อ่าน 3,418 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 155/2557: 9 ตุลาคม 2557
ชุมชนแออัด แก้ยังไงดี

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          เมื่อเร็ว ๆ นี้เห็นข่าว "เครือข่ายสลัม 4 ภาค" เดินขบวนไปขอเดินขบวนและเชิญนายกฯ ไปร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกในวันอังคารที่ 7 ตุลาคม นี้ วันนี้ผมจึงขออนุญาตเขียนถึงชุมชนแออัดในเมืองสักหน่อยครับ ผมเคยสำรวจพบจำนวนชุมชนแออัดมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร และยังสำรวจจำนวนชุมชนแออัดทั่วประเทศอีกด้วยผมเชื่อวาถ้าเราแก้ปัญหาแบบพวกเครือข่ายข้างต้นที่มาจัดงาน 'เช็งเม้ง' รายปีแบบนี้ อีก 100 ปีก็แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยไม่ได้

ภาพที่ 1: ตัวแทน "สลัมสี่ภาค" จัด 'เช็งเม้ง' ปีละหน ในวันที่อยู่อาศัยโลก

ย้ายชุมชนแออัดไม่ได้หรือ
          ประเด็นสำคัญหนึ่งที่พูดถึงกันก็คือการไล่รื้อ พวกเครือข่ายฯ มักคิดว่า 'หัวเด็ดตีนขาด' ห้ามไล่รื้อ แต่บางครั้งก็เป็นสิ่งจำเป็น อย่าว่าแต่ชุมชนแออัดเลย แม้แต่บ้านคหบดี ประชาชนทั่วไปก็มีโอกาสถูกไล่รื้อจากการเวนคืนเพื่อการพัฒนาเมืองได้ ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่จะไปหรือไม่ไป แต่จะไปอย่างได้รับการชดเชยที่สมน้ำสมเนื้อ หรือแทนที่จะไป ก็จัดหาที่อยู่อาศัยในรูปแบบแฟลตหรือห้องชุดให้อยู่ใกล้ๆ ที่เดิม จะได้ไม่ต้องระเห็จย้ายไปไกล กระทบการเดินทางไปศึกษาของบุตรหลานและการทำงานของฃาวบ้านที่ถูกเวนคืนต่างหาก
          มีกรณีศึกษาหนึ่งที่ชัดเจนว่าการไล่รื้อเป็นสิ่งที่ดีกว่าการคงให้ชุมชนแออัดยังคงอยู่ นั่นก็คือเหตุการณ์ไล่รื้อชุมชนแออัดหน้ากรมทางหลวง ถนนศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2500 ที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกระทรวงการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันมะเร็ง และอื่น ๆ ในวันนั้นชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีถึง 1,600 ครอบครัวในยุคที่ชุมชนแออัดคลองเตยยังเล็กๆ เด็กๆ อยู่เลย

ภาพที่ 2: เห็นชัดว่าถ้าวันนี้ตรงที่ตั้งกระทรวงการต่างประเทศ ม.มหิดล รพ.รามาฯ ยังเป็นชุมชนแออัดอยู่ คงไม่ดีแน่

          ถ้าวันนี้ชุมชนนี้ยังอยู่ คงขยายตัวอยู่กันหนาแน่นกว่าเดิม อาจมีคนอยู่นับหมื่นในครอบครัวราว 5,000 ครอบครัว แต่วันนี้สถานที่นี้กลับใช้เป็นสถานที่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งย่อมดีกว่าการที่จะเป็นชุมชนแออัดอย่างเดิม แต่ปัญหาในขณะนี้ก็คือการจัดที่อยู่อาศัยให้กับชาวบ้านโดยจ่ายเงินทดแทนและให้ระเห็จไปไกลถึงปากเกร็ด ชาวบ้านจึงย้ายหนีกลับเข้ากรุงเทพมหานครเกือบหมด มาเช่าที่ปลูกบ้านเป็นชุมชนแออัดแห่งใหม่ต่อไป ถ้าวันนั้นทางราชการปลูกเป็นอาคารสงเคราะห์อยู่กันอย่างหนาแน่นแต่ไม่แออัด หรืออาจให้ค่าทดแทนเพื่อให้ชาวบ้านไปซื้อหรือเช่าบ้านที่อื่นกันตามอัธยาศัย อาจดีกว่าการไปจัดหาที่อยู่อาศัยไกลๆ และไม่เป็นจริง เป็นต้น

โชคดีเดี๋ยวนี้ชุมชนแออัดลดลง
          ตอนที่ผมซึ่งเป็นคนแรกที่ค้นพบชุมชนแออัด 1,020 แห่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อปี 2528 นั้น ผู้คนตกใจที่ทำไมมีชุมชนแออัดมากมายโดยที่ทางการไม่เคยสำรวจพบมาก่อน แต่ความจริง นั่นเป็นเพียง 27% ของบ้านทั้งหมด ณ เวลานั้น เมื่อย้อนกลับไปเมื่อปี 2501 เฉพาะในกรุงเทพมหานครก็มีบ้านที่ต่ำกว่ามาตรฐาน (สมควรรื้อทิ้ง) หรืออนุมานว่าเป็นชุมชนแออัดอยู่ถึง 43% ของบ้านทั้งหมดด้วยซ้ำ และ ณ ปี 2543 ชุมชนแออัดเหลือเพียง 5.8% และ ณ ปี 2557 สัดส่วนของชุมชนแออัดต่อที่อยู่อาศัยทั้งหมดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลก็คงลดน้อยไปกว่านี้อีกเนื่องจากการรื้อถอนสวนทางกับการเพิ่มขึ้นของบ้านจัดสรร และอาคารชุดทั้งหลาย
          ความจริงแล้วผมค้นพบว่าชุมชนแออัดลดลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2536 โดยผมทำวิจัยให้กับสหประชาชาติโดย ILO และทาง ILO ก็ได้เผยแพร่ให้เป็นกรณีศึกษาของโลกที่ประสบความสำเร็จในการลดปริมาณชุมชนแออัดลงได้ แต่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์นี้ได้รับการเผยแพร่เพียงน้อยนิดทั้งในระดับสากลและโดยเฉพาะในประเทศไทย เนื่องจากกระแสหลักก็คือการพยายามทำให้สังคมเชื่อว่าชุมชนแออัดมีแต่จะเพิ่มขึ้น เพื่อที่ “นายหน้าค้าความจน” ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย จะได้ใช้เป็นเครื่องมือหางบประมาณมาสร้างผลงาน มาหาเลี้ยงชีพส่วนตัว หรือมาโกงกินกันต่อไป

ภาพที่ 3: ผมได้ไปคารวะแม่ชีเทเรซาที่หลุมศพของท่านที่นครโกลกาตา

          ในอินเดีย ท่านคงเคยได้ยินชื่อแม่ชีเทเรซา ซึ่งช่วยเหลือชาวชุมชนแออัดในนครโกลกาตา ท่านอุทิศทั้งชีวิตเพื่อชาวชุมชนแออัดจนเมื่อท่านสิ้นชีวิต ท่านได้เป็นบุญราศรีหรือ Saint ในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก เมื่อครั้งที่ผมเดินทางไปบรรยายวิชาอสังหาริมทรัพย์ที่อินเดีย ก็ยังเคยไปกราบหลุมศพของท่าน แต่ถึงแม้ท่านจะช่วยเหลือชาวชุมชนแออัดอย่างไร ชาวชุมชนแออัดส่วนใหญ่ก็ยังยากจนและต้องอยู่ในชุมชนต่อไป จนเมื่ออินเดีย 'ลืมตาอ้าปาก' จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่างหากเล่าที่ทำให้ชาวชุมชนแออัดสามารถออกไปเลือกซื้อบ้านในที่อื่น หลุดพ้นจากชีวิตในชุมชน จึงอาจกล่าวได้ว่าต่อให้มี 1,000 แม่ชีเทเรซาก็ช่วยชาวชุมชนแออัดให้พ้นจากความจนไม่ได้

ชาวชุมชนแอัดไม่จนและไม่ได้มาจากชนบท
          ในประเทศไทยมีคนจน ประมาณ 13% คนเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ดังนั้นสัดส่วนของคนจนในกรุงเทพมหานครจึงน่าจะมีน้อยกว่า 10% หากประมาณการว่าเป็นแค่ 5% ก็คงมีประชากรไม่เกิน 500,000 คนของประชากรทั้งหมดเกือบ 10 ล้านคนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถ้าประชากรในชุมชนแออัดมีนับล้านคน ก็แสดงว่าคนในชุมชนแอัดส่วนมากไม่ได้จน คนจนจริง ๆ ก็หาได้อยู่เพียงในชุมชนแออัดไม่ พวกเขายังอาจเร่ร่อนอยู่ทั่วไป บ้างอยู่ในหอพักคนงาน เป็นคนใช้ตามบ้าน เป็นแรงงานก่อสร้าง ฯลฯ ดังนั้นอาจอนุมานได้ว่า คนชุมชนแออัดที่จนจริง ๆ นั้นมีเพียงน้อยนิด
          ความจริงข้างต้นอาจดูน่าฉงน ลองมาตรองดู คนชุมชนแออัดส่วนมากมีบ้านเป็นของตนเองบนที่ดินเช่า (เป็นส่วนใหญ่) ในราคาแสนถูก หรือไม่ก็บุกรุกที่ดินคนอื่นฟรี ๆ แล้วสร้างบ้าน (เป็นส่วนน้อย) การมีบ้านสะท้อนฐานะที่ชัดเจน เพราะถ้าต้องเช่าบ้าน ค่าเช่าอย่างน้อยก็เป็นเงิน 1,500 บาทต่อห้องเล็ก ๆ ห้องหนึ่ง ถ้าเช่าบ้านชุมชนแออัดทั้งหลังคงไม่ต่ำกว่า 2,500 บาท ถ้าเราเอาค่าเช่ามาแปลงเป็นมูลค่า ณ อัตราผลตอบแทน 8% ต่อปี ก็จะเป็นเงิน 375,000 บาทต่อหลัง (2,500 x 12 / 8%) นี่คือเครื่องแสดงฐานะของชาวชุมชนแออัดโดยเฉลี่ย ดังนั้นที่อ้างกันอย่างไม่ลืมหูลืมตาว่าชาวชุมชนแออัดยากจนนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีมูล อาจถือเป็นคน “อยากจน” เพื่อผลประโยชน์บางอย่างมากกว่า

ชุมชนแออัดไม่ใช่ผลพวงย้ายถิ่น
          เราเข้าใจผิดว่า คนจนในชนบทย้ายมาอยู่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยเฉพาะชุมชนแออัด ผมเคยค้นพบไว้เมื่อปี 2536 ว่า ณ ปี 2533 การย้ายถิ่นส่วนใหญ่ ย้ายระหว่างชนบทสู่ชนบท ไม่ใช่เข้าเมือง ที่ย้ายเข้าเมืองเป็นเพียงส่วนน้อย (22%) โดยสรุปแล้วอาจกล่าวได้ว่า
          1. ผู้ที่ย้ายถิ่นส่วนใหญ่ย้ายระหว่างชนบทสู่ชนบท ไม่ใช่เข้าเมืองอย่างที่เข้าใจกัน
          2. เฉพาะผู้ที่ย้ายเข้าเมือง ก็ไม่ใช่ว่ามาในกรุงเทพมหานครเป็นส่วนใหญ่
          3. เฉพาะผู้ที่เข้ามากรุงเทพมหานครก็ไม่ใช่มีแต่คนยากจน กลุ่มอื่นที่ย้ายก็ได้แก่ผู้ที่มาศึกษาต่อ เป็นข้าราชการ ฯลฯ
          4. เฉพาะคนจนที่ย้ายเข้ากรุง ก็ใช่มาอยู่แต่ในชุมชนแออัด ยังมีบ้านเช่าราคาถูกนอกชุมชนแออัดอยู่มากมาย หรือบ้างก็เป็นคนรับใช้ในบ้าน เป็นสาวโรงงาน ฯลฯ
          5. เฉพาะคนจนที่ย้ายเข้าในชุมชนแออัด ส่วนมากก็เพียงมาอยู่ชั่วคราว ไม่คิดปักหลักแต่อย่างใด

          ท่านเชื่อหรือไม่ว่าความเข้าใจผิดนี้เกิดขึ้นจากความผิดพลาดแบบ “เส้นผมบังภูเขา” กล่าวคือ ในการสำรวจทางสังคมศาสตร์ เรามักจะหาข้อมูลจากแต่หัวหน้าครัวเรือน ในปี 2528 ทางราชการได้สำรวจครัวเรือนชุมชนแออัดถึง 3,594 ครัวเรือนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แล้วพบว่า 59% ของหัวหน้าครัวเรือนเกิดต่างจังหวัด แต่เมื่อผมได้มีโอกาสเข้าไปตรวจสอบแบบสอบถามดังกล่าว กลับพบว่า ส่วนใหญ่ (65%) ของประชากรชุมชนแออัด (หัวหน้า คู่ครองและสมาชิกครัวเรือนด้วย) เกิดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเอง

แก้อย่างไรให้ถูกจุด
          การตะบี้ตะบันสร้างแฟลต ปรับปรุงสลัม ทำบ้านมั่นคง สร้างบ้านเอื้ออาทร คงไม่ใช่หนทางของการพัฒนาชุมชนแออัดและเราถมเงินไปเท่าไหร่ก็ไม่แล้ว เพราะรัฐบาลก็คงไม่มีเงินมากมายในการทุ่ม ที่ผ่านมาทุ่มไปทุ่มมาในการสร้างแฟลต ก็เลยไพล่ไปปรับปรุงชุมชนแทนเพราะรัฐบาลก็บักโกรกเหมือนกัน ดังนั้นแนวทางสำคัญก็คงอยู่ที่การพัฒนาเศรษฐกิจ ผมสำรวจชุมชนแออัดมามาก ไม่มีใครอยากอยู่หรอกครับ ต่างอยากออกไปอยู่ในที่ๆ ดีกว่านี้ แต่ที่อยู่ ก็อยู่เพราะความจำเป็น ถ้าประเทศชาติเจริญขึ้น เขาก็มีทางเลือก คนที่คิดจะเข้ามาอยู่ใหม่ ก็ไม่ย้ายมา เพราะในตลาดมีหอพัก อะพาร์ตเมนต์ ห้องชุดให้พักกันมากมาย ไม่ต้องอยู่อย่างต่ำกว่ามาตรฐานการอยู่อาศัยในชุมชนแอัด
          อีกอย่างหนึ่งที่ควรทำก็คือการส่งเสริมให้ภาคเอกชนพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยรัฐบาลแค่สนับสนุนอยู่ห่าง ๆ ไม่ต้องลงไปแข่งกับภาคเอกชน ท่านอาจไม่เชื่อว่าในระยะ 40 ปีที่ผ่านมาที่การเคหะแห่งชาติพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยนั้น หากไม่นับรวมบ้านเอื้ออาทรที่สร้างขึ้นมาตามนโยบายเร่งด่วนแล้ว กลับมีมูลค่าการพัฒนาต่ำกว่าการพัฒนาที่อยู่อาศัยของ บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท ที่ทำมาเพียง 20 ปีเสียอีก ภาคเอกชนสามารถจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนในราคาที่เป็นธรรม แถมยังได้กำไร และรัฐบาลไม่ต้องอุดหนุนเงินให้สักบาทเลยด้วยซ้ำไป

          แต่ในโลกความเป็นจริง คงมีหลายคนแอบไม่อยากให้ชุมชนแออัดหมดไป เพราะหากหมดไปหรือลดน้อยลง ก็คงหมดโอกาสเอางบประมาณมาผลาญเล่นนั่นเอง ลองตรองดูครับ


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved