ว่าด้วยห้องชุดรอบมหาวิทยาลัย: กรณีศึกษาธรรมศาสตร์
  AREA แถลง ฉบับที่ 548/2567: วันอังคารที่ 25 มิถุนายน 2567

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

            ห้องชุดรอบมหาวิทยาลัยเป็นอสังหาริมทรัพย์กลุ่มที่น่าสนใจ เพราะในปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาประเภทต่างๆ กระจายไปทั่วประเทศ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

 

 

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เปิดเผยว่าตั้งแต่ปี 2555 ได้มีโครงการอาคารชุดเกิดขึ้นในบริเวณรอบๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยมีทั้งหมด 14 โครงการในขณะนี้โดยมีจำนวนหน่วยรามถึง 9,464 หน่วย รวมมูลค่า 18,339 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 1.938 ล้านบท โดยทั้งหมดนี้ขายไปแล้ว 8,146 หน่วย ขณะนี้ยังมีหน่วยขายรอผู้ซื้ออยู่ 1,318 หน่วย ทั้งนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนักศึกษาอยู่ทั้งหมด 62,190 คน นอกจากนี้ยังมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่อีกเป็นจำนวนมาก

 

ตารางที่ 1: ห้องชุดพักอาศัยในบริเวณรอบๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2567 (ตามราคาหน่วยขาย)

ระดับราคาขาย จำนวน จำนวนหน่วยขาย   มูลค่า
(ล้านบาท) โครงการ ทั้งหมด ขายแล้ว คงเหลือ (ลบ.)
1.000-2.000 13 6,797 5,751 1,046 11,091
2.001-3.000 8 2,330 2,066 264 6,036
3.001-4.000 6 265 257 8 887
4.001-5.000 2 61 61 0 262
>5.000 2 11 11 0 63
Total 14 9,464 8,146 1,318 18,339

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

 

            เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า ห้องชุดส่วนใหญ่มีราคาระหว่าง 1-2 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ 1.632 ล้านต่อหน่วย โดยมีถึง 6,797 หน่วย หรือ 72% ของสินค้าห้องชุดทั้งหมด รองลงมาคือห้งอชุดราคา 2-3 ล้านบาท จำนวน 2,330 หน่วย รวมมูลค่า 6,036 ล้านบาท หรือเฉลี่ยหน่วยละ 2.591 ล้านบาท ทั้งนี้มีสัดส่วนประมาณ 25% ของทั้งหมด

            ดังนั้นจะเห็นได้ว่าห้องชุดในพื้นที่นี้มีราคาประมาณ 1-3 ล้านบาท รวมกันถึง 97% ของทั้งหมด ที่เหลือเป็นห้องชุดที่มีราคาสูงเกิน 3 ล้านบาท ซึ่งคงเป็นห้องเพนท์เฮาส์ หรือห้องส่วนน้อยเท่านั้น แสดงว่าห้องชุดสำหรับมหาวิทยาลัยควรมีราคาไม่เกิน 2-3 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้หากเป็นมหาวืทยาลัยท้องถิ่นต่างๆ ราคาเฉลี่ยที่จะขายได้อาจต่ำกว่านี้ เช่น ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือราวๆ 1 ล้านบาทเป็นสำคัญ

            จำนวนหน่วยเหลือในขณะนี้ 1,318 หน่วยหรือ 14% ของหน่วยขายทั้งหมดนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นห้องชุดราคาไม่เกิน 2 ล้านบาทเป็นหลักเช่นกัน โดยมีเหลืออยู่ 1,046 หน่วย หรือ 15% ของหน่วยขายในระดับราคาไม่เกิน 2 ล้านบาทนี้ แสดงว่าหน่วยที่เหลือขายนั้นไม่ได้มากหรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป  อย่างไรก็ตามสำหรับหน่วยขายที่มีราคา 2-3 ล้านบาทที่มีอยู่ 2,330 หน่วยนั้น กลับเหลือขายเพียง 264 หน่วย หรือราว 11% เท่านั้น

            ปรากฏการณ์นี้แสดงว่าสินค้าที่มีคุณภาพกว่ากลับขายได้มากกว่า ทั้งนี้คงเป็นเพราะนักศึกษาและข้าราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นี้ น่าจะมีกำลังซื้อที่ดี ยิ่งสำหรับห้องชุดราคา 3-4 ล้านบาท ก็เหลืออยู่น้อยมากเพียง 3% เท่านั้น ส่วนห้องชุดราคา 4-5 ล้านบาท และ 5 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งมีน้อยมาก ไม่มีหน่วยแหลือขายแล้ว  อย่างไรก็ตามหากเป็นสถาบันอุดมศึกษาอื่นโดยเฉพาะในจังหวัดภูมิภาคที่เป็นเมืองรอง ราคาขายย่อมต้องต่ำกว่านี้ตามฐานะทางเศรษฐกิจของนักศึกษาในท้องถิ่น

 

ตารางที่ 2: ห้องชุดพักอาศัยในบริเวณรอบๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2567 (ตามราคาต่อตารางเมตร)

ระดับราคาขาย จำนวน จำนวนหน่วยขาย     มูลค่า % หน่วยขาย %
(บาท/ตารางเมตร) โครงการ ทั้งหมด ขายแล้ว คงเหลือ (ล้านบาท) ทั้งหมด ขายได้
<50,000 4 2,664 2,220 444 3,681 28% 83%
50,001-70,000 4 2,092 1,654 438 3,727 22% 79%
70,001-100,000 8 3,985 3,553 432 8,807 42% 89%
>100,000 4 723 719 4 2,124 8% 99%
Total 14 9,464 8,146 1,318 18,339 100% 86%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

 

            หากพิจารณาหน่วยขายแยกตามระดับราคาต่อตารางเมตรจะพบว่าราคาที่มีขายเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดถึง 42% ก็คือห้องชุดที่ขายในราคา 70,001-100,000 บาทต่อตารางเมตร  แสดงว่าครอบครัวของนักศึกษาในบริเวณรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นี้ คงมีฐานะค่อนข้างดี จึงสามารถซื้อห้องชุดในราคาค่อนข้างสูงได้ อย่างไรก็ตามากลุ่มที่มีราคาเฉลี่ยต่ำกว่า 50,000 บาทต่อตารางเมตรมีสัดส่วนมากเป็นอันดับที่ 2 คือ 28% หรือ 2,664 หน่วย ตามด้วยห้องชุดราคา 50,001 – 70,000 บาทต่อตารางเมตร

            จะสังเกตได้ว่าห้องชุดราคาที่เกินกว่า 100,000 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งมีเพียง 8% สามารถขายได้แล้วถึง 99% ของทั้งหมดในกลุ่มนี้ ส่วนห้องชุด ราคา 70,001-100,000 บาทต่อตารางเมตรก็ขายได้แล้วถึง 89% ของทั้งหมด  ส่วนห้องชุดที่มีราคาต่อตารางเมตรโดยเฉลี่ยต่ำกว่ากลับขายได้น้อยกว่า  อย่างไรก็ตามหากเป็นในกรณีสถาบันอุดมศึกษาท้องถิ่นโดยเฉพาะในเมืองรอง ราคาต่อตารางเมตรที่พึงขายได้ก็คงไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนถ้าเป็นห้องชุดในมหาวิทยาลัยในใจกลางเมืองโดยเฉพาะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราคาขายต่อตารางเมตรคงเป็นเงินประมาณ 250,000 บาท

            การพัฒนาอาคารชุดพักอาศัยโดยรอบมหาวิทยาลัยยังมีโอกาสเติบโตพอสมควร แต่ในขณะนี้ผู้ซื้อถึงราว 50% กลายเป็นนักเก็งกำไรที่ซื้อเพื่อหวังปล่อยเช่าหรือขายต่อ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณการล้นตลาดในอนาคต

 

หมายเหตุ: บทความนี้เคยลงในมติชนออนไลน์ วันที่ 20 เมษายน 2567

https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_4535116

 

อ่าน 308 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved