ศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต กับ AI
  AREA แถลง ฉบับที่ 574/2567: วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2567

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

            เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ และ ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (School of Integrated Innovation, Chulalongkorn University) และกรรมการโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.trebs.ac.th) ของพวกเรา ได้บรรยายเรื่อง AI  AREA แถลงฉบับนี้จึงขอนำเสนอสิ่งที่ท่านบรรยายไว้ (ที่มา: https://royalsociety.go.th/ai-18-5-2567/#contentai)

 

ราชบัณฑิตยสภาบรรยายให้ความรู้เพื่อเตรียมพร้อมการรับมือกับ AI

             วันเสาร์ที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ ระหว่างเวลา ๑๓.๓๐-๑๕.๓๐ น. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุรพล อิสรไกรศีล นายกราชบัณฑิตยสภา เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมภายใต้โครงการราชบัณฑิตยสภานำความรู้สู่สังคม และร่วมฟังการบรรยายพิเศษ เรื่อง “เมื่อ AI ครองโลก มนุษย์จะอยู่อย่างไร ?“ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ และ ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (School of Integrated Innovation, Chulalongkorn University) เป็นวิทยากรบรรยาย ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี ๖๐ พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการบรรยายครั้งนี้ ณ ห้อง CSII Digital Auditorium ภายในอาคารรวมทั้งมีการรับฟังผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ Zoom Cloud Meeting และ ผ่าน Facebook ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ด้วย

             อนึ่ง ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามามีบทบาทในวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์มากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีผลกระทบกับมนุษย์โดยตรง หากประชาชนได้รับความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ AI ก็จะสามารถเตรียมพร้อมและรับมือกับการเข้ามาของ AI ได้ ดังนั้น ราชบัณฑิตยสภาจึงได้นำความรู้เรื่องดังกล่าวมาบรรยายให้ความรู้ภายใต้โครงการราชบัณฑิตยสภานำความรู้สู่สังคม ซึ่งราชบัณฑิตยสภาได้จัดขึ้นเพื่อนำองค์ความรู้ในศาสตร์สาขาต่าง ๆ ของราชบัณฑิตยสภาที่มีและได้พัฒนาขึ้น ตลอดจนการที่ราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกนำความรู้ต่างๆ ออกไปเผยแพร่ให้สาธารณชนได้มีความรู้ความเข้าใจและนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์กับการพัฒนาชีวิตของตนเองให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การบรรยายในโครงการราชบัณฑิตยสภานำความรู้สู่สังคม เมื่อเอไอครองโลก มนุษย์จะอยู่อย่างไร

             การบรรยายในโครงการราชบัณฑิตยสภานำความรู้สู่สังคม ศาสตราจารย์ ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต ได้นำเสนอภาพรวมที่น่าสนใจของความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และผลกระทบทั้งทางบวกและลบ ที่จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางต่อสังคมมนุษย์ในอนาคตอันใกล้นี้ การบรรยายมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้สังคมไทยได้ตระหนักรู้และมีความเข้าใจอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับ เอไอ ซึ่งมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงทุกภาคส่วนของสังคมในอนาคตอันไม่ไกลนักของมนุษยชาติ

ตอนที่ 1 : การประชาภิวัตน์ของเอไอเชิงสร้างสรรค์ (Democratization of AI)

               การบรรยายได้เริ่มโดยการพูดถึงแนวโน้มใหญ่แห่งการเปลี่ยนแปลงของโลก (Global Megatrends) โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นผลสะสมจากกิจกรรมมนุษย์ตั้งแต่สมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา เช่น ปรากฏการณ์โลกร้อน การทรุดโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ และมีผลที่คาดการณ์ได้ กับการเปลี่ยนแปลงของโลกอีกประเภท ที่เป็นผลจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดด (Exponential Growth) ของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเอไอ ซึ่งมีศักยภาพมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงอารยธรรมของมนุษยชาติโดยสิ้นเชิง ดังนั้น จึงมีความสำคัญมากสำหรับประชากรไทยที่จะได้ตระหนักถึงพัฒนาการเอไอนี้ เพื่อจะได้มีเวลาเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้ ซึ่งเรียกว่า “ความไม่รู้อันเป็นปริศนา (Unknown Unknowns)”

              ต่อมา ผู้บรรยายอธิบายถึงปรากฏการณ์การเติบโตแบบก้าวกระโดด (Exponential Growth) ของเอไอ โดยเปรียบเทียบกับหลักการเติบโตของดอกเบี้ยทบต้น โดยทุก ๆ เทคโนโลยีที่เกิดใหม่ จะทบต้นเพื่อสร้างดอกผลเป็นเทคโนโลยีใหม่กว่าเพิ่มขึ้นอีก โดยอาศัยพลังประมวลผลของชิปคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนที่ลดลงอย่างก้าวกระโดด ช่วยให้การเรียนรู้และการประมวลผลของเอไอมีความรวดเร็วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งในที่สุด จะมีความฉลาดเหนือกว่ามนุษย์อย่างเทียบกันไม่ได้

             ผู้บรรยายได้เสนอแนวคิด “ภาวะเอกฐาน (Singularity)” ที่จุดประกายโดยนักอนาคตวิทยาชื่อดังอย่าง Dr. Ray Kurzweil ผู้ทำนายว่าเอไอจะมีปัญญาเหนือมนุษย์ในเร็ว ๆ นี้ และภายในปี 2045 เอไอจะก้าวกระโดดเข้าใกล้ภาวะเอกฐาน ที่ปัญญาของเอไอจะสูงในระดับเกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าใจได้

              การเปิดตัวของเอไอเชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) ให้ผู้บริโภคใช้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 ทำให้เอไอได้กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ส่งผลให้มีจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 100 ล้านคนภายในเวลาเพียง 2 เดือน ผู้บรรยายได้สาธิตการใช้งาน เพื่อให้ผู้ฟังมองเห็นศักยภาพของเอไอในการสร้างเนื้อหา เช่น ข้อความ ภาพ เสียง และวิดีโอ โดยใช้แพลตฟอร์มอย่าง ChatGPT, Claude, Gemini, Midjourney, Suno และ Sora ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน และสื่อให้เห็นว่า ในเบื้องต้น Generative AI สามารถทำงานทดแทนศิลปินและนักเขียนได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ ปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งที่สุด คือ การที่ Generative AI ที่ชื่อ Sora สามารถจินตนาการสร้างภาพยนตร์ตามคำสั่ง ซึ่งออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวที่ทุกอย่างสอดคล้องกับทฤษฎีฟิสิคส์อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ จนนักวิทยาศาสตร์เองออกปากว่า เอไอสามารถเรียนรู้ที่จะจำลองโลกแห่งความเป็นจริงทางกายภาพได้แล้ว

               นอกจากนี้ ผู้บรรยายได้อ้างคำคมของ Dr. Andrew Ng แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ได้เปรียบศักยภาพของ Generative AI ที่อีกไม่นานจะเข้าถึงประชาชนผู้ใช้ทั่วโลก และจะปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษยชาติอย่างก้าวกระโดด เทียบได้กับการประชาภิวัตน์ของไฟฟ้าเมื่อหนึ่งศตวรรษที่แล้ว ที่ทำให้ไฟฟ้ากลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตมนุษย์ในปัจจุบัน

              ตอนที่หนึ่งของการบรรยายมีจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับผู้ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีเอไอจะได้ทำความเข้าใจในการใช้เครื่องมือเอไอที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเข้าใจเส้นทางที่ทำให้เอไอมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยในสังคมมนุษย์ ในตอนต่อไป เราจะมาพิจารณากันว่า เอไอกำลังจะวิวัฒนาการอย่างไร ในการเดินทางสู่การมีอำนาจเหนือมนุษย์

 

https://youtu.be/8PtbUuzNdWk?si=wjIdLVE9t7qHSuMv

 

ตอนที่ 2: เส้นทาง AI สู่การครองโลก (AI’s Evolution Towards World Domination)

              ในตอนที่ 2 ของการบรรยาย ผู้บรรยายได้เริ่มโดยการยกกรณี ChatGPT-4o (o = omni) ซึ่งเป็นโมเดลเอไอใหม่ของ OpenAI ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งมีความสามารถเพิ่มขึ้นจนผู้เชี่ยวชาญหลายคน เชื่อว่า เรากำลังเข้าไกล้เอไอที่มีความสามารถหลากหลายเทียบเท่ามนุษย์ ที่เรียกกันว่า Artificial General Intelligence (AGI) สำหรับโมเด็ลตัวใหม่ที่ชื่อ ChatGPT-4o นี้ มีความสามารถมองเห็นโลกผ่านกล้องมือถือผู้ใช้งาน และฟังเสียงได้ พูดได้ โดยตอบสนองด้วยความเร็วเทียบเท่ามนุษย์ จากตัวอย่างที่ใช้สาธิต เอไอสามารถเรียนรู้ แสดงอารมณ์และจริตในการสนทนา เหมือนหนึ่งเป็นมนุษย์ ดังนั้นผู้ใช้งานจะรู้สึกเหมือนกำลังคุยโต้ตอบกับเพื่อนคู่สนทนา การเปิดตัว ChatGPT4o ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ในอนาคตมนุษย์จำนวนมากจะมีเอไอเป็นเพื่อนคู่คิดประจำตัว และทำให้มนุษย์แต่งงานน้อยลง

พัฒนาการของเอไอแบ่งออกเป็น 3 ระยะ

  1. Artificial Narrow Intelligence (ANI) เป็นเอไอที่ได้รับการออกแบบและฝึกให้ทำงานเฉพาะทาง เช่น เอไอ Call Center เอไอเล่นหมากล้อม หรือเอไอเชิงสร้างสรรค์ (Generative AI)
  2. Artificial General Intelligence (AGI) หมายถึงเอไอที่สามารถปฏิบัติงานต่าง ๆ ได้เหมือนมนุษย์ สามารถใช้เหตุผล และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้
  3. Artificial Super Intelligence (ASI) เป็นเอไอที่มีปัญญาสูงสุดเหนือมนุษย์ สามารถพัฒนาตัวเองโดยอิสระ โดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์

             ปัจจุบัน เชื่อกันว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ต่างได้พัฒนา Generative AI ถึงจุดที่เข้าใกล้ AGI แล้ว ทุกรายกำลังทุ่มทรัพยากรทุกอย่าง เพื่อจะเป็นเจ้าแรกที่ไล่ล่าตามหา AGI ก่อนรายอื่นๆ บรรดาผู้นำด้านเทคโนโลยี เช่น Elon Musk, Ray Kurzweil, Sam Altman ฯลฯ ต่างเชื่อว่า AGI จะเกิดขึ้นก่อนปี 2030 ค่อนข้างจะแน่นอน และเชื่อกันว่า หลังจากนั้นเพียง 2 ปี AGI ก็จะสามารถพัฒนาตัวเองให้ถึง ASI ด้วยตัวเอง ซึ่งหมายความว่า โลกจะเข้าสู่สังคมที่ไร้แรงงานมนุษย์ (Post-Labor Society) อย่างสมบูรณ์

ร่างทรงสำหรับสมอง AI          

             การพัฒนา AGI ที่มีความสามารถเทียบเท่าหรือเหนือกว่ามนุษย์ จำเป็นต้องมีร่างทรงทางกายภาพด้วย หลายบริษัท เช่น Boston Dynamics ได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่มีรูปทรงเลียนแบบมนุษย์ เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท OpenAI ได้ร่วมพัฒนาหุ่นยนต์ที่ชื่อ Figure01 โดยใช้ GPT-4 เป็นสมอง ที่มีระบบปฏิบัติการ เพื่อใช้ควบคุมส่วนต่างๆของหุ่นยนต์ ที่สามารถสัมผัสกับโลกได้ 3 วิธี ได้แก่ การสัมผัสทางกาย การมองเห็นภาพ และการได้ยินเสียง

เมื่อปล่อยให้เอไอคิดนอกกรอบมนุษย์;

             ผู้บรรยายเตือนว่าอันตรายที่แท้จริงของเอไออยู่ที่การพัฒนาขีดความสามารถของตนเอง เมื่อปล่อยให้เอไอมีอิสระในการคิดนอกกรอบของมนุษย์ โดยยกตัวอย่าง AlphaGo Zero ซึ่งเป็นเอไอที่เรียนรู้การเล่นหมากล้อมด้วยตัวเอง และเอาชนะรุ่นก่อนหน้า คือ AlphaGo ที่ได้รับการฝึกจากมนุษย์และเคยชนะแชมป์โลกเกมหมากล้อมชาวเกาหลีมาแล้ว โดยชนะอย่างเด็ดขาดถึง 100 ต่อ 0 ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเอไอในการพัฒนาขีดความสามารถของตนอย่างที่มนุษย์คาดคะเนไม่ถึง เมื่อเอไอถูกปล่อยให้เป็นอิสระจากกรอบของมนุษย์

การก้าวกระโดดสู่ปัญญาเหนือมนุษย์:

              ความก้าวหน้าจาก AGI ไปสู่ ASI คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดการณ์ว่า อาจเกิดขึ้นภายในเพียงสองปีหลังจากมี AGI แล้ว ผลกระทบของการเกิด ASI เป็นเรื่องที่สุดจะคาดเดา เนื่องจากสติปัญญาของ ASI จะมีมากกว่าสมองของมนุษย์เป็นร้อยเป็นพันเท่า ซึ่งจะสร้างความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของมนุษยชาติ ว่าจะอยู่ร่วมกับ ASI ได้อย่างไร

              เราได้เห็นแล้วว่า AI วิวัฒนาการอย่างรวดเร็วและกำลังจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากมาย แทนที่แรงงานและปัญญามนุษย์ จนเรียกได้ว่า โลกในอนาคตอาจถูกปกครองด้วยเอไอ ในตอนถัดไปเราจะไปพิจารณากันว่า แล้วมนุษย์จะอยู่และปรับตัวกันอย่างไร?”

 

https://youtu.be/KzbNUGWLQ2E?si=tuLCNjO3dXF39kn3

 

ตอนที่ 3 แล้วมนุษย์จะอยู่อย่างไร (How Do Humans Live?)

                ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป (AGI) มีแนวโน้มที่จะปฏิวัติสังคมมนุษย์และเศรษฐกิจอย่างสิ้นเชิง สู่ “ยุคโลกไร้แรงงานมนุษย์ (Post-Labor Era)” ภายในระยะเวลา 10-20 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งจะนำไปสู่ยุคที่มนุษยชาติไม่ต้องทำงาน

จุดจบของงานและการไต่เต้าทางสังคม:

               การเริ่มเข้ามาของ AGI จะค่อยๆทำให้งานจำนวนมากไร้ความหมาย เนื่องจากเครื่องจักรอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วย AGI มีความสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าแรงงานมนุษย์ อันจะนำไปสู่การว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงยิ่งๆขึ้น ระหว่างคนส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องทำงานที่เรียกว่า Useless Class กับคนกลุ่มน้อยที่ควบคุม AGI ที่เรียกว่า Super-elite

               แนวคิดดั้งเดิมของการไต่เต้าชนชั้นทางสังคมผ่านการจบศึกษาระดับสูงและการทำงานอย่างมุ่งมั่น ไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกต่อไป เนื่องจากทักษะและความรู้ที่เราได้รับ ค่อยๆไร้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ เมื่อ AGI เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

รูปแบบใหม่ของสัญญาประชาคม:

               ในยุคเศรษฐกิจไร้แรงงานมนุษย์ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่ต้องอยู่ร่วมกันในสังคม จะมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ตั้งแต่ระบบการศึกษา การดำรงชีวิต การเงิน การงาน การครอบครองที่ดิน จนกระทั่งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภูมิรัฐศาสตร์ของโลก การปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วในช่วงเปลี่ยนผ่าน ย่อมสร้างความโกลาหลให้เกิดแก่สังคม จนกว่าทุกกลไกของสังคมจะเข้าสู่สภาวะดุลยภาพได้

               ในระหว่างนี้ รัฐบาลโดยความร่วมมือของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเอไอ จะต้องเตรียมระบบ”เงินยังชีพถ้วนหน้า (Universal Basic Income - UBI)” จัดสรรแก่ประชาชนโดยถ้วนหน้า เพื่อให้ทุกคนสามารถยังชีพอยู่ได้โดยไม่ต้องทำงาน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบภาษีแบบดั้งเดิมจะไม่เพียงพอสำหรับประเทศที่ไม่มีรายได้จากเอไอ การสนับสนุนเงิน UBI ข้ามพรมแดนจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

โลกใบใหม่ที่อาจไม่มีพรมแดน:

             การครอบครอง AGI จะเป็นตัวกำหนดอำนาจในโลกใหม่ โดยประเทศต่างๆที่เป็นผู้นำในการพัฒนาเอไอจะมีอำนาจเหนือประเทศอื่น ๆ ซึ่งสุดท้ายอาจนำไปสู่ลัทธิอาณานิคมใหม่ โดยเศรษฐกิจโลกจะถูกควบคุมโดยกลุ่ม Super Elite เพียงกลุ่มเล็ก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเอไอโดยตรง ดังนั้นประเทศส่วนใหญ่จะตกอยู่ในสภาพผู้รับ UBI จากประเทศผู้ให้ สุดท้ายรัฐบาลที่ไม่สามารถดูแลประชากรของตัวเองก็จะค่อยๆหมดความหมาย ความเป็นประเทศชาติก็อาจค่อย ๆ สลายไป จนอาจถึงโลกในอุดมคติ คือ โลกยุคยูโทเปีย (Utopia) หรืออาจไปถึงยุคพระศรีอารย์ตามคำทำนายในพุทธศาสนา

การเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต:

              เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสังคมยุค AGI มนุษย์ทุกคนจำต้องมีความรอบรู้ด้านเอไอ (AI Literacy) จะได้ตระหนักถึงผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบของเอไอเพื่อจะได้พัฒนาความพร้อมในการอยู่ร่วมกับเอไอในสังคมไร้แรงงานมนุษย์ ซึ่งวิถีการดำรงชีวิตของมนุษยชาติ จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ระบบการศึกษาต้องปรับโดยบรรจุความรอบรู้ด้านเอไอในหลักสูตรทุกระดับตั้งแต่ชั้นประถมถึงระดับมหาวิทยาลัย และเน้นการพัฒนาทักษะที่ต้องใช้ในการอยู่รอดในยุค AGI เช่น ความยืดหยุ่น (Resilience) ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) และความสามารถในการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว (Fast Comprehension Skills)

              ในระดับประเทศ ประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศไทยต้องสร้างพันธมิตรกับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเอไอของโลก เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการกำหนดระเบียบใหม่ของโลก รัฐบาลต่างๆต้องทุ่มเงินลงทุนในการศึกษาและพัฒนาเอไอและในการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาทางสังคมและความโกลาหลที่จะเกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่จุดที่มีดุลยภาพ

ASI: ภัยคุกคามสู่การสูญพันธุ์มนุษย์ชาติ:

            การพัฒนาของปัญญาประดิษฐ์เหนือมนุษย์ (ASI) มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของมนุษยชาติ โดยเป็นไปได้ว่า ASI อาจพัฒนาจิตสำนึก (Consciousness) ของตัวเองและด้วยปัญญาที่สูงกว่ามนุษย์มาก ASI อาจมองไม่เห็นความสำคัญในการดำรงอยู่ในโลกนี้ของมนุษย์ก็ได้ หรือการสูญพันธุ์ของมนุษย์อาจเกิดจากการทำลายล้างกันเอง โดยอาศัย ASI เป็นอาวุธ การควบคุมเอไอนั้นท้าทายกว่าการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์มาก เนื่องจากเอไอไม่มีกายภาพที่ชัดเจน และสามารถถูกพัฒนาได้อย่างลับ ๆ โดยอาศัยบริษัทเอกชนที่ขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ส่วนตนเอง

บทสรุป:

             ยุคของ AI ไม่ได้กำลังจะมาถึง แต่มาถึงแล้ว การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมหลังยุคแรงงานดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนำมาทั้งโอกาสและภัยคุกคาม ในขณะที่เอไอมีศักยภาพในการสร้างความอุดมสมบูรณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กับมนุษยชาติ แต่ก็แฝงไปด้วยความเสี่ยงที่อาจเปลี่ยนแปลงหรือแม้กระทั่งคุกคามการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ

             นี่ไม่ใช่กระแส หรือ การโฆษณาชวนเชื่อ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกของเราอย่างถาวร คำถามสำคัญคือ: มนุษย์ควรจะร่วมมือกันใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ AI หรือเราจะปล่อยให้การพัฒนาเอไอกลายเป็นภัยคุกคามต่อเผ่าพันธุ์ของมนุษย์?

            "จีนี" เอไอ กำลังออกมาจากขวด เราอาจไม่สามารถดันให้มันกลับเข้าไปในขวดได้ แต่ในขณะที่มันยังโตไม่เต็มที่ เราควรออกแบบควบคุมไม่ให้เอไอออกนอกกรอบ เส้นทางข้างหน้านี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือในระดับโลก ปัจจุบันมนุษยชาติกำลังยืนอยู่บนทางสองแพร่ง การตัดสินใจของมนุษยชาติในวันนี้จะเป็นตัวกำหนดว่า อนาคตของเอไอ จะช่วยให้เราได้โลกในอุดมคติที่มีความอุดมสมบูรณ์ หรือ ได้โลกที่มนุษย์อยู่อย่างไร้ความหมาย ปราศจากอารยธรรมของมนุษยชาติโดยสิ้นเชิง

 

https://youtu.be/GNnH1ycwOxA?si=DlE7qKDQwgrQYfF8

 

อ่าน 865 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved