อ่าน 3,284 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 193/2557: 2 ธันวาคม 2557
               ความเข้าใจคลาดเคลื่อนของพวกอนุรักษ์ที่ทำร้ายป่า สัตว์ป่าและประชาชน

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้อ่านบทความของ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ เรื่อง "ตอบ ดร.โสภณ (รอบที่ 3) กรณีอนุรักษ์เสือในกรงและความเข้าใจคลาดเคลื่อนอื่นๆเกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์และเรื่องอื่นๆเกี่ยวกับเขื่อนที่ท่านเข้าใจผิด" จึงได้ชี้แจงให้ทราบทั่วกันดังนี้:
          1. ใครเตะถ่วงการสร้างเขื่อนแม่วงก์?
ดร.นณณ์ บอกว่าการระงับการสร้างเขื่อนในปี 2537 2545 และ 2557 ล้วนมาจากหน่วยราชการ ไม่ใช่เพราะ NGOs แต่ในความเป็นจริง ทุกครั้งที่ทางราชการจะพิจารณา NGOs ก็จะสร้างสถานการณ์ ไม่ให้ทางราชการมีอิสรในการพิจารณา เช่น ปีที่แล้ว อ.ศศินก็ "ดรามา" เดินเท้า ครั้งล่าสุดก็ดรามาด้วยการไปนอนหน้า สผ. การกระทำที่ไม่ใช้เหตุผล แต่ใช้การสร้างสถานการณ์นี้ ไม่ใช่วิสัยอารยะ ส่วนราชการสิ่งแวดล้อมก็มักเน้นแต่สิ่งแวดล้อม ก็ย่อมไปทางเดียวกันทั้งที่ประชาพิจารณ์ก็ผ่าน 71% ของประชาชนก็ต้องการเขื่อน ยิ่งถ้าเป็นชาวนาแทบ 100% เพราะเห็นปัญหาน้ำท่วมมาตลอด
          2. เราอนุรักษ์เสือทำไม?
          ที่ว่า "การอนุรักษ์เสือคือการใช้เสือเป็นตัวแทนในการอนุรักษ์ระบบนิเวศครอบคลุมทั้งหมด เนื่องจากเสือเป็นสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร การอนุรักษ์เสือให้ได้ จึงเป็นการอนุรักษ์ทุกสิ่งอย่างที่อยู่ใต้เสือลงมา . . . การที่เสืออยู่ได้ หรือเพิ่มจำนวนขึ้นในป่า จึงเป็นเสมือนเครื่องยืนยันของความสำเร็จในการอนุรักษ์ระบบนิเวศทั้งระบบ" การจัดการกับพรานป่าและการตัดไม้ทำลายป่าที่คงมีเจ้าหน้าที่ร่วมมือด้วยต่างหากที่จะอนุกษ์ระบบนิเวศ
          การที่เสือต้องใช้พื้นที่เฉลี่ย 100 ตารางกิโลเมตร บางที่อาจใช้พื้นที่น้อยกว่า บางที่เช่นเสือไซบีเรียใช้พื้นที่นับพันตารางกิโลเมตรนั้น เป็นสิ่งที่จะปล่อยไว้ไม่ได้ ยกเว้นในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ในสหรัฐอเมริกามีเสือโคร่งเลี้ยงถึง 5,000 ตัวโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในป่า ดร.นณณ ได้แต่ยืนยันว่าพบรอยเสือ 1 ครั้ง (ตามจุด) ใกล้ แต่ไม่เคยพบเสือในที่สร้างเขื่อนแต่อย่างใด คลิปเสือที่ถ่ายมาเป็นเรื่องโกหกเพราะอยู่ห่างไกลเพราะเป็นเขาสูงจริงๆ (http://goo.gl/oSiQza)

เสือเด็กขนาดนี้อยู่ป่าลึกไม่อาจเดินมาที่สร้างเขื่อน

สังเกตุฉากหลังไม่ใช่บริเวณที่สร้างเขื่อน

          ในพื้นที่สร้างเขื่อนมีน้ำไหล่น้อยในหน้าแล้ง ในหน้าฝนน้ำไหลแรงและปริมาณมากไปท่วมไร่นาบ้านเรือนของประชาชน ถ้าสร้างเขื่อนก็จะมีความชอุ่ม ป่าไม้จะรกชัฏกว่าเดิม ทำให้มีอาหารสัตว์มากขึ้น การพบเสือในบริเวณช่องเย็น หรือที่อื่น ๆ ก็อยู่ห่างไกลออกไป ปกติจะพบเสือในที่ห่างไกลออกไปในป่าลึกที่ต้องเดินเท้านับสิบวัน ไม่ใช่อยู่ใกล้ ๆ จะพบเห็นข่าวบ่อยๆ ในหลายพื้นที่ว่าหากมีเสือออกมาจริง ก็จะต้องมีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ถือปืนนับสิบ ๆ ออกไล่ล่า เพราะอาจทำอันตรายต่อชาวบ้านและสัตว์เลี้ยง
          3. เขื่อนเป็นปราการป้องกันการล่าสัตว์จริงหรือ?
          มีการกล่าวอ้างว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ซึ่งอยู่ขอบอ่างเขื่อนรัชชประภา ก็ติด 1 ใน 3 ของพื้นที่อนุรักษ์ที่มีการล่าสัตว์มากที่สุด กรณีนี้แปลว่ามีเจ้าหน้าที่มีส่วนรู้เห็นหรือขาดการดูแลเท่าที่ควร  แต่จากปากคำเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ และแม้แต่ชาวบ้านที่เคยอยู่ในพื้นที่เอง ก็ยืนยันได้ว่าเขื่อนเป็นปราการ ถ้าไม่มีเขื่อนรัชชประภา ป่านนี้ทั้งป่า ทั้งสัตว์ย่อยยับไปหมดแล้ว การล่าสัตว์/ตัดไม้ทำลายป่าจะเกิดไม่ได้หากเจ้าหน้าที่ไม่เกี่ยวข้องหรือหากมีการป้องกันดี
          4. นกยูงปล่อย สัตว์ปล่อย ในพื้นที่อช.แม่วงก์ ไร้ค่า?
          ขนาดผมมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า แต่เดิมไม่มีนกยูง และเพียงนำมาปล่อยสร้างภาพโดยผู้ช่วย รมต.เมื่อ 17 ธันวาคม 2552 (http://goo.gl/lBqqB2) ก็ยังไม่ยอมรับความจริง ยังจะอ้างว่าอย่างน้อยเป็นการปล่อยพันธุ์ไทยแท้ ซึ่งไม่มีในแถวนั้นอยู่แล้ว การปล่อยเนื้อทรายก็พบว่าถูกยิงตาย เนื้อทรายแต่ละตัวมีการฝังชิปไว้ สามารถตรวจสอบได้

          5. บริเวณที่จะสร้างเขื่อนเป็นป่าที่ไม่สมบูรณ์?
          ในรายงานสำรวจก็พบว่าต้นไม้มีอายุ 6-18 ปี เพิ่งพยายามฟื้นฟูเพื่อต้านการสร้างเขื่อน ถ้าได้สร้างแต่แรก ข้ออ้างนี้ก็หมดไปแล้ว นี่คือเล่ห์เหลี่ยมโดยแท้ ยังมาแก้ตัวน้ำขุ่น ๆ ได้อีก ตอไม้สักเต็มไปหมดก็เป็นพยานว่านี่เป็นป่าที่สองหรือสามแล้ว บ้านเรือนชาวบ้านตั้ง 200 หลังคาเรือน พร้อมเรือกสวนในที่นี้ คงกินพื้นที่เป็นอันมากแล้ว แต่กลับพยายามปลูกป่าสร้างภาพเพื่อต้านเขื่อน ภาพต้นไม้ก็เห็นได้ชัดเจน (http://goo.gl/A2T1Pz)

          6. เขื่อนทำให้ป่ารอบข้างสมบูรณ์ขึ้นจริงหรือ??
          อันนี้เห็นง่าย ๆ นะครับ พื้นที่ปัจจุบันที่มีลำน้ำขนาดเล็ก ๆ ที่แทบแห้งขอด กับการมีอ่างเก็บน้ำขนาด 13,000 ไร่ นี่ย่อมสร้างความชุ่มชื้นอย่างไม่ต้องอธิบาย รอบ ๆ เขื่อนรัชประภา รอบ ๆ ริมน้ำทั้งหลาย ต้นไม้ขึ้นงามทั้งสิ้น การตัดไม้เกือบทั้งหมดที่มีขนาดเล็ก ๆ ในป่าพื้นที่ 1/1000 ของผืนป่าตะวันตก ไม่สร้างปัญหาใดๆ เลย มีแต่จะทำให้ป่าสมบูรณ์เพราะมีน้ำมากนั่นเอง ดูได้ชัดในเขื่อนทั่วประเทศ พื้นที่อื่นอีกมากมายยังมีป่าโปร่งแบบบริเวณที่สร้างเขื่อนมากมาย แถมด้วยเขาหัวล้านที่ควรไปฟื้นฟูมากกว่าพื้นที่สร้างเขื่อน
          7. มีเขื่อนมีน้ำให้สัตว์ป่าดื่ม/ใช้ ดีต่อสัตว์ป่า จริงหรือ?
          ลำน้ำแม่วงก์เป็นลำน้ำที่มีน้ำไหลตลอดปีก็จริง แต่แทบจะแห้งขอดในหน้าแล้ง มีอ่างเก็บน้ำย่อมดีต่อป่า มีอาหารมากขึ้น ส่วนสัตว์ชุมมากขึ้นแล้วถูกล่า ก็ต้องปราบปราม ไม่ใช่ปล่อยให้สัตว์อยู่ปริมาณน้อย และอยู่อย่างแร้นแค้น
          8. ธนาคารโลกสนับสนุนการสร้างเขื่อนจริงหรือ?
          ขนาดประธานของธนาคารโลกออกมาพูดเอง ก็ยังจะไม่เชื่ออีก โปรดอ่านเองนะครับ "World Bank turns to hydropower to square development with climate change" http://goo.gl/jk8hB
 

          9. พื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น
          ทำไมญี่ปุ่นมีป่าไม้เหลืออยู่ 60% ของประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 30% เหตุผลง่าย ๆ แบบ "เส้นผมบังภูเขา" ที่พวก NGOs ไม่รู้ก็คือภูมิประเทศของญี่ปุ่นเป็นภูเขาสูง คนไปอยู่ไม่ไหว จึงอยู่กันอยู่ตามชายทะเล ไม่ใช่ว่าเขาอนุรักษ์ธรรมชาติได้ดีกว่าไทย

          10. เขื่อน Taum Sauk ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับเขื่อนแม่วงก์ได้
          เขื่อนนี้อยู่ในมลรัฐมิสซูรี http://goo.gl/3cQxuN ผมเอามาเทียบให้เห็นว่า เขาสามารถสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ได้ แถมเป็นรูปหัวใจสวยงาม ไทยเราก็สามารถทำได้ จะได้กักเก็บน้ำไว้เพื่อการเกษตร แก้ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง
          11. NGOs ทำไมไม่ไปประท้วงพวกตัดไม้ทำลายป่า?
          ปีหนึ่งๆ ป่าไม้หายไปราว 30-40 เท่าของพื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่ NGOs ไม่เคยปริปากเลย อ้างว่าไม่ใช่หน้าที่ จะเอาแต่ห้ามสร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่ NGOs ไม่ได้หน้า เลยไม่ยอมทำ ที่ทำก็แค่ลูบหน้าปะจมูก ไม่ได้มีโภคผลเท่าที่ควร



          12. น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง ที่ไหลออกสู่ทะเลเป็นน้ำที่ไหลทิ้งโดยเปล่าประโยชน์?
          อันนี้ผมย้ำเลยครับ แทนที่จะกักเก็บไว้ใช้ในยามแล้ง และเก็บน้ำไว้ป้องกันน้ำท่วม กลับให้ไหลไปเปล่า ๆ น้ำย่อมต้องไหลลงอ่าวไทย แต่ต้องพยายามนำมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ทุกวันนี้ชาวบ้านต้องเจาะบ่อบาดาลเอง ลึก 60-120 เมตรเสียเงินนับหมื่นๆ

          13. เขื่อนกับแผ่นดินไหว
          ในญี่ปุ่นในแนวแผ่นดินไหวแท้ ๆ เขายังสร้างเขื่อนกันมากมาย เขาไม่กลัวแผ่นดินไหว แต่ของไทยกลับนำมาอ้างว่าสร้างเขื่อนแล้วจะทำให้แผ่นดินไหว ขาดเหตุผลเป็นอย่างยิ่ง
          14. มีเขื่อน มีน้ำ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีปลา
          การมีปลานั้น เราต้องจับปลามาปล่อยเพื่อขยายพันธุ์ จะรอให้ปลาหรือสัตว์น้ำมาเองตามลำคลองคงช้าไป ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า ในเขื่อนเป็นแหล่งประมงสำคัญที่ EIA ก็ระบุถึง
          15. เขื่อนแม่วงก์ช่วยน้ำท่วม?
          เขื่อนแม่วงก์ช่วยแก้น้ำท่วมได้แน่นอน ประสบการณ์ของชาวบ้านหลายสิบปีที่ผ่านมาต่างสรุปบทเรียนไว้เช่นนี้ อย่ามาอ้างเป็นอื่นเลยครับ แม้เขื่อนแม่วงก์มีปริมาณกักเก็บน้ำเพียงแค่ 1%ของน้ำที่ท่วมกรุงเทพมหานคร แต่หากสร้างมาก ๆ ก็จะเก็บได้มาก สร้างอีก 30 เขื่อน น้ำที่ไปภาคกลางหรือ กทม. ก็คงเหลือแค่ 70% น้ำคงไม่ท่วมแล้ว สามารถรับมือได้

          16.  เขื่อนแม่วงก์ช่วยน้ำแล้ง?
          ที่ว่าเขื่อนต้องใช้เวลา 120 ปีถึงจะคุ้มค่าการลงทุน เป็นการพูดส่งเดช ทุกวันนี้เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ฯลฯ คุ้มทุนไปหมดแล้ว ยิ่งหากพิจารณาถึงค่าชดเชยชาวบ้านในกรณีน้ำท่วม ฝนแล้ว ปีละนับร้อยนับพันล้าน แค่ไม่กี่ปี ก็คุ้มทุนที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์แล้ว
          17. เขื่อนแม่วงก์ช่วยชาวบ้านในพื้นที่? ไม่มีใครสูญเสียพื้นที่ดินจริงหรือ?
          เขื่อนแม่วงก์ต้องมีการปรับลำน้ำใหม่บ้าง อย่าว่าแต่การเวนคืนที่ดินจำนวนหนึ่งเลย ชาวบ้านบางส่วนยังยินดีที่จะยกที่ดินให้ฟรี ถ้ามีโครงการชลประทานมาถึง เพราะจะทำให้การเพาะปลูกดีขึ้น คลองชลประทานมากมายสร้างขึ้นโดยไม่ต้องเสียค่าเวนคืน ชาวบ้านยินดีด้วยซ้ำไป
          18. เวียดนามงดสร้างเขื่อน 3 แห่งเนื่องจากผู้รับเหมาจีนสร้างไม่ได้มาตรฐาน?
          เขื่อนเวียดนามที่ยกเลิกไปนั้นเกือบทั้งหมดเป็นของนักลงทุนเอกชน (จีน) ที่ไม่มีความรู้พอเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาอย่างรีบเร่ง รวมทั้งจ้างบริษัทก่อสร้างที่ขีดความสามารถไม่เพียงพอในการดำเนินโครงการ ในความเป็นจริง เวียดนามผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำถึง 45% ในขณะที่ไทยผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนแค่ 11% เท่านั้น เขาอาศัยเขื่อนเป็นหลัก เขื่อนที่ถูกยกเลิกไปเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น (http://goo.gl/3cQxuN)
          19. การรื้อเขื่อนในต่างประเทศ รื้อเพราะเขื่อนเก่า?
          ความจริงที่พวกอนุรักษ์บิดเบือนไม่ได้ก็คือ ในปี พ.ศ.2555 มีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนเกิดขึ้นใหม่ถึง 125 แห่งในสหรัฐอเมริกา เพิ่มจากปี พ.ศ.2554 ซึ่งมีโครงการใหม่ 95 แห่ง ยิ่งกว่านั้นยังมีโครงการที่รอการอนุมัติในอีก 45 มลรัฐ รวมไฟฟ้าที่จะผลิตได้ถึง 60,000 เมกกะวัตต์ ไฟฟ้าจากพลังน้ำของสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนราว 7% ในสหรัฐอเมริกาจากเขื่อนผลิตไฟฟ้า 2,500 แห่ง และอันที่จริงจะสามารถเพิ่มความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้อีก 15% เมื่อได้ติดตั้งเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าในอื่นเพิ่มขึ้นอีก 600 แห่ง ในสหรัฐอเมริกายังมีเขื่อนถึง 80,000 แห่งเพื่อการชลประทานและอื่นๆ (ดูอ้างอิงทั้งหมดที่ http://goo.gl/ZbbEHT)
          20. กรณีเขียดงูดอยสุเทพและค้างคาวจมูกหลอดท้องขาว
          ข้อนี้ ดร.นณณ์ เพิ่มภายหลัง ผมเลยต้องชี้แจงเพิ่ม คือในจดหมายของอธิบดีกรมอุทยานฯ บอกว่าเป็นการค้นพบสำคัญ คือ เขียดงูดอยสุเทพ (Ichthyophis youngorum) หรือใส้เดือนยักษ์  ดร.นณณ์บอกพบเมื่อ 53 ปีก่อน แต่จริงๆ พบปี 2500 แล้วบอกไม่พบอีกเลย ซึ่งสิ่งที่ ดร.นณณ์อ้าง จะจริงหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่มาพบที่อุทยานแม่วงก์ แต่ไม่ใช่บริเวณที่สร้างเขื่อนนะครับ เพราะคราวที่พบที่เชียงใหม่ เขาพบทั้งที่ดอยสุเทพ และดอยอ่างขาง และพบที่ความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ไม่ใช่ที่สร้างเขื่อนที่สูงเพียง 170 เมตรเท่านั้น (http://goo.gl/0eEub5)

          ส่วนค้างคาวจมูกหลอดท้องขาว (Murina walstoni) ดร.นณณ์บอกว่าค้นพบครั้งแรกที่ประเทศกัมพูชาเมื่อปีพ.ศ.2554 แต่ความจริงพบตั้งแต่ พ.ศ.2478 และมีทั้งในกัมพูชาและเวียดนาม (www.mammalogy.org/murina-walstoni-1935) การที่มันบินมาถึงอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ก็แสดงว่าไม่ได้สูญพันธุ์แน่ ในประเทศไทยยังพบที่กำแพงเพชรและเลย (http://goo.gl/DNGp2O) และที่สำคัญบริเวณอุทยานนี้ใหญ่โตกว่าที่สร้างเขื่อนถึง 50 เท่า ยิ่งหากบินไปสู่ป่าตะวันตกก็มีขนาดถึง 1,000 เท่าของที่สร้างเขื่อนแม่วงก์ การอ้างส่งเดช จึงไม่อาจเป็นสาระได้เลย

          ดร.นณณ์ ไม่ควรเชื่อในสิ่งที่ไม่ได้เห็นเอง เช่น คราวก่อน ผมยกตัวอย่างกรณีข่าว “ชาวบุรีรัมย์ผวาพบเสือ-รอยเท้าเกลื่อนขณะเข้าป่าหาเห็ด วอน จนท.เร่งจับตัว” (http://goo.gl/3IjF43) ดร.นณณ์ กล่าวว่า "ฟันธงอีกครั้ง ตีนหมาครับ" (http://goo.gl/QoZRco) โดยที่ท่านไม่ได้ไปดูเอง แต่ปรากฏว่า "เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เข้ามาตรวจสอบรอยเท้าสัตว์ที่ชาวบ้านบริเวณทุ่งนาที่บ้านสามเหลี่ยมแล้ว ยืนยันว่าเป็นรอยเท้าเสือจริง" (http://goo.gl/4Vwjqe) คนเราไม่ควรค้านโดยไม่ดูความเป็นจริงนะครับ


          เขื่อนแม่วงก์มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ป่าไม้จะได้รกชัฏเพราะมีน้ำ มีชีวิต มีอาหารให้สัตว์ป่าที่จะขยายพันธุ์ มีประโยชน์ต่อประชาชนคนเล็กคนน้อยที่จะได้รับจากการป้องกันน้ำท่วม แก้ภัยแล้ง ชบประทาน ประปา ไฟฟ้า ประมง ท่องเที่ยว เป็นต้น ช่วยกันสร้างเขื่อนเพื่อสังคมเถอะครับ

อ้างอิงลิงค์: http://www.siamensis.org/article/39974

อ้างอิงลิงค์: http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement809.htm

AREA แถลง ฉบับที่ 192/2557: 2 ธันวาคม 2557
อเมริกา ญี่ปุ่นจะสร้างเขื่อนแม่วงก์
          อันนี้เป็นกรณีสมมติว่าถ้าเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เขาสร้างเขื่อนแม่วงก์แน่นอน ไม่ได้ปล่อยไว้คาราคาซัง 30 ปีแน่นอน ผมเห็นเรื่องเขื่อนแม่วงก์ในฐานะที่เป็นอสังหาริมทรัพย กำลังได้รับการถกเถียงกันมาก วันนี้จึงขอเสนอเรื่องนี้ในกรณีเปรียบเทียบกับต่างประเทศ
          ในประเทศไทย อะไร ๆ ก็ดูยากไปหมด เช่นกรณีเขื่อนแม่วงก์ เขาวางแผนจะสร้างเมื่อ พ.ศ.2525 แล้วเพราะชาวบ้านสรุปจากประสบการณ์ตรงว่าเป็นความจำเป็น แต่ก็ถูกเตะถ่วงเรื่อยมา เช่น พ.ศ.2532 ให้ไปศึกษา EIA พ.ศ.2537 ให้ไปศึกษาทางเลือกพื้นอื่น เช่น เขาชนกัน พ.ศ.2541 ให้ทำประชาพิจารณ์ พอประชาชนเห็นควรด้วย พ.ศ.2546 ให้ศึกษาการจัดการลุ่มน้ำแทนการสร้างเขื่อน พอทางเลือกอื่น เช่น ฝาย ไม่ได้ผล พ.ศ.2557 ก็กลับมาอ้างว่าต้นไม้โตแล้ว ห้ามตัดอีก
          ในมลรัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา มีเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดยักษ์ชื่อ Taum Sauk ปรากฏว่าครั้งหนึ่งได้แตกของทางมุมหนึ่ง น้ำไหลทะลักจนป่าไม้โดยรอบพังทลายไปในพริบตา บ้านเรือนชาวบ้านถูกน้ำพัดพังเสียหาย แต่ในที่สุดก็ได้ก่อสร้างใหม่ให้แข็งแรงกว่าเก่า นี่ถ้าเกิดขึ้นในประเทศไทย ก็คงถูกสาปส่งไปแล้ว แต่ในประเทศตะวันตก เขามุ่งเอาชนะธรรมชาติ

          ในประเทศญี่ปุ่น บางคนไปเที่ยวประเดี๋ยวประด๋าว ก็อาจบอกว่า ญี่ปุ่นนี้ดีหนักหนา เขารักษาป่าไม้ ไว้ได้มากมาย ประเทศไทยเราเสียอีกที่เหลือป่าไม้อยู่น้อยมาก แต่ความจริงก็คือ ญี่ปุ่นและเวียดนามที่ต่างมีประชากรมากกว่าเราและมีขนาดประเทศน้อยกว่าเรา กลับมีป่ามากเพราะป่าที่ว่ามีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ผู้คนเข้าไปอยู่ไมได้ เขาเลยอยู่กันอย่างสุดหนาแน่นในเมืองรอบ ๆ ชายฝั่งทะเลนั่นเอง ที่สำคัญญี่ปุ่นมีเขื่อนอยู่เต็มประเทศญี่ปุ่นมีเขื่อนเต็มไปหมด

          เพราะน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและน้ำไหลทิ้งโดยไร้ประโยชน์ ผมจึงเสนอให้สร้างเขื่อนให้มาก ๆ แม้บางบริเวณไม่มีภูเขาให้สร้าง ก็ก่อเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เช่นในมลรัฐมิสซูรี ก็มีพวกค้านเขื่อนบางคนบอกว่า ไทยเราจะมี่เขื่อนมาก ๆ ไม่ได้เพราะเดี๋ยวแผ่นดินไหวจะตายกันหมด คงคิดแบบเดียวกับ “พ่อของเด็กชายปลาบู่” ที่เคยมีข่าวการทำนายว่าเขื่อนภูมิพลจะแตก เป็นต้น แต่จากกรณีของญี่ปุ่นข้างต้น จะเห็นได้ว่า แม้เขาจะอยู่ในแนวแผ่นดินไหว แต่เขาสร้างเขื่อนมากกว่าไทยเสียอีก ผมไปสอนนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเซียะเหมิน ที่นั่นบนภูเขาก็เต็มไปด้วยเขื่อน
          มีบางคนบอกว่าเดี๋ยวนี้ทั่วโลกเขาเลิกสร้างเขื่อนกันแล้ว อันนี้เป็นการ “แหกตา” กันทั้งเพ จากตัวเลขล่าสุดพบว่า ปริมาณเขื่อนที่จะสร้างใหม่มีมากกว่าปริมาณเขื่อนที่ถูกรื้อทิ้ง และที่รื้อทิ้งก็เพราะอายุร่วม 100 ปีแล้ว หมดอายุขัยทางเศรษฐกิจ และที่น่าตกใจก็คือที่เขารื้อเขื่อนก็เพราะเขาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานอื่น โดยเฉพาะพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งในกรณีประเทศไทยกลัวกันจนลนลานจนกระทั่งเดี๋ยวนี้เราต้องไปซื้อไฟฟ้ามาใช้จากประเทศลาว
          ส่วนที่เวียดนาม ก็มีบางคนบอกว่า เขาเลิกสร้างเขื่อนไปหลายเขื่อนแล้ว แต่ในความเป็นจริง เขื่อนที่เลิกไปนั้น มักสร้างไม่ได้มาตรฐานโดยนักลงทุนจากประเทศจีน แต่ปริมาณเขื่อนขนาดกลางขนาดเล็กคล้ายเขื่อนแม่วงก์ของไทยที่มีขนาดเล็กกว่าเขื่อนภูมิพลถึง 50 เท่านั้น มีสร้างกันมหาศาลในเวียดนามและที่น่าตกใจอีกเช่นกันก็คือโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ของเวียดนามก็จะเสร็จในไม่ช้า เขาวางแผนที่จะสร้างนับสิบโรง โดยโรงที่อยู่ใกล้ไทยที่สุดตั้งอยู่ห่างเพียง 200 กิโลเมตรเท่านั้น ถ้าระเบิด (เถิดเทิง) ขึ้นมาเมื่อไหร่ ไทยก็คงไม่รอด! แต่เราไม่ควรกลัว เพราะถ้ากลัว เราคงต้องไม่ไปเที่ยวเกาหลี ญี่ปุ่น และยุโรปอันแสนโรแมนติก เพราะที่เหล่านั้นเต็มไปด้วยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นับร้อย ๆ แห่ง
          เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารโลกได้ "เลี้ยว" กลับหลังหันครั้งใหญ่ ด้วยการผลักดันโครงการไฟฟ้าพลังน้ำทั่วโลก เพราะเล็งเห็นว่าเขื่อนจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนคนเล็กคนน้อยโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งสามารถช่วยแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย ประธานและรองประธานธนาคารโลกกล่าวว่า ที่แล้วมาการค้านเขื่อนเป็นสิ่งที่ผิด เป็น "Wrong Message" แต่ตอนนี้เราได้กลับมาคิดใหม่แล้ว "This is now. We are back".
          การสร้างเขื่อนแม่วงก์จะคืนธรรมชาติให้ดีขึ้น เพราะน้ำคือชีวิต น้ำจะทำให้ป่าไม้รกชัฏ มีแหล่งอาหารให้สัตว์ป่า สามารถใช้น้ำดับเพลิงได้ เพราะที่ป่าแม่วงก์เกิดไฟไหม้ปีละนับร้อยหน สัตว์ป่าก็จะแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น มีเขื่อนเป็นปราการป้องกันการล่าสัตว์ ที่สำคัญสำหรับประชาชนคนเล็กคนน้อย ก็จะมีเขื่อนไว้ป้องกันน้ำท่วม แก้ภัยแล้ง ผลิตไฟฟ้า ประมง ท่องเที่ยวก็ได้ประโยชน์ไปด้วย ยิ่งพูดถึงความคุ้มค่าก็แทบไม่ต้องพูดถึง ทุกวันนี้รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยน้ำท่วม ฝนแล้งแก่ชาวบ้านใกล้เคียงนับร้อยนับพันล้านบาทต่อปี เทียบกับค่าสร้างเขื่อน 13,000 ล้าน จึงนับว่าคุ้มมาก
          ยิ่งถ้าพูดถึงเสือโคร่ง ยิ่งน่าสนใจเข้าไปใหญ่ เสือตัวหนึ่งมีพื้นที่หากินตั้ง 100 ตารางกิโลเมตร ผมตกใจ นี่ถ้ายกพื้นที่กรุงเทพมหานครขนาด 1,568 ตารางกิโลเมตร คงให้เสืออยู่ได้แค่ 16 ตัวเท่านั้น แต่กรุงเทพมหานครมีคนอยู่ถึง 6 ล้านคน เราอย่าได้วิตกว่าเสือจะสูญพันธุ์เพราะไทยมีเสือในป่าถึง 200 กว่าตัว มีมากกว่าจีนเสียอีก แม้ในสหรัฐอเมริกา ยังมีเสือเลี้ยง (ไม่ได้อยู่ในป่า) มากกว่า 5,000 ตัว เสือที่เราเห็นแข็งแรงกว่าคนเรามากมายนั้นมีอายุเพียง 16 ปีในป่า แต่ถ้าเลี้ยงไว้ในสวนสัตว์ (เปิด) ก็จะมีอายุได้ถึง 26-30 ปี
          การเปิดบริการสวนสัตว์ปิด สวนสัตว์เปิด อุทยานแห่งชาติที่ได้รับการดูแลอย่างดี ก็จะทำให้เสือมีความสุขและอายุยืนนาน โดยไม่ต้องกลัวว่าจะสูญพันธุ์ไปเสีย รายได้จากการเข้าชมก็ยังสามารถนำมาขยายกิจการอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้ ให้คนได้ศึกษาและเข้าใจธรรมชาติของเสือ ได้อนุรักษ์เสือและสัตว์ป่าอื่น ๆ และที่สำคัญได้มีทุนเพียงพอที่จะป้องปรามการบุกรุกทำลายป่า และการล่าสัตว์ป่าซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมายอีกด้วย
          ที่ผ่านมามักมีข่าวว่าพบเสือในป่าแม่วงก์จากกล้องดักถ่ายต่าง ๆ แต่เป็นในป่าลึก ต้องเดินจากที่สร้างเขื่อนเข้าไปนับสิบวัน ภาพเสือที่เห็นก็มักจะอยู่ห่างไกล เบื้องหลังภาพก็บนภูเขาสูงบ้าง บางทีเห็นเสือแม่ลุก เสือเด็กขนาดนั้นคงไม่สามารถเดินไกล ๆ จากป่าลึกได้แน่นอน คงไปถ่ายจากป่าลึกมาหลอกคนเมือง ความจริงคือจุดที่สร้างเขื่อนเป็นชายขอบป่า มีถิ่นฐานชาวบ้านและรีสอร์ตมากมาย มีจุดกางเตนท์ ซึ่งแสดงว่าไม่มีเสือ อย่าลืมว่าที่สร้างเขื่อนมีขนาดเพียง 0.1% หรือ 1 ใน 1,000 ของผืนป่าตะวันตก (แม่วงก์-คลองลาน) ขนาดเพียง 2 เท่าของเขตสาทร เขตที่เล็กที่สุดเขตหนึ่งของกรุงเทพมหานครได้อย่างไร เสือคงไปอยู่ในพื้นที่ 99.9% ของผืนป่าลึกมากกว่า
          เราต้องคิดในเชิงสากล ไม่ใช่หลับหูหลับตาท่องมนต์อนุรักษ์ที่จะหวงแหนป่าให้รก ๆ ให้เจ้าหน้าที่ (เฉพาะที่ไม่ดี) ร่วมมือกับโจรตัดไม้ทำลายป่าหรือหาของป่าออกมาขายอยู่ร่ำไป


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2025 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved