ให้ต่างชาติมาอยู่ไทยเยอะๆ นี่ดีใช่ไหม
  AREA แถลง ฉบับที่ 797/2567: วันจันทร์ที่ 09 กันยายน 2567

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

            มักมีคำกล่าวอ้างว่า ถ้าให้ต่างชาติมาอยู่ในไทยมากมาย จะทำให้ประเทศชาติเจริญขึ้น มันจริงหรือไม่ แม้แต่อดีตนายกฯ ดร.ทักษิณก็ยังเชียร์ในเรื่องนี้ มาวิเคราะห์ให้ชัดเจนถึงแก่นกัน

            จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติที่ปรากฏใน Wikipedia ปี 2562 พบว่าประเทศทั่วโลกมีคนต่างชาติไปอยู่ประมาณ 3.5% หรือราว 271,642,105 คน มาดูประเทศเหล่านี้มีคนต่างชาติไปอยู่มากมายเกิน 30% ของประชากรของตนเอง

 

ตารางที่ 1: ประเทศที่มีสัดส่วนประชากรต่างชาติอยู่มากที่สุด
ประเทศ จำนวนคน ร้อยละ เหตุผลหลัก
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 8,587,256 87.9 ขายแรงงาน
กาตาร์ 2,229,688 78.7 ขายแรงงาน
คูเวต 3,034,845 72.1 ขายแรงงาน
มาเก๊า 399,572 62.4 ขายแรงงาน
ลักเซมเบอร์ก 291,723 47.4 ขายแรงงาน
โอมาน 2,286,226 46 ขายแรงงาน
บาห์เรน 741,161 45.2 ขายแรงงาน
ฮ่องกง 2,942,254 39.6 ขายแรงงาน
ซาอุดิอารเบีย 13,122,338 38.3 ขายแรงงาน
สิงคโปร์ 2,155,653 37.1 ขายแรงงาน รับผู้อพยพ
จอร์แดน 3,346,703 33.1 รับผู้อพยพ
ออสเตรเลีย 7,549,270 30 ขายแรงงาน รับผู้อพยพ
สวิตเซอร์แลนด์ 2,572,029 29.9 รับผู้อพยพ
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_sovereign_states_by_immigrant_and_emigrant_population

 

            จะเห็นได้ว่าประเทศเกือบทั้งหมดที่มีประชากรต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก  ก็เพราะมาขายแรงงานเป็นสำคัญ และบางส่วนอาจมีการรับผู้อพยพเข้าไปอยู่บ้าง ทั้งนี้ยังมีประเทศยุโรปตะวันตกที่รับผู้อพยพเข้าไปอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และประเทศสแกนดิเนเวีย เป็นต้น

            อย่างในกรณีประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะพบว่าประชากรจำนวนมากมาจากต่างประเทศโดยในจำนวนประชากรทั้งหมด 13,149,612 คน  เกือบ 90% เป็นชาวต่างชาติ โดยอินเดียมีจำนวนประชากรเป็นอันดับหนี่งถึง 4.75 ล้านคน หรือ 37.96% ของทั้งหมด รองลงมาก็คือปากีสถาน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อิหร่าน อียิปต์และเนปาล

 

ตารางที่ 2: ประชากรชนชาติต่างๆ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ประเทศ ล้านคน % ต่อประชากรรวม
อินเดีย 4.75 37.96%
ปากีสถาน 2.09 16.72%
บังคลาเทศ 0.92 7.38%
ฟิลิปปินส์ 0.86 6.89%
อิหร่าน 0.59 4.72%
อียิปต์ 0.53 4.23%
เนปาล 0.39 3.15%
ศรีลังกา 0.39 3.15%
จีน 0.27 2.16%
ที่มา: https://www.globalmediainsight.com/blog/uae-population-statistics/

 

             หากเจาะลึกเฉพาะในสิงคโปร์จะพบว่าประชากรของประเทศที่ไปอยู่มากที่สุดก็คือฟิลิปปินส์ รองลงมาคือจีน อินโดนีเซีย ตามลำดับ โปรดดูตารางนี้:

 

ตารางที่ 3: ชนชาติผู้อพยพในสิงคโปร์
ประเทศ จำนวนคน เหตุผลหลัก
มาเลเซีย 1,132,924 มาใช้แรงงานมีฝีมือและไร้ฝีมือ
จีน 426,434 มาทำธุรกิจเป็นหลัก
อินโดนีเซีย 159,685 มาพักเงินและมีที่อยู่อาศัยในสิงคโปร์
อินเดีย 144,970 มาขายแรงงานและทำธุรกิจ
ปากีสถาน 126,848 มาขายแรงงาน
บังคลาเทศ 79,857 มาขายแรงงาน
ฮ่องกง 65,867 มาทำธุรกิจ
ไทย 18,253 มาขายแรงงาน
ฟิลิปปินส์ 14,944 มาขายแรงงาน
ที่มา: https://www.statista.com/statistics/692951/asian-immigrant-stock-of-singapore-by-country-of-origin/

 

            จะเห็นได้ว่าประเทศเพื่อนบ้านต่างมาขายแรงงานในประเทศสิงคโปร์ ณ สิ้นปี 2566 หากพิจารณารายได้ประชาชาติต่อหัว(GDP per capita) ของชาวสิงคโปร์จะพบว่ามีรายได้สูงถึง 88,953 เหรียญสหรัฐต่อคน ในขณะที่ไทยมีรายได้เพียง 7,362 เหรียญสหรัฐ  แสดงว่ารายได้ต่อหัวของสิงคโปร์มีขนาดเป็น 12 เท่าของไทย สัดส่วนนี้ถ่างห่างออกไปมาก เพราะเมื่อราว 20 ปีก่อน รายได้ต่อหัวของสิงคโปร์มีขนาดเพียง 5 เท่าของไทยเท่านั้น

            ในทางตรงกันข้าม ก็มีประเทศที่มีประชากรต่างชาติในสัดส่วนที่น้อยมากเป็นพิเศษ ซึ่งก็น่าศึกษาดูว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ประเทศที่ไม่ค่อยมีไปใครอยู่อาศัย มีสัดส่วนของผู้อพยพเข้าไปอยู่น้อยมาก ได้แก่ จีน ซึ่งมีสัดส่วนประชากรเพียง 0.1% รองลงมาก็คืออินโดนีเซีย เมียนมาและเวียดนาม ประเทศเหล่านี้อาจไม่ต้อนรับชาวต่างชาตินัก เช่น จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และเกาหลีเหนือ  ส่วนบางประเทศก็มีปัญหาทางการเมือง เช่น เกาหลีเหนือ เมียนมา เป็นต้น

 

ตารางที่ 4 : ประเทศที่มีสัดส่วนประชากรต่างชาติน้อยที่สุด
ประเทศ จำนวนคน ร้อยละ เหตุผลหลัก
จีน 1,030,871 0.1 ไม่ต้อนรับเท่าที่ควร
อินโดนีเซีย 353,135 0.1 ไม่มีอะไรดึงดูดมากนัก
เมียนมา 75,998 0.1 ภาวะเศรษฐกิจและการเมือง
เวียดนาม 76,104 0.1 ไม่ต้อนรับเท่าที่ควร
เกาหลีเหนือ 49,393 0.2 ไม่ต้อนรับ
ฟิลิปปินส์ 218,530 0.2 โอกาสทำธุรกิจอาจจำกัด
ศรีลังกา 40,018 0.2 โอกาสทำธุรกิจอาจจำกัด
โมร็อกโก 98,574 0.3 โอกาสทำธุรกิจอาจจำกัด
โซมาเลีย 52,131 0.3 ความไม่สงบภายในประเทศ
อาฟกานิสถาน 149,762 0.4 ความไม่สงบภายในประเทศ
บราซิล 807,006 0.4 ไม่ต้อนรับเท่าที่ควรและภาษาโปรตุเกส
อินเดีย 5,154,737 0.4 อยู่ยาก ไม่ต้อนรับเท่าที่ควร
กัมพูชา 78,649 0.5 ไม่มีอะไรดึงดูดมากนัก
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_sovereign_states_by_immigrant_and_emigrant_population

 

            จีนเป็นประเทศที่มีประชากรอพยพไปอยู่ประเทศอื่นมากที่สุดก็ว่าได้ แต่กลับมีชาวต่างประเทศไปอยู่จีนในสัดส่วนที่น้อยบางท่านอาจแย้งว่าจีนมีประชากรต่างชาติถึง 1,030,871 คน แต่ก็ติดอันดับที่ 53 ก็ไม่น้อยใช่หรือไม่ หากนับตามจำนวนประชากรต่างชาติ ก็ยังน้อยกว่าไทยที่มีประชากรต่างชาติถึง 3,635,085 คน ยิ่งกว่านั้นฮ่องกง ก็มีประชากรต่างชาติมากกว่าจีนหลายเท่าตัว คือมีถึง 2,942,254 คน ส่วนสิงคโปร์ก็มีประชากรต่างชาติ 2,155,653 คน

            ในกรณีประเทศไทย ตามข้อมูลของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว เกี่ยวกับสถิติจำนวนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ณ เดือนกรกฎาคม 2567 พบว่าเป็นแรงงานเมียนมา กัมพูชา และลาวเป็นหลัก กลุ่มที่เป็นแรงานมีทักษะมีอยู่เพียง 182,082 คน โดยเป็นกลุ่มที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพียง 56,143 คน ที่เหลือ 125,939 คน เป็นกลุ่มทั่วไป ดังนั้นโอกาสที่จะคิดให้มีการมาอยู่อาศัยในไทยนับล้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นแค่ “ความฝัน” ที่ไม่เป็นจริงเท่านั้น มีไว้เพื่ออ้างโดยหวังให้ต่างชาติมาซื้อที่อยู่อาศัยในไทยให้ได้

            อย่างกรณี Golden Visa ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ปรากฏว่ามีผู้ได้รับถึง 158,000 รายในปี 2566 ส่วนในปี 2565 ได้รับ 79,617 รายและ ปี 2564 ได้รับ 47,150 ราย รวม 5 ปีคงได้รับไม่เกิน 330,000 ราย แต่โอกาสที่ไทยจะมีคนเข้ามาเป็นล้านคนใน 5 ปี จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (https://shorturl.at/Rw0Uv) และการอยู่อาศัยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็เป็นการอยู่ทำธุรกิจเป็นสำคัญ เพราะขณะนี้ดูไบกลายเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจในภูมิภาคไปเสียแล้ว

            ในปัจจุบันคาดว่ามีคนจีนจากประเทศจีนเข้ามาอยู่ในไทยไม่เกิน 200,000 คน โดยในปี 2565 มีราว 110,000 คน (https://shorturl.at/ACnR9) และน่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนเหล่านี้คงไม่เหมือนคนจีนเมื่อเกือบร้อยปีก่อนที่อพยพเข้ามาแบบเสื่อผืนหมอนใบ แต่มาแบบนายทุนและได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลให้ออกมาทำกินนอกประเทศ คนเหล่านี้อาจมีอิทธิทางการเงินและทางการเมืองในประเทศไทยได้ในอนาคต โดยดูจากกรณี “ตู้ห่าว” ที่มีการซื้อบ้านในโครงการจัดสรรเป็นจำนวนมาก

            โอกาสที่ต่างชาติมาอยู่ในไทยก็อาจไม่ได้ใช้แรงงานไทย อย่างจีนก็อาจขนแรงงานมาจากประเทศของตนเอง รัสเซียก็ขนช่างทำผม และแอพเรียกแท็กซี่ของตนเอง (ที่ภูเก็ต)  คนต่างชาติเหล่านี้อาจไม่ได้ใช้แรงงานไทย อาจว่าจ้าง “คนใช้” จากแรงงานเมียนมา ลาวและกัมพูชา ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย แถมจีนเทาๆ ก็อาจก่ออาชญากรรมต่างๆ ครอบงำข้าราชการได้ ทำให้มีอิทธิพลทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง

            การให้ต่างชาติมาอยู่ไทยจึงไม่ใช่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้

อ่าน 834 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved