อ่าน 1,343 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 46/2552: 11 พฤศจิกายน 2552
AREA แจงลู่ทางการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ในวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2552 ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้จัดการสัมมนาสำหรับนักลงทุนเรื่องลู่ทางการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และยังมีบริการให้คำปรึกษาแก่นักลงทุนในการซื้อหรือลงทุนอสังหาริมทรัพย์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ประเด็นการลงทุนที่น่าสนใจ มีดังนี้:
          1. บรรยากาศทางการเมืองในขณะนี้ที่มองว่ามีความมั่นคงมากกว่าแต่กว่า ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ก็หวังว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ภาวะในขณะนี้น่าจะเป็นเหมือน “ไฟสุมขอน” ที่รอวันประทุมากกว่า เชื่อว่าในสายตาชาวต่างประเทศ ความมั่นคงทางการเมืองของไทย เปราะบางกว่าประเทศใดในอาเซียน ในขณะที่ทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มีความมั่นคงทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่ประเทศไทยยังเสี่ยงต่อภาวะสงครามกลางเมือง
          2. ปรากฏการณ์ที่อาคารชุดพักอาศัยลดลงจากประมาณ 45% ในปี 2551 เป็นประมาณ 39% ในปี 2552 แสดงให้เห็นว่า อาคารชุดเสื่อมคลายลงไปบ้าง การพัฒนาอื่น ๆ เริ่มเข้ามาแทนที่บ้าง ทั้งนี้เพราะในช่วงปี 2550-2551 มีการพัฒนาอาคารชุดมากเป็นพิเศษจนมีความวิตกในการล้นตลาดไปบ้าง อย่างไรก็ตามอาคารชุดพักอาศัยยังขายได้ดีที่สุดคือประมาณ 58% ของที่เปิดตัวในปี 2552 ทาวน์เฮาส์และบ้านเดี่ยวขายได้ช้ากว่า อาคารชุดในระดับราคา ไม่เกิน 1 ล้านบาท ขายได้มากที่สุดคือ 75% รองลงมาคืออาคารชุดในระดับราคา 3-5 ล้าน ขายได้ถึง 72% และต่อมาคือระดับราคา 10-15 ล้านบาท ที่ขายได้แล้ว 63%
          3. สำหรับอาคารชุดราคา 1-2 ล้านบาทนั้น มีเกิดขึ้นนับถึงปัจจุบันประมาณ 3,000 หน่วย ขายได้ประมาณ 58% ซึ่งยังน้อยกว่ากลุ่มอื่น  อาคารชุดกลุ่มนี้อยู่ห่างไกลจากรถไฟฟ้าออกไป ศักยภาพจึงอาจถือได้ว่าต่ำกว่า อย่างไรก็ตามอาคารชุดสุดหรู เช่น ตารางเมตรละเกินกว่า 150,000 บาทนั้น ในแง่หนึ่งมีอุปทานจำกัด จึงยังสมดุลกับอุปสงค์ อย่างไรก็ตาม ในกรณีซื้อลงทุนซื้ออาคารชุดราคาแพง ควรพิจารณาถึงการซื้อห้องชุดมือสองด้วย
          4. สถานการณ์ล่าสุด ณ เดือนกันยายน 2552 ปรากฏว่า อาคารชุดใจกลางเมืองกลับมาอีกแล้ว ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีราคาตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป การเน้นการพัฒนาใจกลางเมือง เป็นปรากฏการณ์ที่ดีอย่างหนึ่งที่ไม่ทำให้เมืองขยายออกไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็แสดงถึงการขาดความเชื่อมั่นถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคของภาครัฐ ซึ่งมีความไม่แน่นอน และเชื่องช้ามากเป็นพิเศษ
          5. เฉพาะกลุ่มอาคารชุดพักอาศัยใจกลางเมืองนั้น ในย่านสีลม-สาทร ราคาขายเฉลี่ยของหน่วยเปิดใหม่ในปี 2552 เป็นเงินตารางเมตรละ 112,000 บาท รองลงมาคือย่านปทุมวัน 105,000 บาท ต่อด้วยย่านสุขุมวิท  91,000 บาท ย่านพระรามที่ 3 ซึ่งไม่มีรถไฟฟ้า และรถ BRTก็ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ มีราคาเฉลี่ยต่ำลงคือ 70,000 บาท สำหรับย่านฝั่งธนบุรี ซึ่งมักตั้งอยู่ใกล้หรือติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีราคาลดหลั่นลงมาคือ 65,000 บาท ย่านพหลโยธิน-วิภาวดี เป็นเงิน 63,000 บาท ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือย่านอ่อนนุช-บางนา ราคาเฉลี่ย 49,000 บาท ซึ่งห่างจากย่านสุขุมวิทถึงประมาณครึ่งหนึ่ง แต่หากรถไฟฟ้าแล้วเสร็จ ราคาน่าจะขยับสูงขึ้นกว่านี้ ดังนั้นทำเลนี้จึงมีอนาคตเป็นพิเศษ
          6. ความเสี่ยงประการหนึ่งของการซื้อห้องชุดริมเส้นทางรถไฟฟ้าก็คือ ค่าโดยสาร ซี่งหากตั้งอยู่ไกล ๆ ออกไป วันหนึ่ง ๆ อาจต้องเสียค่าโดยสารแพงเป็นพิเศษถึงเกือบ 200 บาท ทำให้มีความเป็นไปได้ในการเดินทางที่จำกัด และราคาที่อยู่อาศัยที่ซื้อไว้อาจไม่ได้ขึ้นราคาเท่าที่คาดหวัง โอกาสปล่อยร้างในอนาคตอาจจะมีสูงมาก ดังนั้นผู้ที่คิดลงทุนซื้อ จึงควรพิจารณาเป็นพิเศษ
          7. การลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ตากอากาศ อาจผ่านช่วงจุดสูงสุดและกำลังอยู่ในช่วงชะลอตัวแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่สมุย ซึ่งมีโครงการที่หยุดก่อสร้างต่อมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม หากสามารถซื้อโครงการหรือหน่วยขายมือสองที่มีราคาต่ำกว่าท้องตลาด และสามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ซื้อได้ชัดเจน น่าจะเป็นโอกาสสำคัญเช่นกัน จากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย  บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ยังพบว่า ชาวสแกนดิเนเวียยังสนใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ตากอากาศไทย ในสัดส่วน 20% ของที่คิดจะซื้อทั้งหมด แม้ส่วนใหญ่จะซื้อในแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน แต่ 20% นี้ก็ถือว่าเป็นความนิยมมากกว่าบริเวณอื่นทั่วโลก
          8. การขายอสังหาริมทรัพย์แก่คนต่างชาตินั้น สามารถดำเนินการได้หลายอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ผู้ซื้อเกิดความเชื่อมั่นซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับลูกค้าต่างชาติ นอกจากนี้การให้เช่าในระยะยาว 30 ปี ซึ่งอาจทำให้ราคาถูกลงได้ด้วย ก็อาจถือเป็นทางเลือกที่สำคัญและถูกต้องตามกฎหมายสำหรับผู้ลงทุนชาวต่างประเทศ
          9. ความเสี่ยงสำคัญในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ก็คือ การคุ้มครองเงินดาวน์คู่สัญญา (Escrow Account) ยังเสมือนไม่มีอยู่จริง แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายนี้แล้ว แต่เป็นกฎหมาย ‘กำมะลอ’ ที่อยู่ที่การอาสาสมัครที่จะมีหรือไม่มีก็ได้ แล้วแต่การตกลงของทั้งสองฝ่าย อันเป็นความเสี่ยงต่อผู้ซื้อเป็นอย่างยิ่ง ข้อนี้ถือเป็นข้อด้อยของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่ด้อยกว่ากระทั่งเขมรและเวียดนาม ที่มีการคุ้มครองเงินดาวน์ที่น่าเชื่อถือกว่าไทย
          10. ในการไปลงทุนต่างประเทศ มีข่าวคราวนำเสนอว่า ฮ่องกงมีการเติบโตของราคาอสังหาริมทรัพย์สูง 30-40% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ข่าวที่ออกมาจากบริษัทนายหน้าข้ามชาตินี้อาจมีความคลาดเคลื่อน เพราะผลจากการสำรวจข้อมูลต่อเนื่องของ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ฮ่องกงระบุว่า ราคาอาคารชุดพักอาศัยในฮ่องกงเพิ่มราคาสูงขึ้นเพียง 27.6% นับแต่ราคาปี 2542 (ในรอบ 10 ปี) ไม่ใช่เพิ่มขึ้นปีเดียว 30-40% ในข่าว ราคานับแต่ปี 2542 ถึงเดือนมิถุนายน 2551 และกลับตกต่ำลงในเวลาต่อมาโดยในระยะเวลาเพียง 6 เดือน ตกต่ำลงมาเหลือเกือบเท่าปี 2542 และเพิ่มฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งจนถึงเดือนกันยายน 2552 นี้ประมาณ 23% การนี้แสดงว่าราคาบ้านในฮ่องกงมีความผันผวนมาก การไปลงทุนมีความเสี่ยงสูง ความจริงอีกประการหนึ่งก็คือราคาอาคารชุดในฮ่องกงตกต่ำสุดขึ้นจนถึงปี2546 หรือเพิ่งกระเตื้องขึ้นเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมานี้เอง
          11. มีความเป็นไปได้ที่จะไปลงทุนซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอาคารชุดพักอาศัยในกรุงจาการ์ตาและกรุงมะนิลา นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะซื้อที่ดินเพื่อการตากอากาศในประเทศฟิลิปปินส์ด้วย อย่างไรก็ตามการจะไปลงทุนซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศเช่นเวียดนามและกัมพูชา อาจจะไม่เหมาะสมนัก เพราะระบบกฎหมายและการครอบครองอสังหาริมทรัพย์แตกต่างไปจากประเทศไทย
          12. สำหรับในกรณีการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้น โดยที่ผู้ประกอบการไทยมีเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ดี และมีแบบบ้านที่สวยงาม โอกาสที่จะไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านย่อมมีโอกาสสูง ทั้งนี้โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งมีนครหลายแห่งที่มีประชากรเมืองอยู่กันเกินกว่า 1 ล้านคน อย่างไรก็ตามประเด็นที่พึงพิจารณาก็คือการหาพันธมิตรท้องถิ่นที่เชื่อถือได้ในการร่วมดำเนินการ


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2025 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved