อ่าน 2,479 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 44/2552: 3 พฤศจิกายน 2552
ข้อสังเกตเปรียบเทียบไทยกับอินเดียด้านอสังหาริมทรัพย์

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ประเทศอินเดียมีขนาด 2,973,193 ตร.กม.หรือประมาณ 6 เท่าของประเทศไทย มีประชากรถึง 1,166 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลก หรือมากกว่าไทยถึง 18 เท่าตัว อินเดียยังมีการขยายตัวของประชากรสูงถึง 1.5% ต่อปีในขณะที่ไทยมีอัตราเพียง 0.7% ต่อปี การที่ประชากรอินเดียมีมากมายมหาศาล ทำให้ความหนาแน่นของประชากรสูงถึง 392 คนต่อ ตร.กม. ในขณะที่ประเทศไทยมีความหนาแน่นเพียง 129 คนต่อ ตร.กม.
          ความหนาแน่นของประชากรนี้มีส่วนสัมพันธ์กับโครงสร้างราคาบ้าน อาจกล่าวได้ว่าสัดส่วนของราคาที่ดินกับบ้านในประเทศไทยเท่ากับ 2 ต่อ 1 คือ ถ้าบ้านราคา 3 ล้านบาท จะเป็นค่าที่ดิน 2 ล้าน ส่วนค่าบ้านคือ 1 ล้านบาท ถ้าเป็นในสหรัฐอเมริกา สัดส่วนจะกลับกันคือ เป็น 1:2 คือที่ดินจะเท่ากับ 1 ล้าน ส่วนบ้านจะเท่ากับ 2 ล้าน ทั้งนี้เพราะสหรัฐอเมริกามีขนาดใหญ่ ที่ดินถูก ส่วนค่าแรงแพงมาก แต่สำหรับในกรณีอินเดีย สัดส่วนอาจกลายเป็น 7:1
          ในด้านเศรษฐกิจนั้น ขนาดเศรษฐกิจของอินเดียใหญ่กว่าไทย 6 เท่า แต่โดยที่ประชากรมากกว่าไทยถึง 18 เท่า จึงทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรอินเดียมีขนาดเพียง 1/3 ของไทยเท่านั้น แสดงว่าคนไทยรวยกว่าคนอินเดียโดยเฉลี่ย 3 เท่าตัว อันที่จริงอินเดียมีคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 25% ในขณะที่ไทยมีเพียง 10% เท่านั้น อย่างไรก็ตามในปี 2551 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจอินเดียโตถึง 6.6% ในขณะที่ไทยโตเพียง 3.6% และในปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียยังจะโตในอัตราเดิม แต่ของไทยจะติดลบ 3% นี่แสดงว่าเศรษฐกิจของอินเดียโดยรวมไม่ได้ร้บผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกมากนัก
          จากการสัมภาษณ์ผู้นำในวงการประเมินค่าทรัพย์สินของอินเดียทราบว่า อินเดียมีประชากรที่มีรายได้สูงจำนวนราว 10% หรือประมาณ 120 ล้านคน กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางยังมีอีกประมาณ 25% หรือราว 300 ล้านคน ส่วนที่เหลือเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย โดยมีกลุ่ม “คนจน” จริง ๆ ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ประมาณ 300 ล้านคน หากพิจารณาเฉพาะผู้มีรายได้สูง 120 ล้านคนนั้น จะเห็นได้ว่ามีจำนวนมหาศาลถึงเกือบสองเท่าของประชากรไทย ดังนั้นหากไทยสามารถค้าขายกับกลุ่มผู้มีรายได้สูงในอินเดียได้ ก็คงจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
          อย่างไรก็ตามในการทำธุรกิจในอินเดียโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ ยังมีระบบเรียกค่าคุ้มครองโดยพวก “เจ้าพ่อ” ซึ่งสามารถที่จะควบคุมตำรวจและนักการเมืองได้ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่จึงมักต้องจ่ายค่าคุ้มครอง ซึ่งถือเป็นระบบที่ล้าหลังแต่ยังดำรงอยู่ในสังคมธุรกิจของอินเดีย อินเดียก็เหมือนกับประเทศที่กำลังพัฒนาอื่น ๆ ที่ความไม่โปร่งใสและกิจกรรมนอกระบบยังดำรงอยู่อย่างเข้มแข็ง
          ระบบคมนาคมขนส่งทางรถยนต์ ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานของไทยเป็นอย่างมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการเดินทางหลักในอินเดีย ใช้รถไฟเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามในบางบริเวณอินเดียก็มีทางด่วนซึ่งบางส่วนก็ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตามโดยที่ระบบถนนค่อนข้างต่ำกว่ามาตรฐานมาก การเดินทางต่าง ๆ จึงไม่สะดวกเท่าที่ควร เป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจ หากเทียบกับจีนซึ่งมีการพัฒนาเครือข่ายระบบถนนมากกว่า
          ในเมืองขนาดกลาง เช่น พาราณสี (Varanasi) แม้เป็นเมืองสำคัญทางด้านเหนือของอินเดียและเป็นเมืองที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล แต่ก็ยังไม่ค่อยมีระบบถนนพร้อมท่อระบายน้ำมากนัก การเติบโตของเมืองนี้ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมผ้าไหม ทองเหลือง เครื่องเงิน และการค้าขายระหว่างเมืองเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามก็ยังมีโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ทั้งพุทธและฮินดูเดินทางไปเยือนแต่ละปีเป็นจำนวนมาก
          ปัจจัยขับเคลื่อนอีกประการหนึ่งของการเติบโตของอินเดียก็คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งในรัฐอุตรประเทศที่เมืองพาราณสีตั้งอยู่ยังมี Bhadoi Special Economic Zone (SEZ) และ Purva SEZ เขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้มีทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมและอื่น ๆ
          ในส่วนของการพัฒนาที่อยู่อาศัยยังมี Unitech Township ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงการเมืองของบริษัทพัฒนาที่ดินสำคัญชื่อ Unitech ซึ่งพัฒนาในหลายเมืองทั่วอินเดีย โครงการในเมืองพาราณสีนี้จะมีขนาดเกือบ 10,000 ไร่ ซึ่งจะมีที่อยู่อาศัยแบบผสมผสาน สำหรับโครงการที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก แทบจะไม่พบเห็นในเมืองพาราณสี
          ข้อสังเกตในการไปลงทุนด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยในอินเดียนั้น ควรจะมีหุ้นส่วนธุรกิจที่ดี เพราะมีความยากลำบากในการติดต่อประสานงานมาก ระบบเอกสารสิทธิ์ก็ค่อนข้างจะซับซ้อนและยุ่งยาก ที่สำคัญ ควรมีการสำรวจตลาดอย่างละเอียดและคิดให้รอบคอบเป็นเวลาพอสมควรก่อนการลงทุน โดยเฉพาะการคิดเปรียบเทียบกับประเทศอื่น


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2025 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved