บางคนอาจบอกว่า “‘The Bitcoin Standard’ รุ่งอรุณของเสรีภาพทางการเงิน การปลดแอกของผู้คนจากรัฐทรราช” ไม่แน่ “ซาโตชิ นากาโมโตะ” อาจกลายเป็นทรราชตัวจริง และบรรดา “พ่อรวย ลูกรวย” “‘บ้านเป็นหนี้สิน’ ดังนั้นอย่าซื้อ เอาไปซื้อบิทคอยน์ดีกว่า” ก็เป็นเหล่าผู้สมคบคิดกันก็ได้
คัมภีร์ของพวกนิยมบิทคอยน์ คือ Bitcoin Standard ซื่งผมขอวิพากษ์ให้เห็นถึงความผิดเพี้ยนของแนวคิดสุดอันตรายนี้
1. พวกนี้มองว่าการมีรัฐควบคุมเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่รัฐบาลคือตัวแทนของประชาชน คงมีเพียงครั้งคราวที่เกิดรัฐบาลเผด็จการทรราช ยิ่งรัฐบาลท้องถิ่นก็ยิ่งจำเป็น เราพึงมองรัฐบาลเป็นผู้อำนวยความสะดวกที่เราเลือกมา
2. อย่างกรณีโฉนดที่ดิน ไทยเราใช้ระบบทอร์เรนส์ (Torrens) เช่นหลายประเทศ คือ ระบบการจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับที่ดินต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐ โฉนดจะมีคู่ฉบับ (Land Title Deed/Certificate) เก็บไว้ที่สำนักงานที่ดินชุดหนึ่งและที่ตัวเจ้าของอีกชุดหนึ่ง การจดทะเบียนก็ต้องนำคู่ฉบับมาเทียบกัน แม้ขณะนี้ได้ Digitize โฉนดแทบหมดแล้ว แต่ระบบนี้ทำให้ประชาชนอุ่นใจได้ว่ารัฐได้เป็นพยาน
3. พวกนี้อ้างว่าเงินตราเฟ้อ ด้อยค่าลง โดยยกตัวอย่างบางประเทศที่ล้มเหลวทางเศรษฐกิจ แต่นั่นเป็นสิ่งชั่วคราวซึ่งก็คลี่คลายในเวลาต่อมา ในกรณีสหรัฐอเมริกา ที่พวกนิยมบิทคอยน์มองว่ารัฐบาลควบคุมประชาชนมาก ทั้งที่เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง สหรัฐมีอัตราเงินเฟ้อต่ำมากตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ยกเว้นช่วงท้ายโควิด-19 แต่ปัจจุบันก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ <1> เช่นเดียวกับไทย <2> และประเทศส่วนใหญ่ที่เงินเฟ้อต่ำ เงินจึงไม่ได้เฟ้อมากมายดังที่ Bitcoin Standard กล่าวอ้าง
4. ในอดีตสมัยพระเพทราชาปี 2239 ก็มีบันทึกถึงช่วง “ข้าวยากหมากแพง” ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีอีกหลายครั้งตั้งแต่สมัยอยุธยา <4> Bitcoin Standard จะไปอ้างว่าเพราะ “รัฐทรราช” หรือระบบการเงินบกพร่องไม่ได้
5. เราอาจจะเห็นภาวะเงินเฟ้อต่างๆ เช่น ราคาก๋วยเตี๋ยวเมื่อ 65 ปีก่อนราคา 0.5 บาท แต่ขณะนี้ราคา 50 บาท หรือราคาทองคำขึ้นจาก 400 บาทเป็นราว 40,000 บาท (เพิ่ม 100 เท่าในรอบ 65 ปี) หรือเฉลี่ยเพิ่มปีละ 7% อย่างไรก็ตามราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ไม่ได้ขึ้นมากจึงทำให้เงินเฟ้อแทบไม่เคยถึง 7% ถ้าเงินไม่เฟ้อเลยก็คงเหมือนกับเอาเงินฝังตุ่มในสมัยโบราณ แต่ปัจจุบันมีโอกาสลงทุนให้เงินทำงานแทนเรา เช่น ซื้อพันธบัตรรัฐบาล หุ้น หุ้นกู้ ฯลฯ (ไม่ใช่ฝากธนาคารเพราะอัตราดอกเบี้ยของไทยบิดเบือนมาก – รัฐบาลควรเพิ่มจำนวนธนาคาร)
6. ถึงแม้จะเกิดภาวะเงินเฟ้อ แต่ก็มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สะท้อนผ่านผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) จะเห็นได้ว่าในแต่ละปีก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจหรือช่วงที่เกิดโควิด-19 เป็นต้น GDP ได้หักเงินเฟ้อไปแล้ว ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของทรัพย์สินต่างๆ จึงสะสมความมั่งคั่งให้กับเราด้วย ถ้าเราไม่ซื้อบ้านหรือไม่ลงทุนอะไรเลยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ก็เท่ากับเรายากจนลงนั่นเอง
7. สำหรับอัตราผลตอบแทนในการลงทุน (Capitalization Rate) ทางหนึ่งก็คือการนำอัตราผลตอบแทนปกติ เช่น ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล (3% ต่อปี) บวกด้วยเงินเฟ้อ บวกความเสี่ยงทางธุรกิจ และลบด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้สุทธิ ดังนั้นผลตอบแทนจึงมักอยู่ที่ 7-9% แล้วแต่ประเภทธุรกิจหรือประเภททรัพย์สิน ราคาของทรัพย์สินจึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามภาวะเงินเฟ้อเท่านั้น
8. บิทคอยน์มีราคาผันผวนมาก ราคา ณ 5 เมษายน 2567 2,457,699.89 บาท ในขณะที่ราคาต่ำสุดในรอบล่าสุดอยู่ที่ 571,582.82 บาท แสดงว่าในรอบ 461 วันราคาขึ้น 430% โดยนัยนี้ใน 1 ปี ราคาเพิ่มเป็น 317.3% หรือเท่ากับเพิ่มขึ้น 217.3% หรือเกือบพอๆ กับดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ บิทคอยน์จึงมีเฟ้อสูงมาก และผู้คนก็นิยมเล่นเพื่อเก็งกำไร ที่หวังเก็บระยะยาวคงน้อยมาก จึงทำให้เกิดภาวะ “แมงเม่าบินเข้ากองไฟ”
9. ความมั่งคั่งในโลกนี้มีมูลค่าถึง 454.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่คนรวยที่สุดในโลก 2,640 คน มีความมั่งคั่งอยู่ที่ 12.2 ล้านล้านบาท แสดงว่าคนเหล่านี้มีความมั่งคั่งที่ 2.68% ของคนทั้งโลก อย่างไรก็ตามบุคคลที่รวยที่สุดในโลกมีมูลค่าทรัพย์สิน 211 แสนล้านบาทซึ่งเท่ากับ 1.73% ของความรวยของคนที่รวยที่สุดในโลก 2,640 คน แม้มีคนรวยแต่ค่าสัมประสิทธิ์จีนีที่ใช้วัดความไม่เท่าเทียมโดยคำนวณหาการกระจายของความมั่งคั่ง ของคนภายในประเทศ ก็พบว่าไทยได้ค่าที่ 35.9 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 37.4 เล็กน้อย <5>สถานการณ์ในไทยจึงไม่เลว
10. หากประมาณการว่าราคาบิทคอยน์ขึ้นไปสูงที่ 72,000 เหรียญสหรัฐต่อ 1 บิทคอยน์ และนายซาโตชิ นากาโมโตะยังเก็บบิทคอยน์ไว้ 1 ล้านเหรียญ ก็เท่ากับมีความมั่งคั่งที่ 72,000 ล้านเหรียญหรือเท่ากับเศรษฐีอันดับที่ 15 ของโลก นี่เป็นความสุดยอดที่เขาสร้างฐานะจากการสร้างบิทคอยน์ขึ้นมา
11. ถ้าในอนาคตโลกนี้ใช้แต่บิทคอยน์เป็นหลัก นายซาโตชิก็คงเป็นอภิมหาเศรษฐี และอาจกลายเป็นผู้ครองโลกโดยไม่ต้องรบ เพราะเขาครองทรัพย์สินถึง 4.76% ของคนทั้งโลก (มากกว่าเศรษฐีระดับโลก 2,640 รวมกัน) มีเงินก็คงมีอำนาจทางการเมืองสูง อาจจะยิ่งใหญ่กว่าเจงกิสข่าน จูเลียส ซีซาร์ อเล็กซานเดอร์มหาราช
12. แม้พฤติกรรมจริงของผู้ซื้อบิทคอยน์จะซื้อเพื่อการเก็งกำไรระยะสั้น แต่บิทคอยน์เองกลับพยายามส่งเสริมให้คนออม เก็บบิทคอยน์ไว้ ถ้าเขาทำได้สำเร็จ ก็จะมีคนซื้อบิทคอยน์กันใหญ่ “เข้าทาง” ของเจ้าของบิทคอยน์ที่จะได้ทะยอยขายบิทคอยน์ออกมาเรื่อยๆ
13. บิทคอยน์อ้างมาโดยตลอดว่าเครือข่าย Peer-to-Peer ทำให้สามารถตรวจสอบได้ แต่ในการซื้อขายจริง ไม่มีใครรู้ชื่อจริงของใคร อาชญากรจึงชอบบิทคอยน์เพราะตรวจสอบไม่ได้ว่าคนซื้อ คนขายเป็นใคร ประธาน ก.ล.ต.สหรัฐก็ “ยืนยันว่า แม้จะอนุมัติ BTC ETF แต่ Bitcoin ยังคงถูกใช้เพื่อทำธุรกรรมในกิจกรรมที่ชั่วร้ายและผิดกฎหมาย” <6>
14. สิ่งที่ถูกปกปิดก็คือกระบวนการขุดบิทคอยน์มีต้นทุนสูงมาก จากการศึกษาขององค์การสหประชาชาติเรื่อง The Hidden Environmental Cost of Cryptocurrency: How Bitcoin Mining Impacts Climate, Water and Land แสดงถึงการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมโหฬารในการขุดบิทคอยส์ <7>
15. ขณะที่เครือข่ายบิทคอยน์พยายามขายเหรียญด้วยการอ้างสารพัดเหตุผลโน้มน้าว เช่น สังคมกึ่งไร้รัฐเผด็จการสังคมแบบยูโทเปีย ส่วนนาย “พ่อรวยสอนลูกรวย” ก็พยายามบอกว่าซื้อบ้านไม่ดี เอาเงินไปลงทุนดีกว่า (โดยเฉพาะบิทคอยน์) ข้างฝ่ายพวกโค้ชต่างๆ ก็บอกว่าคนเราไม่สามารถซื้อบ้านได้แล้ว ควรเช่าบ้าน แล้วเอาเงินไปซื้อบิทคอยน์ดีกว่า นี่คงเป็นขบวนการสมคบคิดกันทั้งนั้น
เราต้องระวังบิทคอยน์ให้ดีเพราะจะเป็นเครื่องมือในการสร้างจักรวรรดินิยมใหม่ขึ้นมาครองโลก
อ้างอิง
<1> โปรดดูกรณีสหรัฐอเมริกา https://tradingeconomics.com/united-states/inflation-cpi
<2> โปรดดูกรณีไทย https://tradingeconomics.com/thailand/inflation-cpi
<3> สมเด็จพระเพทราชา http://surl.li/shfcw
<4> ดูสภาพ “ข้าวยากหมากแพง” ที่มีมาทุกยุคสมัย ตั้งแต่อยุธยา ถึงรัตนโกสินทร์ https://www.silpa-mag.com/history/article_80574
<5> Gini Coefficient https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_income_equality
<6> โปรดดูข่าวนี้ https://shorturl.at/owBIN
<7> โปรดดูรายงาน: https://shorturl.at/guEMU