อ่าน 2,172 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 130/2557: 5 กันยายน 2557
ไม่ควรตั้งกระทรวงผังเมือง

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ผังเมืองต้องมีพัฒนาการกว่านี้ แต่ไม่ควรตั้งเป็นกระทรวง ยิ่งทำให้ระบบราชการอุ้ยอ้ายไปใหญ่ ไม่ใช่การแก้ปัญหา ผังเมืองต้องมีคน เงิน และกระจายอำนาจกว่านี้
          ตามที่มีข่าวว่าควรจะมีการตั้งกระทรวงผังเมืองนั้น ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เห็นว่าไม่จำเป็นและเป็นการสร้างกระทรวง ขยายระบบราชการที่อุ้ยอ้ายอยู่แล้วให้อุ้ยอ้ายยิ่งขึ้นอีก ที่ผ่านมามีการตั้งกระทรวงขึ้นมาแต่มีสภาพเป็นแค่กรมหรือบางกระทรวงมีงบประมาณน้อยกว่ากรมขนาดเล็ก ๆ เสียอีก เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงวัฒนธรรม นอกจากนี้เรายังมีกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เสียอีกเป็นต้น ยิ่งมาพิจารณาจากการตั้งองค์กรอิสระต่าง ๆ ด้วยแล้ว หลายแห่งยิ่งขยายสาขาโดยไม่จำเป็น เป็นการสิ่งเปลืองงบประมาณอีกต่างหาก
          ที่ผ่านมาการบูรณาการกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ อาจมีความผิดพลาด เช่น การรวมกรมโยธาธิการ และกรมการผังเมืองเข้าด้วยกัน ก็เพื่อหวังว่าการผังเมืองจะมี "แขนขา" ในการก่อสร้างถนน/สะพานต่าง ๆ เป็นของตนเอง แต่ในทางปฏิบัติ สองส่วนราชการนี้อาจไม่มีการประสานกันเองเท่าที่ควร แม้จะอยู่ในกรมเดียวกัน ยิ่งหากตั้งเป็นกรม อาจมีขนาดเล็กกว่ากระทรวงพลังงานก็เป็นได้
          ปัญหาผังเมืองที่มีมาโดยตลอดก็เพราะมี "มือที่มองไม่เห็น" พยายามจะไม่ให้มีผังเมือง โดยกฎหมายผังเมืองฉบับแรกมีในปี 2495 ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครได้เริ่มร่างในปี 2500 กะจะได้ใช้ในปี 2503 แต่ร่างอย่าง "มาราธอน" มาจนเสร็จสิ้นในปี 2535  หรือ 40 ปีให้หลังการมีกฎหมายผังเมือง แสดงว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ต้องมี "มือที่มองไม่เห็น" ที่ไม่ต้องการให้มีผังเมืองเกิดขึ้นในประเทศไทย ยกเว้นที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในหัวเมืองภูมิภาคอื่นจำนวนไม่มากนัก
          "มือที่มองไม่เห็น" ยังหมกเม็ดผังเมืองไว้อีกว่า ถ้าจะวางผังเมืองเฉพาะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ นัยว่าเพื่อให้ผู้แทนของประชาชนได้เห็นชอบก่อน แต่ในความเป็นจริงผังเมืองเฉพาะในแต่ละบริเวณเกี่ยวกับประชาชนในถิ่นนั้น ควรฟังเสียงประชาชนในท้องถิ่น ไม่ใช่ผู้แทนจากทั่วประเทศ นี่เป็นการวางหมากกลไว้ ไม่ให้มีการจัดทำผังเมืองเฉพาะนั่นเอง ทำให้การวางผังในความเป็นจริงเกิดไม่ได้
          ในขณะนี้ผังเมืองเกือบ 200 ผังของประเทศไทย หมดอายุไปราวครึ่งหนึ่ง กรมโยธาธิการและผังเมืองก็บอกว่าได้กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นทำผังเมืองแล้ว แต่ท้องถิ่นเองก็บอกว่าตนไม่มีความรู้ เงินและบุคลากรในการวางผังเมือง แม้แต่เทศบาลนครขนาดใหญ่ก็ร้องเช่นนี้ นี่แสดงถึงการขาดการประสานงานกันเท่าที่ควร  เทศบาลแต่ละแห่งก็ครอบคลุมพื้นที่เล็กกว่าเขตผังเมืองเสียอีก
          ประเด็นที่หลงทิศผิดทางหนึ่งก็คือ มีการเสนอให้วางผังเมืองระยะยาว เพราะ 5 ปีทำไม่ทัน ทำเป็น 10 ปี ต่ออายุได้อีก 10 ปี ถ้ายังแก้ไม่เสร็จ ก็ต่ออายุไปอีกครั้งละ 2 ปี อีก 2 ครั้ง รวม 24 ปี เป็นต้น กรณีนี้ดูเหมือนเป็นการช่วยให้เกิดการวาางผังเมืองระยะยาว  แต่ถ้าผังเมืองออกมาแบบส่งเดชมีข้อบกพร่องมากมาย เราก็ต้องทนอยู่กับผังผิด ๆ โดยที่ฝ่ายราชการประจำก็อ้างว่าต่ออายุไปได้เรื่อย ๆ ไม่ต้องรีบแก้นั่นเอง เช่น ผังเมืองกรุงเทพมหานครที่เพิ่งประกาศใช้ปีที่แล้ว มีข้อผิดฉกรรจ์มากมาย ควรเริ่มแก้ตั้งแต่วันนี้ แต่ฝ่ายราชการก็คงรอไว้ใกล้ ๆ 5 ปีแล้วค่อยแก้ เพราะยังต่ออายุได้อีกครั้งละ 1 ปีไปอีก 2 ครั้ง (รวม 7 ปี)
          ดร.โสภณ เห็นว่า ถ้าจะวางผังเมืองให้ดี ต้องมีเงินและคนมากกว่านี้ โดยอาจให้ท้องถิ่นเป็นคนทำหรือส่วนการดำเนินการก็แล้วแต่ แต่ต้องมีส่วนร่วมจากประชาชน เช่นในบริเวณหนึ่ง จถก่อสร้างอะไรได้หรือไม่ ต้องให้ประชาชนได้มีส่วนตัดสินใจ อย่างกรณีผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร แม้มีผู้ร้องราว 2,000 ราย แต่กรุงเทพมหานครก็ได้ตอบสนองแก้ไขเพียง 3 ราย ที่เหลือไม่ได้รับการแก้ไข และไม่ได้มีเหตุผลบันทึกให้เป็นที่เข้าใจร่วมกันแต่อย่างใด
          ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับการวางผังเมือง ทุกวันนี้นอกเขตผังเมืองรวม จะสร้างอะไรก็ได้ โรงงานจึงไปผุดนอกเขตผังเมืองรวม เท่ากับผังเมืองรวมไม่มีความหมาย การบังคับใช้กฎหมายผังเมืองก็ไม่เคร่งครัด บ้างใช้ช่องโหว่ก่อสร้าง บ้างอาจมีการทุจริตในการอนุญาตการก่อสร้างในบริเวณที่ห้ามสร้างเป็นต้น
          ดร.โสภณ ยังเสนอว่า เราควรทำผังเมืองเชิงรุก เช่น
          1. การสร้างศูนย์กลางธุรกิจในใจกลางศูนย์ธุรกิจ (CBD in CBD) โดยมีการเวนคืนที่เป็นธรรม มีการก่อสร้างบ้านทดแทนในบริเวณที่ใกล้เคียงเดิม ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน
          2. การสร้างศูนย์ชุมชนนอกเมือง โดยเป็นพื้นที่ปิดล้อม เชื่อมต่อกับใจกลางเมืองด้วยทางด่วนและรถไฟฟ้า เพื่อไม่ให้เมืองขยายโดยไร้ขีดจำกัด
          3. การจัดสรรที่ดินให้สร้างนิคมอุตสาหกรรม จัดสรรที่ดินให้สร้างหมู่บ้านจัดสรรและอาคารชุดพักอาศัย โดยที่ดินนี้มีสาธารณูปโภคครบครัน ไม่ให้ใครๆ ไปสร้างโครงการที่ได้ตามใจชอบเช่นปัจจุบัน
          4. การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเพิ่มอุปทานที่ดิน เป็นต้น
          5. การให้แต่ละชุมรุมอาคาร ชุมชน และท้องถิ่นวางแผนการพัฒนาที่ดินของตนเอง ไม่ใช่ เป็นการวางแผน วางผังเมืองแบบจากบนสู่ล่าง (Top Down) เช่นที่ผ่านมา


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2025 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved