มูลนิธิประเมินค่า-นายหน้าแห่งประเทศไทย (www.taeaf.org) ได้จัดทำราคากลางไม้ขุดล้อม โดยราคาในปี 2567 ได้จัดทำเสร็จแล้ว
เมื่อเช้าวันพุธที่ 6 มีนาคม 2567 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในนามของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิประเมินค่า-นายหน้าแห่งประเทศไทย และคณะได้เดินทางไปพบกับผู้รอบรู้เรื่องราคากลางไม้ขุดล้อม และได้จัดทำราคากลางไม้ขุดล้อมไว้
ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2562 มูลนิธิใช้การทำแบบสอบถามกับผู้ค้าไม้ขุดล้อม ต.ชะอม อ.แก่งคอย สระบุรี ซึ่งเป็นแหล่งไม้ขุดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ในครั้งนี้ ใช้การสัมภาษณ์ความเห็นของผู้รู้ในพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย นายสายบัว พาศักดิ์ ซึ่งเป็น “ปราชญ์ชาวบ้าน” ด้านไม้ขุดล้อมในพื้นที่ดังกล่าว และท่านอื่นๆ โดยขอคำปรึกษาเรื่องราคา ณ บ้านไม้สักรีสอร์ตในพื้นที่เช่นกัน
ว่าด้วยไม้ขุดล้อม
ไม้ขุดล้อมเป็นไม้ที่มีความสำคัญสำหรับการตบแต่งประดับประปาต่างๆ ทั้งภายในบ้านเรือน โครงการบ้านจัดสรร สนามกอล์ฟ ถนนหนทาง ฯลฯ ธุรกิจนี้ทำเงินได้ดีกว่าการทำนามากมายนัก ที่สำคัญเมื่อมีตลาด ก็มีราคากลาง มาชมกิจการไม้ขุดล้อมและราคากลางต้นไม้กัน ปกติต้นไม้แบบนี้จะไม่มีการปลูกด้วยเมล็ดในพื้นที่ แต่ขุดล้อมจากตำบลชะอมหรือแหล่งอื่นที่ปลูกมาจนอายุ 1-3 ปีแล้ว เป็นต้น
ว่ากันว่าที่ตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี มีพื้นที่การผลิตไม้ขุดล้อมกว่า 5,000 ไร่ ชนิดของไม้มีให้เลือกมากมาย สำหรับขนาดมีให้เลือกตั้งแต่เท่านิ้วมือ ไปจนถึง 2-3 คนโอบ คนในพื้นที่บอกว่า พื้นดินโล่งแจ้ง สามารถทำให้เป็นป่าใหญ่ได้ภายในวันเดียว ด้วยไม้ขุดล้อมของชาวตำบลชะอม. . .งานปลูกไม้ขุดล้อมที่ตำบลชะอม มีมานานแล้ว แรกเริ่มเดิมที มีหน่วยงานของเอกชนเข้าไปส่งเสริมให้ปลูก แต่ปรากฏว่า มีข้อขัดข้องบางประการ ชาวบ้านที่ปลูกอยู่ จึงหาทางช่วยเหลือตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องการตลาด จนต่อมาไม้ขุดล้อมที่ตำบลนี้เป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อ
ชาวบ้านในพื้นที่บ้างก็ปลูกกล้าเอง บ้างก็เอากล้ามาจากที่อื่น เช่น ที่อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอภาชีมีเกษตรกรเพาะกล้าไม้จำหน่ายมืออาชีพ กล้าละ 1.50-2 บาท หรือที่เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ก็มีแหล่งเพาะเมล็ดพันธุ์มะฮอกกานี เป็นต้น ส่วนสาเหตุที่ชาวชะอมบางส่วนไม่เพาะกล้าไม้เองนั้น เพราะขึ้นอยู่กับความชำนาญ สถานที่ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับการเพาะกล้า น้ำท่าอาจไม่เพียงพอ และยังถือเป็นการ "แบ่งงานกันทำ" จากหลายๆ แห่งนั่นเอง
สำหรับการปลูกนั้นพื้นที่ดิน 1 ไร่ กว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตร หรือ 1,600 ตารางเมตร สามารถปลูกต้นไม้ลงไปได้ ทุกตารางเมตร นั่นหมายถึงพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกต้นไม้ได้ 1,600 ต้น เวลาผ่านไปราว 1 ปี ต้นไม้บางชนิดจำหน่ายได้ต้นละ 50 บาท หากสามารถขายได้หมดก็เป็นเงิน 80,000 บาท หากขายไม่ได้ เวลาผ่านไปเป็นปีที่ 2-3 อาจจะขายได้ต้นละ 100 บาท อย่างไรก็ตามในบางกรณีก็อาจเหลือต้นละ 20-30 บาท ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส
สถานการณ์ไม้ขุดล้อมล่าสุด
จากการสัมภาษณ์ผู้รู้ในพื้นที่ พบว่า
ขณะนี้ตำบลชะอมถือเป็นตลาดกลางในการซื้อขายไม้ขุดล้อมของประเทศไทย เพราะผู้ซื้อและผู้ขายมาที่ตำบลนี้มากที่สุด และเป็นแหล่งรวมในการหาสินค้าซื้อขาย
ลูกค้าหลักของไม้ขุดล้อมได้แก่ ผู้ที่สนใจรายย่อยมาซื้อตรงถึงราว 60% นอกนั้นเป็นหน่วยงานอื่น เช่น แขวงการทางทั่วประเทศ โครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ยิ่งกว่านั้นยังสามารถส่งไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย
ต้นไม้ตามริมถนนมักใช้ไม้จากตำบลชะอม และเน้นเป็นไม้ดอก หรือใบสวย หรือต้นสวยงาม ดูแลง่าย แต่มักมีอายุไม่ยืนยาวนัก การปลูกไม้ผลที่แม้ให้ผลไม่เป็นที่นิยมเพราะดูแลยากกว่า โตช้า
ในขณะนี้มีผู้ซื้อจากต่างประเทศเดินทางมาเปิดรับซื้อไม้ขุดล้อมถึงตำบลชะอมแล้ว เช่น จากประเทศกัมพูชา ลาว เวียดนาม บรูไน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงประเทศในอาฟริกาอีกด้วย ซึ่งทำให้ตลาดขยายตัวมากขึ้น
สำหรับรายชื่อประเทศหลักๆ ที่ซื้อไม้ขุดล้อมจากตำบลชะอม เป็นประเทศในตะวันออกกลาง ได้แก่ ซาอุดิอาระเบียโดยถือเป็นประเทศหลักราวครึ่งหนึ่งของไม้ขุดล้อมที่ตำบลชะอมส่งออกไป รองลงมาได้แก่กาตาร์ คูเวต บาห์เรน โอมาน และสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้งนี้ประเทศในเอเชียที่เป็นลูกค้าสำคัญได้แก่ จีน ไต้หวันและญี่ปุ่น ไม้ขุดล้อมที่ส่งออกมักเป็นไม้ที่ทนความแล้ง อาทิเช่น ต้นหางนกยูง ต้นชงโค ต้นสะเดา ต้นปีบ ชงโคฮอลแลนด์ เป็นต้น
ในส่วนของเกษตรกรทำไม้ขุดล้อม ต้องมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เช่น มีเครนยกต้นไม้เอง หากไม่มีทุน ไม่มีเครนเอง ก็จะเป็นอุปสรรคในการขายและการขนส่ง
ในด้านแรงงาน ค่าแรงในตำบลนี้ค่อนข้างสูง เช่น วันละ 500 บาท และก็ยังมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำงานด้วย โดยเฉพาะจากกัมพูชาและเมียนมา โดยคาดว่ามีอยู่รวมกันประมาณ 1,000 คน
ที่ผ่านมามีสหกรณ์ไม้ขุดล้อมในตำบลชะอมเช่นกัน แต่สหกรณ์กลับไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจไม้ขุดล้อม และภายหลังสหกรณ์ก็ไม่ได้มีบทบาทอะไร
ราคากลางไม้ขุดล้อม พ.ศ.2562-2567
ไม้ขุดล้อมมีราคาตามขนาด โดยวัดตามขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น โดยวัดจากโคนขึ้นมา 1 เมตร แล้วใช้สายวัดเส้นรอบวงเป็นนิ้ว แล้วหารด้วย 3.14 (22/7) เช่น หากวัดได้ 10 นิ้ว หารด้วย 3.14 ก็จะได้เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3.18 นิ้ว เป็นต้น
ข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นไม้
ข้อสังเกตเพิ่มเติมมีดังนี้:
ราคาไม้จะไม่สูงมากนักสำหรับไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของไม้คือ 1 นิ้ว 1.5 นิ้ว และ 2 นิ้ว แต่หากมีขนาด 3 นิ้วขึ้นไป จะมีราคาสูงขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากความยากลำบากในการขุดล้อม และการขนย้าย
ราคาต้นไม้ขึ้นอยู่กับความหาง่ายหรือยาก เช่น ราชพฤกษ์ มีราคาสูงเพราะหาได้ยากกว่า ส่วนอินทนิลน้ำ มีมาก ราคาจึงไม่เพิ่มสูงมากนัก เป็นต้น
ไม้ที่ราคาไม่เพิ่มนักคือพระยาสัตตบรรณหรือต้นตีนเป็ด ดอกที่ออกจะมีกลิ่นเหม็น เป็นไม้อ่อน
ส่วนต้นมั่งมีเป็นที่นิยมมากเพราะใบบนมัน ไม่มีละอองใต้ใบ โตไว ทรงพุ่มสวยงาม เป็นชัน้ๆ ทรงแหลมเหมือนเจดีย์
อายุของต้นไม้ที่ขุดล้อมนั้น อาจแตกต่างกัน เข่น ประดู่กิ่งอ่อนอาจอยู่ได้ 60-70 ปี หางนกยูงอายุ 50 ปี ชมพูพันธ์ทิพย์ อายุ 20 ปี ตะเบเหลือง อายุ 20 ปี
ไม้บางประเภทอาจเป็นที่นิยมในภูมิภาค เช่น ต้นพะยูง เป็นที่นิยมที่กัมพูชา สามารถขายได้ในราคาดี
ไผ่เป็นไม้ที่ได้รับความสนใจเพิ่มเติม โดยเฉพาะไผ่น้ำเต้าซึ่งยังช่วยในการบำรุงดิน
สำหรับไม้ที่ไม่มีในตำบลชะอม แต่อาจมีมากในบ้านดงบัง ปราจีนบุรี ราคาขายที่ตำบลชะอม ก็อาจจะสูงเป็นพิเศษ เนื่องจากการขนย้ายต้องขนย้ายทั้งต้นและใบ