overcrowdedness) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางและการใช้ชีวิตในเมือง ส่วนการจะขยายออกนอกเมืองต้องมีการวางแผน ทุกวันนี้ขาดการวางแผน นอกเขตผังเมืองรวม ก็สร้างอาคารกันส่งเดช มีทั้งโรงงาน อะไรต่อมิอะไรเต็มทุ่งไปหมด สุดท้ายการใช้ที่ดินก็เละเทะอยู่ดี
ต่อมาในฉบับวันที่ 11 สิงหาคม ผมเขียนให้เห็นว่า หน่วยราชการของรัฐจำนวนมากมายใจกลางเมือง ใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่เพราะเป็นอาคารแนวราบ และที่สำคัญ ไม่มีความจำเป็นต้องตั้งอยู่ใจกลางเมือง ถ้าย้ายออกไปก็จะสามารถนำที่ดินมาพัฒนาใหม่ได้มากมายเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ทำให้เมืองมีประสิทธิภาพในการใช้ที่ดินมากขึ้น ดูอย่างสิงคโปร์ที่มีความหนาแน่นของประชากรมากว่ากรุงเทพมหานคร 2 เท่า กลับแลดูไม่แออัด และน่าอยู่
มาฉบับนี้ผมขออนุญาตเขียนต่อเนื่องอีกตอนหนึ่ง โดยขอยกกรณีตัวอย่างของ "ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐" ศูนย์ราชการฯ แห่งนี้ก่อสร้างอย่างหลวม ๆ คือมีที่ว่างมากมาย และมีความสูงไม่มาก ดูแล้วน่าเสียดายพื้นที่ยิ่งนัก ทำไมจึงสร้างพื้นที่เพียงเท่านี้ คำตอบสำคัญก็คือพื้นที่นี้อยู่ในเขตปลอดภัยทางอากาศ สามารถสร้างสูงได้ไม่เกิน 45 เมตร ประเด็นการควบคุมความสูงจึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อพึงพิจารณา
ภาพที่ 1: ศูนย์ราชการฯ อยู่ห่างจากท้ายรันเวย์ของสนามบินดอนเมืองถึง 4.61 กิโลเมตร
แน่นอนว่าเราต้องมีการควบคุมความสูงสำหรับการจราจรทางอากาศ แต่คำถามก็คือ การควบคุมดังกล่าวเข้มงวดเกินไปหรือไม่ โดยที่ศูนย์ราชการฯ อยู่ห่างจากท้ายรันเวย์ของสนามบินดอนเมืองถึง 4.61 กิโลเมตร แต่เรากลับให้สร้างสูงอาคารสูงได้เพียง 45 เมตร ออกจะเป็นการควบคุมที่เข้มงวดเกินไป และเขตความปลอดภัยทางอากาศเป็นวงกว้างกินพื้นที่นับร้อยตารางกิโลเมตรเลยทีเดียว
ภาพที่ 2: อาคารอื่นที่ตั้งอยู่ใกล้สนามบินดอนเมืองยิ่งกว่า ก็ยังสร้างได้ค่อนข้างสูง
หากเทียบกับสนามบินเชียงใหม่ จะเห็นได้ว่าบริเวณใกล้เคียงมีเทือกเขาสูงใหญ่คือดอยสุเทพ แต่ก็ยังสามารถสร้างสนามบินได้โดยแทบไม่มีอุบัติเหตุทั้งที่มีเที่ยวบินถึงเกือบ 40,000 เที่ยวต่อปี และเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2482 หรือ 75 ปีมาแล้ว สนามบินแห่งนี้ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 316 เมตร และหากคิดจะระยะทางอยู่ห่างจากสนามบินเกิน 45 เมตร ก็จะห่างออกไปเพียง 1.33 กิโลเมตรเท่านั้น ในขณะที่ศูนย์ราชการฯ ที่มีความสูงเพียง 45 เมตร ตั้งอยู่ห่างจากดอนเมืองถึง 4.61 กิโลเมตร
ภาพที่ 3: ทัศนียภาพสนามบินเชียงใหม่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ดอยสุเทพ
ในอีกแง่หนึ่ง หากพิจารณาจากความสูงของดอยสุเทพ ณ ระดับที่สามารถสร้างตึกสูงเท่าตึกใบหยก 2 ซึ่งเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย (สูง 304 เมตร) ก็จะอยู่ในระยะทางประมาณ 2.7 กิโลเมตรจากหัวของสนามบินเชียงใหม่เท่านั้น คือ ณ ความสูง 620 เมตร (316 เมตร ณ ระดับความสูงของสนามบิน บวกด้วยความสูงของอาคารใบหยก 2 ที่ 304 เมตร) และเมื่อวัดไปถึงพระธาตุดอยสุเทพ ก็อยู่ห่างจากสนามบินเชียงใหม่เพียง 5.26 กิโลเมตรเท่านั้น ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การควบคุมความสูงของสนามบินดอนเมือง ออกจะควบคุมเข้มงวดเกินไปจริงๆ
ภาพที่ 4: การวัดระยะทางจากหัวสนามบินเชียงใหม่ไปยังดอยสุเทพ
ยิ่งหากพิจารณาถึงสนามบินไคตัก ซึ่งเป็นสนามบินของฮ่องกง ยิ่งเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน สนามบินไคตัก เริ่มใช้งานในปี 2468 ถึงปี 2541 รวมระยะเวลา 73 ปี แต่ต้องปิดตัวเองไปเพราะความแออัดอย่างยิ่งยวดของการจราจรทางอากาศ สนามบินแห่งนี้ถือเป็นจุดเด่นของการท่องเที่ยวฮ่องกงในสมัยก่อนก็ว่าได้ เพราะเครื่องบินๆ ต่ำมาก จนดูคล้ายจะชนอาคาร แต่ก็แทบไม่เคยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ณ สนามบินแห่งนี้เลย กรณีสนามบินไคตักนี้อาจถือเป็นประจักษ์หลักฐานสำคัญหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าการจำกัดความสูงที่เข้มงวดจนเกินไป ถือเป็นการดำเนินการที่เกิดเหตุจริงๆ
ภาพที่ 5: ภาพเครื่องบินๆ อยู่ในระดับต่ำ ณ สนามบินไคตัก (http://i.imgur.com/uTglBzi.jpg)
หันกลับมาดูที่ "ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐" ศูนย์ราชการฯ แห่งนี้มีพื้นที่รวม 349 ไร่ โดยแบ่งเป็นการพัฒนาระยะแรก 100 ไร่ ระยะที่ 2 จำนวน 197 ไร่ และระยะที่ 3 จำนวน 152 ไร่ มีพื้นที่ก่อสร้าง 929,800 ตารางเมตร แต่หากพิจารณาจากว่าบริเวณนั้นมีหน่วยราชการทั้งทหารและพลเรือนอยู่เป็นจำนวนมาก และนำมาพัฒนาร่วมกัน พื้นที่ดังกล่าวนี้จะมีขนาดถึง 4.16 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,600 ไร่เลยทีเดียว ซึ่งมีขนาดมากกว่าเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและสัมพันธวงศ์รวมกัน (3.347 ตารางกิโลเมตร) ถึง 24% หรือมีขนาดถึง 75% ของเขตบางรัก
เขตบางรักมีประชากรอยู่ 46,114 คน หรือ 8,324 คนต่อตารางกิโลเมตร ในขณะที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและเขตสัมพันธวงศ์มีประชากรรวมกันถึง 77,024 คน หรือ 23,107 คนต่อตารางกิโลเมตร และหากพัฒนาเยี่ยงสิงคโปร์ที่ให้คนอยู่ในอาคารสูง ก็จะมีความหนาแน่นของประชากร 8,000 คนต่อตารางกิโลเมตรเลยทีเดียว หากนำพื้นที่ศูนย์ราชการฯ และพื้นที่ราชการโดยรอบขนาด 4.16 ตารางกิโลเมตร มาพัฒนาด้วยอัตราความหนาแน่นที่ 8,000 คนต่อตารางกิโลเมตร ก็จะมีประชากรอยู่ได้ถึง 33,280 คนเลยทีเดียว
ภาพที่ 6: ขนาดที่ดินศูนย์ราชการฯ และพื้นที่ราชการโดยรอบรวม 4.16 ตารางกิโลเมตร
ในการทำศูนย์ราชการฯ สมควรที่จะวางแผนการขนส่งแต่แรก แต่ในประเทศไทยการวางแผนดำเนินการได้อย่างยากลำบาก ศูนย์ราชการสร้างเสร็จแล้ว แต่ไม่มีระบบคมนาคมที่ดี สิ่งที่ควรดำเนินการก็คือ
1. การสร้างทางด่วนเชื่อมตรงกับดอนเมืองโทลเวย์ เพื่อการระบายการจราจร
2. การสร้างทางด่วนเชื่อมตรงกับทางด่วนขั้นที่ 2 แจ้งวัฒนะ เพื่อการระบายการจราจร
3. การสร้างรถไฟฟ้า (มวลเบา) เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ถนนกรุงเทพฯ - นนทบุรี
4. การสร้างรถไฟฟ้า (มวลเบา) เชื่อมรถไฟฟ้า BTS และ MRT
5. การสร้างรถไฟฟ้ามวลเบา วิ่งเชื่อมอาคารต่าง ๆ ภายในศูนย์ราชการ
หากดำเนินการดังกล่าว จึงจะทำให้ศูนย์ราชการฯ มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เป็นศูนย์รวมของหน่วยราชการได้แทบทั้งหมด แทนที่จะเป็นเฉพาะหน่วยราชการใหม่ ๆ และหน่วยราชการเดิมบางส่วนที่ขยายตัวเป็นหลัก ทั้งนี้รถไฟฟ้าที่ควรสร้างอาจเป็นแบบมวลเบา หรือรถไฟฟ้าตามปกติก็ได้
ภาพที่ 7: ระบบคมนาคมที่ควรมีก่อนเปิดใช้ศูนย์ราชการ (ด้วยซ้ำ)
ภาพที่ 8: ระบบรถไฟมวลเบาเช่นในสิงคโปร์ที่สามารถเชื่อมระหว่างอาคารในศูนย์ราชการฯ
พื้นที่ 2,600 ไร่ หรือ 4.16 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่ของศูนย์ราชการฯ และส่วนราชการโดยรอบนี้ สามารถนำมาพัฒนาได้อย่างมหาศาล ดังนี้
1. พื้นที่ดินที่ใช้ก่อสร้างให้เพียง 50% หรือ 2.08 ตารางกิโลเมตรของทั้งหมด 4.16 ตารางกิโลเมตร
2. ณ พื้นที่ดินที่ใช้ก่อสร้าง 2.08 ตารางกิโลเมตรหรือ หากสามารถสร้างได้ 10 เท่าของขนาดที่ดิน ก็จะสามารถสร้างได้ถึง 20.8 ล้านตารางเมตร
3. หากใช้พื้นที่เพื่อการเป็นสำนักงานหรือการพาณิชย์อื่น ๆ เพียง 50% หรือ 10.4 ล้านตารางเมตร ก็ยังมากกว่าอาคารสำนักงานในกรุงเทพมหานครทั้งหมดรวมกัน 8 ล้านตารางเมตร สามารถใส่อาคารราชการได้เกือบทั้งหมด รวมทั้งอาคารอื่น ๆ เช่น หอประชุม โรงแรม ที่พักอาศัยได้อีกด้วย
ยิ่งหากเชิญชวนให้ภาคเอกชนมาร่วมลงทุน ก็จะยิ่งจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมากจากการพัฒนาในเชิงพาณิชย์เช่นนี้
อย่างไรก็ตามข้างต้นเป็นเพียงแค่ความฝัน เพราะเราไม่สามารถที่จะสร้างได้แล้ว เนื่องจากมีส่วนราชการต่าง ๆ เข้าใช้พื้นที่ดินและอาคารที่ปลูกสร้างอย่างหลวม ๆ จึงได้แต่เพียงเสียดาย และที่น่าเสียดายมากกว่านี้ก๊คือ เมื่อ 40 ปีก่อน นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีคมนาคมในสมัยนั้น เคยคิดที่จะสร้างสนามบินดอนเมือง 2 บริเวณฝั่งตะวันตกของถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นทุ่งที่แทบจะหาผู้อยู่อาศัยไม่ได้เลย หากมีการก่อสร้างจริง ก็คงทำให้ย่านนี้ยิ่งมีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปอีก
การวางแผนพัฒนาเมืองต้องอาศัยแนวคิดเชิงปฏิวัติ ไม่ใช่แค่ปฏิสังขรณ์ "ปะผุ" ไปวัน ๆ ซึ่งไม่อาจทำให้เมืองน่าอยู่ได้ ส่วนบางคนเห็นแก่ไขปัญหาเมืองได้ยาก ก็คิดแต่จะ "ล้มกระดาน" ด้วยการย้ายเมืองหลวง ผมก็ได้แต่บอกว่าแนวคิดย้ายเมืองหลวงนี้ใช้ไม่ได้หรอกครับ บางประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เขายังไม่คิดย้าย การย้ายเมืองหลวงทำได้แต่ส่วนราชการ แต่เมืองหลวงทางเศรษฐกิจย้ายไม่ได้ เช่น กรุงเนปิดอว์กับนครย่างกุ้ง กรุงแคนบรากับนครซิดนีย์ กรุงบราซิเลียกับนครเซาเปาโล กรุงวอชิงตันดีซีกับนครนิวยอร์ก เป็นต้น
ต้องปฏิวัติแนวคิดการพัฒนาเมืองให้ได้ เพื่อลูกหลานไทยของเราเอง