อสังหาริมทรัพย์แหลมยามู มายังไง
  AREA แถลง ฉบับที่ 184/2567: วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2567

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            กรณี “ฝรั่งเตะหมอ” จนบานปลายไปใหญ่ ประเด็นหนึ่งที่พึงพิจารณาก็คือ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บริเวณดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สินพบว่า ที่บริเวณส่วนใหญ่ของแหลมยามู หรือบ้านยามู หมู่ 7 ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ปรากฏในระบบการค้นหาแปลงที่ดินหรือ LandsMaps แต่อาจเป็นเอกสารสิทธิ์ประเภท น.ส.3 หรือเอกสารการครอบครองที่ดินอื่น เช่น ส.ป.ก.4-01 เป็นต้น

 

รูปที่ 1: แผนที่รูปแปลงโฉนดแหลมยามู ไม่พบมีเอกสารสิทธิ์ประเภทโฉนดที่ดิน

 

            อย่างไรก็ตามจากภาพถ่ายทางอากาศเมื่อเดือนธันวาคม 2528 พื้นที่ส่วนใหญ่ยังปกคลุมด้วยต้นไม้ และอาจไม่ใช่พื้นที่เกษตรกรรม และคาดว่าคงจะยังมีป่าชายเลนและมีแนวปะการังอยู่เป็นอันมาก

 

 

รูปที่ 2: ภาพถ่ายดาวเทียม บริเวณแหลมยามู เดือนธันวาคม 2528

 

            สำหรับปี 2547 เริ่มมีการแบ่งแปลงที่ดินในพื้นที่ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีการก่อสร้างใดๆ ที่เริ่มมีการพัฒนาก็เพราะมีการสร้างท่าเรือทำให้มีการเดินทางสัญจรเพิ่มมากขึ้น

 

รูปที่ 3: ภาพถ่ายดาวเทียม บริเวณแหลมยามู เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2547

 

            จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553 เริ่มมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่แหลมยามูจนมีสภาพเช่นในปัจจุบัน ทั้งนี้เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน เพราะก่อนหน้านี้ ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่ดินแถวนั้นยังไม่มีการพัฒนาใดๆ นี่แสดงว่าภายใน 1 ปีมีการพัฒนาอย่างขนานใหญ่ในพื้นที่นี้

 

รูปที่ 4: ภาพถ่ายดาวเทียม บริเวณแหลมยามู เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553

 

            พื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านยามูนี้ มีประชากรแทบไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมากนักคือจำนวนประมาณ 846 คนในปี 2564 ที่มีข้อมูลล่าสุด และในปี 2559 ที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน คือ 846 คน ปรากฏว่า 836 พบจำนวนครัวเรือนถึง 503 ครัวเรือน ในพื้นที่ทั้งหมด 2,100 ไร่ โดยในที่นี้มีพื้นที่ 366.33 ไร่ที่ทำการเกษตรรวม 44 ครัวเรือน แสดงว่าที่มาอยู่อาศัยส่วนใหญ่มีบ้านที่สร้างขึ้นมาใหม่ แต่ไม่ค่อยมีผู้อยู่อาศัย

 

ตารางที่ 1: ประชากรในหมู่บ้านยามู พ.ศ.2559-2564

ปี          ชาย       หญิง      รวม       อ้างอิง

2559    415      421      836      https://cutt.ly/wwM3uklD

2562    428      427      855      www.paklok.go.th/content/information/2

2563    429      432      861      www.paklok.go.th/content/information/2

2564    426      420      846      www.paklok.go.th/content/information/2

 

            จะเห็นได้ว่าจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งไม่มีโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อการขาย แต่เป็นโรงแรมและวิลล่าให้เช่าเป็นหลัก อาจเป็นตัวทำให้ปะการังในพื้นที่เสียหายอย่างหนัก จนอาจไม่สามารถแก้ไขให้กลับมามีสภาพเดิมได้ เว้นแต่ต้องลงทุนเพาะขึ้นมาใหม่ ซึ่งคงต้องมีค่าใช้จ่าย ซึ่งพีงเรียกเก็บจากผู้ที่สร้างความเสียหายเหล่านี้

 

รูปที่ 5: แผนที่แนวปะการังบริเวณตอนกลางและตอนล่างจังหวัดภูเก็ต (บริเวณแหลมยามู เสียหายมาก)

ที่มา: https://dmcrth.dmcr.go.th/attachment/dw/download.php?WP=rUqjMT00qmMZG22DM7y04TyerPMjA20kqmIZZz1CM5O0hJatrTDo7o3Q

 

            ยิ่งกว่านั้นจากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังพบว่า บริเวณแหลมยามูและบริเวณใกล้เคียง ไม่มีป่าชายเลน มีแต่พื้นที่เพื่อการเกษตรกรรม และมีหินโสโครกอยู่โดยรอบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งปะการัง ซึ่งในปัจจุบันคงเสียหายไปหมดแล้ว

 

ภาพที่ 6: แผนที่การใช้ที่ดินบริเวณแหลมยามูและบริเวณใกล้เคียง

ที่มา: https://www.dmcr.go.th/detailLib/117

 

            เมื่อดูจากการให้เช่าวิลล่าและโรงแรมนั้น จะพบว่ามีการปล่อยเช่าเป็นจำนวนมาก มีโรงแรมให้เช่าในราคานับหมื่นบาทต่อคืน และยังมีวิลล่าอยู่มีเป็นจำนวนมากที่ปล่อยให้เช่า (ดูจุดสีแดง) ส่วนชาวบ้านทั่วไปอาจทำงานในโรงแรมเหล่านี้

 

รูปที่ 7: ที่ตั้งของโรงแรมในพื้นที่ (ดูจุดสีแดง) ซึ่งอาจเป็นวิลล่าให้เช่าเป็นส่วนใหญ่

 

 

            สิ่งที่ทางราชการพึงตรวจสอบก็คือบรรดาวิลล่าและโรงแรมให้เช่าเหล่านี้ มีที่มาอย่างไร ตั้งอยู่บนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์หรือไม่อย่างไร เพื่อเป็นการตรวจสอบเป็นกรณีศึกษาให้กับที่อื่นๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนเจ้าของประเทศโดยรวม

 

https://www.matichon.co.th/economy/news_4456818

อ่าน 17,185 คน
2025 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved