อาจารย์วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ผู้เพิ่งวายชนม์ไป เป็นเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของผมครับ ท่านเข้าเรียนก่อนผม 1 ปี คือเข้าปี 2518 ส่วนผมเข้าปี 2519 พวกเราสนิทสนมกันมาตั้งแต่นั้นมาแม้ไม่ได้เรียนมัธยมมาด้วยกัน (ท่านจบวัดสุทธิฯ ส่วนผมจบเทพศิรินทร์) ท่านยังเป็นกรรมการที่ปรึกษาของบริษัทของผม
ผมเริ่มรู้จักอาจารย์วสันต์เมื่อปี 2521 (46 ปีก่อน) ตอนนั้นท่านซึ่งเรียนอยู่คณะนิติศาสตร์ไปจีบเพื่อนของผม คือคุณเพ็ญศรี ภวะคงบุญ ซึ่งเป็นสุภาพสตรีดีงาม เธอเป็นประธานคณะกรรมการนักศึกษา คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ผมก็ได้แต่เชียร์อาจารย์วสันต์ เพราะท่านเป็นคนที่จริงจัง เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ได้จีบทิ้งๆ ขว้างๆ มีความจริงใจ ใส่ใจ และที่สำคัญเป็นเพื่อนรุ่นพี่ที่เอื้ออาทรแก่พวกเราเป็นอย่างยิ่ง เราจึงเป็นกัลยาณมิตรต่อกันนับแต่นั้นมา
พอจบการศึกษาในปี 2522 ท่านก็ได้มีโอกาสไปทำงานอยู่ฝ่ายกฎหมาย การเคหะแห่งชาติ เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานด้วยดี ท่านมีกัลยาณมิตรอีกท่านชื่อศาสตราจารย์วิกรณ์ รักษ์ปวงชน ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นร่วมคณะของท่านเลย และไปทำงานการเคหะแห่งชาติด้วยกัน ช่วยกันเขียนวารสารภายในของการเคหะแห่งชาติในนามปากกา “กรณ์กะสันต์” อาจารย์วสันต์ยังอารมณ์ดีบอกกับคนใกล้ชิดว่ากะจะตั้งชื่อว่า “กรกระสัน” ก็อาจจะดูไม่ค่อยดี (ฮา) ผมก็ตามไปเป็นลูกจ้างการเคหะแห่งชาติในช่วงปี 2524-2525 ที่ศูนย์วิชาการที่อยู่อาศัย
ต่อมาทั้งอาจารย์วสันต์ และอาจารย์วิกรณ์ต่างก็ลาออกจากการเคหะแห่งขาติ ส่วนผมก็ไปเรียนต่อ และทำงานหลายที่จนถึงปี 2534 ผมได้ตั้งบริษัทของผมเองชื่อ บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เป็นศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ผมก็เป็นแค่คนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ผมจึงได้เชิญอาจารย์วสันต์ซึ่งตอนนั้นมีชื่อเสียงระบือในฐานะนักพูดแล้ว มาเป็นกรรมการที่ปรึกษา ท่านก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง และให้คำปรึกษาเรื่อยมา เวลาทำบุญขึ้นบริษัทใหม่ ท่านก็มาร่วมงานด้วยบ่อยครั้ง จัดอบรมเพื่อนร่วมงานรายปี ท่านก็มาให้ความรู้กับเพื่อนร่วมงานของผมบ่อยๆ
บางครั้งจัดเลี้ยงปีใหม่ในโรงแรมไกลๆ ท่านก็ยังตามไปช่วยพูด ท่านยังแซวว่าที่ไหนที่ถูกๆ พวกเรามักชอบไป แม้จะไกลก็ตาม เพราะขณะนั้นพวกเรายังเป็นบริษัทเล็กๆ จึงต้องประหยัดต้นทุนเอามากๆ ในช่วงแรกมีอยู่ครั้งหนึ่งท่านเข้าใจว่าเราไปจัดงานปีใหม่ที่โรงแรมแถวสุวินทวงศ์ แต่เราจัดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กว่าท่านจะหาโรงแรมเจอก็ปาไปถึง 2 ทุ่ม ท่านก็ไม่ย่อท้อ อุตส่าห์มาให้พวกเราจนได้
ผมจัดสัมมนาวิชาการหลายต่อหลายครั้งก็ยังเชิญอาจารย์วสันต์มาเป็นผู้ดำเนินการสัมมนาเพื่อให้ข้อคิดเพิ่มเติม ให้ความสนุกสนาน จะได้ไม่เครียดกับตัวเลข ซึ่งท่านก็เป็นที่ชื่นชอบของผู้เข้าร่วมสัมมนาเสมอมา จนมีอยู่ครั้งหนึ่งผมจัดงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และมีการเลื่อนออกไป แต่น้องเลขาฯ ของผมลืมเรียนท่าน ท่านไปถึงที่นั่น รออยู่นานสองนาน ปรากฏว่าไม่พบงาน ไม่พบผม ไม่พบใครเลย ผมมาทราบภายหลัง จึงต้องนำกระเช้าไปคุกเข่าขออภัยถึงบ้านท่านซึ่งตอนนั้นอยู่ที่ถนนนิมิตใหม่ และท่านก็เมตตาให้อภัยผม
มาภายหลังที่การเมืองแบ่งสีมาตั้งแต่ก่อนปี 2549 อาจารย์วสันต์กับผมก็ไม่ค่อยได้พบกัน ผมก็ไม่รู้ว่าอาจารย์ท่านชอบสีไหน เพราะเกือบ 20 ปีมาแล้วที่เราจะคุยกับใครก็ต้องรู้ไว้ก่อนว่าท่านเป็นคนสีอะไร จะได้ไม่ทำให้ผู้ที่เราพูดด้วยเสียความรู้สึก ที่ไม่รู้ว่าท่านมีทัศนคติอย่างไรก็เพราะทั้งอาจารย์วสันต์และผมต่างไม่เคยไปร่วมชุมนุมกับสีใด ไม่ได้ไปร่วมปราศรัยกับสีไหน อย่างมากก็ได้แค่บังเอิญผ่านไปสังเกตการณ์เท่านั้น
อย่างไรก็ตามผมก็ดีใจเป็นอย่างยิ่งว่า อาจารย์วสันต์มีความรักในประชาธิปไตยอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เพราะในช่วงที่เรียนธรรมศาสตร์ มีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาถูกปราบปรามและมีทหารกลุ่มหนึ่งออกมาทำรัฐประหาร พวกเรานักศึกษาไม่ชอบรัฐประหาร เพราะเป็นการล้มกระดานประชาธิปไตย หลังเหตุการณ์ดังกล่าว หลายคนก็เปลี่ยนสีแปรธาตุ ถ่มน้ำลายรดฟ้า ไปเข้ากับกลุ่มผู้มีอำนาจ แต่อาจารย์วสันต์กับผมก็ยังยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ผมจึงยิ่งนับถืออาจารย์วสันต์ยิ่งๆ ขึ้น
ผมทราบดีว่าท่านเป็นนักพูดที่ยิ่งใหญ่ ผมมักแซวท่านว่าท่านเป็นนักพูด “หนึ่งในล้าน” คือประชากรไทย 66 ล้านคน ผมว่าท่านเป็นนักพูดระดับแนวหน้าอย่างแท้จริงของเมืองไทย อยู่ในหนึ่งใน 66 สุดยอดนักพูดนี่แหละ สุดยอดนักพูดอย่างอาจารย์จตุพล ชมพูนิช ก็เริ่มทำงานที่สถาบันฝึกอบรมแมนพาวเวอร์ที่อาจารย์วสันต์ได้ตั้งขึ้น ผมเองไม่เคยคิดเอาดีด้านการพูด แต่ก็เคยปรึกษาอาจารย์เหมือนกันว่าจะพูดให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบันได้อย่างไรเพราะผมมักพูดพรั่งพรูด้วยตัวเลขมากมาย ท่านบอกว่าผมเน้นแต่ข้อมูลความรู้เป็นสำคัญ ใช้สไตล์ตามปกติก็พอ
ในช่วงสุดท้ายของชีวิตของท่านราวๆ 1 ปีก่อน ผมก็ได้ปรึกษากับท่านในเรื่องสำคัญต่างๆ ท่านก็ให้ความเมตตาช่วยผมอยู่ตลอดเวลา เสียดายแต่ว่าในช่วง 3-4 เดือนหลังมานี้ ผมก็ไม่ได้ติดต่อกับอาจารย์เลย มาทราบอีกทีก็คือท่านเสียชีวิตแล้ว คุณเพ็ญศรี ก็บอกว่าแม้อาจารย์จะเป็นมะเร็งตับมา 3 ปีแล้ว แต่ก็แทบไม่มีอาการนัก และไม่ปริปากบอกใคร ผมเองก็ไม่รู้ ท่านมีอาการหนักในช่วงเดือนสุดท้าย และหลังจากเข้าโรงพยาบาลได้ 3-4 วันท่านก็จากไปอย่างสงบ
อาจารย์วสันต์ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2499 และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 สิริรวมอายุได้ 67.7 ปี หรือเป็นเวลารวม 24,706 วัน เสียดายท่านน่าจะอยู่ถึงอย่างน้อยก็ 80 ปี หรืออีก 4,513 วัน แต่วันเวลาที่ท่านอยู่มาก็ถือว่าอยู่อย่างสร้างสรรค์และยิ่งใหญ่ ตายอย่างมีเกียรติ มีผู้นับถือมากมายไปร่วมงานศพ ไปส่งท่านในวันฌาปนกิจศพ ผมจึงอดภูมิใจแทนท่านมิได้
ท่านอยู่ด้วยความหวัง ท่านเคยเขียนไว้ในเฟสบุ๊กเมื่อ 2 สิงหาคม 2566 ว่า:
“แม้ไม่มี วี่แวว แสงสว่าง ที่ปลายทาง ของอุโมงค์ เมืองไทยนั่น
อดทนจับ มือไว้ ไปด้วยกัน ต้องมีวัน เห็นประกาย ปลายอุโมงค์"
ผมขอกราบคารวะอาจารย์วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ มา ณ ที่นี้