อ่าน 4,495 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 187/2557: 24 พฤศจิกายน 2557
      จดหมายถึงนายกฯ กรมอุทยานฯ ค้านเขื่อนแม่วงก์โดยไร้เหตุผล

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

เรื่อง                ประชาชนต้องการเขื่อนแม่วงก์และข้อมูลเท็จของการคัดค้านเขื่อน

กราบเรียน          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

สำเนาเรียน          สมาชิก สนช. สปช. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น

สิ่งที่ส่งมาด้วย       หนังสือ "สร้างเขื่อนแม่วงก์เถอะนะ เพื่อชีวิตสัตว์ ป่าและมนุษย์"

          ตามที่อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ทำหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ {1} และคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) มีมติไม่ควรสร้าง {2} กระผมได้สำรวจพื้นที่อย่างละเอียดพบว่าข้อมูลการคัดค้านเป็นเท็จ การไม่มีเขื่อนจะก่อความเสียหายแก่ป่าไม้ สัตว์ป่าและประชาชนในพื้นที่อย่างมหันต์ กระผมจึงทำหนังสือนี้มานำเสนอ ฯพณฯ เพื่อโปรดพิจารณา ดังนี้:
          1. การยกมาอ้างว่าเขื่อนอยู่ในเขตอุทยานฯ เป็นการเพิ่งอ้างข้างๆ คูๆ ทั้งที่มีการวางแผนสร้างเขื่อนในพื้นที่แห่งนี้มาโดยตลอด 30 ปี มีการโยกย้ายประชาชนออกมาถึง 200 ครัวเรือนเพื่อเตรียมสร้างเขื่อนในบริเวณนี้ซึ่งเป็นอดีตป่าเสื่อมโทรม ไร่ข้าวโพด พื้นที่ปลูกมะพร้าวของชาวบ้านเดิมบางส่วนนั่นเอง
          2. เขื่อนแม่วงก์ที่มีขนาด 12,200 ไร่ ก็มีขนาดเล็กเพียง 2 เท่าของเขตสาทร เขตกระจิริดของกรุงเทพมหานครเท่านั้น จุน้ำได้ราว 250 ล้านลูกบาศก์เมตร ไม่ได้เป็นเขื่อนขนาดใหญ่เช่นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ที่จุน้ำได้มากกว่า 40-50 เท่า {3} ที่สำคัญตั้งอยู่บริเวณชายขอบป่าเสื่อมโทรมและเป็นชุมชนในอดีต
          3. ที่ว่าเป็นป่าในที่ลุ่มต่ำก็กล่าวอ้างส่งเดช ลำน้ำเรวาก็ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 180 เมตร มีสภาพเป็นอ่างเหมาะกับการสร้างเขื่อน มออีหืดที่อยู่ใกล้ๆ และเป็นแนวล้อมเขื่อน ก็สูงกว่านี้อีกเพียง 100 เมตร เมื่อสร้างเขื่อนแล้วเสร็จ จะเกิดที่ลุ่มกว้างขวางกว่าเดิมเสียอีก
          4. ที่อ้างว่าป่าเข้าสู่สภาวะป่าสมบูรณ์ ที่เพิ่งเข้าสู่ภาวะนี้ แต่ไม่ใช่ป่าดิบ ก็เพราะการสร้างเขื่อนถูกเตะถ่วงเรื่อยมา ต้นไม้จึงมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังมีค่าทางเศรษฐกิจน้อย ในรายงาน EIA และการเดินสำรวจของกระผม ก็พบแต่ต้นไม้เล็กๆ เป็นส่วนใหญ่ นี่เป็นเล่ห์กลการเร่งฟื้นฟูป่าเพื่อขวางการสร้างเขื่อน {4}
          5. ที่ว่าเป็นที่อยู่ของเสือโคร่งก็เป็นข้ออ้างเท็จ ไม่เคยพบรอยเท้าเสือในที่สร้างเขื่อน {5} จุดที่เคยพบล้วนแต่อยู่ห่างไกลออกไป ที่ยอดเขาโมโกจูซึ่งต้องใช้เวลาเดิน 5 วันจากที่สร้างเขื่อน ยังมีจุดกางเตนท์ แสดงว่าไม่มีเสือ เสือจะอยู่ในป่าลึกที่ต้องเดินเข้าไปนับสิบวัน และจะออกมายามไฟไหม้ป่าหรือถูกไล่ล่า ไทยมีเสือโคร่งมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกจึงไม่วันสูญพันธุ์จากไทย ยิ่งในสวนสัตว์ (เปิด) ยังมีเสืออีกมาก
          6. ยังมีการอ้างการมีอยู่ของนกยูง เนื้อทราย (กวาง) ไก่ฟ้า และไก่ป่าในที่สร้างเขื่อนแม่วงก์ว่าเป็นของธรรมชาติ แต่แท้ที่จริงแล้ว สัตว์เหล่านี้เพิ่งถูกจับมาปล่อยในวันที่ 17 ธันวาคม 2552 {6} โดยจัดเป็นพิธีใหญ่โต นกยูงที่เลี้ยงไว้แรกๆ ก็ถูกสุนัขกัดตายไปบ้าง เนื้อทราย (ฝังชิป) บางตัวก็ถูกล่า-ฆ่าตายไปแล้ว


          7. มีการอ้างกระทั่งข้อมูลที่ไร้สาระ เช่น เขียดงูดอยสุเทพ (ไส้เดือนยักษ์) {7} ที่พบที่ดอยสุเทพ และมาพบที่นี่ แสดงว่าคงแพร่พันธุ์ได้ไกลมาก ไม่สูญพันธุ์แน่ หรืออ้างค้างคาวจมูกหลอดเล็กท้องขาวว่าเป็น สปีชีส์ใหม่ ทั้งที่พบการอยู่อาศัยทั้งในกำแพงเพชรและเลย {8} การอ้างกระทั่งข้อมูลเช่นนี้ อาจแสดงถึงพฤติกรรมที่น่าสงสัยต่อการหวงที่ดินเพื่อการใช้ประโยชน์เฉพาะหน่วยงาน และมีอคติต่อการสร้างเขื่อน
          8. ที่อ้างเรื่องการเก็บกักน้ำไว้ใต้ดินก็เป็นเรื่องเท็จอีกเรื่องหนึ่ง ในทุกวันนี้นับว่าอนาถมากที่ในหน้าแล้ง ประชาชนในพื้นที่ต้องซื้อน้ำประปาคันรถละ 300 บาท ทั้งที่มีลำน้ำเรวาไหลผ่าน เพราะไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำ น้ำบาดาลก็ต้องขุดลึก 60-120 เมตร {9} และกลับได้น้ำที่มีสารละลายเหล็กอยู่สูงมากจนไม่อาจดื่มได้ ชาวนาก็ต้องเสียค่าขุดบ่อบาดาลรายละนับหมื่นๆ บาทเพื่อทำนา {10}
          9. วิธีการเชิงฉ้อฉลที่นำมาใช้คือการอ้างว่าจะจัดทำแผนผนวกพื้นที่อุทยานฯ แม่วงก์ และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นมรดกโลกเพื่อขัดขวางการสร้างเขื่อน หากทางราชการตั้งใจฟื้นฟูป่าจริง ในผืนป่าตะวันตกยังน่าจะมีเขาหัวโล้น พื้นที่เสื่อมโทรมถูกทำลายขนาดใหญ่กว่าเขื่อนแม่วงก์มากมาย ที่ควรไปฟื้นฟูมากกว่าที่จะแสร้งอ้างเอาพื้นที่นี้
          10. ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาทางเลือกในการก่อสร้างในบริเวณอื่น การสร้างฝายแทนเขื่อน ฯลฯ แต่ข้อสรุปสุดท้ายก็คือการสร้างเขื่อนที่นี่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยได้มีการทำประชาพิจารณ์แล้วตั้งแต่ พ.ศ.2543 {11} และมีการับฟังความคิดเห็นของประชาชนเรื่อยมา ดังนั้นข้อเสนอเรื่องฝายที่เพิ่งยกมาอ้าง ก็เป็นข้อเสนอเก่าและเป็นเพียงการแก้เกี้ยว เพราะบ้างเกะกะลำน้ำ ชำรุดง่าย ขาดประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดการแย่งชิงน้ำระหว่างประชาชน

          กระผมได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่อำเภอแม่วงก์ ชุมตาบง แม่เปิน ลาดยาวและอำเภอเมืองนครสวรรค์ ที่จะได้รับผลกระทบจากเขื่อนแม่วงก์ พบว่าส่วนใหญ่ถึง 71% ต้องการเขื่อน {12} ชาวไร่ชาวนาแทบทั้งหมดต้องการเขื่อนเพราะพวกเขาได้สรุปบทเรียนและประสบการณ์ในการจัดการน้ำมามากกว่า 30 ปีแล้ว แม้แต่นักการเมืองจากต่างพรรค ต่างก็เห็นพ้องกันในเรื่องนี้ และแม้จะต้องเวนคืนเพื่อการปรับลำน้ำบ้าง จากการพูดคุยกับประชาชน ท่านก็ยินดีที่จะรับค่าเวนคืนหรือกระทั่งสละที่ดินเพื่อให้ได้น้ำเพื่อการเกษตร ดังนั้น การสร้างเขื่อนแม่วงก์ จึงก่อเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ดังนี้:
          1. ป่าไม้ จะได้เขียวชอุ่ม รกชัฏ ชุ่มฉ่ำ น้ำช่วยดับไฟป่าที่เกิดปีละนับร้อยหนได้ด้วย
          2. สัตว์ป่าจะได้มีอาหารมากขึ้น มีเขื่อนเป็นปราการป้องกันการล่าสัตว์ ดูกรณีเขื่อนรัชชประภาที่สร้างอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ สัตว์ป่ากลับยิ่งขยายพันธุ์ ไม่ได้ลดน้อยลงดังคำโกหกแต่อย่างใด {13}
          3. ประชาชนจะได้รับการแก้ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง เขื่อนยังช่วยผลิตประปา ชลประทาน ประมง ท่องเที่ยว ฯลฯ ที่สำคัญยังสามารถผลิตไฟฟ้าได้อีกด้วย ทุกวันนี้ธนาคารโลกเร่งส่งเสริมให้แต่ละประเทศสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าลดโลกร้อนกันแล้ว {14}

          จากผลการศึกษาที่ผ่านมา การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ แม้จะมีข้อเสียบ้าง และคงไม่มีโครงการใดมีแต่ข้อดี 100% แต่ผลการศึกษา EIA ก็ปรากฏว่าชัดว่ามีข้อดีมากกว่า {15} และการสร้างเขื่อนนี้มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง และคงคุ้มทุนไปตั้งแต่ 15-16 ปีที่สร้างเขื่อนแล้ว {16} เขื่อนต่าง ๆ แทบทั้งหมดที่สร้างมาก็ยังประโยชน์แก่ส่วนรวมเกินคุ้มค่าก่อสร้างมานานแล้ว ในปี 2556 รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เคยอนุมัติงบประมาณค่าก่อสร้างไว้แล้วเป็นเงิน 13,000 ล้านบาท ทุกวันนี้ในยามน้ำท่วม ฝนแล้ง รัฐบาลก็ต้องชดเชยให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงนับพันล้านต่อปีอยู่แล้ว นับเป็นความสูญเปล่าแก่ทุกฝ่าย หากสร้างเขื่อนสำเร็จ จะเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาที่มีบูรณาการอย่างแท้จริง

          อนึ่งกระผมไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ กับการสร้างเขื่อน กระผมเป็นเพียงนักวิชาการด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ดำเนินการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 มีความเป็นกลางทางวิชาการและวิชาชีพมาโดยตลอด โดยไม่ได้เป็นนายหน้าหรือมีผลประโยชน์ในการพัฒนาที่ดินเอง กระผมเห็นใจประชาชน ป่าไม้และสัตว์ป่าที่จะเสียหายจากการไม่สร้างเขื่อน จึงทำการศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่ด้วยตนเองหลายครั้งโดยใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัว รวมทั้งจัดพิมพ์หนังสือ "สร้างเขื่อนแม่วงก์เถอะนะ เพื่อชีวิตสัตว์ ป่าและมนุษย์" โดยทุกท่านสามารถ Download ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย {17}

          จึงเรียนมาเพื่อ ฯพณฯ โปรดฟังเสียงประชาชนแทนเสียงของคนนอกที่มีอคติต่อการสร้างเขื่อน ไม่รู้ความจริง หรือหน่วยงานที่มุ่งแสวงหาประโยชน์จากป่าไม้ กระผมมั่นใจว่ารัฐบาลของท่านจะสามารถก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย และจะเป็นที่สรรเสริญของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยความเคารพอย่างสูง

(ดร.โสภณ พรโชคชัย)
โทร 02.295.3905  Line: dr.sopon  fb/dr.sopon4  sopon@area.co.th

อ้างอิง
{1} กรมอุทยานฯ เปิดหนังสือคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ http://goo.gl/hHZ6qo
{2} มติ คชก.ไม่สร้างแม่วงก์ http://www.aecnews.co.th/social/read/3473
{3} ตารางสรุปสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ www.thaiwater.net/DATA/REPORT/php/rid_bigcm.html
{4} โปรดดู www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement589.htm
{5} การตั้งถิ่นฐานของคนกับเสือ www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement795.htm
{6} โครงการเหลือง-ฟ้ามหามงคลฯ “สัตว์ป่าให้พงไพร เทิดไท้มหาราชา” ในผืนป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ http://nakhonsawan-mnre.org/index.php?page=news&from=list&id=7
{7} เขียดงูดอยสุเทพ http://goo.gl/gQLfsc
{8} ค้างคาวจมูกหลอดเล็กท้องขาว http://goo.gl/DNGp2O
{9} ทรัพยากรน้ำ นครสวรรค์ http://goo.gl/yMEinj
{10} ต้นเจ้าพระยาแล้งแล้ว 14 อำเภอ ชาวนาต้องจ้างเจาะบ่อบาดาลกันเอง (ชมคลิป) http://goo.gl/7h8Ljk
{11} ผลประชาพิจารณ์ พ.ศ.2543 ที่ชาวบ้านต้องการให้สร้างเขื่อนในที่ตั้งปัจจุบัน http://goo.gl/pWbpoR
{12} โปรดอ่าน www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement719.htm
{13} โปรดอ่าน www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement620.htm
{14} ยุคสมัยแห่งการสร้างเขื่อนมาถึงแล้วครับ http://bit.ly/1rnO7EH
{15} โปรดอ่าน www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement586.htm
{16} โปรดอ่าน www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement592.htm
{17} สร้างเขื่อนแม่วงก์เถอะนะ เพื่อชีวิตสัตว์ ป่าและมนุษย์ www.thaiappraisal.org/thai/journal/order.php?p=publicationb23.php#download


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2025 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved