อย่าซื้อบิทคอยน์ ไปลงทุนอื่นที่สะอาด-สง่าดีกว่า
  AREA แถลง ฉบับที่ 247/2567: วันอังคารที่ 02 เมษายน 2567

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

           ตอนนี้หลายคนกำลังมีแฟชั่น “คลั่ง” บิทคอยน์ โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาวที่มองว่าตนเองรู้ซึ้งแล้วถึงเทคโนโลยีการซื้อขายบิทคอยน์ เข้าทำนอง “เข้าป่าไป เห็นแต่ต้นไม้ ไม่เห็นป่าทั้งป่า” เรามาทำความเข้าใจบิทคอยน์กันอีกหน่อยก่อนคิดจะซื้อเก็งกำไรไปเรื่อยๆ จนรอวันเจ๊ง

            บางคนบอกว่าขณะนี้มีปัจจัยบวกสำหรับบิทคอย์คือ สงครามยูเครนและตะวันออกกลางกำลังขยายตัว การคว่ำบาตรมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องใช้บิทคอยน์เป็นสื่อกลางในการค้าขายเพราะไม่ติดขัดด้วยการคว่ำบาตรใดๆ ทำให้เกิดการระดมซื้อบิทคอยน์กันขนานใหญ่ในขณะนี้ พวกเหมืองขุดบิทคอยน์ก็ยิ่งขุดกันใหญ่ บางคนถึงกับกล่าวว่าการลงทุนในบิทคอยน์หรือคริปโตเคอเรนซีอื่นๆ ได้ชื่อว่าเป็นการลงทุนที่สวรรค์ประทานมาให้กับคนฉลาดและมีข้อมูลมาก

            เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีข่าว “การเดิมพันกับบิทคอยน์ของเอลซัลวาดอร์ ผลิดอกออกผลแล้วหรือไม่” ในสำนักข่าว BBC ทุกท่านพึงดู จะได้ไม่ไปหลงลงทุนในบิทคอยน์ ทั้งนี้นับตั้งแต่ที่เอลซัลวาดอร์กลายเป็นประเทศแรกที่กำหนดให้บิทคอยน์สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ไม่ต่างจากเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นเงินสกุลหลักของเอลซัลวาดอร์  โดยนับแต่ปี 2021 รัฐบาลได้ใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,500 ล้านบาท) ไปซื้อบิทคอยน์ 2,764 เหรียญ

            ที่ผ่านมารัฐบาลได้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากในการพัฒนาแอปพลิเคชันชิโววอลเล็ต (Chivo Wallet) การติดตั้งตู้เอทีเอ็มซึ่งส่วนใหญ่ยังใช้งานไม่ได้  เมื่อรวมต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดเข้าด้วยกัน ผลลัพธ์ก็ไม่ได้เป็นบวกเท่าไหร่ ถือว่าประเทศขาดทุนอย่างหนัก  นายทาเทียนา มาร์โรควิน นักเศรษฐศาสตร์จากพรรคอินดิเพนเดนท์ ซัลวาดอเรียน (Independent Salvadorean) บอกว่า "การพูดจาที่แสดงถึงชัยชนะเกี่ยวกับการที่บิทคอยน์ขึ้นราคานั้น ค่อนข้างจะจอมปลอม" "มันไม่สามารถชดเชยต้นทุนทางเศรษฐกิจจากโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับบิทคอยน์ได้เลย" "มันเป็นความล้มเหลวอย่างสมบูรณ์" นางลอร์ดส์ โมลินา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสที่สถาบันการคลังศึกษาแห่งอเมริกากลาง กล่าว "แทบจะไม่มีใครในเอลซัลวาดอร์ใช้บิทคอยน์เลย กระทั่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ยังไม่มีใครใช้เลย" โมลินา เห็นด้วยว่าการโอบรับบิทคอยน์ไปใช้นั้นน้อยลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่มูลค่าของบิทคอยน์อยู่ในช่วงขาขึ้น

            มาดูราคาบิทคอยน์กัน ราคา 2,110,710 บาทสูงสุด ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 กว่าจะขึ้นมาเท่ากับราคาเดิม ก็เป็นวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 หรือ 838 วันหรือ 2.3 ปี นับจากวันสูงสุด แสดงว่าตลอดระยะเวลาดังกล่าว ราคาไม่ขึ้นเลย  ถ้านำเงินนี้ไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ก็ได้ผลตอบแทนประมาณ 6.5% ต่อปี แถมราคายังเพิ่มขึ้นปีละ 5% โดยประมาณ ก็ได้ผลตอบแทนที่ 11.5% ต่อปี แสดงว่า ถ้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ราคาก็ควรจะขึ้นเป็น 2,909,271 บาทไปแล้ว

            อย่างไรก็ตาม ราคาล่าสุด ณ 12 มีนาคม 2567 ราคาบิทคอยน์ เพิ่มขึ้นเป็น 2,543,802 บาทไปแล้ว แต่ก็ยังน้อยกว่าราคาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์อยู่ดี  แต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่า ราคาบิทคอยน์ได้พุ่งขึ้นจาก 2,247,971 บาท ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 แสดงว่าในระยะเวลา 14 วัน ราคาเพิ่มขึ้น 20.5%หรือราคาขยับขึ้นวันละ 1.342% (สัปดาห์ละ 9.8% หรือเดือนละ 49.2%) ซึ่งคงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในระยะยาวที่จะถูก “ปั่น” ให้สูงได้ตลอดไปตามนี้  ผู้ที่คาดหวังว่าราคาจะเติบโตไปไม่สิ้นสุด ก็คงต้องได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากในอนาคตอันใกล้

            ในทางตรงกันข้ามราคาบิทคอยน์ ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2565 ตกต่ำสุดเหลือเพียง 571,573 บาท ก็เท่ากับการลงทุนนั้นได้ผลตอบแทน (ติดลบ) ถึง -73% การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงแบบนี้ และไม่อาจมองเห็น “มือที่มองไม่เห็น” ในการควบคุมตลาดนั้น เป็นธุรกิจที่สุดเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบุคคลธรรมดาที่ไปลงทุนก็ย่อมพบกับความเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

            ที่มีข่าวโพนทะนากันว่าคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐอเมริการับรองบิทคอยน์นั้นก็ไม่เป็นความจริง ประธาน ก.ล.ต.ย้ำว่า ก.ล.ต.รับรองกองทุน Spot Bitcoin ETF (Exchange Traded Fund) ไม่ได้รับรองตัวบิทคอยน์เลย โดยกองทุนซึ่งสามารถซื้อ-ขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้ในเวลาทำการจะนำเงินไปซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Bitcoin เข้ามาถือครอง อย่างไรก็ตามผู้รู้ก็ไม่แนะนำให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนใน Spot Bitcoin ETF ยิ่งกว่านั้น นาย Gary Gensler (ประธาน ก.ล.ต.) ยืนยันว่า แม้จะอนุมัติ BTC ETF แต่ Bitcoin ยังคงถูกใช้เพื่อทำธุรกรรมในกิจกรรมที่ชั่วร้ายและผิดกฎหมาย ทุกคนจึงพึงสังวร

            บางคนอ้างว่าทองคำก็คล้ายบิตคอยน์คือไม่ได้มีประโยชน์อันใด อันนี้เป็นความเข้าใจผิดที่พวกปั่นบิตคอยน์พยายามเล่ากรอกหูกันมา  อันที่จริงทองคำมีประวัติความเป็นมาในฐานะเป็นสื่อแลกเปลี่ยนหรือของมีค่ามาประมาณ 40,000 ปีมาแล้ว  ยิ่งกว่านั้นทองคำยังมีประโยชน์ใช้สอยในเชิงอุตสาหกรรม และเป็นเครื่องประดับต่างๆ อีกด้วย ทองคำจึงมีสถานะเป็นโลหะมีค่าที่เป็นแหล่งสะสมมูลค่า (Store of Value) ที่เป็นที่นิยมกันมาช้านานแล้ว

            บางคนพยายามสร้างความน่าเชื่อถือให้บิตคอยน์และ Cryptocurrency ต่างๆ โดยบอกว่าบิตคอยน์เป็น Digital Currency ซึ่งไม่เป็นความจริง เช่น “‘เงินหยวนดิจิทัล’ (Digital Yuan) ซึ่งแตกต่างจาก Bitcoin โดยอัตราเงินหยวนดิจิทัล จะอ้างอิงกับค่าเงินหยวน ในขณะที่ Bitcoin ไม่ต้องระบุตัวตนก็สามารถใช้จ่ายได้อย่างอิสระ และไม่อยู่ภายใต้การควบคุมใด ๆ นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังสามารถตรวจสอบการทุจริตด้านการเงินซึ่งสร้างความน่าเชื่อให้กับผู้ใช้งานมากขึ้นและ ถือเป็นการก้าวสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มตัว

            ยิ่งกว่านั้นบางคนยังไปพัวพันบิตคอยน์กับเทคโนโลยีบล็อกเชน แต่อันที่จริงคงเป็นความพยายามสร้างเครดิตของพวก Cryptocurrency มากกว่า อาจกล่าวได้ว่าบล็อกเชนและบิตคอยน์เป็นสองสิ่งที่แยกจากกันโดยสิ้นเชิง:

            1. บิตคอยน์เป็น สกุลเงินดิจิตอล ในขณะที่บล็อกเชนเป็นฐานข้อมูลแบบกระจาย

            2. บิตคอยน์ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีบล็อคเชน แต่บล็อคเชนใช้ประโยชน์นอกเหนือไปอีกมากมายหลายอย่าง

            3. บิตคอยน์ส่งเสริมการไม่เปิดเผยตัวตน (พวกโจรเรียกค่าไถ่ มิจฉาชีพชอบ) ในขณะที่บล็อกเชนนั้นเกี่ยวกับความโปร่งใส เพื่อนำไปใช้ในบางภาคส่วน (โดยเฉพาะการธนาคาร) บล็อกเชนต้องปฏิบัติตามกฎการรู้จักลูกค้าของคุณที่เข้มงวด

            4. บิตคอยน์โอน “สกุลเงิน” ระหว่างผู้ใช้ ในขณะที่บล็อกเชนสามารถใช้ในการถ่ายโอน สิ่งต่างๆ ได้ ทุกประเภทรวมถึงข้อมูลหรือสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน

            ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการแฮ็กสกุลเงินดิจิทัลได้กลายเป็นภัยคุกคามที่แพร่หลายและน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง มีการขโมยเงินนับแสนล้านบาทจากแพลตฟอร์มของคริปโตเคอเรนซีต่างๆ และทำให้เห็นช่องโหว่ทั่วทั้งระบบนิเวศของแฟลตฟอร์มเหล่านี้ ทั้งนี้ในปี 2565 ถือเป็นปีที่มีการขโมยกันมากที่สุดถึงโดยถูกขโมยไป 133,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 จำนวนเงินที่ถูกขโมยไปลดลงประมาณ 54.3% เหลือ 61,200 ล้านบาท แต่จำนวนการแฮ็กก็เพิ่มขึ้นจาก 219 ครั้งในปี 2565 เป็น 231 ครั้งในปี 2566 อาชญากรรมเหล่านี้ยังมีอย่างต่อเนื่องทั้งที่พวกโฆษณาชวนเชื่อเรื่องบิทคอยน์บอกว่าบิทคอยน์ปลอดภัย

            การลงทุนเก็งกำไรในบิทคอยน์จากความไม่รู้ของคนอื่นไม่สง่างามและเป็นบาปติดตัวไปนานแสนนาน

อ่าน 19,171 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved