อ่าน 1,587 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 137/2557: 16 กันยายน 2557
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง: ว่าด้วยความดีและการทำดี

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ประเทศไทยยังไม่มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แม้จะมีความพยายามทำมาหลายสิบปีแล้ว และคงมีมือที่มองไม่เห็นกีดขวาง จะสังเกตได้ว่ากฎหมายอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อประชาชนโดยรวมเกิดได้ยากมาก บทความนี้ยังจะชี้ให้เห็นถึงความผิดชอบชั่วดีในมาตรฐานที่แตกต่างกันในสังคมอารยะและสังคมอุปถัมภ์แบบไทย ๆ เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ต่อเรื่องภาษีนี้ จึงขออนุญาตยกตัวอย่างที่เห็นอยู่ทั่วไปเช่นที่ดินว่างเปล่าแปลงหนึ่งอยู่ปากซอยนนทรี 5 ขนาดประมาณ 5.5 ไร่ หรือ 2,200 ตารางวา ประเมินตามราคาตลาดเป็นเงิน ณ ตารางวาละ 100,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 220 ล้านบาท ที่ดินว่างเปล่าเช่นนี้มีทั่วไปในใจกลางกรุงเทพมหานคร

          เจ้าของที่ดินท่านเมตตาให้สำนักงานเขตยานนาวาเช่าใช้เป็นสนามกีฬาของเขต โดยคาดว่าให้เช่าในราคากึ่งให้ใช้เปล่า ข้อนี้ต้องยกความดีให้กับเจ้าของที่ดินที่มีใจกว้างและสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง สำนักงานเขตก็ปรับปรุงพื้นที่บางส่วนเป็นสนามบาสเก็ตบอล สนามมวย สนามตะกร้อ และสนามฟุตบอล ให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า และมีผู้ไปใช้สอยพอสมควร
          แต่หากมีการประกาศใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามร่าง เจ้าของที่ดินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินแปลงนี้ในฐานที่เป็นที่ดินว่างเปล่า ณ อัตรา 0.5% ต่อปี หรือเป็นเงิน 1.1 ล้านบาทต่อปี จะเห็นได้ว่าแทนที่เจ้าของที่ดินจะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณตามค่านิยมความดีในสังคมปัจจุบัน กลับยังต้องเสียภาษีอีกนับล้านบาท การหลีกเลี่ยงไม่เสียภาษีอาจทำให้ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลอดเพื่อนำเงินมาชำระภาษีได้
          เหตุผลที่เป็นสามัญสำนึกและเป็นอารยสากลที่ว่าทำไมเจ้าของที่ดินต้องเสียภาษีก็คือ การทำหน้าที่พลเมืองดีของชาติ เพราะขนาดสามัญชนที่มี 'ล้อเลื่อน' เช่น จักรยานยนต์ หรือมีเงินฝากในธนาคารก็ต้องเสียภาษี ดังนั้นคหบดีและชนชั้นนำของประเทศที่มีที่ดินผืนใหญ่ ๆ งาม ๆ ใจกลางเมืองเป็นทรัพย์จึงต้องเสียภาษีในฐานะคนไทยเช่นกัน ว่าไปแล้วการหลีกเลี่ยงภาษีถือเป็นอาชญากรรม (ทางเศรษฐกิจ) อย่างหนึ่งในอารยประเทศ
          ยิ่งที่ดินนั้นได้รับประโยชน์จากสาธารณูปโภค ทำให้ทรัพย์ทวีค่า เจ้าของยิ่งต้องเสียภาษี แม้เราจะใช้สอยหรืออยู่อาศัยในทรัพย์นั้นหรือไม่ก็ตาม  ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ หากเรามีห้องชุดราคาแสนถูกสักหน่วยหนึ่ง กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า เจ้าของทรัพย์มีหน้าที่ต้องเสียค่าส่วนกลาง  ถ้าไม่เสีย ก็ต้องหักจากเงินที่ขายทรัพย์นั้นได้ในภายหลัง และห้ามการขายทรัพย์นั้นหากยังไม่มีการชำระค่าส่วนกลาง
          การที่ประเทศไทยไม่มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อเอาใจผู้มากทรัพย์นั้น จึงเกิดปรากฏการณ์หนึ่งเมื่อ พ.ศ.2553 ที่พบต้นจามจุรี (ฉามฉาหรือก้ามปู) อายุนับร้อยปีใจกลางเมืองติดถนนสุขุมวิท ตรงข้ามห้างเอ็มโพเรียม ตอนที่จะพัฒนาเป็นศูนย์การค้า มีนักอนุรักษ์ธรรมชาติออกมาเรียกร้องให้คงต้นไม้เหล่านั้นไว้  แต่ในที่สุดก็ถูกโค่นไป ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะเจ้าของที่ดินไม่ต้องเสียภาษี จึงเก็บที่ดินไว้ให้ลูกหลานเมื่อถึงเวลาอันควรนั่นเอง
          ถ้าเจ้าของที่ดินต้องเสียภาษี ก็คงไม่นิ่งนอนใจ ต้องขวนขวายหาทางพัฒนาหรือขายไป แต่ทุกวันนี้เจ้าของที่ดินรายใหญ่ ๆ จะ "หยิ่ง" ไม่ยอมขายที่ถ้าไม่ล้มละลายหรือจำเป็นจริง ๆ ในแง่หนึ่งก็ดูคล้ายเป็นคนดีรักแผ่นดิน แต่ในอีกแง่หนึ่งก็แสดงถึงความเห็นแก่ตัวเป็นที่สุด เพราะราชการพัฒนาสาธารณูปโภคมาให้ถึงที่ กลับไม่อินังขังขอก การใช้ที่ดินเมืองจึงไร้ประสิทธิภาพ เมื่อมีความต้องการซื้อบ้าน ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินจะสร้างโครงการบ้านก็ไม่สามารถหาที่ดินใกล้ๆ เมืองได้ เพราะถูกจับจองเก็งกำไรไว้หมด ก็จึงต้องไปซื้อนอกเมือง เมืองก็ขยายตัวอย่างไร้ขอบเขตไปรอบนอก สาธารณูปโภคก็ต้องขยายตัวตามไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กลายเป็นภาระของส่วนรวมเสียอีก
          อันที่จริงทุกฝ่ายพึงทำความเข้าใจว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้เป็นสิ่งวิเศษ เป็นสิ่งที่ดีแท้แก่ทุกฝ่าย ยิ่งเราเสียภาษีนี้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีงบประมาณมาพัฒนาท้องถิ่นได้มากขึ้นเท่านั้น การก่อสร้างถนนหนทาง การบำรุงและพัฒนาสถานศึกษา การจัดพื้นที่สีเขียว ฯลฯ ก็จะเกิดขึ้น เมื่อท้องถิ่นเจริญ ที่ดินและอาคารของเราก็ยิ่งเพิ่มพูนมูลค่ามากกว่าภาษีที่เราเสียไปเสียอีก นี่จึงเป็นภาษีที่ "ยิ่งจ่าย ยิ่งได้"
          บางคนพยายามจะบิดเบือนว่ายิ่งเราเสียภาษีไป ภาษีของเราก็จะยิ่งถูกนักการเมืองท้องถิ่นโกงไป แต่ในความจริงก็คือ ทุกวันนี้รายได้ของท้องถิ่นเฉลี่ยถึง 90% มาจากส่วนกลางจัดเก็บภาษีทางอ้อมแล้วจัดส่งมาให้ ดังนั้นทั้งนักการเมืองและประชาชนจึงไม่รู้สึกเป็นเจ้าของเงิน จึงเกิดอาการ "วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง"  แต่ถ้าภาษีเก็บจากในท้องถิ่นเอง ชาวบ้านก็จะรู้สึกหวงแหนไม่ยอมให้ใครโกง
          ในช่วงแรกของการมีเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็ยังอาจมีการโกง แต่ต่อไปประชาชนในท้องถิ่นจะเรียนรู้และร่วมกันตรวจสอบมากขึ้น ความโปร่งใสก็จะเกิด  ประชาธิปไตยจากขั้นรากฐานที่ทุกคนมีส่วนร่วมตั้งแต่การจ่ายภาษีและการตรวจสอบก็จะเกิดขึ้นอย่างมั่นคง แต่เรื่องประชาธิปไตยนี้ ชนชั้นนำไม่ต้องการให้เกิดเป็นจริง จึงไม่อยากให้มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อจะยังได้สร้างระบบอุปถัมภ์จากการทุจริตโกงกินเงินที่ส่งมาจากส่วนกลาง เข้าทำนองแบ่ง ๆ กันโกงกินแบบ "บุฟเฟ่" นั่นเอง
          มาร่วมกันส่งเสริมภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เพื่อพัฒนาเมืองที่มีประสิทธิภาพ และเพื่อพัฒนาชาติไทยอันเป็นที่รักของเราเถิด


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2025 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved