อ่าน 1,381 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 45/2552: 9 พฤศจิกายน 2552
AREA หนุนลงทุนในรถไฟฟ้าคือการลงทุนต่างชาติที่ดีที่สุด

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          การกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ มาจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ขอเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าโดยส่งเสริมให้ต่างชาติมาลงทุนอย่างขนานใหญ่ เพราะถือเป็นการดีกว่าการไปส่งเสริมให้ต่างชาติมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพราะผู้ได้ประโยชน์ก็เป็นเพียงผู้ประกอบการและนายหน้าข้ามชาติบางส่วนเป็นสำคัญ
          ในการลงทุนข้ามชาติหรือ Foreign Direct Investment (FDI) ของไทย ณ ไตรมาส 1/2552 พบว่าเป็นเงินเพียง 2,424 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 76,692 ล้านบาทเท่านั้น หากมีการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าจะเป็นเงินลงทุนในแต่ละโครงการนับแสนล้านบาท หากทำหลายโครงการ ก็จะเป็นเงินหลายแสนล้าน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเกิดผลต่อเนื่องมากกว่าการลงทุนอื่น ๆ อีกมาก
          จากการศึกษาของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่าที่ดินบริเวณใกล้รถไฟฟ้านั้น เพิ่มราคาขึ้นถึงประมาณ 404,105 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก (http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquery=area_announcement67.htm) ดังนั้นการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าจึงเป็นประโยชน์เป็นอย่างมาก
          ในปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีเครือข่ายรถไฟฟ้าหลักอยู่เพียง 2 ระบบ คือรถไฟฟ้ามหานคร และรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งยังไม่เป็นเครือข่ายที่เพียงพอต่อการใช้บริการ รถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายก็กำลังดำเนินการอยู่แต่ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ และแม้จะแล้วเสร็จ ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี การก่อสร้างรถไฟฟ้าใหม่ จึงเป็นการเปิดทำเลการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นไม่เพิ่มสูงขึ้นจนเกินความสามารถในการซื้อของประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นการทำให้กรุงเทพมหานครและเขตเมืองมีการพัฒนาที่เข้มข้นยิ่งขึ้น ทำให้ไม่เกิดปรากฎการณ์การขยายออกสู่นอกเมืองอย่างไม่มีขีดจำกัดเช่นในปัจจุบัน
          อย่างไรก็ตามรถไฟฟ้า ไม่ควรก่อสร้างออกไปเขตเมืองไกล ๆ เพราะจะทำให้มีผู้โดยสารไม่เพียงพอ เสียค่าโดยสารแพง และจะประสบความล้มเหลวเช่นที่เคยเกิดขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ในเขตชานเมืองไกล ๆ ควรเน้นระบบทางด่วน ทางพิเศษแทน ซึ่งกลุ่มผู้มีรายได้สูงและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจะได้ประโยชน์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ก็สามารถนั่งรถประจำทางผ่านทางด่วน ซึ่งถูกกว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ออกไปชานเมือง
          ต่อกรณีที่อาจเกรงว่าจะมีการผูกขาดระบบขนส่งมวลชนโดยนักลงทุนต่างชาตินั้น ประเด็นนี้คงอยู่ที่การทำสัญญาให้รัดกุม มีการตรวจสอบการดำเนินงานและการรายงานอย่างต่อเนื่องกับสาธารณชน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ราคาค่าโดยสาร ก็ควรกำหนดให้ชัดเจนแต่แรก และหากผู้ลงทุนรายใดไม่สามารถดำเนินการต่อได้ รัฐบาลก็สามารถเข้าดำเนินการในภายหลัง แนวทางการทำสัญญาที่สำคัญจึงควรเป็นแบบ Built-Operate-Transfer (BOT) คือ ให้ภาคเอกชนสร้างให้เรียบร้อย ดำเนินการและโอนให้ทางราชการในภายหลังนั่นเอง
          นอกจากนี้ ต่อข้อครหาในการโกงกินโครงการขนาดใหญ่นั้น รัฐบาลก็สามารถสร้างความโปร่งใสได้ตั้งแต่ในขั้นตอนการคัดเลือกทุนขนาดใหญ่ ทั้งทุนไทยและทุนต่างชาติ เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเสรี ตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมาก็มีเช่นในกรณีบริษัทกูมาไกกูมิ ที่มาร่วมลงทุนก่อสร้างทางด่วน เมื่อมีข้อพิพาท ก็สามารถที่จะเอาสัญญาที่ดำเนินการอย่างถูกต้องมาเป็นบรรทัดฐานได้
          การสร้างรถไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการโดยรีบด่วนโดยไม่โกงกิน


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2025 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved