การลงทุนประเภทต่างๆ ก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป บ้างก็อาจมองจากประสบการณ์ที่แตกต่างกัน วัยที่แตกต่างกัน รสนิยมที่แตกต่างกัน จึงอาจ “ฟันธง” ได้ยาก แต่ถ้ามองระยะยาว อะไรจะเป็นสิ่งที่พึงลงทุน
ผมในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน จึงขออนุญาตเปรียบเทียบมาให้ดู ผมประเมินทั้งทรัพย์สินที่จับต้องได้ ซึ่งก็แยกเป็นทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ เช่น เครื่องบิน กับทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ผมก็ยังประเมินทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ เช่น หุ้นบริษัท กิจการของวิสาหกิจต่างๆ ตลอดจนยี่ห้อของสินค้าหนึ่งๆ เพื่อการลงทุน ซื้อขาย จำนอง แบ่งแยกมรดก
อาจกล่าวได้ว่าคนรุ่นใหม่หลายคน (แต่อาจไม่ใช่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่) มองว่าพึงลงทุนในคริปโตเคอเรนซี่โดยเฉพาะบิทคอยน์ ซึ่งมีกิจกรรมซื้อมาขายไป ทำกำไร (หรือส่วนมากก็อาจขาดทุนแล้วหลบออกไป) บางคนมองว่าบิทคอยน์เป็นลัทธิความเชื่อ ถ้ามีคนสรรเสริญบิทคอยน์จึ่งดี แต่ถ้าใครวิจารณ์บิทคอยน์ก็จถูกก่นด่า เราจึงมักไม่ค่อยเห็นใครวิจารณ์บิทคอยน์ทั้งที่น่าวิพากษ์เป็นอย่างยิ่ง มีผู้ที่วิจารณ์ก็มักทำช่วงสั้นๆ เพราะเกรงถูกด่า แต่ในอีกแง่หนึ่งบิทคอยน์ก็เป็นเสมือนเกมส์อย่างหนึ่งที่ฮิตขึ้นมา วันหน้าก็อาจมีสิ่งอื่นมาแทนที่โดยเฉพาะการผุดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ และอาจถือว่าบิทคอยน์เป็นเสมือนแชร์ลูกโซ่ในแง่ที่คนทำกำไรก็ได้จากคนที่มาทีหลัง
อย่างไรก็ตามบิทคอยน์จะมีราคาที่แน่นอน เนื่องจากมีการซื้อขาย มีต้นทุนในการผลิต (ขุดบิทคอยน์) ราคาคือสิ่งที่จับต้องได้ เป็นตัวเลขจริงมีการซื้อขาย ทั้งราคาหุ้น ราคาทองคำ ราคาบิทคอยน์ ในการประเมินค่าทรัพย์สินหนึ่งๆ ก็ดูจากราคาซื้อขายในท้องตลาด คนอื่นขายได้เท่าไหร่ เราก็ควรขายได้เท่านั้น เช่น สังหาริมทรัพย์อย่างเครื่องบินพาณิชย์ลำหนึ่งอย่าง Boing 747 คนอื่นขายได้เท่าไหร่ เราก็ควรขายได้เท่านั้น เว้นแต่ว่าเครื่องบินของเราเก่ากว่า การดูแลรักษาไม่ดีพอ มูลค่าที่ประเมินได้สำหรับเครื่องบินลำนั้นๆ ก็อาจต่ำกว่าราคาขายในตลาด
อย่างหุ้นบริษัทก็มีราคา แต่ราคาของหุ้นของบริษัทเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ก็อาจมีความเสี่ยงสูง ราคาอาจต่ำหรือต่างจากมูลค่ามาก แต่ถ้าเป็นหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็มีราคาซื้อขายที่ชัดเจนที่เราสามารถนำมาวิเคราะห์มูลค่าได้ สมมติเราจะประเมินราคาหุ้นของบริษัทแห่งหนึ่ง เราก็อาจนำหุ้นของบริษัทที่อยู่ในกลุ่มประเภทเดียวกันมาวิเคราะห์ รวมทั้งหุ้นประเภทเดียวกันในตลาดโลก และรวมทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค (อาเซียน) หรือในโลกมาวิเคราะห์ประกอบด้วย โดยมีห้วงเวลาของข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ประมาณ 1 เดือน
ในทำนองเดียวกัน เมื่อเราจะวิเคราะห์ถึงมูลค่าของโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (มีสภาพคล้ายกับการถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ผู้ถือโทเคนจะได้รับผลประโยชน์ตามเงื่อนไขที่บริษัทผู้ออกโทเคนกำหนดไว้ เช่น ส่วนแบ่งกำไร เป็นต้น) เราก็ดูจากการซื้อขายในตลาด ในห้วงเวลาที่แน่นอน เช่น 1, 3 หรือ 6 เดือน เพื่อหาราคาที่เหมาะสมในขณะประเมินค่าทรัพย์สินนี้ และอาจรวมถึงการวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคตว่าจะมีโอกาสขึ้นหรือลงอย่างไรตามประเภทของอุตสาหกรรมหรือกิจการนั้นๆ
อาจกล่าวได้ว่าหุ้นและโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนแตกต่างไปจากบิทคอยน์อย่างชัดเจนประการหนึ่งก็คือ ทั้งหุ้นและโทเคนมีรากฐานที่แน่ชัด กล่าวคือมีกิจการอยู่เบื้องหลังของสินทรัพย์เหล่านี้ นอกจากนั้นยังมีสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันอีกส่วนหนึ่งด้วย หุ้นจึงมีราคาและมีมูลค่าที่ที่แท้จริง ในขณะที่บิทคอยน์ไม่มีอะไรอยู่เบื้องหลัง มีแต่การซื้อขายเป็นราคาที่ปรากฏเท่านั้น จึงอาจถือได้ว่าบิทคอยน์ไม่มีมูลค่าที่แท้จริง
อย่างไรก็ตามในตลาดหุ้นก็อาจมีการปั่นหุ้น มีหุ้นที่ไม่สมราคา มีหุ้นเน่า ฯลฯ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบ และจึงเป็นที่มาของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ( VI Value Investment) โดยหุ้นคุณค่าที่ลงทุนมักเป็นหุ้นที่วิเคราะห์แล้ว เชื่อว่า มีราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง (มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก และมีความเสี่ยงต่ำ) ทำให้สามารถลงทุนได้ในระยะยาว โดยเมื่อเวลาผ่านไปเช่น 3, 5 หรือ 10 ปี อาจมีมูลค่าสูงมาก ทำให้มีกำไรจากการถือหุ้นดังกล่าว
ในแง่ของมูลค่าของกิจการของบริษัทหนึ่ง ในการประเมินค่ากิจการ เราก็พึงดูจากงบดุล งบกำไร-ขาดทุน ของบริษัทนั้นๆ ในระยะเวลา 3, 5 หรือ 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อที่เราจะสามารถวิเคราะห์ว่าอัตราผลตอบแทนที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่ และสมควรได้ว่ามูลค่าของบริษัทนั้นๆ ควรเป็นเงินเท่าไหร่ ยิ่งกว่านั้นเรามักจะดูแนวโน้มของกิจการดังกล่าวในอนาคต 5-10 ปีข้างหน้า คู่แข่ง รวมทั้งตลาดโลกอีกด้วย ตัวอย่างเช่น กิจการร้านกาแฟที่เปิดกันดาษดื่น มีการแข่งขันสูงมาก มูลค่าอาจน้อย หรือกิจการตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งล้าสมัยไปแล้ว ก็คงมีอนาคตอันมืดมนมูลค่าก็คงน้อยไปด้วยนั่นเอง
ในการวิเคราะห์มูลค่าก็ต้องคิดถึงความเสี่ยงด้วย อย่างกรณีบิทคอยน์ในช่วง 1 เดือนล่าสุด (กรกฎาคม 2567) จะพบว่าราคาสูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวันเฉลี่ยแล้วต่างกัน 3.97% มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานอยู่ที่ 1.58% จึงอาจกล่าวได้ว่า ความแตกต่างอยู่ระหว่าง 2.38% - 5.55% ต่อวัน การที่ราคาขึ้นลงเปลี่ยนแปลงแกว่งและค่อนข้างสูงต่อวันเช่นนี้จึงถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก ยิ่งหากพิจารณาว่าราคาขายเฉลี่ยของบิทคอยน์ตลอดเดือนกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ 62,745.20 เหรียญสหรัฐ มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานอยู่ที่ 4,301.46 เหรียญสหรัฐ เมื่อนำส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานมาหารด้วยค่าเฉลี่ยก็จะพบว่าความเสี่ยงของบิทคอยน์อยู่ที่ 6.9% ซึ่งถือว่าสูงมาก
หากเทียบกับอัตราผลตอบแทนในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่อปีที่จัดทำโดยมูลนิธิประเมินค่า-นายหน้าแห่งประเทศไทยจะพบดังนี้:
อัตราผลตอบแทนเหล่านี้เป็นอัตราสุทธิที่ลบด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว และไม่มีค่าความเสี่ยงเช่นกรณีบิทคอยน์เพราะความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ
การลงทุนในทรัพย์ที่มีกิจการอยู่เบื้องหลัง หรือสามารถมีกำไรจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้น (Capital Gain หรือ Return of Investmenet) และสามารถนำไปสร้างรายได้ได้อีกต่างหาก (Rent หรือ Return on Investment) ย่อมมีมูลค่าที่แท้จริง ไม่ใช่ไปซื้อบิทคอยน์ที่มีราคาแต่ไม่มีมูลค่าที่แท้
ที่มา: https://www.facebook.com/photo/?fbid=901591138673140&set=a.605386548293602