AREA แถลง ฉบับที่ 42/2552: 22 ตุลาคม 2552
ธุรกิจโรงแรมชะลอตัวทั่วเอเชีย ไทยอาจหนักสุด
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ข้อค้นพบนี้ส่งตรงมาจาก อินเดียโดย ดร.โสภณ พรโชคชัย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเยือนอินเดีย ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ตากอากาศและโรงแรม
จากการประเมินทั่วเอเชียล่าสุดจากวารสาร Hotelier พบว่า มีโครงการก่อสร้างโรงแรมถึง 1,891 แห่ง รวมจำนวนห้องถึง 437,374 ห้อง และส่วนใหญ่ 257,143 ห้อง หรือ 59% อยู่ในจีน ที่อยู่ในอินเดียก็เป็นอันดับสองคือ 78,140 ห้อง หรือ 18% ส่วนในภูมิภาคอาเซียน มีจำนวนห้องรวมกันเพียง 76,706 ห้อง ซึ่งยังน้อยกว่าอินเดียทั้งประเทศ นอกนั้นอีกราว 5-6% จะอยู่ในประเทศอื่นในเอเชีย โดยสรุปแล้ว อาจกล่าวได้ว่าการลงทุนหลัก ล้วนไปที่จีนและอินเดีย
ในจำนวนโครงการทั้งหมด 1,891 โครงการข้างต้นนี้ เป็นโครงการที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างถึง 1,101 โครงการ รวมจำนวนห้องถึง 270,698 ห้อง หรือ 68% ของที่วางแผนไว้ แสดงว่าโครงการจำนวนมากมายเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นจริง และจีนก็ยังเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยอินเดีย ภูมิภาคอาเซียนและอื่น ๆ เป็นจำนวน 186,279, 33,878, 37,769 และ 12,772 ห้องตามลำดับ จากตัวเลขข้างต้นนี้ ชี้ให้เห็นว่า จำนวนโรงแรมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในจีนยังมีความแน่นอนมากกว่าอินเดียและภูมิภาคอื่น ตัวเลขเหล่านี้แสดงถึงความเป็นมหาอำนาจของจีนในโลกและในเอเซียโดยแท้
อย่างไรก็ตามแม้จีนจะมีปริมาณห้องพักใหม่จำนวนมหาศาลข้างต้น แต่หากพิจารณาจากตัวเลขที่มีการปะมาณการไว้ก่อนหน้านั้นคือ ณ กลางปี 2551 จะพบว่า มีการปรับลดลงอย่างมากแล้ว แสดงว่าก่อนหน้านี้ จำนวนห้องพักที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมีมากกว่านี้อีก โดยตัวเลขของจีนได้ลดลง 21% ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ภาวการณ์ถดถอยของเศรษฐกิจโลก ก็ยังส่งผลกระทบต่อจีนเช่นกัน อย่างไรก็ตามอินเดีย ก็ยังมีการปรับเพิ่มอีก 2% แม้ไม่มากนัก แต่ก็ยังแสดงถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจของอินเดียในขณะนี้
สำหรับในภูมิภาคอาเซียน มีจำนวนตัวเลขปรับลดลงประมาณ 5% ของจำนวนห้องพัก และ 8% ของจำนวนโครงการที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า ภูมิภาคอาเซียนได้รับผลกระทบกันพอสมควร โดยเฉพาะไทย สิงคโปร์และมาเลเซีย
สำหรับในอินเดีย อัตราการเข้าพักเฉลี่ยตลอดปี ในมหานครขนาดใหญ่ คือ บังกะลอร์ เชนไน มุมไบและนิวเดลี อยู่ที่ 49.9%, 62.0%, 57.2% และ 67.9% ตามลำดับ อาจกล่าวได้ว่าอัตราการเข้าพักของมหานครใหญ่เหล่านี้ปรับลดลงกว่าปี 2551 ถึงประมาณ 20% ตัวเลขนี้แสดงว่า การท่องเที่ยวของอินเดียก็ได้หดตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจเช่นกัน
กรณีตัวอย่างที่นครปูเน (Pune) ทางตอนกลางของอินเดียพบว่า ขณะนี้อยู่ในภาวะล้นตลาด ทั้งนี้เพราะมีเครือโรงแรมระดับโลกไปตั้งกันเป็นจำนวนมาก พอเศรษฐกิจตกต่ำลง ก็พบภาวะล้นตลาดที่คาดว่าจะได้เห็นในช่วง 2 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามนครปูเน มีอัตราการเข้าพักสูงสุดเกือบ 100% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่หากพิจารณาในรายละเอียด ในกรณีของโรงแรมขนาดเล็กของนักลงทุนอินเดียเอง เชื่อว่าสถานการณ์อาจยังไม่เลวร้ายแต่อย่างใด ซึ่งก็คงคล้ายกับในเมืองเล็ก ๆ อื่น ๆ ที่โรงแรมก็ยังมีอัตราการเข้าพักที่ดีพอสมควร
เครือโรงแรมนานาชาติที่ไปเปิดในอินเดียเฉพาะที่ในไทยอาจไม่คุ้นนัก ได้แก่ยี่ห้อ Aloft, Clarion, Fortune Select Exotica, Four Points, Keys, Lela Group, LemonTree Resort, Mayfair, Romano, Sleep Inn, Trident
อันที่จริงปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลก เพียงแต่เชื่อว่าในกรณีของประเทศไทย อาจตกหนักกว่า เพราะประเทศไทยมีทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าจากการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านเช่นเวียดนาม และปัญหาการเมืองและความมั่นคงภายในประเทศไทยเอง ถ้าประเทศไทยสงบสุขกว่านี้ ก็คงมีเครือโรงแรมต่างประเทศเข้ามามากกว่านี้ และถือเป็นการส่งเสริมการลงทุนที่ดีกว่าให้ต่างชาติมาซื้อที่ดินในประเทศไทยเสียอีก
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน
|