อ่าน 2,255 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 123/2557: 26 สิงหาคม 2557
ยุคสมัยแห่งการสร้างเขื่อนมาถึงแล้วครับ

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ไม่ใช่แค่ทศวรรษหรือศตวรรษแห่งการสร้างเขื่อนนะครับ นี่คือยุคสมัยแห่งการสร้างเขื่อน เป็นแนวโน้มสำคัญของโลก เพราะน้ำขาดแคลนลงทุกวัน และพื้นที่สามในสี่ของโลกเป็นทะเล ดื่มไม่ได้ ยกเว้นกลั่นมาในราคาแพง!
          เราคงเคยได้ยินปัญหาซ้ำซากของไทย นั่นก็คือ น้ำท่วมและฝนแล้ง สลับกันไปทุกปีแถมยังมีท่วมซ้ำซาก แล้งซ้ำซากอีกต่างหาก เราจะแก้ปัญหานี้ได้ ก็ต้องสร้างเขื่อนเป็นสำคัญ ผมไปสอนนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเซียะเหมินเมื่อปีที่แล้ว พบว่าบนเขาที่นั่นเขาสร้างเขื่อนกันเต็มไปหมด เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้สอยยามฝนแล้ง และป้องกันน้ำท่วมยามฝนตกหนัก การปล่อยน้ำทิ้งไปโดยสูญเปล่านับว่าเป็นความสูญเสียอย่างหนึ่ง ดังนั้นเขื่อนจึงมีบทบาทใหม่ในปัจจุบันอีกบทบาทหนึ่งคือเป็นแหล่งผลิตประปาให้กับท้องถิ่นอีกต่างหาก

รูปที่ 1: เขื่อนและอ่างเก็บน้ำเต็มเขาในนครเซียะเหมิน เขาไม่ปล่อยน้ำให้สูญเปล่า

          แต่ท่านทราบหรือไม่ขณะนี้แม้แต่ธนาคารโลกที่เคยค้านการสร้างเขื่อน ก็กลับลำมาสนับสนุนการสร้างเขื่อนกันยกใหญ่ นัยว่าเพื่อผลิตไฟฟ้าสะอาด {1} และเป็นการส่งเสริมความเขียวชอุ่มของป่าอีกต่างหาก ประธานธนาคารโลกกล่าวว่าการสร้างเขื่อนยังถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการสร้างพัฒนาเศรษฐกิจและการกินดีอยู่ดีของประชาชนในประเทศยากจน เพราะเขื่อนนอกจากผลิตไฟฟ้าแล้วยังทำการประปา ประมง ท่องเที่ยว ชลประทาน แก้น้ำท่วม ฝนแล้ง โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนขนาดเล็กๆ เช่น เขื่อนแม่วงก์ของไทย ซึ่งมีการก่อสร้างกันอย่างแพร่หลายในหลายๆ ประเทศทั่วโลกในขณะนี้
          แต่เมื่อเร็วๆ นี้ เราได้ข่าว "เวียดนามโละอีก 12 เขื่อน ระบุชัดตัวการทำลายป่า-สภาพแวดล้อม" {2} โดยล่าสุดมีเขื่อนหนึ่งแตกทำให้บ้านเรือนและพืชผลเสียหาย สัตว์เลี้ยงตาย แต่เคราะห์ดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่หากอ่านข่าวให้ละเอียดจะพบว่าเขื่อนที่ยกเลิกไปนั้นเกือบทั้งหมดเป็นของนักลงทุนเอกชน (จีน) ที่ไม่มีความรู้พอเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาอย่างรีบเร่ง รวมทั้งจ้างบริษัทก่อสร้างที่ขีดความสามารถไม่เพียงพอในการดำเนินโครงการ บางโครงการฉวยโอกาสเปลี่ยนรายละเอียด หรือดัดแปลงแก้ไขโดยพลการ
          ข่าวนี้ออกเป็นการดูด้านเดียวหรือ "แหกตา" ประชาชน พื้นที่ๆ เขาสร้างเขื่อนและมีเขื่อนแตกที่เห็น ก็จะล้อมรอบด้วยเขาหัวโล้นบ้าง อดีตป่าเสื่อมโทรมบ้าง ก็คงคล้ายกับกรณีเขื่อนแม่วงก์ของไทยที่สร้างในบริเวณชายของป่าตะวันตกที่เป็นอดีตป่าเสื่อมโทรมที่เพิ่งฟื้นฟูต้นไม้ขึ้นมา และรายล้อมด้วยรีสอร์ตของชาวบ้านหลายสิบแห่ง ในความเป็นจริง เวียดนามผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำถึง 45% {3} ในขณะที่ไทยผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนแค่ 11% เท่านั้น เขาอาศัยเขื่อนเป็นหลัก เขื่อนที่ถูกยกเลิกไปเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เขาไปไกลกว่าไทยมากมายแล้ว ไทยเรามัวแต่ถูกขัดแข้งขัดขาโดยพวกเอ็นจีโอต่อต้านการสร้างเขื่อน จนเราถอยหลังเข้าคลองกันไป แม้แต่โรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลก็ยังต้าน อย่าว่าแต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งเวียดนามจะสร้างหลายแห่งห่างจากไทยเพียง 300-700 กิโลเมตรเท่านั้น
          บางคนก็อ้างรอยเลื่อนของเปลือกโลก บอกว่าเมืองไทยไม่ควรสร้างเขื่อนมากมาย เดี๋ยวเขื่อนจะแตก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหวอย่างที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็ว่าได้ ผมขออนุญาตนำ Hard Fact หรือข้อเท็จจริงที่ชัดและจะแจ้งมาให้ดู นั่นก็คือจำนวนเขื่อนที่มีอยู่มากมายนับได้ถึง 3,116 เขื่อน {4} โปรดดูรูปภาพประกอบ Japanese Dam Finder {5} ญี่ปุ่นมีเขื่อนมากมายทั้งที่ตั้งอยู่ในแนวอันตรายที่สุดของแผ่นดินไหวของโลก

รูปที่ 2: ในญี่ปุ่นมีเขื่อนถึง 3,116 แห่งทั้งที่อยู่ในลอยเลื่อนแผ่นดินไหว

          คนไทยเรากลัวเกินไป อย่างกรณีพ่อของเด็กชายปลาบู่ ก็ถูก "จำคุกพ่อปลาบู่ 15 วัน ปรับ 500 บาท ศาลสั่งหุบปากห้ามพูดเพ้อเจ้อทำคนแตกตื่นอีก" {6} ว่าเขื่อนภูมิพลจะแตกในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ทั้งนี้หลังศาลตัดสินพ่อของเด็กชายปลาบู่ได้ยกมือขอโทษชาวเมืองตากที่ทำให้ตื่นตกใจ วุ่นวาย สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ดังนั้น เราจึงควรบวกลบคูณหารคำพูดของพวกเอ็นจีโอให้ดี ซึ่งบางส่วนก็มองในแง่ร้ายจนเกินไป

รูปที่ 3: การกล่าวเลื่อนลอยหาว่าเขื่อนภูมิพลจะแตก ทำคนตกใจ ติดคุกมาแล้ว

          ความจริงแล้วปรากฏการณ์เขื่อนแตกจริงมีให้เห็นอยู่มากมายเช่นกัน แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และต้องแก้ไข คนเราต้องพยายามเอาชนะธรรมชาติ ไม่ใช้แค่ปรับตัวตามธรรมชาติแบบพวกสัตว์เดรัจฉาน มีกรณีเขื่อน Tuam Sauk ในมลรัฐมิสซูรี {7} ปรากฏว่าปัจจุบันเป็นเขื่อนที่ได้รับรางวัลสิ่งก่อสร้างของประเทศ แต่ครั้งหนึ่งในอดีต เคยรั่วไหล ทำให้ป่าไม้พังพินาศไปหนหนึ่งแล้ว แต่สหรัฐอเมริกาก็ไม่เข็ด เขาก่อสร้างใหม่ดีกว่าเดิม และกลายเป็นสาธารณูปโภคสำคัญของมลรัฐนี้ในการใช้ผลิตไฟฟ้าใช้สอยโดยไม่ง้อถ่านหิน น้ำมันหรือนิวเคลียร์

รูปที่ 4: เขื่อน Taum Sauk ในมลรัฐมิสซูรีเคยพังทลายลงมาทีหนึ่งแล้ว

          บางท่านยังกังวลว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ในความเป็นจริง เขื่อนมีอายุขัยทางกายภาพชั่วอายุขัย ตราบนานเท่านาน แต่อายุขัยทางเศรษฐกิจมีตั้งแต่ 50-100 ปีขึ้นไป ซึ่งใช้ได้นานเกินคุ้ม ยิ่งกว่านั้นในยุโรป และสหรัฐอเมริกา เขาใช้ไฟฟ้าจากนิวเคลียร์มากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงมีบางกรณีที่เขาทุบทิ้งเขื่อนที่ไม่จำเป็นและหมดอายุขัยทางเศรษฐกิจแล้ว แต่พวกเอ็นจีโอกลับนำมาโพนทะนาว่าเขาเลิกสร้างเขื่อนแล้ว ทั้งที่นับแต่นี้ไป เขาจะสร้างเขื่อนกันขนานใหญ่ทั่วโลก
          อย่างในกรณีเขื่อนแม่วงก์ สามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้:
          1. เมื่อปี พ.ศ.2525 ด้วยเงินเพียง 3,761 ล้านบาท ป่านนี้คุ้มทุนไปแล้ว แต่มาในปี พ.ศ.2556 เพิ่มขึ้นเป็น 13,000 ล้านบาทตามข้อมูลของกรมชลประทาน {8}
          2. ในระยะเวลา 32 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของค่าก่อสร้างนี้ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3.952% ตามสูตร =((13,000/3,761)^(1/32))-1 ซึ่งถือว่าค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นไม่มากนักในช่วง 32 ปีที่ผ่านมา
          3. หากขณะนั้นกู้เงินมาทำโครงการด้วยเงิน 3,761 ล้านบาท ณ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 8% เป็นระยะเวลา 15 ปี ก็เท่ากับผ่อนชำระคืนเพียงปีละ 419 ล้านบาท หรือเดือนละ 37 ล้านบาท หรือ =8%/(1-(1/(1+8%)^15))*3,761 และตอนนี้ก็ผ่อนหมดไปแล้ว 16 ปี
          4. หากสมมติให้ผลตอบแทนจากเขื่อนเป็นเงิน 5% ของ 3,761 ล้านบาทหรือ 188 ล้านบาทต่อปี และเก็บกินมาได้แล้ว 24 ปี (32 ปีที่ผ่านมาลบด้วย 8 ปีในการก่อสร้าง) ก็จะได้เม็ดเงิน ณ อัตราดอกเบี้ย 3.952% เป็นเงินถึง 7304.4 ล้านบาท หรือ =((((1+3.952%)^24)-1)/3.952%)*(3761*0.05) นี่คือโอกาสที่สูญเสียไปจากการไม่ได้สร้างเขื่อนแม่วงก์
          โลกเปลี่ยนไป เราก็ต้องปรับตัวตามความเป็นจริง ทุกอย่างมีบวกและลบ แต่อย่าลืมว่าเขื่อนมีคุณูปการต่อทั้งสัตว์ป่า ได้มีแหล่งน้ำและอาหาร ต่อป่าไม้ได้เขียวชอุ่ม มีน้ำดับไฟป่า (เช่นที่แม่วงก์เกิดปีละนับร้อยหน) และต่อประชาชนคนเล็กคนน้อยนั่นเอง

อ้างอิง
{1} World Bank turns to hydropower to square development with climate change: www.washingtonpost.com/business/economy/world-bank-turns-to-hydropower-to-square-development-with-climate-change/2013/05/08/b9d60332-b1bd-11e2-9a98-4be1688d7d84_story.html
{2} ข่าว เวียดนามโละอีก 12 เขื่อน ระบุชัดตัวการทำลายป่า-สภาพแวดล้อม www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9570000093347
{3} ดูรายละเอียดที่ www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/vm.html
{4} ดูรายละเอียดที่ www.icold-cigb.org/GB/World_register/general_synthesis.asp?IDA=206
{5} ดูรายละเอียดที่ maps.ontarget.cc/dams/en.html
{6} ข่าว จำคุกพ่อปลาบู่15วันปรับ500บาท (คมชัดลึก) http://goo.gl/fpp2B0
{7} เขื่อนรูปหัวใจ Ozark Constructors Receives Award of Excellence from USSD: www.fredweberinc.com/news/ozark-constructors-recieves-award-of-excellence-from-asdso-/
{8} ดูรายละเอียดที่ http://maha-arai.blogspot.com/2013/09/blog-post_25.html


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved